โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้เปลี่ยนหลังคา รพ.ให้เป็นหลังคาโซลาร์เซลล์ เพื่อค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน

The Momentum

อัพเดต 17 ก.พ. 2563 เวลา 12.53 น. • เผยแพร่ 17 ก.พ. 2563 เวลา 12.41 น. • ศิริวรรณ สิทธิกา

In focus

  • “คุณจะเป็นหมอหรือจะเป็นเอ็นจีโอ ถ้าจะเป็นเอ็นจีโอก็ให้ลาออกไปซะ” เป็นประโยคเสมือนยื่นคำขาดที่นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เคยได้รับจากผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขเมื่อครั้งที่เขายืนเคียงข้างประชาชนในการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ครั้งนั้นเรื่องราวค่อยๆ จางจนจบลง ในขณะเดียวกับที่บทบาทการเคลื่อนไหวของเขาก็ไม่ยุติ และยังคงหนักแน่นกับการหาแนวทางที่เห็นเป็นประจักษ์เพื่อยืนยันว่าเรามีทางเลือกด้านพลังงานมากกว่าการพึ่งพาถ่านหินเพียงอย่างเดียว
  • เพื่อทำให้เห็นการใช้พลังงานที่ลดลง คุณหมอสุภัทรในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา เปลี่ยนหลังคาโรงพยาบาลให้เป็นแผงโซลาร์เซลล์ ผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้งานในโรงพยาบาลยามกลางวันควบคู่กับไฟหลวง ทำให้ตอนนี้โรงพยาบาลสามารถลดค่าไฟได้ปีละ 500,000 บาท และเมื่อรวมกับมาตรการอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนมาใช้หลอด LED ติดฟิล์มอาคาร เหลื่อมเวลาการใช้ไฟ ฯลฯ แล้วทำให้โรงพยาบาลสามารถลดค่าไฟได้นับล้านบาทต่อปี
  • ตัวเลขเหล่านี้นำมาสู่การคัดค้านที่มีข้อมูลจริงรองรับ ว่าหากมีการใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาเสริมแหล่งพลังงานเดิม ภาคใต้จะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอโดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขณะเดียวกันก็เผยแพร่แนวคิดการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไปสู่หน่วยงานอื่นๆ ทั้งภาครัฐด้วยกันและภาคเอกชน และใช้โมเดลนี้ในการลดค่าไฟองค์กรด้วยเช่นกัน 

ในงานเปิดตัว ‘จรัสLab’ ศูนย์เรียนรู้เรื่องพลังงานสะอาด ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา หนึ่งในวิทยากรของงาน ได้ถอดโมเดลการเปลี่ยนหลังคาโรงพยาบาลให้เป็นหลังคาซึ่งติดแผงโซลาร์เซลล์ ขนาด 72 กิโลวัตต์ รวมถึงมาตรการการลดการใช้ไฟฟ้าของโรงพยาบาล ให้ผู้ร่วมงานได้เห็นตัวเลขของการลดค่าการใช้ไฟฟ้าได้อย่างน่าสนใจ ในฐานะที่โรงพยาบาลจะนะ เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกๆ ของประเทศไทย ที่นำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในองค์กร

แต่เบื้องหลังปฏิบัติการนี้ ไม่ใช่เพียงการลดการใช้ไฟฟ้าที่ยืนยันผ่านตัวเลขในบิลเรียกเก็บค่าไฟที่ทบปีแล้วลดรายจ่ายได้มากโขต่อปี เพราะเป้าหมายที่แท้จริงแล้ว การเปลี่ยนติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงพยาบาล คือแนวทางคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ที่ตอนนี้ชะลอเอาไว้หลังเกิดกระแสคัดค้านอย่างเต็มกำลังของชาวบ้าน แต่ขณะเดียวกันก็กำลังขยับโครงการมาสู่โฉมใหม่ว่า ‘จะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ ที่หากเกิดขึ้นจริง โรงไฟฟ้าถ่านหินจะกลับมาอีกครั้งตามการคาดการณ์ของกลุ่มคัดค้าน

“ผมค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน และมีเสียงกระแทกแดกดันมาตลอดว่า-หมอไม่ใช้ไฟฟ้าเหรอ” 

ด้วยแรงกระแทกนี้เองที่ทำให้คุณหมอสุภัทรเกิดแรงจูงใจในการผลิตไฟฟ้าจากแสงแดด เพื่อลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล และทำให้เห็นผลประจักษ์ด้วยการลงมือทำ “ทำไมกลางวันเราต้องจ่ายค่าไฟ ในเมื่อเรามีแดด ทำไมกลางวันเราไม่ช่วยกันลดโลกร้อน ทั้งๆ ที่โซลาร์เซลล์มันไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์” 

เรานัดพบกับคุณหมอสุภัทรอีกครั้ง ในวันที่เขามาเป็นวิทยากรในงาน 15 ปีศิลปะชุมชน ‘โลกอีกใบยังมีอยู่’ ในอีกราวครึ่งเดือนถัดมา ซึ่งผลงานส่วนหนึ่งในงานนั้นคือการถ่ายทอดวิถีเรียบง่ายสงบของชาวจะนะลงบนภาพถ่ายของศิลปิน ที่หากพื้นที่นี้กลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม ภาพที่เราเห็นก็จะกลายเป็นอดีต ในวันนั้นมีตัวแทนชาวบ้านที่เดินทางมาแสดงเจตจำนงด้วยรถไฟชั้นสาม อาศัยพักค้างกับชุมชนมุสลิมบ้านครัว พร้อมเสบียงที่พกพามาหุงหาและเผื่อแผ่ให้เราได้กินอาหารพื้นถิ่นชาวเล ที่ยังคงมีเหลือให้ได้ทำอยู่ทำกินในวันที่โครงการอุตสาหกรรมหนักยังไม่เกิด ชาวบ้านที่เรียกร้องเพื่อปกป้องแผ่นดินเกิด เคียงข้างด้วยหมอและนักเคลื่อนไหวที่ทำงานอยู่ร่วมกันมานานปี 

ในเวลาที่มีอยู่ไม่มาก เราขอให้คุณหมอเล่าถึงเรื่องราวของการเคลื่อนไหว ที่เขามีส่วนอยู่เบื้องหลังกระทั่งเปิดหน้าท้าชนเต็มตัว และเดินหน้าคัดค้านด้วยการลงมือทำให้เห็นจริง ว่าโลกนี้ยังมีทางเลือกที่ดีกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน อย่างที่เขายืนยันเสมอมา 

คุณหมอเป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว

ผมเป็นคนหาดใหญ่ มีชีวิตที่หาดใหญ่ เรียนมัธยมฯ ที่หาดใหญ่ จนสอบติดแพทย์ที่จุฬาฯ ก็ได้เริ่มต้นไปออกค่ายอาสาของมหาวิทยาลัย แล้วจากนั้นก็เริ่มทำค่าย ซึ่งการทำค่ายนี่แหละที่เปลี่ยนความคิดเราอย่างชัดเจนจากที่ไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองเรื่องชนบทอะไร 

สิ่งที่ไปเจอแล้วผมประทับใจที่สุดคือตอนออกค่ายปีสองของคณะแพทยศาสตร์ นิสิตปีสองยังทำอะไรไม่เป็นก็ตรวจไข่พยาธิ กิจกรรมสำคัญคือรณรงค์ป้องกันพยาธิปากขอ ไปนอนค้างในหมู่บ้านน่าจะสิบวันเลย บอกชาวบ้านเอาอุจจาระมาตรวจที่ศาลาวัด เราก็ป้ายอุจจาระลงกล้องจุลทรรศน์ที่เอาไปจากคณะสามตัว แล้วให้ชาวบ้านนั่งดูไข่พยาธิของเขาเอง ซึ่ง 70-80 เปอร์เซ็นต์เจออยู่แล้ว เราก็ให้สุขศึกษาไป วิธีป้องกันคือต้องใส่รองเท้านะ เสร็จค่าย ฝนตก พอฝนหยุดก็เดินกลับบ้านผ่านท้องร่องท้องนา ชาวบ้านก็ไม่ใส่รองเท้าเหมือนเดิม เพราะใส่รองเท้าเดินได้สักสิบก้าวก็เดินไม่ได้แล้ว รองเท้าจมโคลน พวกเราเองก็ต้องหิ้วรองเท้าเดินเท้าเปล่ากลับหมู่บ้านพร้อมชาวบ้านอย่างมีความสุข ซึ่งมันสอนให้เรารู้ว่าตำราที่เราเรียนมันไม่สอดคล้องกับวิถีชุมชนของชาวนา 

ตอนปีสามไปทำค่ายในหมู่บ้านซึ่งอยู่ในเขตป่าสงวน เป็นชุมชนที่ใหญ่มาก แต่ห่างไกลกันดาร ชาวบ้านไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐเลย แต่ชาวบ้านก็ดูแลป่านะ ตรงนั้นเป็นป่าชุมชน ก็คอยดูไม่ให้คนนอกมาตัดไม้ที่ภูเขาสูง ส่วนที่ราบก็ทำไร่ทำนา ปลูกมันสำปะหลัง การได้ออกค่ายทำให้เราได้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำ ก็เลยเป็นที่มาของการเป็นนักกิจกรรม

สิ่งที่คุณหมอพยายามเคลื่อนไหวสมัยเป็นนักกิจกรรมในบทบาทของนิสิตคืออะไร

ผมลงสมัครเลือกตั้งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ตอนเรียนอยู่ปี 3 ความตั้งใจในตอนนั้นคือเรารู้สึกว่ากิจกรรมของจุฬาฯ เป็นกิจกรรมเชิงบันเทิงเยอะ และเราก็อยากเปลี่ยนจุฬาฯ ให้มีสำนึกทางสังคมมากขึ้น ก็จัดค่าย จัดมหกรรมศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชน จัดกิจกรรมนั่นนี่ จัดรับน้องแบบไม่เหมือนเดิม ถือว่าเป็นก้าวใหม่ของจุฬาฯ ทำได้สักครึ่งปีก็ได้รู้ว่าเราเปลี่ยนอะไรในจุฬาฯ ไม่ได้เลย 

สิ่งหนึ่งที่เราทำคือ อบจ.ประกาศไม่ทำงานบอล หมายถึงทีมผมนะ แต่ไม่ได้ห้ามไม่ให้คนอื่นทำ แค่เราไม่ทำ เพราะงานบอลทำให้เราเสียเวลามากและไม่ได้อะไร ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงที่ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ทำรัฐประหาร ปี 2534 เขาก็พยายามควบคุมกิจกรรมเราเยอะ เราก็เลยไปทำกิจกรรมสร้างคนดีกว่า เป็นกิจกรรมออกค่ายเล็กๆ เสวนา จัดกิจกรรมศิลปะ จัดกิจกรรมเดินเข้าไปในสลัม เข้าไปหาคนยากลำบาก ให้เด็กจุฬาฯ ซึ่งดูไฮโซได้พบปะความยากลำบาก ไปในหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้า ไปเดินป่า ให้เขาได้เห็นคนอีกโลกหนึ่ง แต่ตอนนั้นเราก็ทำกิจกรรมทางการเมืองด้วย ไปร่วมกับ สนนท. (สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วยกันไปประท้วงไล่เผด็จการ 

ตอนนั้นฐานที่มั่นเราอยู่ธรรมศาสตร์ ผมกับเพื่อนๆ ก็ไปรวมกันที่นั่น ตกค่ำกวนแป้งเปียกเพราะกาวมันแพง กวนจนได้ที่ก็ไปปิดโปสเตอร์ โปสเตอร์ก็ไปขอกระดาษเก่าจากโรงพิมพ์ที่ด้านหลังยังใช้ได้เอามาเขียนสี อย่าง ‘เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ’ บ้างอะไรบ้าง ไปติดตามป้ายรถเมล์

บทเรียนที่ได้จากการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการในครั้งนั้น

เราทำอะไรไม่ได้มากด้วยเราก็เป็นนักศึกษาอยู่ แต่บทบาทของเราก็ชัดเจนในการง้าง และสิ่งที่เราทำได้คือกระเบื้องหลุดไปสี่แผ่น สี่แผ่นนั้นคือ พลเอกสุจินดา คราประยูร, พลเอกสุนทร คงสมพงษ์, พลเอกอิสรพงษ์ หนุนภักดี และพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ที่หลุดไปจากวงจร แต่ความเป็นสถาบันทหารกับสังคมไทยก็ยังมีอำนาจอยู่อย่างมหาศาลเหมือนเดิม แต่ก็โอเคเพราะการประท้วงในครั้งนั้นก็ได้นำมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่รุ่งเรืองอยู่ช่วงหนึ่ง 

อะไรทำให้คุณหมอตัดสินใจไปประจำอยู่ในชนบท ทั้งที่ก็น่าจะมีทางเลือกอยู่พอสมควร 

ผมไม่คิดจะอยู่กรุงเทพฯ เรียนจบก็กลับบ้านเพราะบ้านอยู่หาดใหญ่ และผมก็อยากเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล ซึ่งการจะได้เป็นก็ง่ายมากคือไปเลือกอำเภอไกลๆ เพราะอำเภอไกลๆ จะไม่มีหมอ ตอนนั้น ผอ.โรงพยาบาลสะบ้าย้อย ซึ่งเป็นอำเภอที่ไกลที่สุดของจังหวัดสงขลา อยู่ไกลจากหาดใหญ่ร้อยกิโลเมตร ส่งไม้ผลัดพอดีเพราะเขาจะไปเรียนต่อ ผมเลยไปกับเพื่อนสองคน เพื่อนผมไม่อยากเป็น ผอ. ผมอยากเป็น ก็ตกลงกัน เป็นหมออยู่ที่โรงพยาบาลสะบ้าย้อยกันสองคน 

โรงพยาบาลชุมชนจะถูกดีไซน์ให้เป็นเอกเทศพอสมควรเพราะอยู่ไกลมาก ส่วนกลางคือกระทรวงจะไม่ค่อยยุ่งกับเรา เรามีเงินบำรุงที่เก็บจากการรักษาคนไข้ได้ซึ่งเราใช้เองได้ตามระเบียบ มีกำลังคนที่เป็นเจ้าหน้าที่เกือบร้อยคน มีเครื่องมือเครื่องไม้ที่ช่วยชุมชนได้ ปีแรกผมทำงานรักษาเยอะ ดูคนไข้ ปรับระบบในโรงพยาบาล 

สมัยนั้นบทบาทของนักกิจกรรมถูกเก็บเข้าลิ้นชักเลยไหม เพราะต้องทำงานโรงพยาบาลเป็นหลักแล้ว

ก็ยังมีอยู่บ้าง เพราะตอนนั้นองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา มีโครงการจะตัดถนนผ่านป่าที่สะบ้าย้อยเพื่อเชื่อมถนนกับมาเลเซีย ซึ่งป่าผืนนั้นเป็นป่าดงดิบและเป็นต้นน้ำเทพาเลย ชาวบ้านกับทีมเอ็นจีโอก็ไปเดินสำรวจป่าเพื่อหาช้างแคระเพราะมีข่าวลือว่ามีคนเจออยู่ในป่า ซึ่งถ้ามีช้างแคระก็จะเป็นเครื่องหมายที่ทำให้หยุดโครงการนี้ได้ ผมก็ไปเดินป่ากับเขาด้วย ช่วยกับชาวบ้านทำกิจกรรมรณรงค์ ประท้วงนิดหน่อย แต่ก็ไม่เจอช้างนะ น่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่ก็มีหลักฐานว่าในอดีตช้างแคระมีอยู่ในคาบสมุทรสทิงพระ ระโนด จนถึงเทือกเขาสันกาลาคีรี เราก็ได้ไปเดินเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ผมเดินรั้งท้ายเพราะเดินไม่ไหว ชาวบ้านต้องมาคอยเดินตามหลังให้ สนุกดี เหมือนออกค่ายเลย ได้ย้อนกลับมาสู่วิถีการเป็นนักกิจกรรม มีความสุข และโครงการนั้นก็หยุดได้สำเร็จด้วยฝีมือชาวบ้าน โครงการอะไรก็ตามถ้าชาวบ้านยืนยันไม่เอาจะสร้างยาก เพราะเขาอยู่ในพื้นที่ โครงการจะเข้ามาลำบาก จะเข้ามาสำรวจข้อมูลก็ยากเพราะชาวบ้านยืนยันว่าไม่เอา 

ผมอยู่ที่สะบ้าย้อยได้สามสี่ปีก็ย้ายมาโรงพยาบาลจะนะเพราะตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่าง และบ้านเราอยู่หาดใหญ่ ทำให้เราไปกลับโรงพยาบาลได้ในวันที่ไม่ต้องอยู่เวร และกิจกรรมทางสังคมก็อยู่ที่หาดใหญ่เยอะด้วย

ประเด็นสำคัญในเวลานั้นเป็นเรื่องไหน

ปี 2542 ตอนนั้นมีโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย แต่โดยภาพรวมทั้งหมดมันไม่ได้มีแค่โรงแยกก๊าซ มันมีเรื่องโรงไฟฟ้า ท่าเรือน้ำลึก และนิคมอุตสาหกรรมที่จะนะ ซึ่งเป็นโครงการใหญ่คล้ายกับที่มาบตาพุด โครงการท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย จะส่งก๊าซจากโรงแยกก๊าซที่จะนะ เข้านาหม่อม หาดใหญ่ สะเดา แล้วไปมาเลย์ โดยดึงก๊าซจากอ่าวไทย เป็นโครงการหลักและโครงการเดียว โรงไฟฟ้าและท่าเรือมาทีหลัง ซึ่งปัจจุบันท่าเรือน้ำลึกจะนะยังขึ้นไม่สำเร็จ 

พื้นที่จะนะในตอนนั้นเป็นชุมชนชนบท มีทุ่งนาเขียวขจีมากเป็นพันไร่มองไปสุดลูกหูลูกตา สองข้างทางเป็นต้นตาล ริมทะเลเป็นชุมชนประมง บนเขาเป็นสวนยาง เป็นชุมชนเกษตรสมบูรณ์แบบ ชาวบ้านเป็นมุสลิม 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นพุทธสัก 30 เป็นชนบทที่น่ารัก

ตอนโครงการเข้ามาแรกๆ ชาวบ้านไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีอะไรเกิดขึ้น เพราะเมื่อก่อนการประชาสัมพันธ์ช่องทางอื่นไม่มีเลย มีแต่โทรทัศน์กับหนังสือพิมพ์ซึ่งไม่มีข่าวพวกนี้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่มีคือชาวบ้านที่เป็นแกนนำเขาเอา EIA คือรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับร่างมาคุยกับผมที่โรงพยาบาล ให้ผมช่วยอ่าน เพราะเป็นภาษาอังกฤษเยอะ แล้วเราก็ลงหมู่บ้าน ไปเล่าให้ชาวบ้านฟังโดยมีเอ็นจีโอพาผมลงพื้นที่ คุยทีละหมู่บ้าน เล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเกิดท่อก๊าซโรงแยกก๊าซผลกระทบจะเป็นยังไง แล้วเราก็ตั้งลานหอยเสียบขึ้นมา ซึ่งลานหอยเสียบคือที่ที่ท่อก๊าซจะขึ้น เป็นที่ดินสาธารณะ ชาวบ้านก็ไปสร้างเพิงสร้างกระท่อมจนเป็นที่รวมพล เป็นที่ประชุม เป็นการยึดพื้นที่เพื่อไม่ให้ท่อก๊าซเกิด ฝ่ายเขาก็วางท่อในทะเลไปเรื่อย ไม่ได้หยุด แต่เราก็พยายามของเรา   

สมัยนั้นในการจะเกิดโครงการอะไรสักอย่าง ชาวบ้านได้รับโอกาสในการมีส่วนร่วมแค่ไหน 

เมื่อก่อนไม่มีเวทีรับฟังความเห็น แต่มีประชาพิจารณ์ ครั้งที่หนึ่ง ปี 2543 ชาวบ้านยกพวกมา มีประชาพิจารณ์อยู่ข้างใน ชาวบ้านล้อมอยู่ข้างนอก จะขอเข้าไปพูดบ้าง สุดท้ายเวทีล่ม เพราะเขาจะให้แค่ตัวแทนเข้า แต่ชาวบ้านไม่เอา จะเข้าไปฟังทั้งหมด ก็เข้าไปห้าร้อยคนน่ะ เวทีล่มอยู่แล้ว ครั้งที่สอง ปี 2544 ชาวบ้านก็คิดว่าถ้าเข้าไปช้า ชาวบ้านจะไม่ได้อะไรเหมือนคราวแรก เลยไปล่วงหน้าหนึ่งวัน ปิดทางไม่ให้เกิดเวทีข้างใน  รอบนั้นเขาเอาทหารมาบุกเปิดทางเพื่อให้เปิดเวทีทำประชาพิจารณ์ได้ ทำได้ 20 นาทีก็ประกาศว่าทำเสร็จแล้ว ทุกคนแยกย้าย ชาวบ้านยังงงอยู่รอบนอก ตอนนั้นครั้งแรกที่เกิดการปะทะเลือดตกยางออก 

พอปี 2545 มีกิจกรรมสำคัญคือนายกรัฐมนตรี (ทักษิณ ชินวัตร) กับมหาเธร์จะลงนามสัญญาก่อสร้างโรงแยกก๊าซร่วมกันที่หาดใหญ่ ชาวบ้านก็มาประท้วงกันที่หน้าโรงแรมที่จะจัดลงนาม แต่โดนบล็อคออกมาเรื่อยๆ จนมารอกันอยู่ข้างๆ โรงแรม วันรุ่งขึ้นเขาจะเซ็นสัญญา คืนนั้นก็มีการสลายม็อบรุนแรงและโดนจับ แต่ตอนนั้นผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เข้าใจว่าอยู่เวรที่โรงพยาบาล ช่วงที่ค้านโรงแยกก๊าซผมยังไม่ได้เป็นแกนหลัก 

สุดท้ายโครงการท่อก๊าซก็สร้างสำเร็จ เพราะจากการปะทะรอบนั้นนำมาสู่การเปลี่ยนวิธีของรัฐบาล จากเดิมใช้วิธีเจรจา ล็อบบี้ แต่หลังจากนั้นเปลี่ยนยุทธศาสตร์มาใช้กำลัง ตีชาวบ้าน จับเข้าคุก ส่งฟ้องศาล ในพื้นที่ก็ส่งกองกำลังทหารมาตั้งค่ายบริเวณที่จะก่อสร้างโรงแยกก๊าซเลย ปัจจุบันก็ยังอยู่ เอาปืนมาคุ้มกันการก่อสร้างเป็นเรื่องเป็นราวจนสร้างสำเร็จ 

ความสำเร็จของฝ่ายรัฐบาลส่งผลกับชาวบ้านอย่างไรบ้าง 

ชาวบ้านรู้สึกพ่ายแพ้เลยนะในช่วงนั้น แต่ความพ่ายแพ้ก็มีพลังมาก เพราะสุดท้ายฝ่ายรัฐก็ขึ้นได้แค่โรงแยกก๊าซกับโรงไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้าขึ้นได้ด้วยอีกบริบทหนึ่ง แต่ท่าเรือไม่เกิด นิคมอุตสาหกรรมไม่เกิด เราก็สรุปบทเรียนกันว่ามันคือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่มาก ที่เราสามารถหยุดโปรเจ็กต์ที่ตามมาได้โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม 

จริงๆ แล้วการสร้างโรงแยกก๊าซก็เพื่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมแบบมาบตาพุด แต่ว่าพอแยกมาแล้ว ได้ก๊าซ ครึ่งหนึ่งส่งมาเลย์ ครึ่งหนึ่งส่งไทย แต่ไทยไม่มีที่ใช้ ก็เลยต้องสร้างโรงไฟฟ้าจะนะขึ้นมาเพื่อใช้ก๊าซ ใช้แล้วยังเหลือก็ส่งขายมาเลย์ ปัจจุบันส่วนที่ยังเหลือไม่มีที่ใช้ก็เลยเปลี่ยนต่อท่อไปมาบตาพุดแทนโดยเชื่อมกับหลุมที่มีอยู่แล้วเพื่อให้เราใช้ให้หมด เพราะเก็บไม่ได้ เจาะมาแล้วก็ต้องใช้

ในฐานะที่มีบทบาททางการเคลื่อนไหว อยากให้เล่าหน่อยว่ามีวิธีการอย่างไรเพื่อให้ชาวบ้านมองเห็นภาพเดียวกันกับเรา

หัวใจคือข้อมูล ให้ชาวบ้านได้รับรู้ข้อมูล แล้วเขาก็ดีไซน์เองว่าเขาจะเคลื่อนไหวยังไง สิ่งที่เราทำคือให้ข้อมูล ให้ความรู้ แล้วให้เกิดการตั้งคำถามว่าถ้ามีโรงแยกก๊าซขึ้นมา ฉันจะยังทำนาได้ไหม ทะเลจะยังจับปลาได้ไหม ถ้านิคมอุตสาหกรรมมาล่ะจะอยู่กันยังไง ให้เขาเห็นผลกระทบที่จะตามมา แล้วฝึกให้เขาตั้งคำถามกับรัฐ กับตัวแทนภาคต่างๆ ที่ลงมาคุย ถ้าภาครัฐตอบไม่ได้หรือตอบไม่ชัด เขาก็จะตระหนักเองว่า หากโครงการมาชาวบ้านต้องแย่แน่ๆ เพราะรัฐตอบอะไรไม่ได้เลย 

การเกิดโรงแยกก๊าซกับโรงไฟฟ้าที่จะนะกับผลกระทบที่ตามมา มีผลต่อประสบการณ์ชาวบ้านในการเคลื่อนไหวค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในเวลาต่อมาแค่ไหน 

ชาวบ้านสูญเสียวิถีชีวิต วิถีชุมชนที่เขาเป็นอยู่ในปัจจุบันก็เปลี่ยนไป ชาวบ้านเห็นเลยว่าอุตสาหกรรมส่งผลให้เกิดมลพิษชัดเจนแน่นอน แล้วปัจจุบันโรงแยกก๊าซที่จะนะก็ยังมีกลิ่นเหม็นซึ่งภาครัฐก็เลือกที่จไม่บำบัดด้วยนะถ้ามันแพง แต่เลือกที่จะจ่ายตังค์เพราะมันถูกกว่ามาก ก็เป็นไปตามที่เราเคยคุยกัน โรงแยกก๊าซมีสองวิธีที่จะแก้ปัญหากลิ่นเหม็น วิธีแรกคือเพิ่มชุดเบิร์นเนอร์เพื่อให้เกิดการเผาใหม่อีกครั้งหนึ่งให้สมบูรณ์  กับการจ่ายเงินเยียวยา ซึ่งเขาเลือกวิธีจ่ายเงินชาวบ้านครอบครัวละ 4,000 บาทต่อปี ใน 3 หมู่บ้านรอบโรงแยกก๊าซ ครอบครัวหนึ่งจะมี 4 คนหรือ 10 คนก็แล้วแต่ รับไป 4,000 จ่ายมาหลายปีแล้ว และปัจจุบันก็ยังจ่ายอยู่ 

ผลกระทบกับสุขภาพล่ะคะ เห็นผลชัดเจนแค่ไหน

เนื่องจากเกิดโรงแยกก๊าซขึ้นโรงเดียว กับโรงไฟฟ้าอีกหนึ่งโรง ตั้งอยู่ห่างกัน 5 กม. ผลกระทบทางสุขภาพก็จะเป็นไปตามทฤษฎีเลยคือ Chronic low dose exposure การรับมวลสารน้อยๆ แต่นานๆ ไม่เหมือนมาบตาพุดซึ่งรับชุดใหญ่ส่งผลป่วยได้ทันที ของจะนะจะเป็นลักษณะการรับมวลสารไม่เกินมาตรฐานสักตัว แต่รับทุกวัน สะสม โต๊ะอิหม่ามรอฮีม ซึ่งอยู่ที่ตำบลตลิ่งชัน อยู่ห่างจากโรงแยกก๊าซ 2 กม. เคยพูดว่า ปล่องโรงแยกก๊าซมี 25 กล่อง แต่จมูกมีสองรู จะไม่เกินมาตรฐานกี่กล่องมันก็เข้าสองรูของแกนี่แหละ 

การรับมวลสารน้อยๆ แต่ต่อเนื่องยาวนาน บอกได้ยากว่ามะเร็งที่เกิดเพิ่มขึ้นนั้นมาจากโรงแยกก๊าซมั้ย มาจากมลพิษมั้ย โรคหอบหืดที่เพิ่มขึ้น โรคภูมิแพ้ที่เพิ่มขึ้น มันใช่เพราะโรงแยกก๊าซมั้ย ไม่มีทางบอกได้เพราะรับกันมา 10-20 ปี เพียงแต่ว่าเราเห็นตัวเลขของโรคเหล่านี้เพิ่มขึ้น 

ซึ่งไม่ว่าจะเห็นผลกระทบอย่างไร โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา ซึ่งเป็นอำเภอที่ติดกับจะนะ ก็มีแผนว่าจะเกิดขึ้นในตอนนั้นอยู่ดี

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เกิดขึ้นในรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เทพากับจะนะอยู่ลุ่มน้ำเดียวกัน มีจะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย ชาวบ้านก็คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกัน ผมก็ไปช่วยด้วย

ผมก็ทำคล้ายๆ เดิมคืออ่านข้อมูลเอกสาร EIA แล้วก็แจกแจงข้อมูลทางวิชาการ ไปบอกชาวบ้านบ้าง จัดเวทีวิชาการบ้าง การเคลื่อนไหวของกลุ่มเราไม่ได้เป็นระบบสั่งการ เพราะสั่งกันไม่ได้ แต่เป็นเน็ตเวิร์ก แมนเนจเมนต์ ทุกคนทำงานกันในแนวระนาบ ไม่ใช่มีหัวหน้าหนึ่งคน เรามีนักวิชาการที่ทำงานร่วมกัน บางจังหวะนักวิชาการเขารู้ว่าต้องเล่นเขาก็เล่น บางจังหวะชาวบ้าน เอ็นจีโอ ก็จะเป็นทีมพวกผม มีทีมศิลปิน ทีมสื่อเถื่อน สื่อกระแสหลักบ้าง เชื่อมเน็ตเวิร์กประสานกัน ส่งสัญญาณกันว่าจังหวะนี้เราต้องการงานวิชาการมาสนับสนุนแนวคิดของชาวบ้านนะ เราจัดเวทีวิชาการกันเถอะ อีกสิบวันชาวบ้านจะมีม็อบนะ เราจะประชาสัมพันธ์ยังไงกันก่อนเพื่อสร้างความชอบธรรมในการทำม็อบ 

การที่คุณหมอเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข แล้วออกมาคัดค้านการทำงานของฝ่ายรัฐ ต้นสังกัดมีปฏิกิริยาอย่างไรไหม 

มีบ้างเป็นธรรมดา เพราะเป็นข้าราชการ ข้าราชการต้องทำตามนโยบายรัฐ อย่างโรงแยกก๊าซเป็นนโยบายรัฐบาล โรงไฟฟ้าถ่านหินก็เป็นนโยบายรัฐบาล ตอนโรงแยกก๊าซผมโดนปลัดกระทรวงเชิญมาที่กระทรวงสาธารณสุข ให้ผู้ตรวจราชการพามา ปลัดกระทรวงบอกกับผมว่า “จะเป็นหมอหรือจะเป็นเอ็นจีโอ ถ้าจะเป็นเอ็นจีโอก็ให้ลาออกไปซะ ถ้าจะเป็นหมอรับราชการก็ให้เลิกต้าน” ผมก็ชี้แจงว่าไม่ได้ค้านแบบนั้น ผมค้านแบบมีข้อมูลชัดเจนว่ามันมีผลกระทบกับชาวบ้าน เล่าเรื่องต่างๆ ให้เขาฟัง แต่เราก็รู้ว่าเขาไม่ฟังอยู่แล้ว สุดท้ายก็รับคำว่าจะไปค้านน้อยลง เขาก็ให้ผมเขียนรายงานเพื่อยืนยันว่าผมจะไม่ค้านอีก เขาจะรออ่านรายงาน ถ้ารายงานที่ผมเขียนน่าพอใจก็ไม่ย้าย ไม่น่าพอใจก็จะย้าย ผมก็ปรึกษาพี่ๆ ในเครือข่ายแพทย์ชนบท ทำยังไง ก็ดึงเกม ยังเขียนไม่เสร็จบ้าง มีโทร.มาตามก็บอกยังเขียนไม่เสร็จ จนสุดท้ายปลัดกระทรวงก็โดนย้ายไปเสียก่อน เรื่องก็เลยจบไป และผมไม่โดนย้าย 

การเคลื่อนไหวเมื่อก่อนไม่เหมือนปัจจุบันเพราะไม่มีเฟซบุ๊ก ฉะนั้นที่ผู้หลักผู้ใหญ่จะติดตามการเคลื่อนไหวของเรามันก็ไม่ง่าย เราเคลื่อนไหวในพื้นที่ กิจกรรมที่ปรากฏต่อสาธารณะก็จะเป็นเวทีวิชาการ ซึ่งมันอธิบายได้ ไม่เหมือนยุคหลังที่มีเฟซบุ๊ก มีสื่อโซเชียล ทำให้เขาเห็นเรามาก อีกครั้งหนึ่งที่จะโดนสั่งย้ายก็เป็นเรื่องค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานี่แหละ

สถานะการเป็นหมอ เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล พอจะเป็นภูมิคุ้มกันให้ตัวเองได้ไหม

หมวกที่สำคัญของผมคือเป็นข้าราชการ รับเงินเดือนหลวง แล้วออกมาทำแบบนี้ ซึ่งถ้าเป็นข้าราชการจะทำได้ลำบากมาก ถ้าเป็นครูก็ยากมาก มีครูที่ไม่เห็นด้วยและออกมาช่วยกันค้าน แต่เขาไม่สามารถเปิดตัวแรงๆ ได้เพราะว่าจะโดนย้าย ภูมิคุ้มกันเขาน้อยกว่าเราซึ่งเป็นหมออยู่โรงพยาบาลอำเภอ และไกลใช้ได้ จะย้ายเราไปไหนอีก

ผมไม่อยากย้ายไปไหน นั่นจุดแข็งเลย โรงพยาบาลอำเภอทั้งประเทศมีวัฒนธรรมอยู่อย่างหนึ่งซึ่งยาวนานคือ ถึงเราเป็นผู้อำนวยการ แต่เราเป็นหมอ เราตรวจคนไข้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอทุกคนยังตรวจคนไข้ ยังเป็นหมออยู่ แล้วไม่มีวัฒนธรรมการย้าย จะให้อยู่นาน ยิ่งนานยิ่งดี ไม่ขอย้ายยิ่งดี เพื่อที่จะรู้จักชาวบ้านในอำเภอนั้น  ดูแลชาวบ้านไปเลยยาวๆ รู้จักบริบทของชุมชนทั้งหมด รู้จักผู้นำ ทำให้เราไม่ได้ต้องโดนย้าย แต่ถ้าเป็นโรงพยาบาลจังหวัด ทุก 4 ปีจะต้องโดนย้าย 

เคยรู้สึกกลัวหรือกังวลไหมที่ต้องคัดง้างกับภาครัฐ

หัวใจการทำงานของผมคือต้องไม่ถูกย้าย ผมต้องทำตัวให้ไม่ถูกย้าย เพราะการถูกย้ายมันเสียขบวน แล้วเราก็ลำบากด้วย เพราะบ้านอยู่หาดใหญ่ ลูกเมียก็อยู่หาดใหญ่ ดังนั้นการเคลื่อนไหวก็ต้องรู้จังหวะในการไต่เส้น มันจะมีขีดที่เราต้องไต่ให้ไม่เกินเลยมากไป เลยบ้างแล้วก็กลับมา แล้วก็ยืนในบทที่อธิบายได้ ซึ่งบทหลักๆ ก็คือบททางวิชาการนั่นเอง ข้อมูลที่พูดเป็นข้อมูลจริง ไม่มีข้อมูลเท็จ การอ่าน EIA แล้วออกมาพูดก็เป็นข้อมูลจริงทั้งหมด เป็นข้อมูลของเขาเองที่ผมเอามาตีความว่าปรอทมันเป็นพิษแน่นอน ปรอทเยอะนะ ไม่กรองปรอทกันเลยหรือ ซึ่งเป็นข้อมูลจริง แล้วในบทบาทแพทย์ของผมก็เป็นบทบาทข้าราชการที่ดี แม้จะไม่เชื่อฟังนโยบายรัฐ (ยิ้ม)  

ที่สำคัญที่สุดเลยคือเราต้องมีประชาชน มีคนที่หนุนเราอยู่ข้างหลัง อย่างคราวที่ผมกำลังจะโดนย้าย ผมก็กลุ้มใจอยู่วันหนึ่งไม่บอกใครเลย เพราะถ้าบอกเพื่อน เพื่อนต้องเอาไปแฉในเฟซบุ๊กแน่นอน แล้วถ้าเพื่อนเอาไปเปิดเผยลงเฟซบุ๊กเราจะโดนย้ายได้ง่ายๆ เลย คิดอยู่เป็นวัน จนตอนหลังปรึกษาพี่แพทย์ชนบท เขาก็บอกโอเค เดี๋ยวพี่ๆ ช่วยจัดการให้ 

ด้วยวิธีไหนคะ

โพสต์เฟซบุ๊ก (หัวเราะ) บอกว่ามีคำสั่งย้ายผม โอเค พอพี่เขาโพสต์เฟซบุ๊กปุ๊บ ทุกอย่างชัดเจนเลยว่าเราจะเดินในทิศทางนี้ เกิดความสว่างในจิตใจของผมเอง คือมันจะไม่อึมครึมอีกต่อไปแล้ว มันปลดล็อก ไม่เครียดแล้ว งั้นเดินสายนี้ ประกาศตัวเลย เดินเกมเพื่อไม่ให้โดนย้าย เมื่อก่อนผมอึมครึมมากว่าจะเล่นบทไหนระหว่างเล่นบทสู้ คือเปิดกระแสสู้ไม่ให้โดนย้าย กับเล่นบทล็อบบี้ หาผู้ใหญ่ไปคุย อย่าย้ายเลย หรือถ้าจะย้ายก็ย้ายไปโรงพยาบาลหาดใหญ่ จะเล่นบทอะไร

ใจจริงผมก็เล่นบทสู้นั่นแหละ แต่เนื่องจากมันเป็นตัวเรานะ ไม่เหมือนเชียร์มวยหรือเชียร์เพื่อน ถ้าเชียร์เพื่อนเราเชียร์ให้สู้อยู่แล้ว เราไม่เชียร์ให้เพื่อนสยบยอม แต่พอเป็นตัวเอง ที่มันไม่ขาดในวันแรกๆ เพราะผมมีจุดยืนที่ผมไม่อยากโดนย้าย เพราะการโดนย้ายมันเสียขบวนด้วย แล้วชีวิตเราก็จะลำบากด้วย

เรียกว่าเรามาถึงยุคของการเคลื่อนไหวโดยมีโซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในการเดินหมาก 

เพื่อนที่ทำงานสื่อก็เชียร์ว่าทำเพจได้แล้ว เพื่อใช้สร้างกระแส แล้วเราก็ช่วยกันสร้างกระแสทางสื่อออนไลน์ ชาวบ้านก็มามอบดอกไม้ให้กำลังใจ มีนักวิชาการมาให้กำลังใจ สุดท้ายกระทรวงก็ไม่ได้สั่งย้ายผม 

การคัดค้านคราวนี้ก็ใช้วิธีต่างไปจากเดิมด้วย ทราบมาว่าการที่คุณหมอเปลี่ยนหลังคาโรงพยาบาลเป็นโซลาร์รูฟ ก็เป็นเหตุผลหนึ่งในการเคลื่อนไหวต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 

โจทย์ที่ยากที่สุดของการต่อสู้คือ เรามีข้อมูลชัดเจนมากว่าการเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินส่งผลเสียกับพื้นที่ กับสิ่งแวดล้อม กับชีวิตชาวบ้าน กับทะเล กับลำคลอง กับแม่น้ำเทพาสารพัด ด้วยเหตุด้วยผลด้วยข้อมูลทางวิชาการทั้งหมด โรงไฟฟ้าถ่านหินส่งผลกระทบมหาศาล ปีกนี้เราสู้ชนะแน่นอน  แต่ปีกที่เรายังสู้ไม่ชนะเขาคือความจำเป็นของประเทศชาติที่ต้องมีไฟฟ้าใช้ ภาคใต้ไฟฟ้าก็จะพอไม่พอ แล้วอีก 20 ปีภาคใต้จะมีไฟฟ้าพอเหรอ เพราะเราใช้ไฟฟ้าที่ส่งมาจากภาคกลางอยู่ ทีนี้เราจะสู้เรื่องไฟพอไฟไม่พอยังไง ถ้าจะสู้ให้ขาดก็ต้องตอบโจทย์ได้ด้วยว่าไฟฟ้าภาคใต้พอ เรามีวิธีอื่นที่ทำให้พอมั้ย ก็เลยนำมาสู่เรื่องการคิดติดโซลาร์เซลล์ เป็นวิธีที่ชัดที่สุด แล้วกระแสโซลาร์ก็มาแล้ว ราคาถูกลงมาก โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ติดแล้วด้วยงบประมาณ 800 ล้านบาทในการลงทุน ซึ่งเป็นโมเดลได้ ดร.สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งอยู่ในกลุ่มคัดค้านโรงแยกก๊าซ ค้านโรงไฟฟ้ากับพวกเรามา ก็ติดแล้วที่ห้องสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ของมหาวิทยาลัย 32 กิโลวัตต์ ก็เวิร์กดี ผมขอคำแนะนำจากอาจารย์ว่าอยากติดบ้าง จนได้ติดกันในเฟสแรก เมื่อปี 2560 

ตอนนั้นเราคุยกันว่าติดสัก 20 กิโลวัตต์ก็แล้วกัน พอเป็นโมเดล ควักกระเป๋าโรงพยาบาลจ่ายเอง 8 แสนบาท 8 แสนนี่คือ 1 เปอร์เซ็นต์ของรายรับโรงพยาบาลซึ่งเรามีรายรับปีละ 80 ล้าน 20 กิโลวัตต์ของเราเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เขาจะมีขนาด 2,000 เมกะวัตต์แล้วก็ห่างกันประมาณ 1 แสนเท่า

ด้วยขนาดเพียง 20 กิโลวัตต์ มันสร้างการเปลี่ยนแปลงที่เห็นผลได้แค่ไหน

ทุกเดือนเรามีค่าใช้จ่ายเป็นค่าไฟฟ้าอยู่ประมาณ 3 แสนบาท ฉะนั้น 20 กิโลวัตต์เราลดค่าไฟได้ 10,000 บาทต่อเดือนเท่านั้นเอง การทำงานของระบบแผงโซลาร์คือเมื่อผลิตไฟฟ้าได้จะจ่ายไฟเข้าอินเวอร์เตอร์ซึ่งเป็นเครื่องผสมไฟกับไฟหลวง แล้วจ่ายเข้าโรงพยาบาล ฉะนั้นไม่ว่าจะผลิตได้มากหรือน้อย ระบบไฟฟ้าของโรงพยาบาลก็ยังเสถียรอยู่ เพราะมีไฟหลวงมาเลี้ยง 

แต่หัวใจของการติด 20 กิโลวัตต์นี้มันไม่ใช่แค่การติดโซลาร์รูฟ มันเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจาก 20 กิโลวัตต์ เช่น เรามีการโปรโมตทางเฟซบุ๊กก่อนวันติดตั้งหลายเดือน ในวันที่ติดแผงโซลาร์ เราทำประชาสัมพันธ์อย่างหนัก มีไลฟ์สด มีเก็บภาพ มีโดรนมาบิน มีการอบรมช่างอาสาในการติดตั้งเพื่อสร้างกระแส คนมาสมัคร 40-50 คน มีทั้งช่างดาวเทียม ช่างแอร์ ช่างหลังคา มาอบรมกันเป็นเรื่องเป็นราวแล้วทดลองติดตั้งจริง เขาก็จะได้ประสบการณ์ในการติดตั้ง และได้ความรู้สึกที่ดีในการช่วยกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ ทั้งหมดนี้เป็นการประกาศเพื่อสู้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน

จากนั้นเราก็เก็บข้อมูล เก็บบิลค่าไฟ ซึ่งการใช้จากโซลาร์เซลล์เราลดค่าไฟได้  10,000 บาท แต่เราสามารถลดค่าไฟโรงพยาบาลได้เกือบแสนบาทต่อเดือนด้วยหลายมาตรการ โดยเราได้งบจากกระทรวงพลังงานมา 2 ล้าน และเราสมทบอีก 1 ล้านบาทในการเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอดแอลอีดี เปลี่ยนแอร์เก่า ติดฟิล์มที่กระจกอาคาร เปลี่ยนเครื่องอบผ้าจากใช้ไฟฟ้ามาเป็นใช้แก๊ส นี่ก็ลดค่าไฟได้ 30,000 บาท  

แล้วสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการติดโซลาร์เซลล์ทำให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของไฟฟ้าที่เขาผลิตเอง จากที่เดิมเคยเรียกร้องให้ประหยัดไฟก็ไม่ค่อยมีใครสนใจ พอเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของไฟฟ้า เขาก็ตกลงเหลื่อมเวลาการทำงาน เพื่อลดพีคไฟ  

เรื่องพีคไฟคือหนึ่งในหัวใจของการลดค่าไฟเลย หน่วยงานที่ใช้ไฟกลางวันจะเหมือนกันหมดคือจะมีค่าพีคไฟ ที่พีคไฟจะขึ้นช่วง 9 โมง ไปจนเที่ยงก็จะลดนิดหนึ่ง พอบ่ายก็ขึ้นอีก ซึ่งถ้าพีคไฟสูงเราจะถูกเก็บตังค์ด้วย ดังนั้นการเหลื่อมเวลาซักผ้า อบผ้า นึ่งฆ่าเชื้อ สามตัวหลักในการกินไฟ เจ้าหน้าที่เขาดีไซน์ตรงนี้เองเลยว่าเขาจะมาซักผ้า 7 โมง 8 โมงซักผ้าและอบผ้าเสร็จ ก็เริ่มเปิดเครื่องนึ่งผ้า ค่อยๆ ทำไล่ทำ ไม่ทำพร้อมกัน เพื่อไม่ให้พีคไฟขึ้น เขาจะทำส่วนนี้ให้เสร็จก่อน 9 โมง เพราะ 9 โมงเป็นเวลาที่ทุกห้องเริ่มทำงาน ซึ่งช่วยลดการใช้ไฟไปได้เยอะ

จากเฟสแรก 20 กิโลวัตต์ ยังเหลือหลังคาอยู่อีกหลายหลัง คุณหมอจัดการยังไงกับพื้นที่ที่เหลือ

เฟสสองเราติดเพิ่มด้วยการระดมทุน หรือที่เรียกว่าคราวด์ฟันดิ้ง ระดมทุน 1.7 ล้านบาท สำหรับโซลาร์เซลล์อีก 52 กิโลวัตต์ เพราะเห็นผลจากเฟสแรกแล้วว่าดี แล้ววิธีที่จะลดค่าไฟลงได้อีกคือติดโซลาร์เซลล์ให้เต็มหลังคาเลย เพราะเรายังเหลืออีกตั้ง 2 ใน 3 ที่ยังไม่ได้ติด ที่จริง 1.7 ล้านบาทเราจะใช้เงินของโรงพยาบาลก็ได้ คำนวณแล้วไหวเพราะอายุการใช้งาน 25 ปี แค่ 5 ปีเราก็คืนทุนแล้ว แต่ที่คิดว่าอย่าเพิ่งควักเลยก็เพราะว่าอยากจะโปรโมตเรื่องโซลาร์รูฟของโรงพยาบาลจะนะไปสู่สาธารณะว่ามันประหยัดไฟได้แค่ไหน แล้วดูแลง่ายยังไง แค่เอาไม้ถูพื้นที่เป็นฟองน้ำไปขัดถูก็ล้างแผงได้แล้ว 

โมเดลคราวด์ฟันดิ้งเราทำด้วยการขอรับบริจาคเงินคนละ 170 บาท ขอบริจาคทางออนไลน์ ทางเฟซบุ๊ก ทางไลน์นี่แหละ เพราะมันไม่มีต้นทุน  ต้นทุนมีแค่ทำอินโฟกราฟิกกับโบรชัวร์นิดหน่อย ไม่มีกระดาษแม้แต่แผ่นเดียว ออนไลน์ล้วนๆ ก็ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ 300 คนในโรงพยาบาลว่าทุกคนต้องส่งใบขอบริจาคทางไลน์หรือโพสต์เฟซบุ๊กก็แล้วแต่ ไปยังคนรู้จัก วันแรกเขาก็รอดูท่าทีกันเพราะการจะไปขอเงินเพื่อนแต่ละคนก็ไม่เคยทำ แต่พอมีคนเริ่มโพสต์ คนอื่นก็เริ่มเอาบ้าง ยอดบริจาคเอามาลงในไลน์กลาง ก็จะเห็นคนเริ่มบริจาค กระแสขยับ กระจายข่าวได้มากขึ้น จนสามารถระดมทุนสำเร็จใน 5 วัน ด้วยยอดเงิน 2 ล้านกว่าบาท ทะลุเป้าหมาย และติดตั้งไปเมื่อเดือนสิงหาคม 2562

เท่ากับว่าตอนนี้โรงพยาบาลจะนะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าไปแล้ว 72 กิโลวัตต์ จากการคำนวณค่าการใช้ไฟฟ้า สามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้เท่าไรคะ 

เราลงทุนไป 2 รอบ คือ 8 แสน กับ 1.7 ล้าน รวมแล้ว 2.5 ล้าน เราได้ค่าไฟคืนกลับมาจากการใช้โซลาร์เซลล์ปีละ 5 แสน ดังนั้น 5 ปีก็คืนทุน แล้วหลังจากนั้นเราจะได้ไฟใช้ฟรีปีละ 5 แสนบาททุกปีไปอีก 20 ปี ตามอายุการใช้งานของแผงโซลาร์ 25 ปี 

มีความคิดที่จะเปลี่ยนให้ทั้งโรงพยาบาลใช้ไฟจากโซลาร์เซลล์ทั้งระบบไหม

คิด ผมยังมีอีกหลายหลังคา แต่มันเป็นหลังคาเก่า มีตึกหนึ่งหลังคาสวยมาก น่าจะติดได้อีก 100 กิโลวัตต์ แต่หลังคามันอายุ 30 ปีแล้ว ถ้าจะติดโซลาร์ที่มีอายุอีก 25 ปี นั่นหมายความว่าหลังคานั้นต้องมีอายุ 55 ปี ซึ่งเป็นไปไม่ได้เพราะกระเบื้องจะแตก ดังนั้นต้องหางบเปลี่ยนหลังคาก่อนเพื่อติดโซลาร์เซลล์เพิ่ม

ด้วยตัวเลขที่สรุปออกมาชัดเจนถึงการลดการใช้ไฟหลวงในแต่ละเดือน นำมาสู่การเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาต่อไปอย่างไร 

การติดโซลาร์เซลล์ที่โรงพยาบาลจะนะ บวกกับการสร้างกระแสให้ช่วยกันติดโซลาร์ แล้วก็มีนักวิชาการมาช่วยกันทำข้อมูลชี้ให้เห็นว่า จริงๆ ภาคใต้ไฟค่อนข้างพอนะ แล้วถ้าได้โซลาร์มาช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงาน ไฟฟ้าสำหรับใช้ในภาคใต้ก็จะยิ่งพอ ร่วมกับการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลมและชีวมวลแล้ว  ภาคใต้มีไฟพอใช้แน่ ผมว่าตัวเลขเหล่านี้ทำให้ฝ่ายเรามีข้อมูลที่หนักแน่นขึ้นในการค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินชัดเจนว่า เราได้รับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตเยอะแล้ว ดังนั้นแค่ใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น ไฟจะพอ โดยที่เราไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเลย 

แล้วสิ่งเหล่านี้เราอธิบายได้หมดกับทั้งชนชั้นกลาง ผู้มีอำนาจ อธิบายกับคนเมือง คนหาดใหญ่ คนสงขลา ที่เขากังวลเรื่องไฟฟ้าจะพอใช้ไม่พอใช้ เราได้ทำเองแล้ว ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทำจริง ติดจริง ผลิตไฟได้จริง เก็บข้อมูลจริง มีตัวเลขจริง ไม่ได้พูดลอยๆ 

ตอนนี้หลายหน่วยงานก็หันมาติดโซลาร์เซลล์กัน ที่โรงพยาบาลนาทวีติดแล้ว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ก็ติดแล้ว 1 เมกะวัตต์ ใหญ่กว่าของโรงพยาบาลจะนะ 50 เท่า โรงพยาบาลนาสาร สุราษฎร์ธานีติดแล้ว เอกชนติดกันเยอะมาก โลตัส บิ๊กซี ติดกันเป็นล่ำเป็นสัน โรงพยาบาลในจังหวัดอื่นๆ ก็มีติดกันหลายแห่ง   

ท่าทีของโรงไฟฟ้าเป็นอย่างไรเมื่อเห็นกระแสการใช้พลังงานหมุนเวียนแบบนี้

ผมมองว่าเขาก็ยอมจำนนพอสมควร เพราะไม่รู้จะเถียงยังไง จะยังมีเถียงบ้างก็เรื่องรีไซเคิลได้หรือเปล่า เอาเปรียบคนจนไหมเพราะคนที่มีเงินติดเป็นคนรวย ถ้าติดกันเยอะมันจะทำให้ค่าไฟโดยรวมต้องเพิ่มขึ้น ไปทำให้คนจนลำบาก อะไรแบบนี้ แต่โดยรวมกระแสมันไปแล้ว บวกกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่โลกร้อนจริง ฝุ่น PM 2.5 เยอะจริง น้ำท่วม ฝนแล้ง ชัดเจน ซึ่งกระแสพวกนี้ก็ทำให้พวกเราทำงานง่ายขึ้นบ้าง แต่ก็ไม่ได้ง่ายเสียทีเดียวเพราะยังมีกระสุนเงินมหาศาลที่ยิงลงพื้นที่ และเจาะไปที่ผู้นำชาวบ้าน มีนักเลือกตั้งท้องถิ่นเพียงคนเดียวที่มาร่วมค้านกับเรา คนอื่นไม่มีใครกล้าลุกมาค้านทั้งที่เป็นตัวแทนชาวบ้าน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความกลัว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอำนาจเงินที่ยิงลงไป และการเคลื่อนไหวในพื้นที่ก็ยังมีอยู่เพื่อที่จะให้เกิดการสร้างให้ได้ 

จากบทเรียนที่ผ่านมา หลายๆ ครั้งเราได้เห็นว่าการต้านโครงการรัฐนั้นไม่ค่อยจะประสบผลสำเร็จ สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา คุณหมอมองเห็นแนวโน้มไปทางไหน

ก็รอวันฟื้นคืนชีพ ปัจจุบันเหมือนชะลอไปเพราะชาวบ้านประท้วงกันหนักมาก เมื่อชาวบ้านยืนยันไม่เอา ความชอบธรรมที่จะสร้างก็ไม่มี เรื่องไม่เอาถ่านหินนี่ชัดมากในประเทศไทย ไม่เฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพานะ ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ด้วย โรงไฟฟ้าถ่านหินเขาหินซ้อนที่ฉะเชิงเทราด้วย มีกระแสโลกที่ช่วยเราไม่เอาถ่านหิน ก็ทำให้รัฐบาลไม่กล้าเดินหน้า โครงการก็ชะลอไป ตอนนี้มีโปรเจ็กต์ของรัฐบาลที่ดันมาใหม่ คือให้จะนะเป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต 

คำว่า ‘ก้าวหน้า’ ชาวบ้านฟังแล้วว่ายังไงกันบ้างคะ

ฟังแล้วเคลิ้มครับ (หัวเราะ) ก็เป็นการสร้างวาทกรรมนะ จะไปพูดว่าจะนะจะทำเป็นนิคมอุตสาหกรรมหนัก ใครจะไปอนุมัติให้สร้าง ชาวบ้านที่ไหนจะยอมให้สร้าง ก็ใช้วาทกรรม อุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต สาระคือมีนิคมอุตสาหกรรมหมื่นไร่ มีท่าเรือน้ำลึก มีคลังก๊าซ คลังน้ำมัน มีโรงกลั่นด้วยไหมไม่รู้ สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก็คงคืนชีพ เพราะว่านิคมอุตสาหกรรมหมื่นไร่ย่อมต้องการไฟฟ้า อย่างนิคมมาบตาพุดมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเอง 2 โรง มันก็ตอบโจทย์เลยว่าถ้ามีนิคมขึ้นก็ต้องการไฟฟ้า เพราะไฟฟ้าไม่พอแน่นอน ดังนั้นจะเอาไฟฟ้าจากไหนมาเลี้ยงนิคม ก็ต้องขึ้นโรงไฟฟ้าใหม่ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาก็ต้องคืนชีพ ด้วยเหตุผลที่ชัดเจนคือต้องเลี้ยงนิคมอุตสาหกรรมซึ่งจะสร้างงาน 6 แสนตำแหน่งตามที่เขาโม้เอาไว้ จะเปลี่ยนภาคใต้ให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมเหมือนระยอง ภาคใต้จะได้พ้นจากความยากจน

ชุดคิดเรื่องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถูกต่อต้านเยอะ แต่ชุดคิดเรื่องประเทศไทยต้องพัฒนาอุตสาหกรรม จีดีพีต้องเพิ่ม ต้องมีการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมมากๆ จึงจะหลุดพ้นจากฐานะรายได้ปานกลาง ชุดคิดแบบนี้ยังแข็งแรงอยู่ ชาวบ้านต้องเสียสละนะ แล้วเขาจะตั้งกองทุนมาเยียวยา ชุดคิดพวกนี้ยังเป็นชุดความคิดหลักที่เรายังไม่สามารถเอาชนะทางความคิดได้ แต่เรื่องถ่านหินนี่เราชนะชัดเจน

ผมคิดว่าเราต้องหันมามองว่าความฝันของเราคืออะไร ถ้าเราไม่เอาอุตสาหกรรมในภาคใต้ แล้วเราอยากให้ภาคใต้เป็นอย่างไร ตัวนี้เป็นสิ่งที่พวกเราซึ่งเป็นฝ่ายไม่เอาอุตสาหกรรมกันต้องทำให้ชัด ถ้าทำได้ไม่ชัดเราก็คงไม่ชนะ

คุณหมอเคยคิดจะเข้ามาทำงานในส่วนกลางไหม เผื่อว่าอาจจะทำอะไรได้มากขึ้น

ผมพิสูจน์แล้วว่าเข้ามาก็ทำอะไรไม่ได้ เหมือนสมัยที่ผมยึดอำนาจจุฬาฯ ด้วยการเข้าไปเป็นนายก อบจ. เราก็ได้เห็นว่า เวลาเราเข้าไปอยู่ศูนย์กลางมากๆ เราทำอะไรไม่ได้เลย โครงสร้างอำนาจมันใหญ่มาก สิ่งที่เราทำได้ตอนนี้คืออยู่ข้างนอก สร้างโมเดล สร้างการเปลี่ยนแปลงจากข้างนอก ซึ่งเชื่อว่าวิธีนี้น่าจะจริงกว่า น่าจะใช่กว่า

 

Fact Box

  • หลังเรียนจบจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ เริ่มต้นสายวิชาชีพด้วยการเป็นอำนวยการโรงพยาบาลสะบ้าย้อย อำเภอห่างไกลในจังหวัดสงขลา และย้ายไปประจำโรงพยาบาลจะนะ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในอีก 3 ปีหลังจากนั้น โดยรับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเช่นเดิมมาจนถึงปัจจุบัน
  • นายแพทย์สุภัทรเป็นนักกิจกรรมที่สนใจเรื่องราวทางสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนิสิต เขากับเพื่อนๆ ก่อตั้งกลุ่มจุฬาฟ้าใหม่ เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งทำกิจกรรมปลุกจิตสำนึกเชิงสังคมให้กับนิสิตรั้วจามจุรี แม้จะไม่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้ตามหวัง แต่เขาก็ได้พากลุ่มนิสิตในขณะนั้นไปสัมผัสกับอีกโลกหนึ่งต่างไปจากสังคมที่ชาวจุฬาฯ คุ้นชิน 
  • เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) นายแพทย์สุภัทรดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ต่อต้านรัฐประหาร ร่วมกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง กระทั่งรัฐบาล รสช.ยุติบทบาท และมุ่งกลับไปตั้งใจเรียนต่อจนจบ ก่อนจะเลือกใช้ทุนในจังหวัดบ้านเกิด
  • เลือดของความเป็นนักกิจกรรมยังไหลเวียนอยู่ในกายอย่างเข้มข้น ด้วยจังหวัดสงขลาโดยเฉพาะอำเภอจะนะและอำเภอเทพาซึ่งอยู่ติดกันนั้น คือทำเลทองของภาครัฐบาล ที่จะผลักดันให้เกิดโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน และนิคมอุตสาหกรรม ชาวบ้านในชุมชนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปฏิเสธโครงการใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีความเป็นอยู่และสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมให้ย่ำแย่ลง นายแพทย์สุภัทรจึงยังคงทำงานเคลื่อนไหวเคียงข้างประชาชน ด้วยการให้ข้อมูลความรู้ เพื่อเป็นแนวทางในการคัดค้าน รวมถึงการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางพลังงานด้วยการเปลี่ยนให้โรงพยาบาลจะนะใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกับไฟหลวง เพื่อแสดงให้เห็นว่า ภาคใต้มีทางเลือกในการสร้างแหล่งพลังงานหมุนเวียน และสามารถนำพลังงานจากแสงอาทิตย์มาเสริมการใช้ไฟจากการไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่ม

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0