โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

บทเรียนจาก “เสื้อกั๊กเหลือง” ปากท้องสำคัญกว่าวันสิ้นโลก

ไทยรัฐออนไลน์ - Oversea

เผยแพร่ 15 ธ.ค. 2561 เวลา 22.01 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ม็อบ “เสื้อกั๊กเหลือง” การประท้วงรุนแรงที่สุดในรอบหลายสิบปีในฝรั่งเศส ยืดเยื้อมาหลายสัปดาห์ ชนวนเหตุมาจากประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง มีแผนจะขึ้น “ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง” (Fuel Tax) ประเภทดีเซล ซึ่งจะส่งผลให้ชนชั้นกลาง-ผู้ใช้แรงงานที่ใช้รถยนต์เดือดร้อนอย่างหนัก

การประท้วงปะทุขึ้นตั้งแต่ 17 พ.ย. ที่กรุงปารีสและลามไปทั่วประเทศ โดยผู้ประท้วงสวม “เสื้อกั๊กเหลือง” (Yellow Vests หรือ Gilets Jaunes) ซึ่งกฎหมายฝรั่งเศสบังคับให้มีไว้ในรถยนต์ทุกคัน

ต่อมาการประท้วงลุกลามไปเรื่องอื่นๆ รวมทั้งปัญหาค่าครองชีพสูง ค่าแรงต่ำ รายได้ไม่เท่าเทียม การเข้ามหาวิทยาลัยยาก ไปจนถึงการต่อต้านชนชั้นสูงและขับไล่มาครงเองในที่สุด โดยมีกลุ่มผลประโยชน์และกลุ่มการเมืองหลากหลายผสมโรง รวมทั้งกลุ่มประชานิยม ขวาจัด ซ้ายจัด หัวรุนแรง ซึ่งก่อจลาจลเผาบ้านเมือง

สุดท้ายมาครงเป็นฝ่ายยอมถอย ประกาศยกเลิกแผนการขึ้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง ตรึงค่าไฟฟ้าและก๊าซในปีงบประมาณ 2562 แต่ม็อบเสื้อกั๊กเหลืองก็ยังไม่หยุดประท้วง จนมาครงยอมถอยอีกหลายก้าว โดยประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ลดภาษีบางประเภท และอื่นๆ เรียกว่ายอมแพ้ราบคาบ แม้จะทำให้ขาดดุลงบประมาณอย่างหนัก!

ก่อนถึงวันนี้ คะแนนนิยมของมาครงตกต่ำมากจนเหลือแค่ 23% เพราะเศรษฐกิจฝรั่งเศสย่ำแย่ อีกทั้งเขามีภาพลักษณ์เป็นผู้นำที่ห่างเหิน ไม่รู้ซึ้งถึงความทุกข์ยากของคนรากหญ้า และถูกมองว่าเป็น “ประธานาธิบดีของคนรวย” ตั้งแต่สั่งยกเลิกการเก็บภาษีทรัพย์สินคนรวยทันทีเมื่อขึ้นรับตำแหน่งใหม่ๆ ช่วงกลางปี 2560

อนาคตของมาครงจะเป็นเช่นไรคงต้องรอดูกันต่อไป แต่การที่เขา “ยกธงขาว” สะท้อนให้เห็นว่าการขึ้นภาษี “เชื้อเพลิงฟอสซิล” ที่หวังให้เป็นนโยบายหลักเพื่อต่อสู้ “ภาวะโลกร้อน” นั้น…ยากเย็นขนาดไหน!

มาครงอ้างว่าจำเป็นต้องขึ้นภาษีน้ำมันเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ตามข้อกำหนดใน “ข้อตกลงปารีส” ปี 2558 ซึ่งฝรั่งเศสรับบทเป็นหัวเรือใหญ่ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส โดยชี้ว่ามีค่าใช้จ่ายสูง จะทำลายเศรษฐกิจ
มาครงเคยประกาศว่าการขึ้นภาษีน้ำมันคือหนทางป้องกัน “วันสิ้นโลก” เลยทีเดียว แต่ ขบวนการ “เสื้อกั๊กเหลือง” ชูสโลแกนตอบโต้ว่า “อย่าไปพูดถึงวันสิ้นโลก ในขณะที่พวกเรากำลังพูดถึงวันสิ้นเดือน”

จลาจล-กลุ่มผู้ประท้วง “เสื้อกั๊กเหลือง” ก่อจลาจลและจุดไฟเผาต้นไม้ริมถนนฌอง เอลิเซส์ ใกล้ประตูชัยในกรุงปารีส ทำให้ตำรวจต้องยิงแก๊ส น้ำตาสลายม็อบ มีผู้บาดเจ็บและถูกจับกุมหลายร้อยคน (เอเอฟพี)
จลาจล-กลุ่มผู้ประท้วง “เสื้อกั๊กเหลือง” ก่อจลาจลและจุดไฟเผาต้นไม้ริมถนนฌอง เอลิเซส์ ใกล้ประตูชัยในกรุงปารีส ทำให้ตำรวจต้องยิงแก๊ส น้ำตาสลายม็อบ มีผู้บาดเจ็บและถูกจับกุมหลายร้อยคน (เอเอฟพี)

บรรดานักเศรษฐศาสตร์ ผู้กำหนดนโยบาย และนักการเมืองทั่วโลก เห็นพ้องกันมานานแล้วว่า วิธีต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่ดีที่สุดคือการขึ้นภาษี “เชื้อเพลิงฟอสซิล” ทั้งน้ำมันเบนซิน ดีเซล ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ตัวการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อภาวะเรือนกระจกซึ่งทำให้โลกร้อนขึ้น

พวกเขายังเห็นว่าการขึ้นภาษีเชื้อเพลิงฟอสซิลและภาษีไฟฟ้า จะทำให้มีรายได้มหาศาลนำมาใช้แก้ความเสียหายจากการปล่อยก๊าซคาร์บอน และกระตุ้นให้ผู้คนใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลน้อยลง อีกทั้งทำให้ “พลังงานทางเลือก” พลังงานหมุนเวียนสีเขียวที่สะอาดกว่า และเทคโนโลยีประหยัดเชื้อเพลิงฟอสซิลสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น

“ภาษีคาร์บอน” (Carbon Tax) ที่ว่านี้จึงถูกคาดหมายว่าจะเป็นกลไกสำคัญยิ่งในการผลักดันให้ชาวโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยับยั้งไม่ให้โลกร้อนขึ้นจนควบคุมไม่ได้ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าจะสิ้นค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาในระยะยาวมากกว่าการยอมจ่ายค่าเชื้อเพลิงสูงขึ้นในระยะสั้น ชนิดเทียบกันไม่ได้เลย

แต่การจะทำให้ประชาชนยอมรับปัญหาระดับโลกในระยะยาวที่ยังห่างไกลตัวเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในขณะที่พวกเขาต้องเดือดร้อนทันทีจากการขึ้นภาษีน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้ค่าครองชีพอื่นๆสูงขึ้นด้วยเป็นเงาตามตัว การประท้วง “เสื้อกั๊กเหลือง” ในฝรั่งเศส ซึ่งลุกลามไปถึงเบลเยียม จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน!

ฝรั่งเศสไม่ใช่ประเทศเดียวที่เกิดการประท้วงรุนแรงต่อต้านการขึ้นราคาน้ำมัน เมื่อเดือน ก.ย.ปีนี้ การประท้วงการขึ้นราคาน้ำมันเบนซินใน “อินเดีย” ทำให้โรงเรียนและที่ทำการรัฐบาลถูกปิดอย่างกว้างขวาง ส่วนที่ “เม็กซิโก” การประท้วงปะทุรุนแรงในปี 2560 หลังรัฐบาลผ่อนคลายกฎควบคุมน้ำมัน ทำให้ราคาสูงขึ้น ขณะที่ใน “อินโดนีเซีย” การ ประท้วงปะทุรุนแรงในปี 2556 หลังรัฐบาลลดการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ราคาพุ่งสูงขึ้น

แม้แต่ใน “สหรัฐอเมริกา” เดือน พ.ย.ปีนี้ ชาวรัฐวอชิงตันก็ลงประชามติท่วมท้นคว่ำข้อเสนอเก็บภาษีคาร์บอน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า แม้นักเศรษฐศาสตร์จะสนับสนุนนโยบายขึ้นภาษีน้ำมัน แต่มักถูกประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำต่อต้าน เพราะทำให้พวกตนเดือดร้อนแสนสาหัส

ถอยดีกว่า-ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส แถลงผ่านทางโทรทัศน์ไปทั่ว ประเทศ เมื่อ 10 ธ.ค. โดยประกาศจะยกเลิกแผนขึ้น ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง และจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ หลังเผชิญการประท้วงรุนแรงจากขบวนการ “เสื้อกั๊กเหลือง” มานานหลายสัปดาห์ (เอเอฟพี)
ถอยดีกว่า-ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง แห่งฝรั่งเศส แถลงผ่านทางโทรทัศน์ไปทั่ว ประเทศ เมื่อ 10 ธ.ค. โดยประกาศจะยกเลิกแผนขึ้น ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง และจะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ หลังเผชิญการประท้วงรุนแรงจากขบวนการ “เสื้อกั๊กเหลือง” มานานหลายสัปดาห์ (เอเอฟพี)

จริงๆแล้ว มาครงไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มขึ้นภาษีน้ำมันคนแรก แต่นโยบายนี้มีมาตั้งแต่รัฐบาลชุด ก่อนๆแล้ว เพียงแต่มาครง “ออกตัวแรง” กว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีก็เพราะชูธงต่อสู้โลกร้อน!

ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งวิลเลียม นอร์ดฮาวส์ ผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้ชี้ว่า นโยบายขึ้นภาษีน้ำมันต่อสู้โลกร้อนของมาครงถูกต่อต้านรุนแรง เพราะไร้การ “ออกแบบ” ที่ดี ไม่มีแผนรองรับชดเชยความเดือดร้อนของประชาชนเพียงพอ อีกทั้งผิดพลาดที่ไปเรียกภาษีน้ำมันว่า “ภาษีคาร์บอน”

ที่สำคัญ “พรีเซนเตอร์” ผู้นำเสนอนโยบายนี้ ก็ดันเป็นผู้นำที่คะแนนนิยมตกต่ำสุดๆ ขณะที่เศรษฐกิจฝรั่งเศสก็ย่ำแย่ ทุกอย่างจึงเลวร้ายไปหมด จนการประท้วงบานปลายเป็นการขับไล่มาครงเองในที่สุด!

บวร โทศรีแก้ว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0