โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

นพ. คณพล ภูมิรัตนประพิณ: เมื่อผู้สูงอายุคือกลุ่มเสี่ยงของ COVID-19 อะไรบ้างที่ลูกหลานต้องใส่ใจ

a day BULLETIN

อัพเดต 07 เม.ย. 2563 เวลา 05.43 น. • เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 03.26 น. • a day BULLETIN
นพ. คณพล ภูมิรัตนประพิณ: เมื่อผู้สูงอายุคือกลุ่มเสี่ยงของ COVID-19 อะไรบ้างที่ลูกหลานต้องใส่ใจ

แม้ว่าใครก็สามารถป่วยด้วยโรค COVID-19 ได้ แต่จากสถิติที่พบว่า ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีแนวโน้มอาการรุนแรงมากกว่าคนกลุ่มอื่นนั้น กำลังบอกเป็นนัยว่าพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของเราตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ลูกหลานต้องยื่นมือให้ความช่วยเหลือแทน เพราะลำพังตัวผู้สูงอายุคนเดียวก็อาจไม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างเต็มที่ 

        สำหรับใครที่ตอนนี้กำลังดูแลผู้สูงอายุอยู่ก็คงมีความกังวลอยู่ว่าควรปฏิบัติอย่างไรดี เพราะนอกจากต้องคอยระวังให้ท่านป้องกันตัวเองแล้ว การทำให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตในแต่ละวันได้อย่างมีความสุขก็เป็นเรื่องที่จำเป็น 

       a day BULLETIN สนทนากับ นพ. คณพล ภูมิรัตนประพิณ หรือ‘หมอตั้ม’ แพทย์อายุรกรรมที่จบด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric Medicine) จาก Icahn School of Medicine at Mount Sinai, USA มาโดยตรง และยังเป็นผู้ก่อตั้ง ‘Health at Home’ สตาร์ทอัพหาคนดูแลผู้สูงอายุประจำบ้าน เพื่อขอคำแนะคำการดูแลผู้สูงอายุเบื้องต้น และอะไรบ้างที่คนในครอบครัวต้องเฝ้าระวังและใส่ใจ เมื่อผู้สูงอายุตกเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงหากติดเชื้อ COVID-19 

 

นพ. คณพล ภูมิรัตนประพิณ
นพ. คณพล ภูมิรัตนประพิณ

ทำไมผู้สูงอายุถึงจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่มีอัตราการเสียชีวิตจากไวรัส COVID-19 มากที่สุด

        ต้องบอกก่อนว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรค COVID-19 หรือโรคทั่วไปก็ตาม เนื่องจากพวกเขามีต้นทุนทางร่างกายที่ไม่เท่ากับคนในวัยอื่น ทั้งระบบภูมิคุ้มกันที่เสื่อมลงไปและการฟื้นตัวที่ช้าลง ทำให้เวลาผู้สูงอายุป่วยขึ้นมามีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือแสดงอาการที่รุนแรงสูงมากกว่าคนปกติ แต่ถ้าพูดถึงตัวไวรัสที่ทำให้เป็นโรค COVID-19 เอง มันไม่ได้ส่งผลต่อผู้สูงอายุเป็นพิเศษแต่อย่างใด มันก็เหมือนไวรัสโคโรนาตัวอื่นที่มุ่งทำลายปอดและระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน แต่พอเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกายผู้สูงอายุที่มีภูมิคุ้มกันและอัตราการฟื้นตัวที่ไม่ดีพอ จึงทำให้อาการคนกลุ่มนี้มีความรุนแรงยิ่งกว่า 

        จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุเท่านั้นที่ต้องให้ความสนใจในประเด็นนี้ คนในกลุ่มเสี่ยงประเภทอื่นๆ อย่างคนท้อง คนที่เป็นโรคเกี่ยวกับปอด หรือคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่ก่อนแล้ว ก็ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้วยเหมือนกัน เพียงแค่ในช่วงเวลานี้เราจะเห็นได้ว่าผู้เสียชีวิตจากไวรัสจะเป็นผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ ทำให้คนกลุ่มนี้จึงถูกพูดถึงมากในปัจจุบัน

เมื่อเป็นเช่นนั้น ลูกหลานหรือคนรอบข้างควรดูแลผู้สูงอายุอย่างไรให้ปลอดภัยจากความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 

        ถ้าพูดในฐานะผู้ดูแลอย่างพวกเรา ก่อนอื่นต้องตระหนักให้ได้ก่อนว่า เขาเป็นกลุ่มคนที่มีความอ่อนแอมากเป็นพิเศษ เราต้องมองเขาให้เหมือนคนที่มีโอกาสติดเชื้อได้ตลอดเวลา ดังนั้น การสวมหน้ากากอนามัย หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม สำหรับการดูแลคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องรัดกุม จริงจัง และรอบคอบมากขึ้นกว่าเดิม แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นและมองว่าเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ก็คือ คนส่วนใหญ่จะระมัดระวังตัวน้อยลงเมื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับครอบครัวหรือคนรู้จัก หลายคนมักอ้างว่าไม่เป็นไรหรอก ก็อยู่ด้วยกันมาตลอด จริงๆ มันเป็นความเชื่อที่ผิดมากๆ ผมอยากให้เปลี่ยนความคิดเข้าข้างตัวเองแบบนี้โดยทันที เพราะไวรัสมันไม่เลือกความสัมพันธ์ในการแพร่เชื้อ แต่มันเลือกทุกคน

        ตอนนี้ไม่ใช่เวลาจะมาห่วงสถานภาพทางสังคมกันแล้ว มันหมดเวลามานั่งคิดว่าถ้าไม่ได้กินข้าวพร้อมหน้ากันครอบครัวจะมีปัญหา หรือถ้าไม่ได้ไปมาหาสู่กับญาติสนิทจะทำให้ความสัมพันธ์ร้าวฉาน ตอนนี้พวกเราควรจดจ่ออยู่กับการระวังตัวจากไวรัสที่เกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ให้เป็นเรื่องสำคัญลำดับแรก

ทางที่ดีเราควรแยกกันกักตัวจากครอบครัวสักระยะหนึ่งเลยไหม  

        ถ้าไม่พูดในเชิงสังคม ผมมองว่าการอยู่คนเดียวนั้นดีที่สุด ยิ่งเราอยู่ห่างจากกันมากเท่าไหร่ ทุกอย่างก็ยิ่งจบเร็วเท่านั้น แต่ผมพูดเพียงมุมทางการแพทย์เท่านั้น เพราะสุดท้ายเราก็ต้องมาชั่งน้ำหนักในฝั่งสังคมอยู่ดีว่าการกักตัวอยู่คนเดียวมันได้คุ้มเสียในส่วนอื่นๆ เช่นค่าใช้จ่ายหรือไม่ ส่วนตัวผมมองว่า คุณจะอยู่ที่ไหน มันไม่สำคัญเลย ถ้าคุณมีความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วยวิธีป้องกันตัวเองที่ดีพอ จนมั่นใจได้ว่าจะไม่ไปรับหรือแพร่เชื้อกับใครเด็ดขาด ซึ่งมองว่าถ้าเกิดทุกคนมีความคิดที่รับผิดชอบต่อสังคมแบบนี้ ทุกที่ในสังคมก็จะปลอดภัย เมื่อนั้นคุณจะอยู่ที่ไหนก็ได้แล้ว

 

นพ. คณพล ภูมิรัตนประพิณ
นพ. คณพล ภูมิรัตนประพิณ

บางครั้งผู้สูงอายุก็ตื่นตระหนกต่อสถานการณ์นี้มากจนเกินไป หรือบางท่านก็ไม่สนใจเลย เราจะให้คำแนะนำอย่างไรในกรณีนี้ 

        หากคุณเป็นผู้สูงอายุก็ต้องตระหนักให้ได้ก่อนว่า ตัวเองอยู่ในประเภทกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง จึงต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษ สิ่งไหนที่คนอื่นระมัดระวังตัวในระดับหนึ่ง เราอาจต้องระวังตัวมากขึ้นกว่าเขาอีกหลายเท่า อีกส่วนที่สำคัญคือการรับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับไวรัส ตรงนี้ผมอยากแนะนำไปยังผู้ดูแลด้วยว่า คุณต้องให้ความรู้ที่ถูกต้องและอธิบายให้เข้าใจว่าไวรัสคืออะไร มีผลต่อร่างกายอย่างไร และมีวิธีป้องกันอย่างไร เพื่อให้เขานำความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ถ้ามัวแต่คอยคุ้มครองอย่างเดียวโดยไม่อธิบายให้เข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เขาก็จะรู้สึกตื่นตระหนกเกินความจำเป็น

สำหรับศูนย์ ‘Health at Home’ ที่ต้องทำงานร่วมกับผู้สูงอายุนั้น ในสถานการณ์เช่นนี้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 บ้างไหม

        ไม่เลย เพราะปกติพวกเราทำงานร่วมกับผู้สูงอายุก็ต้องมีมาตรการสำหรับพนักงานที่รัดกุมอยู่แล้ว เพียงแต่ในช่วงเวลาแบบนี้อาจจะต้องเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น มีการซักประวัติการเดินทาง มีการประเมินความเสี่ยงที่สูงขึ้น อย่างทุกวันนี้พนักงานคนไหนที่เดินทางผ่านพื้นที่สุ่มเสี่ยงมา ผมก็จะให้เขาลาทันทีเลย ผมเชื่อว่าถ้าจะดูแลคนอื่นได้ ตัวเองต้องเตรียมพร้อมและปลอดภัยอยู่เสมอ

สำหรับผู้ที่กำลังดูแลผู้สูงอายุอยู่ เราสามารถตรวจเช็กอาการป่วยในเบื้องต้นด้วยตัวเองได้หรือเปล่า 

        การสังเกตอาการเบื้องต้นที่อยากแนะนำคือ การวัดสัญญาณชีพ เช่น การวัดความดันเลือด การวัดชีพจร หรือตรวจไข้เบื้องต้น ซึ่งทุกวันนี้อุปกรณ์ตรวจค่าพวกนี้ก็หาซื้อได้ทั่วไปแล้ว และสิ่งเล็กน้อยเหล่านี้มีประโยชน์มากในการประเมินอาการเบื้องต้น หรือถ้าอยากเพิ่มความมั่นใจยิ่งขึ้น ปัจจุบันการใช้บริการพบแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจเช่นกัน แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติจริง มีไข้ขึ้น ชีพจรต่ำ ก็จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลอยู่ดี อย่างที่บอกว่าอาการป่วยที่ดูเล็กน้อยสำหรับเรา บางทีมันก็แปลว่าสาหัสสำหรับเขา 

 

 

นพ. คณพล ภูมิรัตนประพิณ
นพ. คณพล ภูมิรัตนประพิณ

คิดว่าการระบาดของไวรัสครั้งนี้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ บ้างไหม

        ถ้าถามว่าในตอนนี้มันส่งผลต่อประชากรผู้สูงอายุบ้างไหม คำตอบคือใช่ เพราะจากสถิติในหลายเดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่าในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เช่น อิตาลี จีน ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากไวรัสส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุ ซึ่งก็ล้อไปตามสภาพสังคมในประเทศเหล่านั้น

        ผมคงตอบในเชิงโครงสร้างไม่ได้ว่าโลกจะเปลี่ยนประเภทสังคมไปเลยไหม แต่คิดว่าถ้าในอนาคตการแพร่ระบาดยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นนี้อยู่ จำนวนผู้สูงอายุจากทั่วทุกมุมโลกก็น่าจะลดลงอย่างชัดเจนได้อยู่เหมือนกัน แต่ผมยังเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้า เราจะหาทางรับมือกับมันได้ดีกว่าเดิม และจะไม่มีผลร้ายมากไปกว่าที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะสถานการณ์ครั้งนี้มันเกิดขึ้นมาแบบกะทันหันจนเราไม่ทันได้เตรียมตัวรับมือให้ดีพอ

        อีกเทคนิคหนึ่งที่ผมอยากแนะนำไว้ก็คือ การวางแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินเบื้องต้น ในตอนนี้ทุกครอบครัวต้องมีข้อปฏิบัติร่วมกันว่า ถ้าหากมีคนต้องเข้าโรงพยาบาลจะมีวิธีการดูแลและเคลื่อนย้ายอย่างไร จะไปส่งโรงพยาบาลไหน ใครเป็นคนส่ง เพื่อลดความตื่นตระหนกหากเกิดเหตุกะทันหัน และสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาได้อย่างทันท่วงที

        สิ่งสุดท้ายที่ผมอยากแนะนำสำหรับทุกคนที่กำลังเผชิญสถานการณ์อันเลวร้ายจากไวรัสอยู่คือ ทุกคนต้องจริงจังกับการระบาดครั้งนี้ คำแนะนำทั้งหมดที่บอกไปจะไม่เป็นประโยชน์เลย หากทุกคนไม่ยอมรับว่านี่เป็นเรื่องสำคัญที่กำลังพาชีวิตพวกเราเข้าสู่ขั้นวิกฤต ดังนั้น พวกเราทุกคนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจังเพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติในอนาคต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0