โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"คาเฟ่ทุ่งนา" กระหึ่มภูธร ชม-ชิว-แชะ ดันยอดรายเดือนทะลุหลักแสน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 16 ธ.ค. 2562 เวลา 06.06 น. • เผยแพร่ 05 ธ.ค. 2561 เวลา 05.01 น.
คาเฟ่กลางทุ่งนา

“คาเฟ่ทุ่งนา” ร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศทุ่งนาเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่เป็นกระแสมาแรงของปีนี้ เรียกได้ว่าผุดขึ้นทุกทิศทั่วไทยโดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยว ในแต่ละร้านจะชูเมนูอาหารและเครื่องดื่มต่างกันไปตามสไตล์ ยกเว้นนาข้าว เอกลักษณ์ดึงดูดลูกค้าที่เริ่มเห็นกันจนชินตา“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมตัวอย่างจาก 4 ภูมิภาคหลัก มาฉายภาพรวมให้เห็นทิศทางของธุรกิจและการปรับตัวของผู้ประกอบการ ซึ่งต้องรับมือกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

คาเฟวิวทุ่งนา “กาญจนบุรี” ขึ้นพรึ่บ 7 ร้าน

“รุ่งฤทธิ์ อิ่มแย้ม” เจ้าของร้านกาแฟ “มีนา คาเฟ่” (Meena Cafe”) อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ได้เริ่มสร้างร้านกาแฟมีนา คาเฟ่ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2560 จนถึงปัจจุบัน โดยได้แรงบันดาลใจมาจากจังหวัดในภาคเหนือ ก่อนมาเป็นผู้บุกเบิกซื้อที่ดิน 3 ไร่ 2 งาน อยู่ริมทุ่งนา หลังวัดถ้ำเสือ ทำร้านกาแฟเป็นของตัวเอง ตั้งแต่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ในพื้นที่ กระทั่งเปิดร้านจนได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจังหวัดใกล้เคียงมาเที่ยวในจังหวัดกาญจนบุรี และแวะมาไหว้พระขอพรวัดถ้ำเสือ

“หลังจากร้านของเรามีกระแสนิยมดี ภายในระยะเวลา 1 ปีที่เปิดทำการ เริ่มมีร้านกาแฟอื่นในละแวกเดียวกันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 7 ร้าน โดยมีรูปแบบโครงสร้างของร้านเหมือนกัน ไม่มีความโดดเด่นที่แตกต่าง แม้เราจะทำใจแล้วว่าต้องมีคนทำเหมือนเราในพื้นที่เดียวกัน ซึ่งเป็นข้อเสียอย่างหนึ่ง หากอะไรที่เยอะเกินไป นักท่องเที่ยวอาจจะเกิดความน่าเบื่อได้ เพราะร้านกาแฟบนทุ่งนาไม่ได้ ว้าว… สำหรับทุกคน บางคนชอบ บางคนไม่ชอบ ฉะนั้น ร้านมีนา คาเฟ่ ยอดขายจึงไม่สูงมากนัก เฉลี่ยเพียง 100-200 แก้วต่อวัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่แก้วละ 40-55 บาท”

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของมีนา คาเฟ่ ยังคงเป็นภาพจำของลูกค้าในฐานะร้านกาแฟที่บุกเบิกในพื้นที่ ซึ่งต้องพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา แม้จะมีเมนูยอดนิยมอย่างชาเขียว และแบล็กที พีช โซดา ต้องแข่งกับตัวเองต่อไป ซึ่งการทำนาต้องดูน้ำจากในคลองชลประทานด้วยว่าสามารถทำได้ 1 หรือ 2 รอบต่อปี

หากไม่สามารถทำได้ 2 รอบ ต้องใช้พืชอื่นมาปลูกทดแทน เช่น ดอกคอสมอส ต้นปอเทือง หรือดอกดาวเรืองที่สามารถเก็บขายได้

คาเฟ่กลางทุ่งนา
คาเฟ่กลางทุ่งนา

คาเฟ่ทุ่งนา เชียงใหม่ รายได้พุ่ง 2 แสน/ด.

สำหรับ“วิโรจน์ เย็นสวัสดิ์” เจ้าของโครงการ “ออนไอที วัลเลย์” (Oon IT Valley) และร้าน “ทุ่งนากาแฟ” จังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า “ทุ่งนา” และ “กาแฟ” เป็นสองสิ่งที่อยู่คู่กันภายในโครงการออนไอที วัลเลย์ (Oon IT Valley) ของการลงทุนขนาดใหญ่บนถนนสันกำแพงสายใหม่-แม่ออน ตำบลออนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ในบรรยากาศภูเขาล้อมรอบ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศึกษาเรียนรู้ด้านไอที มุ่งพัฒนาขีดความสามารถทางไอทีให้กับ

สตาร์ตอัพ SMEs startup และ tech startup รวมถึงการเป็นโคเวิร์กกิ้งสเปซ (coworking space) การท่องเที่ยววิถีธรรมชาติ-เกษตรอินทรีย์-วิถีล้านนา รวมถึงร้านกาแฟ “ทุ่งนากาแฟ” ที่เป็นส่วนเติมเต็มในการรองรับลูกค้าและนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวชมโครงการ

“การทำร้านกาแฟในบรรยากาศทุ่งนา ไม่ได้ทำตามเทรนด์ เพราะมีแปลงนาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ราว 7 ไร่อยู่แล้ว ตั้งแต่เริ่มทำโครงการเมื่อปี 2558 และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 500-600 กิโลกรัมต่อไร่ สามารถนำออกจำหน่ายและใช้สำหรับร้านอาหารภายในโครงการ ทว่าโลเกชั่นของการวางผังร้านกาแฟอยู่ติดกับทุ่งนา จึงเป็นที่มาของชื่อร้าน

และเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของโครงการ ที่นักท่องเที่ยวจะแวะมาจิบกาแฟ และถ่ายรูป-เช็กอิน สัมผัสทุกซีซั่นของท้องทุ่ง และในช่วงเกือบ 2 ปีที่เปิดให้บริการ มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รายได้โดยเฉลี่ยต่อวัน 2,000-4,000 บาท วันเสาร์-อาทิตย์สูงถึง 10,000 บาท เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 2 แสนบาท”

“ขอนแก่น-พัทลุง” 500 แก้ว/วัน

“ศิริขวัญ พิมพา” เจ้าของร้าน“ริมเขื่อน Coffee” บริเวณถนนสายเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า ได้เปิดร้านกาแฟ ริมเขื่อน Coffee มาได้ประมาณ 6 เดือน เริ่มจากที่นาของครอบครัว ซึ่งมีทิวทัศน์ดีอยู่แล้ว ตนชอบดื่มกาแฟ ทานอาหารในร้านที่บรรยากาศดีเป็นธรรมชาติ จึงตัดสินใจทำร้านเครื่องดื่ม-อาหารขึ้นมา จนสามารถทำนาและทำร้านควบคู่กันไปได้

โดยมีจุดเด่นคือการดูแลทุ่งนาอยู่ตลอดทุกฤดู ไม่ปล่อยร้าง หากหมดฤดูทำนาตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม ไปจนถึงฤดูปลูกข้าวรอบใหม่ จะมีการลงดอกไม้ตกแต่งให้มีบรรยากาศสวยไว้ให้ลูกค้าชมในช่วงปีใหม่

ทั้งนี้ ในจังหวัดขอนแก่นเมื่อ 6 เดือนก่อนที่ยังมีคู่แข่งไม่มากนัก แต่กลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน โดยร้านริมเขื่อน Coffee สามารถขายได้ 200-300 แก้ว/วัน ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ขายได้ประมาณ 400 แก้ว/วัน ราคาเครื่องดื่ม 40-50 บาท/แก้ว รวมทั้งมีอาหารและของหวานให้บริการด้วย

ด้าน“พิทยา มุขช่วย” เจ้าของร้านกาแฟสด “ขนำ คอฟฟี่” ต.ควนมะพร้าว อ.เมือง จ.พัทลุง บอกว่า ร้านขนำ คอฟฟี่ เป็นร้านกาแฟทุ่งนาแห่งแรกของจังหวัดพัทลุง เปิดให้บริการมาแล้วว่า 4 ปี ขายกาแฟสดร้อน-เย็น และชาเขียว พร้อมด้วยเบเกอรี่ และขนมไทยพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นขนมปำ (ขนมถ้วยฟู) ขนมลูกตาล ข้าวต้มมัด ฯลฯ

ซึ่งได้รับความนิยมจากลูกค้าเป็นอย่างมาก โดยร้านตั้งอยู่บนนาข้าว 3 ไร่ ปลูกข้าวทำนาไปตามฤดูกาล มีจุดเด่นที่สีสันบรรยากาศต่างกับร้านกาแฟสดร้านอื่น

ทั้งนี้ ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดมาพักผ่อนดื่มกาแฟสด สัมผัสกับธรรมชาติแบบจังหวัดพัทลุง ประมาณ 80% ส่วนคนในพื้นที่เพียง 20% สามารถทำยอดขายได้สูงถึง 500 แก้ว/วัน ส่วนวันธรรมดามีนักท่องเที่ยวเพียง 40% ที่เหลือเป็นคนในพื้นที่ สามารถทำยอดขายอยู่ที่ 200 แก้ว/วัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0