โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นัดตัดสิน "ทักษิณ" ตั้งคลังฟื้นฟู TPI ไม่ชอบ 29 ส.ค.นี้

คมชัดลึกออนไลน์ - ข่าวการเมือง

เผยแพร่ 21 ส.ค. 2561 เวลา 13.27 น.

21 ส.ค. 61 เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ องค์คณะผู้พิพากษา 9 คน คดีหมายเลขดำ อม. 40/2561 นัดไต่สวนพยานโจทก์นัดสุดท้าย ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อายุ 69 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดเสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

กรณีนายทักษิณให้ความเห็นชอบกระทรวงการคลัง สมัยที่ ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ เป็น รมว.คลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู บริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีพีไอ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชน จึงเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เพราะกระทรวงการคลังไม่มีอำนาจเข้าไปบริหารบริษัทเอกชน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2546 มาตรา 10 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ระบบราชการ

โดย ป.ป.ช. โจทก์ ได้นำพยานเข้าไต่สวนจนเสร็จสิ้นแล้ว ฝ่ายนายทักษิณ จำเลย ซึ่งศาลออกหมายจับไว้แล้ว เพราะมีพฤติการณ์หลบหนีคดีไม่มาศาล และไม่ได้แต่งตั้งทนายความเพื่อร่วมกระบวนพิจารณาแทนในการนำพยานเข้าไต่สวนแก้ต่างคดี

ซึ่งหลังจาก ป.ป.ช. ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 61 ที่ผ่านมา ศาลได้อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ. 2560 มาตรา 27 ที่ประทับรับฟ้องคดีไว้พิจารณาเพื่อมีคำพิพากษา โดยให้สำเนาคำฟ้องส่งให้จำเลยและปิดหมายแจ้งจำเลยทราบตามที่อยู่ในฟ้อง (บ้านพักย่านจรัญสนิทวงศ์) ซึ่งให้การปิดหมายมีผลทันที ตาม วิ อม. มาตรา 19 และในนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การจำเลย ในวันที่ 22 มิ.ย. นายทักษิณก็ไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องหรือขอเลื่อนคดีองค์คณะฯ ก็พิจารณาออกหมายจับให้ติดตามตัวมาดำเนินคดี ตาม วิ อม. แล้ว

เมื่อออกหมายจับไปแล้ว 3 เดือน ก็ยังไม่ได้ตัวจำเลย องค์คณะฯ จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 28 วรรคสอง ดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย (ดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังจำเลย) แต่ไม่ตัดสิทธิ์ที่จำเลยจะแต่งตั้งทนายความดำเนินการแทน ซึ่งนายทักษิณ จำเลย ก็ไม่ได้แต่งตั้งทนายความ และตาม วิ อม. มาตรา 33 วรรคสาม เมื่อปรากฏว่าจําเลยไม่ได้มาศาลในวันพิจารณาครั้งแรกไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ถือว่าจําเลยให้การปฏิเสธ ดังนั้น เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการไต่สวนพยานทั้งหมดของ ป.ป.ช. โจทก์ แล้วองค์คณะฯ จึงนัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ ในวันที่ 29 ส.ค. นี้ เวลา 09.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดีนี้ ป.ป.ช. มีมติเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 53 ชี้มูลความผิดอาญา นายทักษิณ และได้ยื่นฟ้องคดีเองเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 61 ที่ผ่านมา ที่ได้นำคำฟ้องประกอบเอกสารหลักฐาน 21 กล่อง 120 แฟ้ม ให้ศาลพิจารณาคดีตาม วิ อม. ใหม่ โดยไม่มีตัวจำเลย เนื่องจากหนีคดีไปพำนักอยู่ในหลายประเทศ ขณะที่ชั้นตรวจพยานหลักฐาน ป.ป.ช. โจทก์ เสนอให้ศาลไต่สวนพยานบุคคลทั้งหมด 6 ปาก ซึ่งศาลกำหนดนัดไต่สวนพยานไว้รวม 3 นัด ในวันที่ 10 , 14 และ 21 ส.ค. นี้

โดยคดีนี้ถือเป็นคดีที่ 7 ของนายทักษิณที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ตัดสินแล้ว 2 คดี ซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก - ยึดทรัพย์กว่า 4.6 หมื่นล้าน รอพิจารณาลับหลัง 4 คดี) หลังจากมีการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลนายทักษิณ เมื่อปี 2549 ขณะที่เมื่อมีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 หรือ วิ อม. ใหม่ แทน ก.ม. เดิมปี 2542 ที่ให้ศาลสามารถใช้อำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาได้โดยไม่ต้องทำต่อหน้าจำเลยได้หลังจากออกหมายจับแล้วยังไม่ได้ตัวมานั้น คดีนี้ถือเป็นสำนวนแรกที่จะมีการอ่านคำพิพากษา หลังจากดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยแล้วตาม วิ อม. ใหม่

สำหรับองค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน คดีนี้ ประกอบด้วย นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย รองประธานศาลฎีกา , นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ รองประธานศาลฎีกา , นายวิชัย เอื้ออังคณากุล รองประธานศาลฎีกา , นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง รองประธานศาลฎีกา , นายพรเทพ อัมพรกลิ่นแก้ว รองประธานศาลฎีกา , นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา , นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา , นายสุนทร ทรงฤกษ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา และนายชัยยุทธ ศรีจำนงค์ ประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกา

ส่วน 4 คดี ที่เหลือรอพิจารณาลับหลัง ประกอบด้วย 1. คดีอัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง กรณีกล่าวหาแปลงค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคม เป็นภาษีสรรพาสามิต ด้วยการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต (พ.ศ. 2527) พ.ศ. 2546 เอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท 2. คดีอัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง กรณีกล่าวหาร่วมกับอดีตคณะผู้บริหารธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ปล่อยกู้ให้กลุ่มกฤษดามหานครโดยทุจริต 3. คดี ป.ป.ช. ยื่นฟ้องเอง กรณีกล่าวหาปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ให้กับรัฐบาลเมียนมา วงเงิน 4,000 ล้านบาท เอื้อประโยชน์ธุรกิจกลุ่มชินคอร์ปฯ และ 4. คดี ป.ป.ช. ยื่นฟ้องเอง กรณีกล่าวหา ร่วมกลุ่มรัฐมนตรีในรัฐบาลดำเนินโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน) ซึ่งทุกสำนวนศาลฎีกาฯ ได้ออกหมายจับไว้แล้ว เนื่องจากนายทักษิณหลบหนีคดีในต่างประเทศ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0