โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

บทเรียนจาก "วิกฤต" ในอดีตที่ "มนุษย์เงินเดือน-เจ้าของธุรกิจ" ต้องอ่าน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 01 เม.ย. 2563 เวลา 08.46 น. • เผยแพร่ 29 มี.ค. 2563 เวลา 03.00 น.
บทเรียนจาก “วิกฤต” ที่ “มนุษย์เงินเดือน-เจ้าของธุรกิจ” ต้องอ่าน
ภาพ: Barcroft Media/Getty Images

สุวภา เจริญยิ่ง นักการเงินมากประสบการณ์ มีประสบการณ์ในแวดวงการเงินกว่า 30 ปี เริ่มต้นชีวิตการทำงานตั้งแต่เจ้าหน้าที่สินเชื่อ เป็นวาณิชธนกรนำหุ้นเข้าตลาดกว่า 80 บริษัท เป็นผู้จัดการกองทุน และกรรมการผู้จัดการ เมื่ออายุเพียง 33 ปี เป็นเจ้าของหนังสือขายดี อาทิ “Show Me the Money-บอกสิจะมีเงินได้ไง” และ “โตแล้วแบ่งกันรวย”

สาเหตุที่ลุกขึ้นมาจับปากกาเขียนหนังสือ เพราะอยากแบ่งปันความรู้ด้านการเงินให้คนทั่วไป “คนไทยส่วนใหญ่ เรียนวิธีหาเงิน แต่ไม่มีวิชาใช้เงิน เก็บเงิน” ในวิกฤตครั้งนี้ที่เรียกได้ว่า เป็น perfect storm ส่งผลกระทบถึงกันทั่วทั้งโลก “คุณสุวภา” กลับมาเขียนอีกครั้ง ผ่านคอลัมน์ “เรื่องเล่าจากประสบการณ์” ที่ปรากฏใน “ประชาชาติธุรกิจ : รวมพลังสู้โควิด-19”

เรื่องเล่าจากประสบการณ์ “สุวภา เจริญยิ่ง”

สิ่งที่เรากำลังเจออยู่ตอนนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าคุณอายุยืนสักหน่อย คุณต้องเคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจ เจอโรคระบาด เจอหุ้นตก เจอวันที่ไม่มียอดขาย วันที่ลูกค้าไม่เข้าร้าน วันที่เจ้าหนี้มาทวงแล้วคุณไม่มีเงินจ่าย วันเงินเดือนออก แต่ไม่มีเงินโอนเข้าบัญชี

อย่าว่าแต่เงินผ่อนบ้านผ่อนรถ เงินจะกินข้าวยังไม่รู้จะหาจากไหน

แต่ช่วงชีวิตของคนคนหนึ่งที่มีช่วงเวลาทำงาน ตั้งแต่จำความได้จะประมาณ 40-50 ปี คงเป็นเรื่องยากที่จะพบพาน เรื่องราวแบบนี้ ชนิดที่มาพร้อมเพรียงกันขนาดนี้

ทุกครั้งที่เกิดเหตุมักมีหลายเรื่องที่เราคิดถึง บางเรื่องมีการวางแผน มีคิดเผื่อไว้บ้าง แต่ก็มีเรื่องที่คิดไม่ถึงโผล่มาท้าทายให้แก้ไขให้ลงมือทำ และไม่ถามสักคำว่าเราอยากทำไหม ชอบหรือไม่ชอบรึเปล่า

วิกฤตรอบนี้เป็นการมาบรรจบครบของเรื่องที่คาดถึง เช่น คิดว่าเศรษฐกิจอาจอยู่ในช่วงขาลงมากกว่าขาขึ้น คิดว่าราคาน้ำมันจะลงเพราะพลังงานทดแทนอาจมาแต่ไม่มากเพราะอุตสาหกรรมไฟฟ้ายังต้องการอยู่
ประเทศจีนจะเข้มแข็งขึ้นทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ประธานาธิบดีสหรัฐคงมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เพราะเป็นปีเลือกตั้ง เมื่อมองแล้วก็คิดว่าสถานการณ์โดยรวม แม้ไม่ใช่ขาขึ้น แต่คงไม่เลวร้าย

แต่แล้วก็มีเรื่องคาดไม่ถึงโผล่ขึ้นมา และเป็นเรื่องราวระดับโลก เริ่มจากเหตุการณ์ไฟป่าที่ออสเตรเลีย ไหม้จนสงสารโคโอล่า เหตุการณ์ที่เวเนซุเอลา ม็อบที่ฮ่องกง และการออกจาก EU ของอังกฤษ เรื่อง Brexit ที่พูดกันมานาน มีผลกระทบมหาศาล แต่พอนาฬิกาตี 5 ทุ่ม ก็ออกมาง่าย ๆ อย่างนั้น มีการเดินขบวนในปารีส มีเรื่องนั้นเรื่องนี้ และมีข่าวเล็ก ๆ ในวันนั้นข่าวหนึ่ง คือ หวัดระบาดที่จีน

เมื่อประเทศจีนประกาศปิด “อู่ฮั่น” ช่วงวันตรุษจีน จากผู้ป่วย 10 คน กลายเป็น 8 หมื่น และวันนี้ทั้งโลกกำลังแตะ 4 แสน และไม่หยุด… มีการพูดถึง “จีน” ด้วยคำว่า “คนป่วยของเอเชีย”

จากวันนั้นที่ประเทศไทยมียอดผู้ป่วยเป็นอันดับ 2 ในตาราง สามารถช่วยกันดูแลจนลงไปลำดับที่หลายสิบวันนี้ และต้องช่วยกันภาวนาให้ไม่กลับขึ้นไปที่ 2 ของตารางอีก

“รัสเซียกับซาอุดีอาระเบีย” ไม่สามารถตกลงเรื่องกำลังการผลิตน้ำมันได้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันลงชนิดหัวทิ่มหัวตำ ต่ำที่สุดในรอบไม่รู้กี่ปี ราคาขายปลีกน้ำมันประกาศลดราคาทุกวัน วันนี้บนตารางขายปลีกน่าจะต่ำสุดในรอบ 15 ปี

“Perfect Storm” ถล่มโลก

เมื่อทั้งหมดมาบรรจบกัน ทำให้เกิด “perfect storm” ราคาหุ้นทั่วโลกจึงพร้อมใจกันผงกหัวรับอย่างเข้าใจ
ร่วงลงแบบไม่ต้องค่อย ๆ ลดระดับ มาแบบ crash landing กันเลยทีเดียว หายทีเป็น 100 จุด
หัวใจจะหยุดเต้นดี หรือใจจะขาดดี ตอบไม่ถูก แถมหุ้นตัวเล็กตัวน้อยกลับไม่ค่อยเป็นไร เป็นระดับตัวพ่อตัวแม่ทั้งนั้นที่มาเต้นฟลอร์โชว์ลงที 30%

เรื่องที่ไม่เคยเจอ ก็เจอแล้ว และเมื่อเจอแล้วจะทำอย่างไรต่อดี ก็ต้องบอกว่าในความน่ากลัวทั้งหมด มีเรื่องที่เป็นข้อสังเกตหลายอย่าง เพราะเหตุการณ์รอบนี้เจอเหมือนกัน คือ ติดโรคเหมือนกัน

ไม่มียารักษาเหมือนกัน เพราะเป็นไวรัส โจมตีไม่เว้นวันหยุด ไม่มีช่วงพัก ไม่เลือกชาติพันธุ์ หากแต่เลือกมนุษย์ ยิ่งพวกอยู่รวมกลุ่มยิ่งชอบ

ทั่วโลกตลาดหุ้นตกเหมือนกัน และเป็นหุ้นในกลุ่มที่แข็งแรงทั้งนั้น มีคนเสนอแนะเยอะแยะ แต่คนลงมือทำน้อยเหมือนกัน

คุณหมอ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ คือ hero ของคนทุกชาติ และออกมาพูดเหมือนกัน คือ “ท่านมาทำงานเพื่อคุณ ขอให้คุณอยู่บ้านเพื่อพวกเขาบ้างนะ”

มาเรียนรู้ภาษากันรายวัน China, Jaiyo, Quarantines, Social Distancing, Work from Home (WFH), New Normal

เป็นครั้งแรกที่เราโหยหาชีวิต normal มาก ๆ ไม่นับการกดแอปมหาศาล ชนิดมือถือลุกเป็นไฟ
ไม่มีอะไรทำก็นั่งไถ อ่านข่าว ส่งข่าวจริงบ้าง ปลอมบ้าง

แต่ก็เป็นครั้งแรกที่มีข่าวที่เราหยุดฟังโดยพร้อมเพรียง สิ่งที่เราไม่รู้คือเรื่องราวจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ และจะกลับมาเหมือนเดิมได้ไหม เมื่ออยู่บ้านจึงอยากบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อจะผ่านช่วงเวลาลุ้นระทึกนี้ไปด้วยกัน

เรื่องที่ 1 เถ้าแก่ร้านเหล็ก “Cash is everything”

สมัยยังเป็นเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ตอนเข้าไปใหม่ ๆ เป็นช่วงปี 2528-2529 วิกฤตรอบนั้น ลูกค้าหนี้เสียมาทุกวัน ขอให้แบงก์ช่วยผ่อนผัน ลดดอก ขอกู้เพิ่ม

แต่ case ที่จำแม่นที่สุด คือเจ้าของโรงเหล็กที่นำเข้าจำหน่ายเหล็กเส้น แกเล่าเรื่องที่บริษัทจมไปด้วย stock เหล็ก แต่งานก่อสร้างไม่มี ค่าเงินอ่อนตัว ไม่ได้ประกันความเสี่ยง exchange หนี้ก็เพิ่ม ทั้งที่อยู่เฉย ๆ

ลูกน้องเป็นคนเก่าแก่ ไล่ออกก็ไม่ได้ ไม่ช่วยคงไปอดตายทั้งครอบครัว ที่พีกคือ แกนึกว่าแบงก์ยึดหลักประกันแล้วจบ

แต่เรื่องของเรื่องก็คือเมื่อเศรษฐกิจอยู่ขาลง ของที่เคยมีราคา ราคาจะหด แถมขายไม่ได้ ถ้าจะขายก็จะได้ราคาแบบ distress คือ หาราคาเดิมกันไม่เจอ ส่งผลให้ยึดหลักประกันหมด หนี้ไม่จบ และภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ยึดทุกอย่างแล้ว หนี้ลดลงไปนิดเดียว

ภาพแกนั่งหน้าผู้จัดการน้ำตาคลอ ตาแดงก่ำ ตะโกนถามจะให้แกทำอะไร เอาชีวิตแกไหม จะฟ้องใช่ไหม
แกยอมติดคุก แต่เว้นบ้าน และลูกเมียได้ไหม

ฟังดูแล้วเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ความจริง คือ ทั้งคู่เป็นคู่สมรสกัน หนี้ผัวคือหนี้เมีย และบ้านก็รวมอยู่ในโฉนดโรงงานที่มาวางไว้กับแบงก์

“อาซ้อ” ที่นั่งฟังเงียบ ๆ อยู่นาน ถามวิธีการว่า “เพื่อให้แบงก์อย่าเพิ่งตัดวงเงิน ต้องทำอะไรบ้าง” แกบอกสามีให้ใจเย็นๆ ฟังแบงก์ก่อน สิ่งที่แกพูดก็ถูก เพราะแบงก์ยึดมาก็ไม่ได้เงินคืน ไม่มีใครชอบ ทำให้ลูกค้าหมดตัว แล้วยังต้องแบกหนี้ก้อนโตอีก

การสนทนาวันนั้นจบลงที่ถ้าหาเงินมาคืนได้เดือนละแสน และรีบทยอยขาย stock เอามาปิดเงินต้นบ้าง
แบงก์จะผ่อนผันเรื่องดอกเบี้ย และยืดวงเงินได้

การหาเงินมาส่งแบงก์สมัยนั้น คือ ไปแลกเช็คบ้าง ตั้งโต๊ะแชร์บ้าง แต่ของ “ซ้อ” คือ เปิดร้านขายข้าวต้มปลา
ลูกน้องกลางวันยกเหล็ก กลางคืนมาเป็นเด็กเสิร์ฟ และเงินคืนแบงก์ในแต่ละเดือนมาจากการขายข้าวต้มของซ้อนั่นเอง ลูกน้องมีข้าวเย็นกิน เอาไปฝากลูกที่บ้านกินเป็นข้าวเช้าได้ และยังเงินพิเศษจากร้านข้าวต้มอีก

ส่วนการขาย stock ก็ขายของใหม่ในราคาลด ยอมขาดทุนนิดหน่อย เพื่อเก็บเงินสดมากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายที่ชอบขายของเก่าเก็บ แม้จะลดแค่ไหนก็ไม่มีใครเอา สุดท้ายแกรอด และเป็นตำนานเล่าขานถึงความไม่ยอมแพ้ เมื่อมีความไม่แน่นอน และมีความผันผวน เงินสด cash is king

แล้วคำนี้กลับมาทรงพลังยิ่งขึ้น ในบทสนทนาที่ว่า Cash is not a King but Cash is Everything

เรื่องที่ 2 ทางเลือก-ทางรอดมนุษย์เงินเดือน

เรื่องนี้เกิดขึ้นตอนไปเป็น ซีอีโอบริษัทจัดการกองทุน เนื่องด้วยธนาคารที่เป็นผู้ถือหุ้นหลักใน บลจ.มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ได้ธนาคารใหญ่ระดับโลกมาเป็นผู้ถือหุ้นหลัก และเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการทำงานภายในธนาคารมหาศาล

ผู้ถือหุ้นใหม่ชาวต่างชาติเพื่อปรับโครงสร้างองค์กร เลยเสนอ package early retire จ่ายพิเศษสูงถึง 20 เดือน แต่ต้องได้รับความยินยอมจากต้นสังกัด

พวกพี่ ๆ ที่เป็นฝ่ายหน้าบ้าน หรือ front เช่น โต๊ะ treasury หรือสินเชื่อ อยากออกก็ไม่ให้ออก เลยกลายเป็นฝั่ง back และ operation ตัดสินใจเข้าโครงการ เพราะรวมเงินค่าออกจากงานพี่ ๆ บางคนได้เกือบ 30 เดือน

ในช่วงนั้นถึงแม้เป็นคนนอกก็อยู่ตึกเดียวกัน เห็นใจพี่ ๆ หลายคนมาก พี่บางคนอยากออก เขาไม่ให้ออก พยายามไปขอคุยเรื่องปรับเงินเดือน ปรับตำแหน่ง คำตอบคือ ยังไม่มีการปรับใด ๆ ทั้งสิ้น

กลุ่มหนึ่งที่ได้คุย คือ กลุ่มพี่ ๆ ที่ได้ดูลูกค้ารายใหญ่ ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ คือ กลุ่ม RM relationship manager ของ private banking หรือกลุ่มดู wealth นั่นเอง

แต่วันนั้น พี่ ๆ เหล่านี้ดูแลลูกค้ารายใหญ่ ใหญ่มาก ใหญ่อภิชนิด บริการถึงบ้าน และกำลังโดนลูกค้าต่อว่าอย่างหนัก เพราะนโยบายแบงก์ฝรั่ง ไม่มีการให้ดอกเบี้ยพิเศษ ห้ามเอาเอกสารไปเซ็นนอกแบงก์ และที่สำคัญ คือ ต้องโดนบังคับขายกองทุน อะไรก็ไม่รู้ NAV คืออะไร ลงทุนได้ผลตอบแทนเท่าไหร่ก็บอกไม่ได้ จะขายทีต้องมีคำเตือน ลูกค้าต้องกรอกประวัติ ทำ suitability ว่ารับความเสี่ยงการลงทุนได้ไหม จนมีพี่ ๆ แซวว่า “ขายยาบ้าง่ายกว่าไหม” เรื่องนี้พีกตรงที่พี่ ๆ เหล่านี้ควรเลือกรับ 30 เดือน แล้วลาออกไปเลยดีไหม

ช่วงนั้นมีโอกาสใกล้ชิดพี่ ๆ กลุ่มนี้ ทุกคนดูหมดหวังมืดมน และรู้ดีว่าเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ขนาดแบงก์เรายังต้องให้ฝรั่งมาถือหุ้นเลย และเริ่มวิเคราะห์ว่า ถ้ารับ 30 เดือนคงเหลือไม่เยอะ เพราะต้องไปปิดวงเงินกู้บ้านที่พนักงานเกือบทุกคนกู้ เพราะสวัสดิการวันนั้นดอกเบี้ยต่ำมาก แถมบ้านก็อยู่ใกล้แบงก์ที่ตั้งบนถนนสาทร ถ้าตกงานเกินปี สาว ๆ สีลม สาทร กลุ่มนี้จะมีโอกาสแต่งตัวให้ใครดู และถ้าลาออกไปอยู่แบงก์อื่นก็ใช่ว่าลูกค้าจะตามไป

สรุปคือไปไหนไม่รอด จึงตัดสินใจอยู่ต่อ แต่ความต่างคือ ในพี่ ๆ น้อง ๆ เหล่านี้ แบ่งเป็นสองกลุ่ม หลังจากหมดเวลาให้เลือกว่าจะอยู่ หรือจะออก แบงก์ให้ บลจ.ไปสอนอะไรก็ได้ ที่จะทำให้พนักงานแบงก์ขายกองทุนรวมได้ทุกวันอังคาร 6 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม บังคับผู้จัดการสาขาต้องเข้าเรียน

สมัยก่อนเลิกงานลงมา 2 ทุ่ม เหงา และเปล่าเปลี่ยวมาก เดินต๊อก ๆ อยู่คนเดียว แต่ตอนนี้ 2 ทุ่ม บนตึกสว่างไสว เพราะระบบงานบังคับ เช้ามาต้องมี morning meeting คุยว่าเมื่อวานทำอะไรสำเร็จ วันนี้จะไปเจอใคร ทั้งวันหาลูกค้าต้องกรอก call report เย็นคนมีหน้าที่เรียนมาเรียน หรือต้องนั่งทำ call report
มิฉะนั้นจะเป็นดินพอกหางหมู และมีการแจกเป้าแต่ละสาขา แต่ละฝ่ายงาน

เมื่อมีเป้าจากที่เคยขายกองทุนรวม ร่วมใจช่วยกันตอนเปิดกองปีแรก ขายได้พันล้านแบบหืดขึ้นคอ กราบไหว้ทั่วทิศสู่การขายได้เป็นหมื่นล้านในเวลาอันรวดเร็ว และเป็นพี่ ๆ กลุ่มเดิม คนเดิมที่เคยขายให้ตั้งแต่แรก
สองกลุ่มที่ว่า คือ กลุ่มแรกที่ก่นด่าดวงชะตาที่มาเจอระบบที่โหด ไปหาลูกค้าด่าแบงก์ เวลาอยู่แบงก์ด่าลูกค้า ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่เปิดใจ

ขณะที่กลุ่มที่สองเดินมาหาหลังเลิก class บางคนเป็นแค่น้อง ๆ แต่สนใจมาฟัง มาถามว่า ลูกค้าถามอย่างนี้ควรตอบอย่างไร จนเราทำ FAQ-frequency ask questions พวกเขากลุ่มนี้ยังแบ่งเงินเล็ก ๆ ของเขามาลงทุนเอง เพื่อจะได้รู้ว่าเป็นอย่างไร ลูกค้าน่าจะสงสัยตรงไหน เปรียบเทียบอย่างไรว่า กองเราดี หรือแย่กว่าคนอื่นเขา

กลุ่มหลังปัจจุบันเป็น head private bank บ้าง ผู้จัดการสาขาดูแลลูกค้ารายหลักมากมาย มีเงินเดือนมหาศาล

คนเรามีงานทำ ก็ต้องระวังรักษางานให้ดี อยู่ก็ทำเต็มที่ จากก็ให้เขาเสียดาย เป็น “ลูกน้อง” ก็เป็นลูกน้องที่นายอยากมี เป็น “นาย” ก็เป็นนายที่อยากมีคนทำงานด้วย อย่าไปคิดว่าเขาต้องทำงานให้

ความสำเร็จของ “นาย” อยู่ที่ความก้าวหน้าของ “ลูกน้อง” ทุ่มเทกับงาน อยู่ให้คิดว่าเป็น “ทรัพย์สิน” ไม่ใช่เป็น “หนี้สิน” ของบริษัท “มีงานทำ ดีกว่าไม่มีงานทำ”

“Do the best you can until you know better you Do it better.”

“ชีวิตเป็นของเรา เราเท่านั้น ที่จะทำให้มีชีวิต”

“Life isn’t about finding yourself. Life’s about creating yourself.” George Bernard Shaw

เรื่องที่ 3 วิกฤตมาพร้อมโอกาส

ทุกครั้งที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ ความจำเป็นในการลดต้นทุน หนีไม่พ้นเรื่อง “ลดคน” เป็นคนสั่งมันง่ายมาก แต่คนรับไปปฏิบัตินี่สิ ใจไม่มีทางรู้สึกดีเลย แถมทุกครั้งจะเป็นในส่วนของเจ้าหน้าที่ระดับล่างมักโดนก่อน

แต่เรื่องที่จะเล่าเกิดที่บริษัทแห่งหนึ่ง สิ่งที่เขาทำ คือ พนักงานเงินเดือนเกิน 150,000 ขอลดเงินเดือน 50% เกิน 100,000 ขอ 20% ยังไม่แตะเด็ก ๆ แต่มีพนักงาน 3 แผนกที่ต้องไปเกือบหมด คือ เลขาฯ คนขับรถ และ messenger

เรื่องมันเศร้า คือ ในสถานการณ์นี้ พวกเขาจะไปสมัครงานที่ไหน แต่ฉากแรกก่อน คือ MD บริษัทนี้ที่เป็นเจ้าของ เป็นคนกล่าวขอโทษคนกลุ่มนี้

นอกจากจ่ายชดเชยแล้ว เขาให้เงินส่วนตัวใส่ซองต่างหากให้แต่ละคน เรื่องนี้พีกตรงที่ พี่หัวหน้าที่ดูแลคนขับรถ ถามด้วยความห่วงเช่นกันว่า ไม่มีพวกเขาแล้ว งานเดิมที่บริษัทยังต้องทำอยู่ จะทำอย่างไร นายบอกว่า “คงต้อง outsources”

“งั้นพวกผมก็ว่าง ถ้าขอเป็นรับ outsources แล้ว นายช่วยแนะนำบริษัทเพื่อนนายได้ไหม ได้บริษัทหนึ่ง นายจ่ายครึ่งหนึ่ง ถ้าแนะนำเพื่อนนายอีกบริษัทได้ ได้ 3 บริษัท นายก็จ่ายแค่ 25% เอง เงินชดเชยพวกผมอยู่ได้ 3 เดือน แต่ถ้าได้เงินบ้าง ผมจะได้บอกให้น้องเอาเงินนี้เป็นเงินเก็บ แล้วเราขยันหน่อย กินน้อยหน่อย หาเงินเรื่อย ๆ แต่ถ้าใครมีหนทางขยับขยายไปทำอะไรได้ก็ไม่เป็นไร”

วันนี้ น้องคนนั้นเป็นเจ้าของบริษัท outsources HR รายใหญ่ของเมืองไทย โดยเฉพาะงาน เลขาฯ คนขับรถ messenger security และแม่บ้าน

เรื่องราวในวันที่มืดมน เราอาจรู้สึกกดดัน แต่ทุกครั้งมันจะผ่านไป และเราก็จะเติบโตขึ้นอีกขั้น ทั้งหมดอยู่ที่ตัวเราเท่านั้น

ตัดสินใจด้วยความมีสติ ไม่มีอะไรที่จะถูกใจในทุกเรื่อง แต่ ณ เวลานี้ นี่คือทางเลือกที่ดีที่สุด ก็ลงมือทำกันเถอะค่ะ

If you don’t know your own worth and value…then don’t expect someone else to calculate it for you.

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0