โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

นับหนึ่งให้ถึงล้าน แค่เริ่มต้นออมเงินวันละ 10 บาท

TODAY

อัพเดต 21 ม.ค. 2563 เวลา 11.19 น. • เผยแพร่ 21 ม.ค. 2563 เวลา 11.16 น. • Workpoint News
นับหนึ่งให้ถึงล้าน แค่เริ่มต้นออมเงินวันละ 10 บาท

“ใครอยากเป็นเศรษฐี ฉันน่ะสิ ฉันน่ะสิ”

      สมัยก่อนเขาว่ากันว่า คนมีเงินล้านเขาให้นับเป็นเศรษฐี  แต่สมัยนี้ผมว่า อาจไม่ใช่  เพราะค่าครองชีพมันสูงขึ้น เงินหนึ่งล้านบาทก็อาจจะเหมือนไม่ได้มากมายเท่าในอดีต

      อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทุกคนในประเทศของเราจะมีเงินเก็บได้ถึงล้านบาท

      จำได้ว่าปีก่อน ผมได้อ่านข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า จำนวนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของคนไทยมีประมาณ88 ล้านบัญชี

      และในจำนวนบัญชีเงินฝากเหล่านี้มีบัญชีที่มีเงินฝากตั้งแต่1 ล้านบาทขึ้นไป เพียงแค่9.5 แสนบัญชีเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง9.5 แสนบัญชีนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีเงินเกิน 1 ล้านบาทในประเทศไทยจะมี 9.5 แสนคน เพราะคนที่มีเงินเกินล้านแต่ละคนอาจมีบัญชีมากกว่า1 บัญชี

      ดังนั้น คนไทยที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทจริง ๆ คงมีไม่กี่แสนคนเท่านั้น

      วันนี้ ในฐานะที่ผมมาประเดิมคอลัมน์ใหม่กับทางWorkpoint Today เป็นตอนแรก ก็เลยอยากชวนผู้อ่านทุกคนมาลองตั้งเป้าหมายออมเงินให้ถึง1,000,000 บาทกันครับ

      แต่ไม่เอาประเภทบอกว่า ออมเงินให้ถึงล้านภายใน3 วัน วันแรกเก็บเงิน100 บาท วันที่สองเก็บเงินอีก100 บาท แล้ววันที่สามเก็บเงิน999,800 บาท แค่นี้ก็มีเงิน 1,000,000 บาทแล้วนะครับ

      เรากำลังพูดถึงการมีเงินล้านบาทจริง ๆ ในบัญชี เพียงแต่ไม่ใช่ว่าเราจะต้องมีเงินล้านบาทตอนนี้หรือปีหน้า ผมมาชวนตั้งเป้าหมายให้เรามีเงิน1 ล้านบาทตอนเกษียณกัน

      ถามว่าทำยังไงถึงจะมีเงินเก็บ1 ล้านบาทได้

      ผมขอยกตัวอย่าง นายอดออม เด็กจบใหม่ อายุ22 ปี เขาตั้งเป้าหมายว่าจะเกษียณเมื่ออายุ60 ปี และวางเป้าหมายมีเงิน1 ล้านบาทตอนเกษียณ มาลองใช้สูตรคณิตศาสตร์อย่างง่าย ๆ คำนวณกัน ว่าเขาจะต้องออมเงินเดือนละเท่าไหร่

      ตอนนี้นายอดออมอายุ22 ปี กว่าจะอายุ60 ปี แปลว่าเขามีเวลาทำงานอีก38 ปี หรือคิดเป็นเดือนก็เท่ากับ38 x 12 = 456 เดือน ถ้าเขาต้องออมเงินเท่ากันทุกเดือน โดยหยอดกระปุกไว้ไม่ไปฝากธนาคาร เขาก็จะต้องออมเดือนละ1,000,000 ÷ 456 = 2,192.98 บาท

      แต่ถ้านายอดออมเปลี่ยนจากการหยอดกระปุก ไปฝากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์กับธนาคาร ได้ดอกเบี้ยร้อยละ0.5 ต่อปี แบบนี้เขาก็จะออมต่อเดือนน้อยลงมาหน่อย เพราะมีดอกเบี้ยมาช่วยออมด้วย นั่นหมายความว่าเขาจะออมเหลือเพียงเดือนละ1,991.70 บาท

      แต่เงินประมาณ2,000 บาท สำหรับเด็กจบใหม่หลายคนอาจคิดว่า มากเกินไปที่ต้องเอามาออม

      ผมเลยลองนั่งเขียนแผนการเงินออมเงินสำหรับ นายอดออม ให้ใหม่ ขอแค่เริ่มต้นออมเดือนละ300 บาท หรือเฉลี่ยแค่วันละ10 บาท แล้วหลังจากนั้นเมื่ออายุ30 ปี40 ปี และ50 ปี นายอดออมต้องออมเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ600 บาท1,200 บาท และ2,400 บาท ตามลำดับ

      โดยมีเงื่อนไขว่า นายอดออมจะต้องไปศึกษาหาความรู้ด้านการลงทุนเพิ่มเติม จนสามารถจัดพอร์ทลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยร้อยละ5 ต่อปี ซึ่งสำหรับผมแล้ว คิดว่าไม่ได้ยากเกินไปครับ

      ทีนี้ลองมาดูกันว่า ตอนเกษียณนายอดออมจะมีเงินเท่าไหร่

  • อายุ22-30 ปี ออมและลงทุนเดือนละ300 บาท เมื่ออายุ30 ปี เขาจะมีเงิน35,322.15 บาท
  • อายุ31-40 ปี ออมและลงทุนเดือนละ600 บาท เมื่ออายุ40 ปี เขาจะมีเงิน151,345.28 บาท
  • อายุ41-50 ปี ออมและลงทุนเดือนละ1,200 บาท เมื่ออายุ50 ปี เขาจะมีเงิน435,605.85 บาท
  • อายุ51-60 ปี ออมและลงทุนเดือนละ2,400 บาท เมื่ออายุ60 ปี เขาจะมีเงิน1,090,124.44 บาท

      สรุปแล้ว ตอนอายุ60 ปี นายอดออมจะมีเงินทั้งสิ้น1,090,124.44 บาท อ่านว่า*“หนึ่งล้านเก้าหมื่นหนึ่งร้อยยี่สิบสี่บาทสี่สิบสี่สตางค์” *

      เห็นไหมครับว่าการเก็บเงินให้ถึงล้านบาทนั้น ความจริงแล้วไม่ได้ยากเลย ไม่ได้หมายความเราต้องมีเงินออมหรือเงินลงทุนที่เยอะ เริ่มต้นจากวันละ10 บาท แต่พอโตขึ้น หน้าที่การงานดีขึ้น เงินเดือนมากขึ้น เราก็สามารถออมมากขึ้นได้เช่นกัน

      สิ่งสำคัญที่สุดในการออม คือ วินัยและความสม่ำเสมอในการออม บวกกับการขวนขวายหาความรู้ในการลงทุนเพิ่มเติม เพียงเท่านี้นี้เงินเก็บ1 ล้านบาทก็ไม่ไกลเกินจริง

      ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนยังไม่ได้เริ่มลงมือออมเงินเพื่อการเกษียณ วันนี้ผมก็ขอเชิญชวนเพื่อน ๆ เริ่มต้นนับหนึ่งไปด้วยกัน เพื่อน ๆ เริ่มออม ส่วนผมก็จะเริ่มหาความรู้และสาระดี ๆ เกี่ยวกับการออมและการลงทุนมาฝากเพื่อน ๆ เป็นประจำทุกสัปดาห์ที่คอลัมน์นี้นะครับ

 

บทความโดย  ดร.พีท - พีรภัทร ฝอยทอง

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0