โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ธรรมlife EP.71 | #ทำไมบางคนโทษแต่คนอื่น ไม่เคยมองว่าตัวเองผิด

สวนโมกข์

เผยแพร่ 03 มิ.ย. 2563 เวลา 03.46 น.

ธรรมlife โดยอ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์

คำถาม #ทำไมบางคนโทษแต่คนอื่น ไม่เคยมองว่าตัวเองผิด

ตอบโดย พระมหานพชัย กิตฺติวรเมธี วัดดุสิดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

คุณเคยรู้จักคนแบบนี้มั้ยคะ คนที่คิดว่าตัวเองไม่เคยทำอะไรผิด หรือต่อให้รู้ว่าทำผิด เขาก็จะไม่เข้าใจว่าเขาผิดตรงไหน และส่วนใหญ่คนแบบนี้จะโทษว่าเป็นเพราะคนอื่น อ้อมเชื่อว่าเราต่างต้องเคยเผชิญคนแบบนี้สักครั้งในชีวิต แต่คิดว่าคุณผู้ชมที่ส่งคำถามนี้เข้ามาคงเจอบ่อยๆ จนรู้สึกว่าไม่ไหวจะเคลียร์ เลยมีคำถามว่า จะต้องทำอย่างไรกับเพื่อนที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองผิดเลย เอาโทษแต่คนอื่นหรือมีวิธีแก้ไขสิ่งเหล่านี้ไหม วันนี้พระอาจารย์ท่านแนะนำไว้แบบนี้ค่ะ

มนุษย์เวลามีความทุกข์ ความทุกข์นั้นเปรียบเสมือนมีดที่กรีดลงบนหัวใจ ทันทีที่มีดกรีดลงบนหัวใจ ตัวเองก็จะซึมซับความทุกข์เหล่านั้นลงไปในจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อไรก็ตามที่เจอเรื่องราวเจ็บปวดแบบเดิม ๆ มนุษย์ก็จะเริ่มป้องกัน และต้องการหลีกหนีจากความทุกข์เหล่านั้นไป แล้วการที่จะหนีจากความทุกข์ วิธีการหนึ่งคือ การย้ายความรู้สึก คือการเอาความรู้สึกทุกข์ของตัวเอง หรือโทษที่ตัวเองทำผิดไปใส่บุคคลอื่น และทุกครั้งที่เขาทำอย่างนี้ เขาจะรู้สึกดีขึ้น นี่คือการป้องกันจิตใจของตนเอง แต่เป็นการป้องกันแบบสามัญของคนที่ยังขาดธรรมะอุ้มชู

ถ้าเรามีธรรมะอุ้มชู เราจะรู้เลยว่าวิธีแก้ไขปัญหาไม่ใช่โยนความผิด โยนทุกข์ให้คนอื่น แต่ต้องเป็นการมองเห็นความผิดของตัวเอง ทันทีที่เห็น เกิดสติ ความผิดเหล่านั้นก็จะมีทางตกตะกอนไปได้ในที่สุด สติสัมปชัญญะ คือเครื่องมือสำหรับปัญหานี้

สติ คือความรู้สึก ความระลึกได้ ความระลึกได้ว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ความระลึกได้เกิดขึ้น ก่อนคิด ก่อนพูด ก่อนทำ

และธรรมะที่ควบคู่กันคือ สัมปชัญญะ สัมปชัญญะ คือความรู้สึกตัวเกิดขึ้นในขณะคิด ขณะพูด ขณะทำ ทันทีที่เราเห็นตัวเอง ณ ปัจจุบันขณะจะช่วยให้เราหยุดการกระทำที่จะทำร้าย หรือให้ร้ายผู้อื่น แล้วเห็นจุดบกพร่องของตัวเอง พร้อมพัฒนามากยิ่งขึ้น

ถ้าคนในสังคมใช้ชีวิตโดยเห็นโทษของคนอื่นมากเกินไป ก็จะทำให้ชีวิตมีความทุกข์ เมื่อความทุกข์แผ่ขยายออกเป็นวงกว้าง สังคมก็จะไม่มีสิ่งที่เรียกว่ามิตรไมตรี หรือมิตรภาพ สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยความเข้าใจที่มีต่อกันและกัน นอกจากนี้ การที่เราจะมองเห็นว่า ตัวเรามีความผิดมากน้อยเพียงไร เราต้องมีธรรมะอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า กรุณา

กรุณา คือความสงสาร ปรารถนาให้สัตว์ทั้งหลายนั้นพ้นจากความทุกข์ เมื่อเราเห็นอย่างนี้แล้ว เราก็จะเข้าใจว่า

ตัวเราเองรักความสุข เกลียดความทุกข์ฉันใด สัตว์โลกทั้งหลายก็รักความสุข เกลียดความทุกข์ฉันนั้น ความทุกข์เป็นสิ่งที่เสมอกันของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้นเราไม่พึงเบียดเบียนใคร ไม่ประทุษร้ายใคร ทั้งด้วยกาย วาจา ใจ เขาเรียกว่ากรุณาธรรม

การมีกรุณาต่อกันนี้เองจะเป็นกลไกสำคัญ ที่จะนำไปสู่ปลายทางที่เรียกว่า “มิตรภาพ” อย่างสมบูรณ์

ถ้าคุณรู้สึกว่ากำลังต้องเผชิญกับความยากลำบาก ระบายความหนัก ความเหนื่อย หรือความเครียด ความทุกข์ของคุณมาให้พวกเราได้ที่ www.bia.or.th/dhamlife ติดตามข้อธรรมดีๆ ได้ที่เพจ fb : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ Line: @Suanmokkh_Bangkok

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0