โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ธรรมlife EP.55 #ต้องทำงานอยู่กับบ้านช่วง COVID-19 ต้องคิดอย่างไร

สวนโมกข์

เผยแพร่ 07 เม.ย. 2563 เวลา 21.20 น.

ธรรมlife โดยอ้อม สุนิสา สุขบุญสังข์

คำถาม #ต้องทำงานอยู่กับบ้านช่วง COVID-19 ต้องคิดอย่างไร

ตอบโดย พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ

WFH หรือคำว่า Work from home ดูจะเป็นคำคุ้นหูในช่วงนี้ สำหรับบางคนอาจจะรู้สึกว่า โอ้โห ดีจังเลย ทำงานจากบ้าน แต่ในขณะที่บางคนอาจยังปรับตัวไม่ค่อยได้ เพราะว่าทั้งชีวิตทำงานติดกับโต๊ะ ติดกับเพื่อน ติดกับออฟฟิศมาตลอด

วันนี้ก็เลยมีคำถามจากคุณผู้ชมมาแบบนี้ค่ะว่า ช่วงวิกฤต Covid-19 เราจะใช้ประโยชน์จากการทำงานออนไลน์ การประชุมระยะไกล และการเรียนการสอนออนไลน์ (ที่ยังไม่ค่อยคุ้นเคย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างไร

อาตมาขอตอบกว้าง ๆ เป็น 2 ประเด็น

ประเด็นแรกคือ การเข้าใจว่าไม่ว่าสถานการณ์ใด ๆ เราสามารถเลือกมองในสิ่งที่ดีที่สุด และใช้ประโยชน์จากสถานการณ์นั้นได้เสมอ ในกรณีนี้เป็นโอกาสที่โยมจะลองใช้ Zoom ใช้ Skype หรือใช้ platform ไหนก็ตาม นับเป็นโอกาสที่เมืองไทยทำท่าจะเป็น Education 4.0 มานานแล้วจะได้ขยับไปอีกขั้น

ณ ตอนนี้ อาตมาเห็นครูบาอาจารย์หลายท่านก็ได้ลองใช้ แม้แต่ Microsoft team ก็ได้ลองใช้กันเต็มที่ ได้ใช้ application จริง ๆ ถือว่าเป็นการทดสอบแนวคิดเรื่อง Massive Open Online Course (หลักสูตรการเรียนแบบออนไลน์) หรือเรื่องอื่น ๆ ว่าช่วยส่งเสริมการศึกษา 4.0 ได้อย่างไร

อีกประเด็นคือ เรื่องการใช้การประชุมทางไกล (Teleconference) ซึ่งแม้แต่การพูดปาฐกถาในที่ชุมชนก็ใช้ได้ เรื่องนี้อาตมาอยากชวนมองว่า การที่คน ๆ หนึ่งมาแสดงความเห็นบนเวทีจริง ๆ และเรามีโอกาสได้ใกล้ชิดเขา แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ดีแต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็จะชวนคิดว่าจริงๆ แล้วเราได้ประโยชน์อะไรมากกว่าการไปขอถ่ายภาพกับเขาหรือเปล่า เพราะคุณค่าของคนนั้นน่าจะอยู่ที่ความคิด การสื่อสารและมุมมองประสบการณ์ของเขา เราสามารถรับรู้หรือเรียนรู้ได้ แม้จะไม่ได้ไปดูตัวจริงหรือแม้แต่ดูวีดิทัศน์ของเขา เราก็ยังสามารถอ่านหนังสือของเขาได้

แต่คนไทยหรือบางคนในโลกมักจะมีความชื่นชมในแง่ที่ว่า เรารู้จักคนนี้ เราได้ถ่ายรูปกับคนนี้ แทนที่จะได้เนื้อหาสาระ ถามว่าเขาพูดอะไร ไม่รู้ รู้แต่ว่าถ่ายรูปกับเขาแล้ว โอเคโพสต์ได้ ได้กดถูกใจมากด้วย ถ้าสมมติว่าไปแบบนี้เท่ากับว่ากำลังทำให้วัฒนธรรมไทยเป็นวัฒนธรรมที่ฉาบฉวย

ประเด็นตรงนี้คือ บางครั้งเราก็ติดกับรูปแบบมากกว่าสาระข้างใน อยากจะชวนท่านใดที่สนใจเรื่องนี้ ลองไปอ่านหนังสือของหลวงพ่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เช่น วินัยเรื่องใหญ่กว่าที่คิด หรือ พิธีกรรมใครว่าไม่สำคัญ

ในชีวิตจริงนั้น มีหลายอย่างที่ความสำคัญอยู่ที่สาระข้างใน โยมอย่าไปติดที่เปลือกมากนัก แต่ในขณะเดียวกัน บางกรณีถ้าไม่มีเปลือกที่ห่อหุ้มไว้ สาระข้างในก็อยู่ยาก ขอให้เข้าใจประเด็นนี้ หน้าที่ของเราคือเลือกเอาสาระ และพยายามปอกเปลือกรูปแบบ ให้คนเข้าใจว่าสาระคืออะไร เหมือน ณ วันนี้ เวลาออนไลน์ก็อย่าไปติดในรูปแบบของออนไลน์ที่ใช้แก้ปัญหาCovid-19

ขอให้เห็นว่า ณ วันนี้ เทคโนโลยีสามารถเอื้อประโยชน์ให้เราได้เกิดการเรียนรู้หลายๆ คนพร้อมกันได้ คนหนึ่งคน สามารถพูดให้คนเป็นพันเป็นหมื่นคนฟังตอนไหนก็ได้ตามใจชอบ จะ Live ก็ได้ จะบรรจุออนไลน์ Upขึ้นให้คนไปเรียนก็ได้

อีกด้านหนึ่งก็เป็นช่องทางของการสร้างรายได้ โยมสามารถทำหลักสูตรออนไลน์ที่นำความรู้บางอย่างที่มีไปเป็นประโยชน์กับผู้อื่นก็ได้ ลองพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สิ่งสำคัญคืออย่าไปยึดติดที่รายได้หรือตัวเงินก็แล้วกัน ขอให้มองว่า การที่เรามีวิชาความรู้แล้วจะทำอย่างไรให้สำเร็จเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตัวเราเองและผู้อื่น

ถ้าทำอย่างนี้ได้ ก็จะเป็น Social Distance (ระยะห่างทางสังคม) ที่ทำให้ระยะห่างทางปัญญาของผู้คนเข้าใกล้กันมากขึ้นกว่าเดิม

อ้อมขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนนะคะ และถ้าหากตอนนี้คุณรู้สึกว่ากำลังต้องเผชิญกับความยากลำบาก ความเหนื่อย หรือความเครียด คุณสามารถแบ่งเบาความทุกข์ของคุณมาให้พวกเราได้ค่ะ แล้วพวกเราจะผ่านมันไปด้วยกันไม่ว่าจะยากลำบากขนาดไหนนะคะ ส่งความหนัก ความทุกข์ สิ่งสงสัยมาให้พวกเราได้ที่ www.bia.or.th/dhamlife

ติดตามข้อธรรมดีๆ ได้ที่เพจ fb : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ หรือ Line: @Suanmokkh_Bangkok

ฟังธรรมบรรยาย เรื่องของการบวช และการมีความสุขในชีวิต เพิ่มเติมได้ ที่นี่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0