โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ธีรพล บัวกระโทก / ว่าด้วยชุด "ช่อ" : เสื้อผ้า ส.ส. กับ "ร่างกายใต้บงการ"

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 17 ก.ค. 2562 เวลา 03.41 น. • เผยแพร่ 17 ก.ค. 2562 เวลา 03.39 น.
ชุดช่อ 2030

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ณ หอประชุมสภาชั่วคราว อาคารทีโอที เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นการอภิปรายในญัตติเรื่องการแก้ปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ

ซึ่งผลของการประชุมเป็นเช่นใดแทบไม่มีผู้กล่าวถึงมากนัก

แต่สิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจกันมากกลับเป็นเรื่องเครื่องแต่งกายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หลายท่านที่สะดุดตาเป็นพิเศษ

และที่เป็นที่จับตามองมากกว่าใครคงหนีไม่พ้นเครื่องแต่งกายของ น.ส.พรรณิการ์ วานิช หรือ “ช่อ” ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ที่ในครั้งนี้มาพร้อมกับชุดไทยถิ่นเหนือ โดยสวมใส่เสื้อลูกไม้สีขาวและผ้าซิ่นตีนจกจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงราย ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชุดของตัวละครในเรื่อง “กลิ่นกาสะลอง”

ซึ่งนอกจากคุณช่อแล้ว ก็ยังมี ส.ส.หลายคนที่แต่งกายด้วยชุดไทยถิ่นเหนือด้วย อย่างเช่น น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.จังหวัดเชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่ และนางสิรินทร รามสูต ส.ส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย

ซึ่งกระแสที่ตามมาเรียกได้ว่ามีทั้งดอกไม้และก้อนหิน

ทั้งฝ่ายที่ชื่นชมว่าเป็นการอนุรักษ์การใส่ผ้าไทย สอดคล้องกับความพยายามของรัฐไทยก่อนหน้านี้ที่สนับสนุนให้คนไทยหันมาสวมใส่ผ้าไทยมากขึ้น

ขณะเดียวกันอีกฝ่ายก็วิพากษ์วิจารณ์ว่าการแต่งกายดังกล่าวผิดกาลเทศะ เนื่องจากที่ประชุมสภาเป็นสถานที่สาธารณะที่ควรมีกฎระเบียบข้อบังคับ การแต่งกายแบบสากลนิยมจึงจะถูกต้องเหมาะสม

 

โดยเฉพาะคุณช่อที่ไม่ได้มีภูมิลำเนาทางภาคเหนือของไทย จะมาสวมใส่เครื่องแต่งกายท้องถิ่นยิ่งเป็นสิ่งมิอาจรับได้

บางรายถึงขั้นวิจารณ์ไปไกลกว่าเรื่องกาลเทศะของเครื่องแต่งกาย กลายเป็นการวิจารณ์รูปร่างหน้าตาและงานอดิเรก อย่างเช่น “บ้าละคร”

ส่วนบางคนก็เรียกร้องให้ประธานสภาบังคับใช้ข้อบังคับการประชุม เพื่อห้ามไม่ให้ ส.ส.แต่งกายในลักษณะดังกล่าวโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม การประชุมสภาที่ผ่านมานี้เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ดังนั้น จึงยังไม่มีการกำหนดข้อบังคับการประชุมที่จะมีการกำหนดข้อบังคับเรื่องการแต่งกายของ ส.ส. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการยกร่างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้

แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญยกร่างข้อบังคับการประชุม (กมธ.) ได้เปิดเผยว่า ข้อบังคับการประชุมที่กำลังจะบังคับใช้นั้น จะมีการกำหนดให้ ส.ส.สามารถ “แต่งเครื่องแบบสมาชิกรัฐสภา ชุดสากลนิยม และชุดพระราชทาน” ได้เท่านั้น

นอกเหนือไปจากนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของประธานสภาผู้แทนราษฎร

 

ทั้งหมดนี้จึงทำให้เกิดคำถามใหญ่ 2 ประการ

ประการแรก รัฐไทยพยายามส่งเสริมและยัดเยียดการแต่งกายด้วยชุดไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับนักเรียนในโรงเรียนไปจนถึงเจ้าหน้าที่ตามสถานที่ราชการ และภาพที่เราเห็นจนชินตาคือ บรรดาข้าราชการการเมืองระดับสูง รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเองก็สวมใส่ชุดไทยในการประชุมหรือการปฏิบัติราชการกันเป็นเรื่องปกติ แล้วเหตุใดการสวมใส่ชุดไทยของคุณช่อจึงเป็นเรื่องผิดปกติ?

ประการที่สอง เหตุใดสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสถานที่แห่งการถกเถียงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันหลายหลากของตัวแทนประชาชนจากทุกหัวระแหงของประเทศไทยอันไพศาล กลับจำกัดการแต่งกายของ ส.ส. ให้เหลือเพียงแค่สามรูปแบบตามที่ข้อบังคับการประชุมระบุเท่านั้น?

ยิ่งไปกว่านั้น ฝ่ายที่สนับสนุนเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยบางคนยังแสดงความเห็นด้วยที่จะจำกัดเสรีภาพด้านการแต่งกาย เพียงเพราะที่ประชุมสภาเป็นสถานที่สาธารณะและควรเป็นสากล

 

หากทดลองใช้วิธีคิดของ “มิเชล ฟูโกต์” (Michel Foucault) นักคิดชาวฝรั่งเศสในงานเรื่อง “ร่างกายใต้บงการ” (Les corps dociles) เพื่อตอบคำถามทั้งสองข้อนี้จะพบว่า สาเหตุหลักที่การสวมใส่ชุดไทยของคุณช่อถูกโจมตี เนื่องจาก “ชุดไทยที่คุณช่อใส่” ไม่ใช่ “ชุดไทยของรัฐไทย”

ชุดไทยของรัฐไทยที่ว่านี้คือเครื่องแต่งกายที่ถูกออกแบบโดยรัฐเพื่อสวมทับร่างกายของพลเมือง โดยไม่อาจต่อต้าน โต้แย้ง หรือดัดแปลงเครื่องแต่งกายนั้นเป็นแบบอื่นนอกเหนือไปจากที่รัฐไทยกำหนดได้

กล่าวให้เห็นภาพคือ เด็กนักเรียนหัวเกรียนที่ถูกบังคับให้ใส่เสื้อผ้าไหมปลอมหลากสีและโจงกระเบนสำเร็จรูปหนึ่งวันต่อสัปดาห์

หรือภาพของข้าราชการการเมืองระดับสูงสวมเสื้อผ้าไทยหลายสีสันตัดเย็บอย่างประณีต แต่ทว่ารูปทรงเดียวกันไม่มีแตกแถว

ตามวิธีคิดเรื่อง “กลศาสตร์แห่งอำนาจ” (Une m?canique du pouvoir) ของฟูโกต์ ซึ่งเน้นไปที่เรื่อง “ระเบียบวินัย” ที่ถูกนำมาใช้ในการจัดการกับเนื้อหนังร่างกายของพลเมืองในลักษณะที่เป็น “กายวิภาคทางการเมือง” (Une anatomie politique) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ นั่นคือการสยบยอมทางการเมือง

เครื่องแบบ เครื่องแต่งกาย จึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของระเบียบวินัยที่ถูกนำเข้ามาใช้เพื่อจัดการเสื้อผ้าหน้าผมของพลเมือง

เป็นการควบคุมเนื้อตัวร่างกายของผู้คนให้ “ว่านอนสอนง่าย” ผ่านการบังคับสวมใส่เครื่องแบบ

ชุดไทยจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีเป้าหมายให้พลเมืองสยบยอมต่ออำนาจของรัฐไทยภายใต้ความเป็นไทย

 

ดังนั้น คำตอบของคำถามแรกคือ ชุดไทยที่คุณช่อรวมถึง ส.ส.อีกหลายคนสวมใส่ไม่ได้ทำหน้าที่สอดรับกับเป้าหมายของรัฐไทย จึงกลายเป็นชุดไทยที่ “นอกคอก” และไร้กาลเทศะ ไม่เป็นไปเพื่อการควบคุมผู้ใส่ให้อยู่ในระเบียบแบบแผนและมีสำนึกของความเป็นไทย เป็นการแสดงออกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ตรงข้ามกับชุดไทยของรัฐไทยที่ส่งเสริมความรักความสามัคคีของคนในชาติ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันภายใต้ความเป็นไทยอันดีงาม

แม้ว่าจะมีการมองว่าการแต่งกายของคุณช่อไม่ได้ต้องการแสดงออกซึ่งความเป็นไทยหรือความเป็นท้องถิ่นตั้งแต่แรก

แต่เป็นเพียงการแต่งกายตามกระแสแฟชั่นที่จะทำให้เธอเป็นที่จับตามองเท่านั้น

ดังนั้น แทนที่ทุกคนจะเอาเวลาไปจดจ่ออยู่ที่การอภิปรายของสภาในการที่จะแก้ไขปัญหาชาติบ้านเมือง กลับต้องมาพะวงกับเรื่องเครื่องแต่งกาย

แต่ไม่ว่าปัญหาจะอยู่ที่เครื่องแต่งกายหรือตัวคุณช่อเอง การแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการกำหนดระเบียบแบบแผนที่ตายตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ ส.ส.แต่งกายแฟชั่นเข้าสภานั้น ไม่ได้แตกต่างจากการบังคับใส่เครื่องแบบชุดนักเรียน

ที่อ้างว่าเครื่องแบบจะช่วยให้นักเรียนไม่เสียสมาธิในการเรียนไปวุ่นวายกับการแต่งกายแฟชั่นอวดกัน

มุมมองที่ว่าเสื้อผ้าหน้าผมมีอิทธิพลต่อการจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่าง เป็นการตอกย้ำสถานะของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายในฐานะกลศาสตร์แห่งอำนาจ ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรม

ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของผู้สวมใส่ในส่วนลึกที่สุดของจิตใจมนุษย์ หรือที่ฟูโกต์ใช้คำว่า “จุลฟิสิกส์แห่งอำนาจ” (Une nouvelle microphysique du pouvoir)

ซึ่งเป็นการควบคุมความคิดของผู้คน ผ่านการจัดการเนื้อตัวร่างกายด้วยระเบียบวินัยต่างๆ ยิบย่อย โดยที่ผู้ถูกควบคุมไม่ทันตระหนักว่าตนเองตกอยู่ภายใต้การควบคุมอำนาจบางอย่าง

 

ด้วยเหตุนี้คำตอบของคำถามที่สองอาจกล่าวได้ว่า ที่ประชุมสภาที่มีการออกกฎระเบียบควบคุมเครื่องแต่งกาย ส.ส.นั้น แม้จะอ้างเพื่อความสาธารณะและความเป็นสากล

แต่กลับเป็นความพยายามที่จะสลายความแตกต่างหลากหลาย ขณะเดียวกันก็สลายความเป็นกลุ่มก้อน ผ่านการสวมใส่เครื่องแต่งกายได้เพียงสามแบบเท่านั้น

เพื่อให้ ส.ส.กลายเป็นปัจเจกบุคคลที่ง่ายต่อการควบคุม

ขณะที่การแต่งกายในรูปแบบอื่นต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจและได้รับการอนุญาตจากประธานสภา จึงเป็นการยินยอมต่ออำนาจที่จะพรากเสรีภาพในการแต่งกายไปจาก “ผู้แทนของราษฎร”

ทั้งที่ ส.ส.ควรจะสามารถแต่งกายได้หลากหลาย เพื่อสะท้อนอัตลักษณ์ทั้งส่วนบุคคลและอัตลักษณ์ของประชาชนที่เลือกตนเข้ามา

 

ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าข้อบังคับการประชุมที่จะออกมาในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้จะเป็นเช่นใด แต่ตราบใดที่ผู้คนยังไม่ตระหนักถึงอำนาจที่แฝงเร้นมาภายใต้กระบวนการบังคับผ่านเครื่องแต่งกายดังกล่าว

สังคมไทยก็ยังไม่อาจหลุดพ้นไปจากภาวะสังคมจำยอม โดยที่การควบคุม บังคับ ยัดเยียดจะยิ่งเพิ่มขึ้นและแพร่กระจายไปในทุกองคาพยพของสังคมโดยที่เราท่านไม่ทันได้รู้ตัว

จนหลงเชื่อไปว่าการไร้เสรีภาพนั้นเป็นเรื่องปกติอย่างที่ควรจะเป็น

—————————————————————————————————————–
อ้างอิง
มิแช็ล ฟูโกต์. ร่างกายใต้บงการ. The chapter “les corps dociles” from Surveiller et punir. แปลโดย ทองกร โภคธรรม. กรุงเทพฯ : คบไฟ, 2558.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0