โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

นัท ศุภวาที และชีวิตในไต้หวัน : จะเป็นไปได้ไหม หากจะไม่ต้องกลับบ้าน?

The Momentum

อัพเดต 20 ม.ค. 2563 เวลา 04.47 น. • เผยแพร่ 19 ม.ค. 2563 เวลา 08.09 น. • ธนศิลป์ มีเพียร

In focus

  • นัท ศุภวาที ตัดสินใจลาออกจากงานประจำเมื่ออายุ 35 ปี เพื่อไปเรียนภาษาจีนแมนดารินที่ไทเป เขาไปโดยตั้งธงว่า จะเป็นไปได้ไหมที่จะไม่ต้องกลับไปที่บ้านอีก พร้อมกับทำเพจ Taipei Daily เพื่อบันทึกเรื่องราวในแต่ละวัน-วันต่อวัน หากวันหนึ่งเพจปิด แปลว่าเขากลับบ้านแล้ว
  • เหตุที่เลือกประเทศไต้หวัน เพราะว่าเขาลองหาข้อมูลโดยสังเขปว่าที่ไหนที่เราจะไปแล้วเราอยู่รอดได้จริงๆ และตัดประเทศที่จะทำให้ใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ยากออกไป 
  • นัทพบว่าเด็กไต้หวันหลายๆ คนเข้าใจการเมืองและพูดคุยกันในประเด็นนี้เป็นปกติ คนไต้หวันพร้อมจะขับเคลื่อนในทางการเมือง ขณะที่เมืองไทยเเรงปะทุที่เกิดขึ้นถูกกดทับมาอยู่เรื่อยๆ แต่สุดท้ายก็มักจะถูกฝังกลบไป 
  • ปัจจุบันเขายังพยายามหาลู่ทางที่จะอยู่ที่นั่นไปตลอด แต่สิ่งที่ยังรั้งไว้คือการเป็นเสาหลักของบ้าน “จริงๆ มันทำไม่ยากเลยถ้าเราใจเเข็งสักนิด แต่สุดท้ายเราถูกหล่อหลอมมาแบบนั้น เราก็เลยไม่กล้าจะไปบอกคนอื่นว่าสู้ๆ เพราะเราเองก็ยังหลุดออกจากตรงนั้นไม่ได้เหมือนกัน”

ในเช้าที่อากาศเย็นสบายช่วงปลายเดือนธันวาคม กลางกรุงไทเป ผู้คนออกมาใช้ชีวิตเพื่อรับแสงแดดยามเช้าหลังจากผ่านช่วงพายุฝนพัดผ่าน เรานัดเจอกับ นัท ศุภวาที เจ้าของหนังสือ อยู่ญี่ปุ่นอย่างหมาป่า, แขกรับเชิญ, เกาหลีใต้ที่นอนและ No Man Is Islandก่อนหน้านี้เขาทำงานในตำแหน่งบรรณาธิการสื่อไลฟ์สไตล์ออนไลน์แห่งหนึ่ง และเมื่ออายุ 35 ปี เขาตัดสินใจลาออกจากงาน แล้วมาเรียนต่อที่ไทเป ประเทศไต้หวัน

“คนรอบข้างก็จะพูด ‘เฮ้ย! มาทำไมอายุขนาดนี้แล้ว ไม่มีเวลาเหมือนเด็กๆ แล้วนะ จะ 40 แล้ว ยังมีอารมณ์ไปนู่นไปนี่ ยังอยากลองใช้ชีวิตอยู่อีก’ แต่เราก็จะทำแบบนี้ เราอยากไปหาที่ที่มันดี” เขาเล่า

เหตุผลของเขาไม่ใช่แค่มาเรียน เพื่อรู้ แต่เขาต้องการย้ายมาใช้ชีวิตที่นี่อย่างถาวร และในตอนนี้กำลังอยู่ในระหว่างทางที่จะทำให้ความตั้งใจนั้นเป็นจริงได้ในระยะยาว

การไปใช้ชีวิตอยู่ที่อื่น กลายเป็นอีกหนึ่งจุดมุ่งหมายของคนยุคนี้ไปเสียแล้ว เมื่อเราต่างรับรู้ถึงปัญหาต่างๆ ในบ้านเรา ทั้งที่มองเห็น มองไม่เห็น ที่ถูกพูดถึง และไม่ถูกพูดถึง หลายคนมองว่าที่ไหนก็มีปัญหา หลายคนก็ยังคงอยู่กันต่อไม่ว่าด้วยเหตุผลหรือปัจจัยใดๆ หลายคนรวมตัวกันเพื่อพยายามแก้ไข หลายคนก็เลือกที่จะย้าย พาตัวเองไปยังพื้นที่อื่นให้รู้แล้วรู้รอด เพราะปัญหาบางเรื่องมันอาจจะไม่ถูกแก้ไขเลยก็ได้ 

นัท ศุภวาที เลือกแล้ว ว่าเขาจะใช้ชีวิตในไทเป พื้นที่ที่ห่างไกลจากประเทศไทย 2,544 กิโลเมตร และนี่คือเรื่องราวของเขาในช่วงเวลาเริ่มต้นความฝัน

หลังจากมาเรียนที่ไทเป บ้านเมืองเขาต่างจากภาพที่คิดไว้ตอนแรกไหม

ต่างนะ ต้องบอกก่อนว่า เราไม่ได้มาเรียนหลักสูตรปริญญา มาเรียนแค่ภาษาแมนดารินเฉยๆ แต่ก็เรียนในสถาบันมหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้ได้เรียนจีนตัวเต็มที่เป็น mandarin traditionalที่สถาบันหนึ่งในกรุงเทพฯ มาก่อน เราก็จะได้เจอคนไต้หวันทั้งอาจารย์เอง ทั้งคนในสถานทูต ทั้งเจ้าหน้าที่ต่างๆ เขาก็จะพูดประมาณว่า ถ้าจะเรียนแค่ภาษาก็ไม่ต้องมาหรอก เรียนที่บ้านเราก็ได้ มันก็เรียนภาษาได้เหมือนกัน เรียนไปก็ไม่ได้หลักฐานอะไรขึ้นมา คือ เขาก็ยังให้ค่าว่ากระดาษหรือใบ transcript หรือใบ certificate ต่างๆ ของการเรียนจบปริญญา มันจะช่วยต่อยอดชีวิตได้ 

ซึ่งพอมาเรียนจริงๆ เราก็ยิ่งแน่ใจว่า เออ ดีแล้วที่มา ดีแล้วที่เราไม่โอนเอนตัดสินใจเรียนที่บ้านเราก็ได้ เพราะที่ไทยเราเรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย ทำให้ไม่เต็มที่ แล้วการเรียนการสอนมันก็แตกต่างกันจริงๆ สังคมที่เราอยู่ เราจะเจอคนที่มาเรียนเพราะตั้งใจที่จะมา ไม่เหมือนกับตอนที่เราเรียนอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีคนที่อยากมาเรียน บางคนก็อยากมาลองรู้เฉยๆ แล้วก็ถ้าเรียนไม่ไหวก็จะไม่เรียน กับบางคนที่โดนพ่อแม่บังคับมาก็มี เราก็เจอหลากหลายกลุ่ม 

อาจารย์ก็มีความตั้งใจพยายามปรับให้เข้ากับคนไทยที่มีหลากหลายรูปแบบ แต่พอมาที่นี่ ทุกคนมาจากทั่วโลกแต่มีความมุ่งมั่นเดียวกันหมดที่อยากจะเรียนรู้ภาษาจีน แล้วอาจารย์ก็ไม่ได้คอยมาดูว่าคนนั้น คนนี้เป็นแบบไหน ก็จะลุยในการสอนอย่างเดียว แล้วทุกคนก็โฟกัสกับการเรียน ทำให้ความตั้งใจเรียนเมื่อปีที่แล้วซึ่งมีบ้าง ไม่มีบ้าง เพราะว่าเราต้องโฟกัสกับเรื่องนู้นเรื่องนี้ ก็ไม่มีสมาธิตามไม่ทันในห้องเรียน แต่พบว่าที่ไทเปทำให้เราเข้าใจมากขึ้น ด้วยรูปแบบการสอนของเขาที่ทำให้เราได้เรียนรู้การใช้ประโยค รู้จักการใช้คำจริงๆ 

ซึ่งการมาเรียนที่นี่ แพลนในหัวเรามีเยอะมาก ความตั้งใจตั้งแต่แรกเลย คืออยากเรียนให้ได้ระดับหนึ่ง แล้วก็ดูว่าเราจะสามารถใช้ชีวิตที่นี่ได้ต่อไปไหม คิดไปถึงว่าเป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่กลับบ้านเราไปอีกแต่พอได้มาอยู่จริงๆ ประมาณเดือนกว่าก็ทำให้เรารู้ว่า เออ เราอาจจะคิดไปไกลเกิน เอาแค่ตรงนี้ก่อน เราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง แต่ตอนนี้ก็เรียนเอาให้รู้เรื่องก่อน

อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้คุณกล้าออกมาจากคอมฟอร์ตโซนในวันที่อาจจะไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว

เราชอบเล่าเรื่องและเราก็เป็นนักเขียนด้วย ก็คิดว่าถ้าเราได้ทำงานศิลปะในเมืองที่มีการตอบรับงานด้านศิลปะเยอะๆ มันสนุกกว่าการทำงานศิลปะในเมืองที่คนยังอิหยังวะอยู่ ก็เลยลองเรียนภาษาจีน พอลองเรียนแล้วพบว่า ภาษาจีนเป็นภาษาที่มีความอาร์ตอยู่ในตัวของมันเองด้วย เพราะเป็นตัวอักษรที่พลิกมาจากรูปภาพ แล้วกลายเป็นว่าเราสนุกไปกับมันแทนที่จะเครียดเพราะการเรียน อืม…ก็เครียดแหละ แต่ก็สนุกด้วยเครียดด้วย 

แต่ถ้าถามว่าทำไมถึงกล้าที่จะก้าวออกมาจาก คอมฟอร์ตโซนของตัวเอง จริงๆ เราก็ทำมาโดยตลอด ก่อนหน้านี้ก็ลาออกบ่อยมาก เพราะไม่มีที่ไหนที่ให้เราลาได้นานๆ ไม่ชอบไปไหนแค่อาทิตย์สองอาทิตย์ ชอบไปหลายๆ เดือนจะให้ทำอย่างไร ก็ลาออกสิ คนก็ถามว่า ลาออกเลยเหรอ? เราก็แค่ลาออกมาใช้ชีวิตสักพักจนเรารู้สึกเบื่อแล้วเราก็กลับไปหาเงิน

เราหลุดออกจากคอมฟอร์ตโซนได้ตลอดเวลา แต่ตลอดเวลาของเรามันเป็นแค่การก้าวออกไปในพื้นที่เสี่ยงภัยชั่วคราว แล้วก็กลับมาสู่ที่เดิมที่เรารู้จัก แต่คราวนี้เป็นการที่แบบเราไม่รู้ว่าเราจะกลับเข้าไปเมื่อไหร่ เป็นการตีตั๋วเที่ยวเดียวครั้งแรกในชีวิต ก็ใช้ความคิดมากเหมือนกันว่า เออ กล้าไหมที่จะมา 

ปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้กล้า คือ อายุ ถ้าไม่มาตอนนี้ก็จะมาไม่ไหวละ แล้วจะเป็นอย่างไรก็เป็นกัน มีคนถามว่า จะไปจริงเหรอ เอาจริงเหรอ ถ้าไม่รอดจะทำอย่างไร ก็ตอบไปง่ายๆ ว่า ไม่รอดก็กลับ แล้วไม่เสียดายเหรอ เงินเดือนที่ได้เยอะอยู่นะ เราคิดว่าถ้าเรากลับไปก็หาใหม่ได้ ก็เลยกล้ามา

การกลับมาใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาอีกครั้ง มันเป็นอย่างไรบ้าง?

เป็นอะไรที่เราคาดไม่ถึงเหมือนกัน อย่างเราไม่ได้ถูกเลี้ยงดูให้ต้องส่งเสียตัวเองเรียน เด็กไทยจะรู้ว่าพ่อเเม่ต้องส่งเราเรียนจนจบปริญญาอะไรแบบนี้ มันไม่เหมือนกับประเทศอื่นที่พ่อเเม่ไม่ส่งแล้ว ไปหางานพาร์ทไทม์ทำ มีเงินใช้เอง แต่ก็อย่างว่าที่อื่นทำงานพาร์ทไทน์วันเดียวเขาก็ซื้อรองเท้าได้คู่หนึ่งละ 

พอเรากลับมาเป็นนักศึกษาอีกครั้ง ในรูปแบบที่เราต้องส่งเสียตัวเอง และส่งเสียที่บ้านด้วย ก็ค่อนข้างที่จะยากเหมือนกันนะ แต่เพราะเราโตแล้ว อาจจะต้องมีความรับผิดชอบอีกแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่ทำให้ชีวิตมันสนุกขึ้นมา โดยที่เราคิดไม่ถึง คือการกลับมามีเพื่อนอีกครั้งนึง การทำงานก็มีเพื่อนนะ เเต่จะเป็นอีกแบบหนึ่ง พอเป็นเพื่อนเรียน มันไม่มีการงานหรือธุรกิจ หรือตัวเงิน หรืออะไรก็แล้วเเต่เข้ามาเกี่ยวข้อง มันทำให้เรามีความเป็นเพื่อนสูงขึ้นกว่าเดิม มันก็สนุกขึ้น 

อีกอย่างคือพอเราได้มาเรียนอยู่ในระดับเดียวกัน ทั้งๆ ที่อายุต่างกันกลายเป็นว่าเราได้กลับมาใช้ชีวิตเป็นเด็กอีกครั้ง เพราะเพื่อนเราเด็กหมดอ่ะ (หัวเราะ) ไม่มีเพื่อนคนไหนอายุเกิน 22 ปี ก็สนุกดี ได้กลับไปใช้ชีวิตแบบตอนเรียน ได้ไปเที่ยวสนุกๆ ได้กลับมาอ่านหนังสือที่บ้าน แต่อาจจะเหนื่อยกว่าเด็กคนอื่นๆ เพราะต้องกลับมาทำงาน เดี๋ยวจะไม่มีเงินใช้ ก็ดีนะ สนุกดี แต่ก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

พอได้มาเป็นเพื่อนกับคนอายุยี่สิบต้นๆ อยากรู้ว่าคนรุ่นใหม่ที่ไต้หวันมองประเด็นการเมืองเกี่ยวกับประเทศจีนอย่างไร

เด็กไต้หวันหลายๆ คนเขาเข้าใจการเมืองมากกว่าที่คิด แล้วเขาก็รู้จริงๆ ว่าทำไมเขาถึงชอบ ทำไมเขาถึงไม่ชอบ ถ้าได้ถามเด็กไต้หวันเรื่องการเมือง เกือบทุกคนจะคุยได้ เขารู้ว่าการเมืองเป็นอย่างไรบ้าง เพราะที่นี่ไม่ได้มีเรื่องปิดบังซ่อนเร้นและที่นี่เองก็มีเรื่องคอรัปชั่นเหมือนกันกับบ้านเรา แต่ด้วยความที่บ้านเขาคอรัปชั่นแล้วรับรู้ แต่บ้านเราไม่รับรู้ ก็เลยจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยๆ กันกดดัน 

คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ส่งต่อกันมาเรื่อยๆ ของเด็กที่นี่ เขาเองก็รู้สึกเองว่าเรื่องการเมืองไม่ใช่เรื่องที่เขาไม่ต้องรู้ก็ได้ มันเป็นเรื่องที่ทำให้ชีวิตเขาจะดีขึ้นหรือจะแย่ลงได้ ที่เคยคุยกับเพื่อนว่าทำไมถึงสนใจการเมือง บางคนก็บอกว่าสนใจเพราะมันเป็นเรื่องที่ต้องสนใจ หรือบางคนก็สนใจเพราะว่ามันมีข่าวกรอกหูเข้ามา แต่คนที่นี่ ถ้าอยากรู้ เขาก็จะค้นหาคำตอบ เพราะมันเกี่ยวข้องกับอนาคตพวกเขา เป็นสิ่งที่คนที่ดูแลประเทศจะต้องทำให้เขา อนาคตที่เขาจะใช้ชีวิต มันต้องเป็นไปในแนวทางที่เขาอยากได้ เลยทำให้เขาจำเป็นต้องรู้ เราคิดว่าถ้าในเรื่องของการชุมนุมของฮ่องกง (ในมุมมองของกลุ่มเพื่อนกันเอง) เขาเลือกอยู่ฝั่งฮ่องกงกันเป็นส่วนใหญ่ เพราะไต้หวันเองก็เดินมาทางเดียวกับฮ่องกง 

เคยคุยกันก่อนหน้าที่ฮ่องกงจะมีเรื่องหนักๆ ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งฮ่องกง ไต้หวัน แล้วก็มาเก๊า เขาก็ยึดถือทางเดียวกันมาตลอด เขาก็อยากเป็นจะอิสรภาพน่ะแหละ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่เปิดรับจีนเลย ไม่ใช่ว่าจีนไม่ดีแต่ในบางระบอบการปกครองของจีนเป็นสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ไต้หวันเองก็จะคล้ายๆ ฮ่องกงเลย อย่างเลือกตั้งในเดือนมกราคม ก็จะมีเหตุการณ์คล้ายๆ กับฮ่องกงเลย มันก็จะมีพรรค 2 พรรค ที่พรรคหนึ่งเป็นพรรคเอาจีน กับพรรคที่ไม่เอาจีน แล้วคนที่นี่ก็จะมีคนกลุ่มที่เอาจีน กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เอาจีน บางทีมันก็มีส่วนคล้ายๆ กับบ้านเราเหมือนกัน 

ก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกับคนไต้หวันถึงเรื่องฮ่องกง บางคนก็รู้สึกว่าการใช้ภาษาที่ต่างกัน อย่างฮ่องกงใช้ภาษาจีนกวางตุ้ง ขณะที่ไต้หวันใช้ภาษาจีนแมนดาริน เขาก็ยังรู้สึกถึงความเป็นอื่นอยู่ คุณคิดเห็นกับกรณีนี้ว่าอย่างไรบ้าง

คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับคนรุ่นก่อน ถ้ารุ่นนี้ไม่น่าจะมี เพราะเวลาคุยกับเด็ก 25 – 26 ปี ก็ไม่มีเรื่องภาษามาเป็นตัวคั่นกลาง อย่างช่วงที่ฮ่องกงเริ่มใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง ที่นี่ก็มีแรงกระเพื่อมเหมือนกัน คนไต้หวันบางคนก็จะแชร์คลิป แชร์ข่าวต่างๆ จากฝั่งฮ่องกง เราก็จะเห็นอยู่เรื่อยๆ ในโลกออนไลน์ที่เขาไม่โอเคกับความรุนแรงนั้น 

ที่นี่มันก็มีแรงอะไรอยู่ข้างหลังเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ได้ออกเหมือนฝั่งฮ่องกง หลายๆ คนก็ยังมีความคิดก้ำๆ กึ่งๆ ไม่ต่างจากฮ่องกง หรือมาเก๊า แต่ตอนนี้ล่าสุดมาเก๊าเองก็ออกมาประกาศตัวว่าเขาโอเคกับจีนในแบบที่เขาเคยโอเคมาก่อน ก็เลยคิดว่าสักวันหนึ่งไต้หวันอาจจะมีอะไรใหม่ๆ ออกมาเช่นกัน เพราะเราว่าไต้หวันเองก็อยากเป็นเอกเทศ

เดี๋ยวนี้รู้สึกว่ามีภาวะของคนรุ่นใหม่ที่เหนื่อยกับการใช้ชีวิตในประเทศของตัวเอง อยากจะออกไปข้างนอกเยอะขึ้น คุณมองสภาวะตรงนี้อย่างไร

อาจจะไม่ใช่ภาวะของเด็กรุ่นนี้แล้วนะ เราก็อายุ 35 เดือนหน้าก็ 36 แล้ว ก็รู้สึกแบบนั้นมาตลอด คือจริงๆ การดิ้นรนมาเรียนถึงตอนนี้ คนรอบข้างก็จะพูด “เฮ้ย! มาทำไมอายุขนาดนี้แล้ว ไม่มีเวลาเหมือนเด็กๆ แล้ว จะ 40 แล้ว ยังมีอารมณ์ไปนู้นไปนี่ ยังอยากลองใช้ชีวิตอยู่อีกเหรอ” ก็เราอยากไปหาที่ที่มันดี 

หรืออาจจะขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตด้วย เพราะคนอายุรุ่นเรากลุ่มหนึ่งเขาก็รู้สึกว่า ก็อยู่ไปเถอะบ้านเรา มันก็อยู่ได้ แต่ก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่บอกว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากจะออกไปให้ได้ ซึ่งตอนที่เรามาที่นี่ก็มีความรู้สึกเดียวกันเลยอ่ะ มันอาจจะเป็นเพราะว่า เราต้องทำงาน เราต้องเข้าเมืองตลอดเวลา เราต้องใช้ชีวิตในเมืองในกรุงเทพฯ ตลอด มีปัญหาที่เจอเยอะแยะมากแล้วเราต้องเจอตลอดทั้งการคมนาคม การขนส่ง เรื่องการเมือง การใช้ชีวิต มลภาวะ เราเจอแล้วแล้วก็รู้สึกว่าเหนื่อยจังเลยวะ ชีวิตเราแม่งเหนื่อยว่ะ โดยที่เราก็ไม่รู้สาเหตุเลยนะ 

หลายคนถามว่าทำไมต้องมาไต้หวัน ทำไมถึงชอบภาษาจีน เราก็จะบอกว่าเราไม่ได้ชอบภาษาจีน แต่เป็นเพราะว่าเราลองหาข้อมูลโดยสังเขปว่าที่ไหนที่เราจะไปแล้วเราอยู่รอดได้จริงๆ วะ ที่สามารถต่อยอดให้เราไม่ต้องกลับบ้านได้ —อันนี้ที่บ้านยังไม่รู้เลย— เราก็ใช้เหตุผลนี้ ในการมาที่นี่ 

เราเอาลูกโลกมาตั้ง แล้วตัดที่ที่จะทำให้เราใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ยากออก เราก็ตัดอเมริกา เพราะอายุเราตอนนี้ก็อาจจะยืนหยัดยากหน่อย ก็เลยตัดสินใจมาโซนเอเชีย อย่างน้อยชาติพันธ์ุก็คล้ายกัน ก็เลยมองญี่ปุ่น แต่ก็แรงกดดันสูง ใช้ชีวิตจริงๆ มันไม่สวยงามเหมือนอย่างไปเที่ยว เกาหลีก็มีเบื้องลึก เบื้องหลังที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ การบูลลี่คนชาติอื่น เราเคยไปอยู่เกาหลีมา 2 เดือน ยังสัมผัสได้ถึงแรงตรงนั้นอยู่เลย ถ้าเราได้ไปอยู่จริงเราคงแย่ 

ไม่อยากจะพูดแบบนี้เลย แต่เราก็ตัดประเทศที่คงไม่ต่างกันเท่าไหร่กับไทยออก ก็เหลืออยู่ไม่กี่ประเทศ แล้วก็มีไต้หวันเนี่ยแหละที่เราเลือกมาลงเอยที่นี่ ไม่ใช่แค่ว่าเราชอบภาษาเราเลยมาเรียน เรามองว่ามันอาจจะมีช่องทางที่ทำให้เราได้อยู่ที่นี่ แต่ก็เป็นจุดที่เราเผื่อใจเอาไว้ แต่ถ้าได้ก็ดี

ถ้าถามว่าเด็กไทยมีคนคิดแบบนี้เยอะไหม ถ้ามีโอกาส ถ้าทำได้เขาก็คงออกไปกัน แต่ติดข้อจำกัดหลายอย่าง เด็กบ้านเราเป็นเด็กที่จะว่าโชคดีก็โชคดี จะว่าโชคร้ายก็โชคร้าย ทั้งเรื่องความเชื่อที่ผิดๆ ที่ส่งต่อกันมา เช่น ต้องดูแลครอบครัว ถ้าเป็นลูกคนโตจะต้องเป็นเสาหลักของบ้าน โตมาแล้วต้องตอบแทนบุญคุณพ่อ-แม่ หรือมีลูกเพื่อเป็นตัวช่วยหลังเกษียณ ซึ่งมันเป็นชุดความคิดที่ยังเอาออกไปไม่ได้ของคนกลุ่มนั้น ยังคงเป็นกรรมที่เด็กไทยหลายๆ คนจะต้องเจออยู่ ถ้าบ้านไม่รวยจริง ซึ่งที่ไทยก็มีชนชั้นกลางเยอะเหลือเกิน มันก็เลยเป็นความคิดที่ดึงตัวเองออกจากพ่อแม่ไม่ได้ 

ทุกวันนี้เราก็ยังเจออยู่ บางทีที่บ้านก็จะบอกว่าอยากทำไรก็ทำ แต่บางทีก็บอกว่าอย่าลืมที่บ้านนะ เราก็ยังต้องส่งเงินให้ใช้ เราก็คิดว่า เราจะส่งเงินได้ยังไง เพราะเรากำลังเก็บเงินอยู่ เมื่อ 2-3 ปีก่อนก็เลยมีความคิดที่อยากจะออกมาข้างนอก ถ้าเป็นประเทศอื่นก็คงสบายไปแล้ว เราเคยไปที่ญี่ปุ่น ก็มีเพื่อนคนเยอรมันชวนว่าอยากจะไปทำงานที่ญี่ปุ่น ก็ชวนว่าไปด้วยกันไหม เราก็ เห้ย ชวนไปง่ายๆ เหมือนไปทำงานแถวสาทรเลย เราก็บอกว่าเรายังไปไม่ได้ ต้องมีภาระที่ส่งเงินให้ที่บ้านอยู่ เขาก็ถามว่าทำไมล่ะ ทำไมถึงต้องส่ง เขาถามเพราะเขาไม่เคยเจอกับวัฒนธรรมแบบนี้มาก่อน ซึ่งเราก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดี แต่ก็รู้สึกว่า ทำไมบ้านเราถึงคิดอะไรแบบนั้นไม่ได้นะ 

บางครั้งเราแค่อยากได้ยินผู้ปกครองเราพูดว่า “รีบๆ เรียนจบสักทีเหอะ จะได้ดูแลตัวเองได้” เราก็สบายใจละ แต่ว่าเด็กรุ่นนี้ยังได้ยินคำว่า “รีบๆ เรียนจบสักทีเหอะ จะได้มาช่วยดูแลที่บ้าน จะได้สบายละ ไม่ต้องทำงาน” เราก็รู้สึกว่าเออ มีเราเพราะอย่างนี้เหรอ มันก็ไม่ใช่ป่ะวะ ทำไมเราไม่เอาตัวเองให้รอดก่อน มันเลยเป็นเรื่องที่เป็นเหมือนข้อจำกัดที่ทำให้หลายคนอยากมาแต่มาไม่ได้ ซึ่งถ้าเขามีโอกาส แล้วพร้อมมันจะดีมาก 

แล้วคุณมีวิธีพูดประนีประนอมอย่างไรกับที่บ้าน

ยากนะ เพราะลักษณะครอบครัวของแต่ละครอบครัวรับได้-รับไม่ได้มากน้อยต่างกัน แต่สุดท้ายเราก็ต้องยอม (หัวเราะ) ก็พยายามหาทางว่าจะทำอย่างไรให้ทางบ้านและเราอยู่ด้วยได้ 

อย่างเราก็แค่บอกที่บ้านว่าจะมาเรียน แต่ถ้าพูดตรงๆ เลยที่บ้านก็ยังขอให้ส่งเงินไป ทั้งๆ ที่รู้ว่าเรามาโดยที่ยังทำงานไม่ได้ เพราะการทำงานต้องใช้วีซ่า ตอนนี้เราได้วีซ่าท่องเที่ยวแล้ว อีก 2 เดือน ถึงจะได้ขอวีซ่า residence ก็ต้องอยู่ที่นี่ 120 วัน โดยห้ามออกจากไต้หวัน จากนั้นก็ต้องไปทำ Arc card คือ Alian residence card หลังจากนั้นอีก 1 ปี ถึงจะทำงานได้ 

กว่าเราจะทำงานได้ เงินเก็บของเราก็จะหายไปหมดแล้ว แต่ทางบ้านเขาก็บอกว่า ถ้าเป็นไปได้ก็ส่งเงินไปที่บ้านหน่อยนะ แล้วเราจะทำยังไงดีวะ ที่จะเอาตัวเองให้อยู่รอดได้ด้วย ให้ที่บ้านอยู่ได้ด้วย เอาจริงๆ ตอนนี้ก็ยังหาทางออกให้ที่บ้านเองไม่ได้เลย แต่เราก็คิดว่า ต้องออกมาก่อน เดี๋ยวทางออกมันก็อาจจะมาเองก็ได้มั้ง ถ้าเกิดว่าเรามัวแต่รอ สักวันหนึ่งค่อยมา เราก็คงไม่ได้มาหรอก เพราะไม่รู้ว่าจะมั่นคงเมื่อไหร่

กลับไปที่ความหวังของเด็กไทยที่จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่พวกเขาต้องการ ความหวังนั้นมันถูกจุดประกายขึ้นบ้างไหม หรือว่ายังริบหรี่อยู่

เราว่ามันถูกจุดประกายขึ้นมาเรื่อยๆ เลย คือมันพร้อมปะทุตลอดเวลา ทุกเรื่องเลย ทั้งเรื่องสุขภาพ เรื่องการเมือง เรื่องการใช้ชีวิต เรื่องคุณภาพชีวิต เรื่องความเชื่อ เรื่องระบอบต่างๆ หรืออะไรก็แล้วเเต่ เราก็จะเห็นมันปะทุอยู่เรื่อยๆ แต่เเรงปะทุมันก็ถูกกดทับมาอยู่เรื่อยๆ คือไม่อยากจะไปอิงการเมืองเลย แต่ไม่รู้ทำไม บ้านเราถึงเก่งเหลือเกิน ในการฝังกลบชุดความคิดหรือสิ่งที่ใครบางคนไม่ชอบได้ดีมาก เขาเก่งนะ สามารถลบในสิ่งที่ไม่อยากให้มันเป็นได้ มันก็เป็นแรงปะทุแบบ พิ้บๆๆ แล้วก็ดับไป เพราะโดนอย่างอื่นมากดแทน แล้วก็จะเป็นเรื่องคุกรุ่นอยู่ในใจคนไทยมาเรื่อยๆ แล้วสุดท้ายมันก็ทำอะไรไม่ได้

แล้วกลุ่มคนรุ่นใหม่ในไต้หวันต้องเจอกับภาวะความเครียด หรือความกดดันเรื่องไหนบ้าง

โรคเครียด ซึมเศร้า ภาวะแรงกดดันต่างๆ ที่นี่ก็มีไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เจอกับการแข่งขันสูงๆ แล้วยิ่งเศรษฐกิจของไต้หวันเป็นเกาะที่เศรษฐกิจ ไม่ดีไม่แย่อยู่แบบนี้ มันก็เลยยิ่งทำให้เด็กไต้หวันมีความรู้สึกว่า เราจะอยู่ต่อไปแบบนี้เหรอ ไหลไปตามน้ำเอื่อยๆ และก็ไม่ได้ขึ้นสูงสักที ไม่ได้ลงต่ำเลย อยู่แบบนี้ เหมือนคล้ายๆ อยู่ในเซฟโซนแต่ยังมองไม่เห็นว่าตัวเองเติบโตไปได้ขนาดไหน 

เด็กไต้หวันรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้ถ้าเรียนจบแล้วถ้าไม่ไปทำงานที่จีนแผ่นดินใหญ่ก็ไปทำงานที่อื่น ไม่ทำที่นี่ หลายๆ คน เพราะเขายังมองไม่เห็นว่า ตัวเองจะเติบโตได้ขนาดไหน หล่อเลี้ยงตัวเองให้มันอยู่ได้แค่เนี่ย แต่ไม่กล้าเสี่ยง มันก็เลยเกิดความเครียดสูงเหมือนกันอยู่ดี ว่าต้องผลักดันตัวเองให้ไปในจุดที่กล้าจะเสี่ยงบ้าง

เพื่อนไต้หวันส่วนใหญ่ พยายามดิ้นรนเหมือนกัน มีเพื่อนคนหนึ่ง งานที่เขาทำก็โอเค วาดสตอรี่บอร์ดให้สตูดิโอแอนิเมชั่น แต่ก็เลือกที่จะลาออก แล้วย้ายไปที่แคนาดา เพื่อที่จะเรียนภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น แล้วก็ลองดูสิว่าจะใช้ชีวิตที่แคนาดาได้ไหม ก็จะเป็นกลุ่มคนที่เห็นกันบ่อยๆ คนไต้หวันหลายๆ คน ก็อยากลองย้ายไปอยู่ที่อื่น ดูสิว่ามันจะโตได้ไหม ที่เห็นเยอะมากกว่าเรื่องภาวะความเครียดหรือเรื่องซึมเศร้าของคนไต้หวันก็คือ เรื่องของการออกไปหาที่ๆ คิดว่าจะทำให้เราโตได้

อีกอย่างที่ได้ยินมาบ้าง แต่มันก็คนส่วนหนึ่งนะที่เขาก็ยังคิดว่า ที่สังคมอยู่ยากขึ้นอยู่ลำบากขึ้น เด็กมีเรื่องราวต่างๆ ที่มีผลกระทบมากขึ้น มันก็เกิดจากคนรุ่นก่อนทั้งนั้นแหละ ที่สร้างและทิ้งเอาไว้ อย่ามาโทษว่าทำไมเด็กรุ่นนี้แม่งเป็นแบบนี้เยอะจัง ก็พวกคุณทำอะไรทิ้งไว้หล่ะ แล้วคนที่จะมารับผลต่อคือใคร ก็คือพวกเขา(เด็กรุ่นใหม่) พวกเขาก็มีชุดความคิดแบบนี้แหละ คล้ายๆ บ้านเรา 

ซึ่งถ้ามองภาพเล็กๆในระดับปัจเจก ที่เราเจอมาคล้ายๆ กัน คือ หลายคนกล้าเรียกร้องในสิ่งที่ตัวเองต้องได้มากขึ้น ที่เคยรู้สึกว่าไม่เป็นไร เขาเริ่มไม่ได้แล้ว ไม่ใช่แค่บ้านเรา อย่างเวลาไปคุยกับเด็กๆประเทศอื่นทั้งฝั่งเกาหลี จีน หรือญี่ปุ่น เอาแค่ในเอเชียนะ เขาพยายามที่จะทำให้สิ่งที่ผู้ใหญ่อยากจะให้ มันต้องเป็นสิ่งที่เขาอยากจะได้ด้วย 

ที่เห็นชัดๆ เลยคือฝั่งจีนแผ่นดินใหญ่ เราไปเจอเพื่อนที่ปักกิ่งมา ที่เซี่ยงไฮ้ ที่เฉินตูมา เราก็เห็นมุมมองที่ไม่คิดว่า จีนเขาคิดแบบนี้ ก่อนหน้านี้พูดตามตรงก็ยังคิดเหมือนคนไทยหลายๆ คนที่จีนยังเป็นอะไรแบบนั้น พอไปจริงๆ แล้ว เราก็เห็นชุดความคิดใหม่ๆ ของคนจีนรุ่นใหม่แล้วว่า บางคนก็รับไม่ได้กับจีนด้วยกันเองที่เคยมีนิสัยแบบนั้น เคยมีการใช้ชีวิตแบบนี้ เขาก็พยายามปรับตัว ให้ตัวเองศิวิไลซ์ขึ้นเท่ากับประเทศอื่นให้ได้

ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่านะ แต่ไม่อยากเรียกว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่ ขอเรียกว่า คนที่นอกจากอยากจะได้สิ่งที่ตนต้องการแล้วเนี่ย เขายังพยายามทำให้มัน modernest ทั่วโลก ทำให้เหมือนกัน ไม่รู้ว่าจะเรียกว่า ความเท่าเทียมกันได้ไหม ถ้าเกิดประเทศนั้นเป็นแบบนั้นได้ ประเทศเราก็น่าจะมีแบบนี้ได้ ถ้าเกิดคนประเทศนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ อนาคตของเราน่าจะไปในทิศทางแบบนี้ได้ ที่เห็นตอนนี้คือคนกลุ่มใหม่พยายามให้เป็นแบบนั้น แต่ว่าเวลาคุยทีไร ก็จะมีความคิดอยู่ในหัวของตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่า สุดท้ายมันก็อยู่ที่ตัวเองอยู่ดีว่ะ 

สุดท้ายสิ่งที่พวกเขาเรียกร้อง มันเรียกร้องในระดับที่อยากให้สังคมดีขึ้น สังคมที่ตัวเองได้อยู่ดีขึ้น ในลึกๆ แล้วจุดที่จะก่อให้เกิดความคิด มันก็คือตัวเราเองอยู่ดี เลยคิดว่า อนาคตโลกมันจะเปลี่ยนจริงๆ ไหมวะ มันจะไปในทิศทางไหนวะ หรือสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าความคิดของเรามันจะมองไปเผื่อแผ่สังคมที่กว้างใหญ่ มันก็ยังตั้งต้นอยู่ที่ตัวเองอยากได้อยากมีในสิ่งหนึ่งอยู่ดี แต่มันก็ถูกนะ เราก็ต้องอยาก ได้ในสิ่งที่ยิ่งใหญ่

พอได้มาอยู่ที่นี่แล้ว ความฝันต่อมาของคุณ คือ อะไร

เออ…ความฝันนี่เพิ่งมาเป็นสิ่งเลวร้ายได้ไม่นานนี้เอง ก็เป็นคำตอบที่ดูเศร้าๆ หน่อย ว่าเราต้องยอมรับมัน เมื่อก่อนเรามีความฝันที่ชัดเจนมาก ว่าถ้าเราคิดอย่างนั้น เราก็จะต้องทำมันให้ได้ 

เมื่อก่อน ตั้งเเต่มัธยมเราก็อยากจะเรียนวารสาร ตั้งใจให้ได้เรียนวารสาร เราก็ได้เรียน JR (Journalism) พอเรียน JR เราก็รู้สึกว่าทำไงก็ได้ให้เราได้งานเขียน เราชอบเขียน  แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนหรอก ก็จะโยนตัวเองให้เข้าไปอยู่ในงานเขียนให้ได้ สุดท้ายก็ได้ทำงานอย่างนั้นจริงๆ แล้วพอความฝันเราเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และก็เป็นความฝันที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดคือทำอย่างไรดีที่จะทำให้ตัวเองไม่ต้องกลับประเทศ

 ถ้าลำบากเราก็โอเคนะ หลายคนก็จะบอกว่า ลำบากแล้วจะมาทำไม อยู่ไทยก็ลำบากเหมือนกันไช่ใหม หรือบางคนมองว่าเราอยู่ไทยก็สบายดี แต่มันเป็นที่ที่เราไม่อยากอยู่อีกเเล้ว มันเป็นเมืองที่ไม่น่ารักสำหรับเราเเล้ว หลายๆ ครั้งที่เราอ่านข้อความใครสักคนที่เขาบอกเราว่า “ถ้าไม่รักก็ออกไป” เราก็มีความรู้สึกว่า “ได้!” (หัวเราะ) ไม่ไช่ไม่รักแต่ ได้ เราออกไปได้ ทำไมเราจะออกไม่ได้ ก็นี่ไงออกมาแล้ว 

อย่างครั้งล่าสุดที่เข้าทวิตเตอร์ มีแฟลชม็อบที่หน้า BACC แล้ว BTS มีปัญหา ถึงเเม้เขาจะออกมาบอกตอนหลังว่ามันมีปัญหาจริงๆ ระบบสับรางมันพัง เราก็จะมีความรู้สึกว่าดีจังนะ ที่เราไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว ถึงแม้ว่าตอนนี้เราไม่ได้สบายเลยนะ แต่มันเป็นความลำบากที่เราแฮปปี้ มันเป็นความลำบากที่เราไม่ต้องไปเจอเรื่องแบบนั้น เราไม่ต้องไปเจอ BTS ราคา 59 ที่ต้องให้ผู้โดยสารเผื่อเวลาในการเดินทางไว้ 20 นาที อยู่ดีๆ วันนั้นก็มีความสุขเฉยเลย 

เราทำตามฝันไม่ได้ทั้งหมด ความฝันมันเปลี่ยนแปลงได้ การมาที่นี่โดยการตั้งเป้าว่าเราจะไม่กลับ แต่สุดท้ายก็พ่ายเเพ้ให้หลายๆ เรื่อง ทั้งการเป็นเสาหลักของบ้าน และอีกหลายอย่างทีทำให้เรายอมแพ้ ซึ่งจริงๆ มันทำไม่ยากเลยถ้าเราใจเเข็งสักนิด แต่สุดท้ายเราถูกหล่อหลอมมาแบบนั้น เราก็เลยไม่กล้าจะไปบอกคนอื่นว่าสู้ๆ เพราะเราเองก็ยังหลุดออกจากตรงนั้นไม่ได้เหมือนกัน 

เราก็ยังไม่กล้าทิ้งที่บ้านไป ถ้าเป็นเพื่อนชาติอื่นๆ คงหลุดออกมาจากตรงนั้นนานเเล้ว เพราะนอกจากคนที่บ้านจะทิ้งเองแล้วที่บ้านยังต้องถีบออกมาด้วย แต่เราก็ยังหลุดออกจากตรงนั้นไม่ได้ สุดท้ายเราก็ต้องมานั่งคิดพะวง ว่าเราจะอยู่ที่นี่ได้และให้ที่บ้านอยู่ได้ด้วย ก็ยังคิดอยู่ว่ามันทำได้เหรอ งานก็ยังทำไม่ได้ งานฟรีเเลนซ์ที่รับมาก็ไม่ได้เยอะเลย เลี้ยงได้เเค่ชีวิตตัวเอง 

ตอนนี้ก็เริ่มพยายามเข้าใจความฝันมากขึ้นว่า มันคือคำว่า “ฝัน” นะ ถ้ามันเป็นจริงได้ก็ถือว่าเป็นกำไรของชีวิต ถ้ามันเป็นจริงไม่ได้ก็ถือว่า เราได้มายืนในจุดที่เราลองทำแล้วก็โอเคแล้ว ดีใจเเล้ว เราเคยพูดกับเพื่อนไว้ มันเป็นคำพูดที่แย่แต่มันคือเรื่องจริง ก็คือเรารอให้เราไม่เหลือพ่อเหลือเเม่เราก่อนเนอะ แล้วค่อยกลับมาทำตามความฝันเราใหม่ อาจจะฟังดูเป็นคนอกตัญญู ก็ได้ ถ้าเขาจะบอกเรื่องนี้อกตัญญูก็โอเค แต่เราก็ทำถึงที่สุดเเล้วเนาะ ถ้าเขาไม่อยู่กับเรา เราก็เป็นอิสระ ก็ตอนนี้ก็ทำยังไม่ได้ ก็โอเค พยายามอยู่กับความฝันถ้ามันเป็นจริงไม่ได้ก็ต้องยอมรับมัน

มองว่ามันเป็นการเห็นแก่ตัวไหม 

มันก็มีทั้งเทพและมารอยู่ในหัวนะ บางทีก็ง่ายมาก ก็แค่เรา disconnect ไปเลย ตัดเเม่งเลย ใครจะว่าเราเหี้ยก็แล้วเเต่ ถ้าถามว่าเขาอยู่ได้ไหม ก็อยู่ได้ แล้วเขาก็ตามตัวเราไม่ได้อยู่เเล้ว เขารู้แค่ว่าเราอยู่ไต้หวัน เราก็ไม่ต้องอะไร ไม่ตอบไลน์ หายตัวไป ให้ครอบครัวรู้ว่ามีกันแค่สามคน แบบไม่มีเราอ่ะ เพราะเขาไม่ได้มีเราเป็นลูกแค่คนเดียว แต่น้องเราก็ยังคิดว่า เราเป็นพี่ใหญ่ที่ต้องส่งที่บ้านอยู่ ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่มันก็ติดที่ความรู้สึกที่โดนสังคมไทยหล่อหลอมเรามาตั้งเเต่เด็ก ทำให้จะหลุดออกมา ก็เป็นเรื่องยากเหลือเกิน เหมือนซูใน Where We Belong

Fact Box

  • นัท ศุภวาที จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขามีผลงานเขียนหนังสือมาแล้วคือ อยู่ญี่ปุ่นอย่างหมาป่า, แขกรับเชิญ, เกาหลีใต้ที่นอน, No Man Is Islandซึ่งเขียนร่วมกับคัมภีร์ สรวมศิริ และชนพัฒน์ เศรษฐโสรัฐ และ อาร์ตบุ๊ก ผิดเป็นคลู, A Piece of Memoriesนอกจากนี้เขายังทำเพจ Taipei Daily บนเฟซบุ๊กซึ่งบันทึกเรื่องราวรายวันที่เกิดขึ้น
  • เดือน มกราคม 2563 เขาจะมีงานเขียนลำดับที่ 5 ออกมา หลังจากที่เขียนบันทึกการเดินทางมาตลอดทั้ง 4 เล่ม เล่มที่ 5 นี้จะเป็นงานเขียนครั้งเเรกที่เป็นเรื่องสั้นซึ่งจะมีฉากหลังเป็นเมืองไทเป
0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0