โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

น่าตกใจ! เอกสารแค่ 8 แผ่น สัญญาค่าโง่ "โฮปเวลล์"

NATIONTV

เผยแพร่ 24 เม.ย. 2562 เวลา 02.43 น. • กรุงเทพธุรกิจ
น่าตกใจ! เอกสารแค่ 8 แผ่น สัญญาค่าโง่ โฮปเวลล์
น่าตกใจ! เอกสารแค่ 8 แผ่น สัญญาค่าโง่ โฮปเวลล์

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2532 ให้กระทรวงคมนาคมไปดําเนินการให้มีการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับ โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ซึ่งนำมาสู่การออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนลงทุนก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในเขตกรุงเทพมหานคร และเมื่อครบกำหนดวันที่ 16 ต.ค.2532 มีผู้ยื่นข้อเสนอ 1 ราย คือ บริษัท Hopewell Holdings Ltd. (Hong Kong)

โครงการโฮปเวลล์มีการลงนามเมื่อวันที่ 9 พ.ย.2533 ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ และมี นายมนตรี พงษ์พานิช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สัญญาสัมปทาน 30 ปี วงเงินโครงการ 80,000 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ระยะทาง 63.3 กิโลเมตร โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะจัดสรรที่ดิน 80 ไร่ บริเวณบางซื่อ และที่ 80 ไร่ บริเวณมักกะสัน เพื่อให้เอกชนสร้างโรงเก็บและโรงซ่อมรถไฟชุมชน รวมทั้งเอกชนได้สิทธิใช้ประโยชน์ที่ดินย่านหัวลำโพง 112 ไร่

การพัฒนาโครงการมีความล่าช้าและหยุดก่อสร้างในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งมี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และวันที่ 20 ม.ค.2541 รัฐบาลนายชวน หลักภัย มีมติ ครม.ให้ยกเลิกสัญญา โดยในขณะนั้นมี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงปี 2538-2538 (รัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา) กล่าวกับ "เนชั่นทีวี" ว่า โครงการนี้ลงนามตั้งแต่ปี 2533 จากนั้นโครงการมีปัญหาจนมีการบอกเลิกสัญญา ฉะนั้นหากจะหาคนรับผิดชอบก็ต้องไปหาจากคนที่บอกเลิกสัญญา

"ช่วงที่ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ช่วงนั้นโฮปเวลล์เริ่มมีปัญหาแล้ว ปัญหาหลักๆ มี 2 เรื่อง คือ 1.กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ส่งมอบพื้นที่ล่าช้า 2.บริษัทโฮปเวลล์ขาดสภาพคล่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งผมพยายามหาทางช่วยเหลือทั้งให้กำลังใจและแก้ไขอุปสรรคต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ส่วนเรื่องขาดสภาพคล่องเป็นเรื่องของเอกชน ผมไม่ได้ไปเกี่ยวข้อง"

นอกจากนี้ เท่าที่จำได้หลังพ้นรัฐบาลนายบรรหารแล้ว ก็เป็นรัฐบาล พล.อ.ชวลิต แต่ยังไม่ยกเลิกสัญญา จึงเข้าใจว่ายกเลิกในรัฐบาลชวน สมัยที่ 2 ซึ่งต้องไปดูว่าช่วงนั้นกระทรวงคมนาคมสั่งยกเลิกเองหรือเป็นมติ ครม.

"ผมไม่ได้เกี่ยวข้องทั้งช่วงเริ่มทำสัญญาและยกเลิกสัญญา"

สำหรับการฟ้องร้อง ทราบว่าบริษัทโฮปเวลล์ยื่นฟ้องมาตั้งแต่รัฐบาลชวน 2 ซึ่งทำโครงการก่อสร้างโลคัลโรดแล้ว เพราะถือว่าผิดสัญญา จากนั้นเมื่อมีการยกเลิกสัญญาสัมปทานก็ไม่ทราบว่าบริษัทโฮปเวลล์ไปยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการอย่างไร เพราะไม่ได้ติดตาม เนื่องจากไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง

ส่วนแนวทางดำเนินการหลังจากนี้ ต้องรอดูว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะทำอย่างไร จะไปไล่เบี้ยเอาผิดกับใครบ้าง ซึ่งคงคล้ายการไล่เบี้ยโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีค่าโง่เหมือนกัน แต่ภายหลังรัฐบาลก็พยายามไปฟ้องไล่เบี้ยกับรัฐมนตรีที่สั่งยกเลิกสัญญา และฟ้องกิจการร่วมค้าฯ ที่เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างด้วย

พ.อ.วินัย สมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมปี 2535-2537 (รัฐบาลชวน 1) ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand" ว่า เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหลังจากมีการลงนามสัญญาไปแล้วเมื่อปี 2533 แต่เล็งเห็นว่าโครงการมีประโยชน์จึงเร่งผลักดันต่อให้เกิดการก่อสร้าง เริ่มเจรจากับนายกอร์ดอน วู ประธานบริหารบริษัทโฮปเวล โฮลดิ้งส์ เพื่อให้เริ่มต้นก่อสร้าง

"ตอนนั้นที่ผมเข้ามาก็มีการลงนามสัญญาไป 2 ปีแล้ว แต่งานไม่คืบหน้า ยังไม่มีการก่อสร้างอะไรเลย หลังจากเข้ามารับตำแหน่งก็ได้เชิญ กอร์ดอน วู มาหารือกับ รฟท.ก็ได้บอกเขาว่า รับงานมา 2 ปีแล้วยังไม่เห็นการพัฒนาอะไรเลย ซึ่งกอร์ดอน วู ก็ได้เริ่มลงมือทำ วางคานตอกเสาเข็ม แต่ถือว่าโครงการนี้ทำไปก็เข็นกันไป ต้องเข็น รฟท.ในการส่งมอบพื้นที่"

ในช่วงที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้พบความขัดแย้งของการเดินหน้าโครงการโฮปเวลล์ โดยใน รฟท.มีคนอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.เห็นว่าควรดำเนินโครงการต่อ 2.เห็นว่าไม่ควรดำเนินการต่อ ซึ่งทำให้เวลาส่งมอบพื้นที่เกิดปัญหาล่าช้า ส่วนการลงทุนบริษัทโฮปเวลล์มีสถานะทางการเงินไม่คล่องตัว แต่ก็ไม่แน่ใจว่าเส้นทางทางการเงินของเขาเอาเงินมาจากไหน

ทั้งนี้ เพื่อแก้ปัญหาจึงเสนอให้นำเอากรณีโฮปเวลล์มาเป็นกรณีศึกษา รวมทั้งต้องการให้นำสัญญาสัมปทานที่นายมนตรี พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการมาแสดงโดยละเอียดทุกหน้า เพื่อให้รู้ว่าเป็นอย่างไรในปี 2533 และอยากให้ทำไทม์ไลน์ว่ารัฐบาลไหนใครทำอะไร ใครยกเลิก ใครฟ้องใคร จนกระทั่งศาลปกครองสูงสุดตัดสิน เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา

"อยากให้นำคำฟ้องของโฮปเวลล์ที่ไปฟ้องอนุญาโตตุลาการมาแสดงแบบละเอียด เพื่อดูคำฟ้องว่าอย่างไร และเอาคำฟ้องของ รฟท.มาแสดงอย่างละเอียดว่าทำไม รฟท.ถึงเรียกค่าเสียหายถึง 2 แสนล้านบาท เพื่อให้สังคมเข้าใจ และให้เอาคำตัดสินของศาลปกครองกลางมาแสดงโดยละเอียด ซึ่งท้ายสุดเอาคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดมาแสดงโดยละเอียดด้วย เมื่อนำสิ่งต่างๆ มาแสดงละเอียดแล้ว สังคมจะมองออกว่ารัฐบาลจะหาทางออกเรื่องนี้อย่างไร"

หลังจากศาลปกครองสูงสุดตัดสินแล้วมีเวลาเหลืออยู่ 180 วัน ควรเร่งเอาข้อมูลทั้งหมดมาแสดงให้เห็นว่าใครมีส่วนทำผิดอย่างไร เพื่อรีบหาทางออก สำหรับส่วนตัวที่ได้เข้าไปเดินหน้าโครงการนี้ เชื่อว่า รฟท.ก็มีส่วนผิด แต่โฮปเวลล์ก็มีส่วนผิด จึงอยากให้เอาเรื่องทั้งหมดมาแสดงให้สังคมเข้าใจจะเห็นว่าใครผิดใครถูกและใครทุจริตอย่างไร เพราะหลังลงนามสัญญา 7 ปี มีความคืบหน้าเพียง 13% ทำให้ต้องยกเลิกสัมปทาน

สำหรับ ปัญหาการทำงานในขณะนั้นติดขัดไปหมด โดยเมื่อนายกอร์ดอน วู เสนอแบบมาและถ้าไม่ได้ตามที่ต้องการก็แสดงอาการ เพราะ รฟท.ไปตรวจอีกแบบหนึ่ง และการส่งมอบพื้นที่ก็ไม่ทัน เนื่องจาก รฟท.มีสัญญากับเอกชนรายอื่นอยู่

"การทำสัญญาสัมปทานขณะนั้น เป็นสัญญาก่อนที่จะมีกฎหมายเอกชนร่วมลงทุน ทำให้สัญญาไม่ละเอียดมาก มีเอกสารเพียง 8 แผ่น เงื่อนไขในสัญญาสัมปทาน เขียนไว้คร่าวๆ ว่าทำอะไรบ้าง ใครรับผิดชอบอะไร เป็นสัญญาลวกๆ"

การทำสัญญาในขณะนั้นจึงต่างจากการทำสัญญาหลังจากมีกฎหมายร่วมทุนกับเอกชน ดังนั้นทางออกตอนนี้ คือ เอาสิ่งต่างๆ มาดูกันใหม่ รัฐบาลก็ดี สังคมก็ดีจะเห็นทางออกว่าจะจ่ายอย่างไรและจะเจรจากันอย่างไร

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0