โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ธุรกิจประกันชีวิตปี 62 ส่อชะลอตัว พลิกเกมเน้นประกันสุขภาพ ขยายกลุ่มสูงวัย 70-80 ปี

BLT BANGKOK

อัพเดต 16 ก.ย 2562 เวลา 10.15 น. • เผยแพร่ 16 ก.ย 2562 เวลา 10.13 น.
fc95b3bc1e004e53469e654fb399e77e.jpg

- ประกันชีวิตครึ่งแรกปี 2562 หดตัวมากสุดในรอบ 10 ปี
จากการเผยถึงมุมมองต่อแนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตในปี 2562 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เบี้ยประกันชีวิตรับรวมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มีจำนวน 2.95 แสนล้านบาท หดตัวลง -6.1% นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบทศวรรษ จากปัจจัยที่กรมธรรม์เดิมครบกำหนดชำระเบี้ยจำนวนมาก และนโยบายชะลอการขายประกันรายใหม่ประเภทจ่ายเบี้ยครั้งเดียว (Single Premium: SP) ซึ่งเคยเป็นกลยุทธ์ยอดนิยมของธุรกิจประกันชีวิต โดยเฉพาะเมื่อต้องการเพิ่มยอดขายและส่วนแบ่งตลาดในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น หรือการสู้ราคากับผลิตภัณฑ์การออมอื่นๆ ที่รุนแรง  แม้กลยุทธ์ดังกล่าวมีต้นทุนที่ต้องแลก อย่างต้นทุนการสำรองที่สูงกว่ากรมธรรม์ที่ต้องจ่ายเบี้ยระยะยาว และมีมาร์จิ้นต่ำ ทำให้กลายเป็นการสะสมความเปราะบางของธุรกิจ
- กลุ่ม Bancassurance มีโอกาสฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง 
หากจำแนกธุรกิจประกันชีวิตตามช่องทางการขายออกเป็น 2 กลุ่ม จะพบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทที่เน้นขายผ่านตัวแทนเป็นหลัก มีเบี้ยรวมที่ขยายตัวเป็นบวกที่เฉลี่ย 8.6% ต่อปี ขณะที่ กลุ่มที่พึ่งช่องทางการขายผ่านธนาคาร (Bancassurance) ซึ่งได้แก่บริษัทประกันในเครือธนาคาร มีเบี้ยรับรวมหดตัวลงค่อนข้างแรงเฉลี่ยที่ -16.5% ต่อปี ตามการชะลอลงของเบี้ยรับรวม ทั้งในองค์ประกอบของเบี้ยต่ออายุ และเบี้ยใหม่ที่ถูกกระทบจากการลดการขายผลิตภัณฑ์เบี้ยจ่ายครั้งเดียว อย่างไรก็ตาม มองไปในช่วงที่เหลือของปี คาดว่าเบี้ยรับรวมจากการขายหลักผ่านช่องทางธนาคาร มีโอกาสกลับมาขยายตัวเป็นบวก ทำให้ทั้งปี 2562 เบี้ยรับรวมผ่านช่องทางดังกล่าวจะหดตัวน้อยลงที่ -10.0 % (เทียบกับครึ่งปีแรกที่หดตัว -15.9%) จากปัจจัยเบี้ยครบกำหนดก้อนใหญ่เริ่มเบาบางลง 
- ช่องทางออนไลน์ช่วยได้ไม่มากนัก 
สำหรับการเพิ่มบทบาทของช่องทางขายใหม่ๆ อย่างการใช้เทคโนโลยีมาช่วย โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ อาจยังมีผลต่อธุรกิจประกันไม่มากนัก เห็นได้จากสัดส่วนเบี้ยรับรวมจากช่องทางการขายอื่นที่รวมออนไลน์ อยู่ในระดับต่ำกว่า 2% เนื่องจากความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์ รายละเอียดที่มีมากและเข้าใจยาก ทั้งในมิติของทุนประกัน ความคุ้มครอง และเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายจริงในแต่ละปี อีกทั้งเทียบเคียงระหว่างบริษัทได้ยาก ซึ่งยังต้องอาศัยตัวแทนในการแจกแจงให้ข้อมูล

 ทำให้การพัฒนาช่องทางออนไลน์ของธุรกิจประกันชีวิตจึงยังเป็นได้เพียงช่องทางให้ข้อมูลมากกว่าที่จะสามารถปิดการขายได้ (Complete Sales) ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทประกันชีวิตที่เสนอขายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งกระบวนการเพียงไม่กี่รายและยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น  
- เบนเข็มเน้นประกันสุขภาพ กลุ่มสูงวัย และเพิ่มความคุ้มครอง
 ท่ามกลางโอกาสการเติบโตที่จำกัดของผลิตภัณฑ์ประกันสัญญาหลัก จึงมีการเปลี่ยนจุดขายไปที่ตลาดประกันสุขภาพ ซึ่งคาดว่าจะมีการเติบโตเร่งขึ้นมา 15-20% จากปีก่อน ซึ่งบริษัทประกันชีวิตส่วนใหญ่กำหนดเงื่อนไขการขายสัญญาประกันสุขภาพพ่วงไปกับการซื้อกรมธรรม์หลักใหม่ ทำให้หันมาปรับปรุงเงื่อนไขความคุ้มครองและราคาที่สมเหตุผลเพื่อใช้เป็นจุดขาย โดยกลุ่มเป้าหมายยังคงเป็นผู้ที่มีฐานรายได้ระดับกลางและบน  
รวมถึงการขยายช่วงอายุที่ซื้อความคุ้มครองได้ จากเดิมที่จำกัดอยู่ที่อายุไม่เกิน 60 ปี เป็น 70-80 ปี ก็สอดคล้องกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทย ตอบโจทย์ค่ารักษาในโรงพยาบาลที่ปรับตัวสูงขึ้น แนวโน้มคนอายุยืนขึ้นแต่มีโรคประจำตัวมาก การที่สวัสดิการและการซื้อประกันเดิมเริ่มไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่าย ขณะที่การใช้บริการในโรงพยาบาลของรัฐทวีความแออัด
นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มความหลากหลายของรูปแบบความคุ้มครอง เพื่อให้เบี้ยประกันอยู่ในระดับที่เหมาะสมตามกำลังซื้อของลูกค้าแต่ละกลุ่ม เช่น สัญญาประกันสุขภาพสำหรับกลุ่มที่มีสวัสดิการอื่นรองรับ  และสัญญาประกันสุขภาพในลักษณะเหมาจ่ายต่อการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลแต่ละครั้ง ที่เพิ่มความยืดหยุ่นในการเบิกค่ารักษาพยาบาลได้อย่างครอบคลุมขึ้น เป็นต้น
- ชี้แนวโน้มครึ่งปีหลังดีขึ้น ดันภาพรวมปี 2562 หดตัว -2%
มองไปข้างหน้าในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ แนวโน้มธุรกิจประกันชีวิตมีโอกาสปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง แต่คงไม่เพียงพอที่จะฉุดเบี้ยรับรวมทั้งปี 2562 ให้กลับมาอยู่ในแดนบวก คาดว่าภาพรวมเบี้ยประกันรับรวมทั้งปี น่าจะหดตัวลงเล็กน้อยที่ -2.0% (โดยมีกรอบคาดการณ์ที่ 0 ถึง -3.0%) เทียบกับที่หดตัวลง -6.1% ต่อปีในช่วงครึ่งแรก ท่ามกลางสถานการณ์ของธุรกิจประกันชีวิตที่กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านในหลายเรื่อง อย่าง การบังคับใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ (อาทิ TFRS17) ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เทคโนโลยี รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
คาดว่าเมื่อปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจทยอยปรับตัวดีขึ้น ผู้บริโภคตระหนักรู้ถึงความจำเป็นในการบริหารและคุ้มครองความเสี่ยงในชีวิต ควบคู่กับการที่บริษัทประกันออกแบบผลิตภัณฑ์ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายได้อย่างตรงจุด ก็คงทยอยส่งผลดีต่ออัตราการเติบโตของธุรกิจในระยะกลางถึงยาว

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0