โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นาฬิกาเพื่อน สัญญายืมใช้คงรูป วิถีใหม่ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ยุค New Normal

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics

อัพเดต 30 พ.ค. 2563 เวลา 11.46 น. • เผยแพร่ 30 พ.ค. 2563 เวลา 12.31 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

กรณี ป.ป.ช.ทำหนังสือแจ้งต่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ภายหลังได้ขอให้พิจารณาชี้มูลความผิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฐานไม่แจ้งทรัพย์สินในมูลค่านาฬิกาหรูที่ยืมมา โดยสรุปว่าการยืมดังกล่าวเป็นการ “ยืมใช้คงรูป” มิใช่หนี้สินที่เป็นเงินตราและได้มีการคืนทรัพย์ให้แก่ผู้ยืมแล้ว ดังนั้นพล.อ.ประวิตร จึงไม่ต้องแสดงการยืมนาฬิกาในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน

กระทั่งล่าสุดนายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้แจงย้ำว่า หนี้ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ที่จะต้องยื่นในแบบบัญชี มี 4 ประเภท คือ 1.เงินเบิกเกินบัญชี 2.เงินกู้ธนาคารและสถาบันการเงินอื่น 3.หนี้สินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือ 4.หนี้สินอื่น ซึ่งทั้งหมดเป็นหนี้เกี่ยวกับการเงิน ไม่มีหนี้ที่“ยืมใช้คงรูป” ในแบบบัญชี ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีหนังสือตอบกลับไปยังนายเรืองไกร

  • คำว่า “ยืม” ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 หมายถึง “ก. ขอสิ่งของ หรือ เงิน เป็นต้น มาใช้ชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้วคืนให้หรือใช้คืน ส่วนคำว่า “ยืมใช้คงรูป” เป็นชื่อสัญญาชนิดหนึ่งซึ่งบุคคลหนึ่ง เรียกว่า ผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว

  • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 640 นิยามการ “ยืมใช้คงรูป” คือ สัญญาจากการตกลงกันของบุคคลสองฝ่าย ซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า “ผู้ให้ยืม” ให้บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่า “ผู้ยืม” ได้ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งแบบได้เปล่า ซึ่งหมายถึงไม่ต้องเสียค่าตอบแทน และผู้ยืมจะต้องคืนทรัพย์สินนั้นเมื่อใช้สอยเสร็จแล้ว และกรณีผู้ให้ยืมเสียชีวิต ตามมาตรา 648 บัญญัติว่าการยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม นั่นหมายความว่าสัญญายืมเป็นโมฆะ

“รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย” อาจารย์สาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวกับ “ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” ว่า คำว่า “ยืม” ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นการยืมทรัพย์สินแบบใช้ไปหมดไป เช่น เงิน และอาหาร ส่วน “ยืมใช้คงรูป” เป็นการให้ยืมทรัพย์สินที่ไม่เสื่อมสลาย และไม่หมดไปตามสภาพอย่างนาฬิกา ซึ่งปมนาฬิกาหรูของ “บิ๊กป้อม” มีการนำกฎหมายแพ่งฯ เพียงอย่างเดียวมาใช้ คงไม่สมบรูณ์ในการปราบปรามทุจริต ควรนำกฎหมายมหาชน มาใช้ร่วมด้วย เพราะเป็นเรื่องของหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส

“ประเด็นนาฬิกาหรู ต่อไปจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานในทางการเมืองอย่างแน่นอน เพราะในอนาคตจะต้องมีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินกันมากขึ้น ทั้งนักการเมืองท้องถิ่น และข้าราชการ ทำให้ถูกตั้งคำถามกันมากมายเกี่ยวกับบรรรทัดฐาน ว่าทรัพย์สินคงรูปต้องรายงาน ป.ป.ช.หรือไม่ เรื่องนี้จะกลับมาเป็นประเด็นขึ้นมา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในกลไกการตรวจสอบ และเกิดการตีความไม่จบไม่สิ้น จนเกิดเป็นปัญหาในอนาคต”

ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ “บิ๊กป้อม” ในประเด็นนาฬิกาหรู ในแง่ของสังคมไม่ยุติง่ายๆ แม้ทางกฎหมายได้ยุติไปแล้ว รวมถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจในเรื่องนี้จะไม่มีอีก เพราะมีการยื่นซักฟอกในเรื่องนี้ไปแล้ว แต่มีการปิดประชุมสภาฯไปก่อนทำให้ “บิ๊กป้อม” รอดไม่ถูกอภิปราย เว้นแต่จะมีพฤติกรรมใหม่ ทำให้ต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือการจะไปยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบเรื่องนาฬิกาหรูอีกก็ไม่สามารถทำได้ ยกเว้นถูกตรวจสอบทางสังคมหยิบยกเรื่องนาฬิกามาพูดอีก จนกว่าจะมีประเด็นใหม่มากลบกระแสในที่สุด

สุดท้ายแล้วประเด็น “บิ๊กป้อม” ยืมนาฬิกาเพื่อน เป็นการยืมใช้คงรูป อาจกลายเป็นนิยามความหมายใหม่ในการยื่นบัญชีทรัพย์สินของในกลุ่มนักการเมืองต่อ ป.ป.ช.ในยุค New Normal ก็เป็นไปได้.

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0