โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

บทสัมภาษณ์ผู้เขียนบทเกม The Last of Us Part II กับ "ราคาของความเกลียดชัง"

GameFever TH

อัพเดต 05 มิ.ย. 2563 เวลา 12.13 น. • เผยแพร่ 05 มิ.ย. 2563 เวลา 19.07 น. • GameFever.co

ในฐานะสิ่งมีชีวิตเลือดอุ่นที่รู้สึกรัก/โลภ/โกรธ/หลง สัญชาตญาณของมนุษย์ในการ "ปกป้อง" สิ่งที่ตนหวงแหน ไม่ว่าจะเป็นดินแดน ทรัพย์สินเงินทอง หรือกระทั่งคนรัก ถือเป็นแก่นหลักอย่างหนึ่ง ที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้เราฝ่าฟันอุปสรรคอันมากล้นของ "ชีวิต" เพื่อลืมตาตื่นและก้าวเดินต่อไปในวันรุ่งขึ้น เมื่อมีอะไรก็ตามที่มาพลัดพรากเราไปจากสิ่งของหรือผู้คนอันเป็นที่รักเหล่านั้น ก็ย่อมไม่น่าแปลกถ้ามนุษย์คนหนึ่งจะรู้สึกโกรธแค้น และเรียกร้องความยุติธรรมจากโลก พระผู้เป็นเจ้า หรือบางคนอาจจะเลือกวิธีที่เถรตรง และไปทวงเอา "ความยุติธรรม" ที่ตนควรได้รับจากผู้ที่พลัดพรากไปเสียเอง แต่ความเป็นจริงอย่างหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เกี่ยวกับโลกอันโหดร้ายของเกม The Last of Us Part II คือไม่มีอะไรที่ได้มาฟรีๆ และแม้แต่ "ความยุติธรรม" ที่รู้สึกว่าเป็นสิทธิ์ของเรา บางครั้งก็มาพร้อมป้ายราคาที่ถูกปกปิด และกว่าจะรู้ถึงสิ่งที่ต้องแลกไปเพื่อให้ได้มา ก็อาจจะสายเกินไปเสียแล้ว คำถามที่ตามมาคือ แล้วคุณพร้อมจะเสี่ยงกับ "ราคาที่มองไม่เห็น" นี้แค่ไหน เพื่อให้ได้สิ่งที่คุณต้องการ "เราอยากให้ผู้เล่นรู้สึกว่าทุกการตัดสินใจในฐานะ Ellie มันเป็นการตัดสินใจที่ท้าทาย และมีราคา เพราะทุกอย่างในโลกของเกมมันมีราคาที่ต้องแลกโดยไม่มีข้อยกเว้น" ผู้พัฒนาตำแหน่งผู้เขียนบทเกม The Last of Us Part II คุณ Halley Gross กล่าวในการสัมภาษณ์กับกลุ่มสื่อมวลชนชาวไทย ที่จัดขึ้นโดย Sony Thai เมื่อเร็วๆ นี้

"ตั้งแต่สภาพแวดล้อมที่โหดร้าย ที่บางครั้งก็เป็นอันตรายกับเราได้ ไปจนถึงพวก NPC ที่จะล่าสังหารคุณอย่างไม่ลดละ ทุกอย่างมันถูกสร้างมาเพื่อขัดขวาง Ellie ในระหว่างการเดินทางเพื่อตามหา “ความยุติธรรม” ที่เธอต้องการ และทุกอย่างยังถูกยกระดับอย่างรวดเร็วตามเนื้อเรื่อง มันเหมือนกับการโยนอุปสรรคทุกอย่างใส่ Ellie เพื่อที่จะถามเธอว่า 'เธอต้องการสิ่งนี้จริงๆ ใช่ไหม? เธอพร้อมจะแลกทุกอย่างเพื่อสิ่งนี้จริงๆ ใช่ไหม'" ด้วยผลงานเขียนบทในวงการภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์มากมาย รวมไปถึงประสบการณ์ในการสร้างซีรีส์ชื่อดังของ HBO อย่าง Westworld เกม The Last of Us Part II ถือเป็นก้าวแรกของคุณ Halley สู่วงการเกม แถมยังเป็นผลงานที่ฝากความคาดหวังของแฟนๆ ทั่วโลกเอาไว้ด้วย "มันก็ต้องรู้สึกเกร็งๆ บ้างเป็นธรรมดาแหละนะ ค่าย Naughty Dog เองก็มีชื่อเสียงมากอยู่แล้ว แถมตัวละครเหล่านี้ยังเป็นที่รักของแฟนๆ อีกด้วย" "ฉะนั้นฉันก็ย่อมรู้สึกถึงความกดดันในการสานต่อเรื่องราวของพวกเขา ในวิธีการที่ให้เกียรติ์ที่มาของพวกเขาด้วย ซึ่งก็น่ากลัวมาก แต่ฉันก็ตกหลุมรักตัวละคร Ellie ไปเรียบร้อยแล้ว และการที่ได้โอกาสในการพัฒนาตัวละครตัวนี้ในฐานะผู้ใหญ่ เป็นโอกาสที่ฉันปฏิเสธไม่ลงเลย"

สำหรับคุณ Halley ความแตกต่างหลักระหว่างการทำงานภาพยนตร์และโทรทัศน์ เมื่อเทียบกับการทำงานเกม คือในขณะที่ "บท" ในงานภาพยนตร์และโทรทัศน์มักเป็นของตายตัว ที่ถูกส่งจากโต๊ะนักเขียนไปให้แผนกอื่นๆ เนรมิตขึ้นมาอย่างไม่หืออือ "บท" ของเกมกลับเป็นสิ่งมีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงและเติบโตตลอดเวลา จากการเอาใจใส่ของทุกฝ่ายใน Naughty Dog ที่ทำงานร่วมกันในการขับ "เนื้อเรื่อง" ของเกมให้เข้าถึงผู้เล่นได้มากที่สุด "ที่ Naughty Dog เนื้อเรื่องเป็นสิ่งมีชีวิตที่เติบโตเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าฉันและ Neil จะกำหนดทิศทางของเนื้อเรื่องได้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ แต่ไม่นานเนื้อเรื่องก็ได้รับคำแนะนำจากทีมดีไซน์ หรือทีมออกแบบศิลป์ หรือใครก็ได้ในค่าย ที่ช่วยกันใส่ตัวตนของตัวเองลงไปในบท เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถช่วยกันขับธีมของเนื้อเรื่องไปให้ถึงผู้เล่น" "เกมจะเกิดขึ้น 4 ให้หลังจากตอนจบของภาคแรก และในสี่ปีนั้น ตัวละครที่เราคุ้นเคยก็ได้ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนที่ปลอดภัยพอสมควร อาจจะต้องออกไปจัดการพวกผู้ติดเชื้อระหว่างลาดตระเวนบ้าง แต่พวกเขาก็ยังมีพื้นที่พอให้เป็นกังวลกับความรักหรือมิตรภาพ มีเวลานัดกันดูหนัง มีเวลาที่จะพักผ่อนในสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเป็นที่รักและต้อนรับ เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี หรืออาจจะในชีวิตของเขาเลยก็ได้"

"มันเลยเป็นโชคดีของฉันที่ได้เข้ามาในจังหวะนี้ และได้ทำงานกับตัวละครที่มีรากฐานที่แข็งแกร่งเหล่านี้ เพื่อตั้งคำถามว่าพวกเขาจะเป็นคนแบบไหนหลังจากที่ใช้ชีวิตอย่าง “สงบ” มานานขนาดนี้ หรือเขาจะเปลี่ยนไปแค่ไหนหลังจากที่ต้องเผชิญกับเรื่องที่เจ็บปวด ตัวละครเหล่านี้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่อาจจะเสียทุกอย่างที่รักไปได้ในพริบตา แล้วมันทำให้พวกเขามีทัศนคติต่อความรักหรือความปลอดภัย หรือแม่แต่ต่อชีวิตของตัวเองอย่างไรบ้าง มันมีคำถามมากมายที่เราอยากหาคำตอบเกี่ยวกับโลกของเกม" อย่างที่หลายคนอาจจะทราบอยู่บ้าง เนื้อเรื่องของเกม The Last of Us Part II จะติดตามตัวละคร Ellie วัย 19 ปี และการเดินทางเพื่อทวงคืน "ความยุติธรรม" บางอย่างของเธอ ที่จะพาเธอเข้าไปพัวพันกับ "วังวนแห่งความเกลียดชัง" ที่ผู้พัฒนายกให้เป็นแก่นหลักของทุกองค์ประกอบในเกม "ทุกอย่างที่เราทำในเกมนี้ ตั้งแต่การเล่าเรื่องผ่านองค์ประกอบแวดล้อม หรือการพัฒนาตัวละคร NPC และเนื้อเรื่อง ล้วนวนกลับไปสู่ธีมหลักของเกมที่เราตั้งไว้ ซึ่งก็คือธรรมชาติของความรุนแรง ที่มักจะดำเนินไปเป็นวังวนไม่สิ้นสุด และมักจะเพิ่มทวีตัวเองขึ้นเรื่อยๆ" "ในการออกแบบเมือง Seattle อันเป็นที่ตั้งของเกม เรามีจุดประสงค์หลักคือการส่งผ่านแก่นสาสน์ตรงนั้นไปยังผู้เล่น เพื่อการนั้น เราจึงสร้างกลุ่มศัตรูสองกลุ่มนี้ขึ้นมา เป็นกลุ่มคนสองฝ่ายที่ต่างห้ำหั่นกันด้วยความเกลียดชัง ที่หมักหมมมานานจนไม่มีใครบอกได้แล้วว่าเริ่มได้อย่างไร หรือใครเป็นคนเริ่มก่อน มีแต่เชื่อว่าอีกฝ่ายเริ่มก่อน จึงรบกันไม่รู้จบ" ศัตรูสองกลุ่มที่ผู้เล่นจะพบในเกม The Last of Us Part II จะประกอบไปด้วยกลุ่มทหารพลเรือน W.L.F. ที่มักจะใช้กลยุทธ์และอาวุธแบบทหาร แถมยังมีสุนัขตามกลิ่นที่สามารถตามตัว Ellie ได้อย่างแม่นยำ ส่วนอีกกลุ่มคือเหล่าเซราไฟต์ กลุ่มผู้คลั่งศาสนาที่มักโจมตีด้วยอาวุธไร้เสียงอย่างธนู ก่อนจะจับผู้ที่ถูกมองว่าเป็นศัตรูมาแขวนคอและคว้านท้องอย่างโหดเหี้ยม "สำหรับกลุ่ม W.L.F. เราอยากสร้างกลุ่มศัตรูที่ผู้เล่นมีความคุ้นเคยสักหน่อย จึงอาจจะสังเกติได้ว่าพวก W.L.F. จะมีความคล้ายคลึงกับกลุ่ม Hunters ในภาคแรกในแง่ของแนวทางการเล่น แต่แน่นอนว่ามาพร้อมกับการพัฒนามากมาย อย่างแรกคือการที่ตัวละครทุกตัวมีชื่อของตัวเอง หมายความว่าถ้ามีใครตายหรือหายตัวไป พวกที่เหลือก็จะแสดงปฏิกิริยาที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น"

"ในขณะเดียวกัน ในส่วนของเซราไฟต์นั้น เราต้องการพูดถึงคนที่ถูกครอบงำโดยศาสนาหรือความเชื่อ จนสามารถกระทำความรุนแรงอย่างสุดโต่งได้โดยไม่รู้สึกอะไร พวกเซราไฟต์จะติดตาม “ศาสดา” คนหนึ่ง และกลุ่มก็ก่อตั้งในเมือง Seattle มานานพอๆ กับพวก W.L.F. ด้วย ซึ่งเรามองว่าพวกเขาเป็นเหมือนตัวแทนของประวัติศาสตร์อีกแง่ของเมือง Seattle" แต่แม้ว่ากลุ่มทั้งสองจะเป็นศัตรูที่จะไล่ล่าและสังหารผู้เล่นอย่างไร้ปราณี แต่ผู้พัฒนาก็ยังให้ความสำคัญกับ NPC ศัตรูเหล่านี้ในฐานะมนุษย์ ที่ล้วนมีความหวังและความฝัน หรือไปถึงความสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นๆ รอบข้างอีกด้วย ทำให้พวกเขามี "ตัวตน" มากกว่าแค่ศัตรูนิรนามในเกมทั่วๆ ไป และทำให้การต่อสู้มีน้ำหนักต่อจิตใจของผู้เล่นอย่างแท้จริง "เราต้องการสร้างสถานการณ์ที่บังคับให้ Ellie ในฐานะตัวละคร ต้องเลือกระหว่างทางเลือกที่ไม่น่าเลือกทั้งสองทาง พร้อมกับตั้งคำถามว่าเธอจำเป็นต้องเลือกแต่แรกหรือไม่"

"ความรุนแรงและความเกลียดชังอาจเป็นแก่นหลักของเนื้อเรื่องแต่มันก็เกี่ยวกับความเข้มแข็งของมนุษย์เช่นกัน ไม่ว่าจะในตัว Ellie หรือในตัวละครอื่นๆ ที่สามารถยกตัวเองขึ้นมาเมื่อล้มลง และถูกท้าทายให้ตั้งคำถามกับการกระทำของตัวเองตลอดเวลาเกี่ยวกับทางเลือกที่ได้เลือกไป และการทำความเข้าใจถึงราคาที่จำเป็นต้องจ่ายไปเพราะการตัดสินใจเหล่านั้น การที่มนุษย์คนหนึ่งเลือกทางเลือกที่อาจจะนำไปสู่การทำลายล้าง และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตัวตนของมนุษย์คนนั้น" แนวคิดนี้สะท้อนออกมาในเกมเพลย์ในรูปแบบของ "ทางเลือก" ที่เกมมอบให้ผู้เล่น ในประสบการณ์ของผู้เขียนเอง มีหลายครั้งที่รู้สึกเหมือนเกม "ผลัก" เราให้ต้องกระทำเรื่องที่โหดเหี้ยมในฐานะทางเลือกที่ง่ายที่สุด เช่นการฆ่าเจ้าของสุนัข เพื่อฉวยโอกาสลอบเร้นผ่านไปในขณะที่สุนัขตัวนั้นพยายามร้องเรียกร่างไร้วิญญาณของเจ้าของ โดยคุณ Halley กล่าวว่าผู้พัฒนาต้องการมอบอิสระให้ผู้เล่นสามารถตีความเนื้อเรื่องผ่านการกระทำของตัวเองได้ด้วย "เมื่อคุณเผชิญสุนัขของทหาร W.L.F. คุณมีทางเลือกว่าจะกำจัดมัน หรือจะลอบผ่านไปเฉยๆ ก็ได้ เป็นการตั้งคำถามว่าคุณจะยอมสละชีวิตของ “มนุษย์” หรือสุนัขสักตัว เพื่อเป้าหมายของคุณหรือไม่ เราอยากให้คุณจำเป็นต้องตอบคำถามยากๆ เหล่านี้ตลอดเวลา"

"ยิ่งเกมดำเนินไปเรื่อยๆ เราก็ยิ่งเปิดโอกาสให้คุณเข้าถึงตัวละครทั้งหลายนี้ในฐานะมนุษย์มากขึ้นด้วย เพราะเราไม่อยากให้ศัตรูในเกมเป็นแค่ศัตรูที่คุณต้องกำจัด แต่เป็นมนุษย์ที่มีตัวตน มีความสัมพันธ์ต่อมนุษย์คนอื่นๆ ที่อาจจะเสียใจจากการตายของพวกเขา เราไม่อยากให้อะไรรู้สึกง่าย เพื่อสื่อว่า Ellie ต้องการทำตามเป้าหมายของเธอแค่ไหน และให้ผู้เล่นเข้าใจถึงความมุ่งมั่นในการตามหา “ความยุติธรรม” ที่เธอต้องการ และความเกลียดชังที่เป็นแรงขับของเธอ" สุดท้ายนี้ คุณ Halley ฝากความหวังว่าผู้ที่เล่นเกมทุกคนจะตั้งคำถามกับตัวเอง เกี่ยวกับทั้งตัวพวกเขาเอง และเกี่ยวกับโลกรอบๆ ตัว รวมไปถึงคนแปลกหน้าที่อยู่ในสังคมด้วย "เราออกแบบตอนจบของเกมนี้ด้วยความตั้งใจที่จะตั้งคำถามหรือข้อถกเถียงในหมู่ผู้เล่นอยู่แล้ว ไม่มีตัวละครตัวไหนในเกมที่เป็นขาวหรือดำ ดีหรือชั่วไปเลยทั้งหมด การตีความการกระทำของตัวละครเหล่านี้ก็ถือเป็นองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งที่เราตั้งใจใส่ไว้ในเกมเช่นกัน"

แล้วพบกับบทความรีวิวเกม The Last of Us Part II ของGameFever ได้ในวันที่ 12 มิถุนายนนี้ หรืออ่านความคิดเห็นเบื้องต้นจากการเล่นเกมได้ ที่นี่ สำหรับข่าวสารเกมที่น่าสนใจ คลิ๊ก!

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0