โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"ทุกคนอยากเป็นเจ้าของนโยบาย 30 บาท" คุยกับ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

The MATTER

อัพเดต 09 ต.ค. 2562 เวลา 10.10 น. • เผยแพร่ 09 ต.ค. 2562 เวลา 10.06 น. • Pulse

'นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค' ถูกกลับมาพูดถึงอีกครั้ง หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำนโยบายนี้ไปโฆษณาถึงคุณงามความดี และการทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บนเวทีสหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

เหตุที่หลายคนพูดถึงคำชื่นชมของ พล.อ.ประยุทธ์ต่อนโยบาย 30 บาทฯ เพราะที่ผ่านมา อดีตผู้นำรัฐประหารในปี พ.ศ.2557 รายนี้ ถือเป็นหัวหอกคนหนึ่งในการวิจารณ์นโยบาย 30 บาทฯ ทั้งเรื่องการใช้งบประมาณมาก ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งขาดทุน ยังทำให้ประชาชนไม่รักษาสุขภาพ (ซึ่งก็มีคนโต้แย้งว่าบางเรื่องไม่เป็นความจริง)

The MATTER จึงไปคุยกับ หมอเลี๊ยบ-นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมช.สาธารณสุข หนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบาย 30 บาทฯ เมื่อสองทศวรรษก่อน ตั้งแต่ที่นโยบายนี้ยังไม่ตั้งไข่ คนในพรรคไทยรักไทยเองก็ยังไม่เห็นด้วย กระทั่งมันเกิดออกมาและเปลี่ยนชีวิตคนไทยไปอย่างมหาศาลในแบบที่คาดไม่ถึง - คนทั่วไปไม่ต้องขายบ้าน ขายรถ ขายวัวควาย เพื่อไปรับการรักษาโรคจากหมออีกต่อไปแล้ว

เราคุยกับ นพ.สุรพงษ์ เป็นเวลาชั่วโมงเศษ หลายเรื่องหลายคนอาจเคยได้อ่านที่อื่นมาก่อนแล้ว แต่เราอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการบันทึกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายนี้เอาไว้ เพราะไม่บ่อยครั้งนักที่จะมีนโยบายที่แข็งแกร่งระดับเปลี่ยนโครงสร้างสังคมได้อย่างมหาศาล เช่นนโยบายนี้

นพ.สุรพงษ์ คิดเห็นอย่างไรกับคำชื่นชมนโยบาย 30 บาทฯ จาก พล.อ.ประยุทธ์ ? ชมแล้วกลับมายังจะแก้ไขนโยบายอยู่ไหม ? คำวิจารณ์ที่ผ่านมาต่างๆ เป็นจริงมากน้อยขนาดไหน ? นโยบายซึ่งผ่านวันเวลามา 18 ปี ในปัจจุบันยังใช้ได้ผลหรือไม่ ? มีอะไรต้องปรับปรุงไหมเพื่อให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไป ?

ชวนอ่านคำตอบของหมอเลี๊ยบได้ตั้งแต่บรรทัดถัดไป

อยากให้คุณหมอเล่า สภาพการเข้ารับบริการสาธารณสุขไทยก่อนและหลัง 30 บาทมันแตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน

ก่อนปี 2544 คนไทยเวลาเจ็บป่วย ไม่มีหลักประกันสุขภาพ ถ้ามองย้อนกลับไปตอนที่ผมเป็นแพทย์ที่ รพ.อำเภอ ตอนปี 2524 ตอนนั้น รพ.มีขนาด 30 เตียงก็จะมีผู้ป่วยมารับบริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน เขาก็จะเอาบัตรผู้มีรายได้น้อย หรือบัตร สปร. (บัตรสวัสดิการประชาชนด้านการรักษาพยาบาล) เข้ามารับการรักษา ซึ่งบัตรนี้ก็ไม่ใช่คนมีรายได้น้อยทุกคนจะได้ จำนวนไม่น้อยเลยที่มารับการรักษา เมื่อมาถึงปุ๊บ เราเห็นเขาควักเงินจ่ายให้กับห้องยา ก็คิดว่านี่คือเงินทุกบาททุกสตางค์ที่เขาหามาอย่างยากลำบาก แต่ก็มีพยาบาลที่มาช่วยขอให้ตรวจ คุณหมอคนนี้ไม่มีเงินนะ เซ็นฟรีให้แกหน่อย แต่ตอนหลังก็จะรู้ว่าผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย ถ้าต้องทำเรื่องขอนู่นนี่นั่น เขาจะรู้สึกอย่างนึงว่าเขาอาย นี่ไม่ใช่สิทธิของเขาต้องมาร้องขอ ไม่อยากทำ และถ้ายังพอมีที่นา มีควาย การเจ็บป่วยอะไรที่ใช้เงินมากก็ขายที่ ขายวัวควาย นี่คือคนที่พอยังมีทรัพย์สินเก็บอยู่ แต่คนที่ไม่มีทรัพย์สินเลย เขาก็จะไม่มารักษา หรือบางทีมารักษา แต่ขอให้นอน รพ.ก็จะไม่นอน ขอกลับไปตายที่บ้าน นี่คือสิ่งที่มันเกิดขึ้น คนก็จะบอกว่าไม่เอาละ อยากอยู่บ้าน ไม่อยากอยู่ รพ. แต่จริงๆ เรารู้ว่าเขาไม่มีเงิน ไม่อยากเป็นภาระให้ลูกหลาน ก็ขอตายที่บ้าน หลังๆ ก็จะมีประเภทที่ไม่ยอมมา รพ.เลย เพราะรู้ว่ามาก็ไม่มีเงินจ่าย

นี่คือเรื่องราวที่เราเจออยู่เสมอๆ อย่างในตึกผู้ป่วยในเราก็จะเห็นผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่สุดท้ายเป็นโรคไตแล้วตาย เราก็ไม่รู้ว่าจะช่วยเขายังไง เพราะโรคไตถ้าไมได้ฟอก ก็จะมีชีวิตอยู่ไม่นานแล้วก็จะเสียชีวิต คนที่เป็นโรคหัวใจโต มาตลอดทุก 1-2 เดือน เรารู้ว่าการแก้ปัญหาที่ได้ผลแน่ๆ คือผ่าตัดหัวใจ แต่เราก็ไม่มีปัญหาส่งเขาไปผ่าตัดที่ไหน หรือเอาเงินที่ไหนไปผ่าตัด ผมก็เห็นเขานอนพุบอยู่ตรงโต๊ะ เพราะนอนราบไม่ได้

ในฐานะแพทย์ตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ก็รู้ปัญหา แต่ทำอะไรไม่ได้ ใครที่พอมีโอกาสให้เรามาเซ็นฟรี เพราะค่าใช้จ่ายไม่สูง เราก็เซ็นให้ แต่ถ้าค่าใช้จ่ายสูง ส่งไปก็ไม่มีใครทำอะไรให้ นี้คือบรรยากาศที่เราเห็นอยู่เรื่อยๆ ผมเจอตลอด นพ.สงวน (สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ก็เจอ ตอนนั้นผมอยู่ที่ อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ส่วน นพ.สงวนอยู่ที่ อ.ราศีไศล จ.ศรีสะเกษ เราก็รู้เพียงแค่ว่า เราทำเท่าที่ทำได้ พอตอนหลังแต่ละคนก็เติบโตในหน้าที่การงานของตัวเอง นพ.สงวนก็ไปเป็น ผอ.ฝ่ายแผนและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนผมก็ออกไปเป็นอาจารย์และผู้ช่วยคณบดีแพทย์ศาสตร์ ที่ รพ.รามาธิบดี แต่ก็ได้มีโอกาสทำงานร่วมกันใน ‘โครงการอยุธยา’ โครงการยุคแรกๆ ที่ขายบัตรประกันสุขภาพประจำครอบครัวๆ ละ 500 บาท เป็นโครงการนำร่อง แต่เราก็รู้ว่าอันนี้เป็นแค่งานวิจัย ที่สุดแล้วถ้าจะทำให้ครอบคลุมแบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเหมือนในต่างประเทศคงจะทำไม่ได้

แล้วกำเนิดของนโยบาย 30 บาทมันเริ่มยังไง ความยากในการผลักดันคือยังไง

จุดเปลี่ยนก็คือ ในงานครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาฯ ในปี พ.ศ.2539 ถือเป็นการจัดรำลึกครั้งแรกและครั้งใหญ่หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ผมก็ไปร่วมงานและได้ฟังคำพูดของคุณเสกสรรค์ ประเสริฐกุลพูด ที่บอกว่า “คนที่เป็นเยาวชนเป็นคนหนุ่มคนสาว เคยมีความฝันอยากเห็นสังคมนี้ให้ดีขึ้น ตอนนี้มันเป็นเวลาที่คุณจะออกจากมุมสบายของพวกคุณ และออกมาช่วยกันปฏิรูปการเมืองได้แล้ว” เพราะตอนนั้นปี พ.ศ.2539 มันมีกระแสของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ตอนนั้นผมก็มีความรู้สึกว่า เราเป็นอาจารย์มาได้สักพักหนึ่งแล้ว ผมอยู่ที่รามาฯ มาได้ 12 ปี ก็คิดว่าถึงเวลาที่เราจะออกจากสิ่งที่เคยอยู่ เป็น comfort zone มาตลอดไหม ก็เลยตัดสินใจลองไปคุยกับพรรคการเมืองว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้าง

วันที่ 7 ตุลาฯ ผมก็ไปเจอกับคุณสุธรรม แสงประทุม ที่เป็น ส.ส.ของพรรคพลังธรรม ตอนนั้นก็มีบรรยากาศของการเลือกตั้งพอดี คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรคพลังธรรม กำลังเตรียมสู้ศึกการเลือกตั้งปลายปี พ.ศ.2539 คุณสุธรรมก็บอกว่า “น้อง ขอบคุณนะที่มาช่วย แต่ตอนนี้พลังธรรมกระแสตกลงมาก” ผมก็บอกคุณสุธรรมว่า ไม่เป็นไร เมื่อตอนที่พรรคกำลังกระแสตกนี่แหละ เป็นเวลาที่ผมจะมาช่วยมิใช่หรือ เพราะตอนกระแสดีๆ ทุกคนก็มาช่วยกันทั้งนั้นแหล่ะ คุณสุธรรมก็บอกว่าคิดแบบนั้นได้ก็ดี ก็มาลงสมัคร ส.ส.เลย

มาถึงปั๊บก็ได้ลงสมัคร ส.ส.เลย

ผมไปพบเขาวันที่ 7 ตุลาฯ ก่อนเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ.2539 แปลว่าจะมีการเลือกตั้งอยู่แล้ว เขาก็จับผมไปลงสมัครเป็น ส.ส. ตอนนั้นลงกับคุณพงษ์เทพ เทพกาญจนา เขตธนบุรี-คลองสาน มีเวลาหาเสียง 40 กว่าวัน จากจับผลัดจับผลูเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดีๆ ก็ไปลงสมัคร ส.ส. แต่ระหว่างหาเสียง ผมก็หาเสียงไปขัดแย้งกับตัวเองไป เพราะผมไม่ได้อยากมาทำการเมืองแบบนี้ เพราะเป็นการหาเสียงที่เดินเคาะประตูไปตามบ้าน เลือกเบอร์ 1 เบอร์ 2 นะ แต่ผมไม่ได้พูดนโยบายอะไรเลย ไปถามพรรคว่ามีนโยบายอะไรไหมที่จะชู พรรคก็บอกว่าไม่มี แค่บอกไปว่าพรรคพลังธรรมทำอะไรมาบ้าง ฉะนั้นจึงเป็นการหาเสียที่นั่งนับถอยหลัง เพราะไม่ใช่การเมืองแบบที่ผมอยากทำ

พอถึงวันก่อนวันเลือกตั้ง จบหาเสียง ผมถอนหายใจด้วยความโล่งอก ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ดี ถ้าได้ก็ทำงานเป็น ส.ส. ถ้าไม่ได้ก็ดี เพราะนี่ไม่ใช่การเมืองแบบที่ผมอยากทำ วันนั้น พรรคพลังธรรมได้ ส.ส.ทั้งประเทศแค่หนึ่งคน คือคุณสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เราก็กลับบ้าน และผมก็ไม่กลับไปรับราชการอีก เพราะตอนมาสมัคร ส.ส.ก็ต้องลาออกจากราชการ ก็กลับไปทำธุรกิจส่วนตัว ตอนปี 2540 ก็มีวิกฤตต้มยำกุ้งและมีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ออกมา เริ่มมีการเตรียมการที่จะมีการเลือกตั้ง ผมก็คิดว่า เอาละ การเมืองจากรัฐธรรมนูญปี 2540 น่าจะดี น่าจะมีอะไรบ้าง กระทั่งปลายปี 2541 นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ก็โทรมาถามว่าสนใจจะมาร่วมกับพรรคไทยรักไทยไหม ผมก็รู้แล้วว่าคุณทักษิณตั้งพรรคไทยรักไทย ถามว่าจะให้ผมไปช่วยทำอะไร นพ.พรหมินทร์บอกว่าให้ไปช่วยทำนโยบาย ผมก็คิดว่านี่คือสิ่งที่อยู่ในใจผมตลอดการเดินหาเสียง 40 กว่าวัน ว่าถ้าจะทำการเมืองแค่ยกมือไหว้ให้คนมาเลือกคุณ ก็ไม่น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรให้ดีขึ่น ถ้าให้ผมทำนโยบาย ก็น่าจะมาทำ

ตอนนั้นพรรคไทยรักไทยยังอยู่ที่ถนนราชวิถียังเป็นพรรคเล็กๆ มองหน้าคนทำงานมีกันอยู่ไม่กี่คน มีคุณปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ผอ.พรรค คุณพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รอง ผอ.พรรค คุณภูมิธรรม เวชยชัย นพ.พรหมินทร์ก็บอกว่า เดี๋ยวมาช่วยกันนะในฐานะรอง ผอ.พรรค มีคุณกันตธีร์ ศุภมงคล เป็นโฆษกพรรค คุณสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เป็นรองโฆษกพรรค แต่หลังๆ คุณกันตธีร์ก็เฟดไป คุณสุรนันทน์ก็รักษาการโฆษกพรรค

พูดชื่อแต่ละคนในเวลานี้ ทุกคนรู้หมดว่าใครเป็นใคร

แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครรู้จักเลย! ยังเป็น nobody ทางการเมืองทุกคนเลย (หัวเราะ) เพราะคุณปุระชัยก็ยังไม่มีใครรู้จัก เป็นอดีตอธิการบดีนิด้า คุณภูมิธรรมก็รู้แค่ว่าเป็นนักกิจกรรม ทำงาน NGOs คุณพงษ์ศักดิ์ก็อาจจะทำพรรคกับคุณอุทัย พิมพ์ใจชนมาบ้าง

ตอนนั้นก็นั่งทำนโยบาย ก็เห็นหน้ากันไม่กี่คน เห็นหน้าคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง ก็มาช่วยตอนแรกๆ แต่ตอนหลังคุณจาตุรนต์ไปเป็นเลขาธิการพรรคความหวังใหม่ ก็ไม่ได้มาช่วยต่อ ก็มีการแบ่งกันว่าใครจะทำนโยบายอะไรบ้าง ผมก็ได้มอบหมายทำนโยบายสาธารณสุข ก็นั่งนึกว่าในฐานะตัวเองเคยอยู่ รพ.ชุมชน เคยเป็นอาจารย์แพทยศาสตร์ สอนเรื่องเวชศาสตร์ชุมชน เราก็คิดว่าจะทำอะไรบ้าง ตอนนั้นก็คิดนโยบายจิปาถะ เล็กๆ น้อยๆ เช่น ทำยังไงให้อัตราตายของทารกแรกเกิดลดลง ทำยังไงให้อัตราการติดต่อของโรคต่างๆ น้อยลง ซึ่งคิดไปก็รู้สึกว่า มันก็เป็นนโยบายเหมือนกับที่ราชการทำอยู่แล้ว ก็เป็นนโยบายเดิมๆ ตอนนั้นยังไม่ได้คิดเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ก็เลยคิดว่า อื้ม หาโอกาสไปคุยกับพี่หงวนแล้วกัน ตอนนั้นก็ทำเรื่องแผนและนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ก็ไปเจอกันที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ พี่หงวนก็บอกว่ามีเวลา 15 นาที (หัวเราะ) เพราะแกยุ่งมาก มีเวลาช่วงระหว่างเบรกเท่านั้น มาคุยได้เลย เลี๊ยบมาคุย

ผมก็รู้ว่ามีเวลา 15 นาที เอาวะ คุยอ้อมๆ ก็คงไม่มีประโยชน์ และผมก็เบื่อไม่อยากมีนโยบายจิปาถะอีกแล้ว เจอหน้าก็ถามเลยว่า “พี่หงวนครับ ชีวิตนี้มีอะไรที่ยังทำไม่สำเร็จหรือยังไม่ได้ทำบ้าง”

คำถามนี้ก็ตรงเป้าเลยว่า ชีวิตนี้คุณฝันอะไร แกก็เลยบอกว่ามีความฝัน 2 อย่างที่ยังทำไม่สำเร็จ 1.กองทุนสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งตอนนั้นก็เป็นรูปเป็นร่าง คือ สสส. และ 2.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือแกเคยไปเรียนต่อที่ยุโรป และเห็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของที่นั่น และจริงๆ แกก็เป็นคนบุกเบิกเรื่องหลักประกันสังคมสมัยรัฐบาลคุณอานันท์ ปันยารชุน จะทำยังไงให้คนไทยอีกกว่า 40 ล้านคนมีหลักประกันสุขภาพด้วย เราเคยทำโครงการอยุธยามาด้วยกัน คือบัตรประกันสุขภาพประจำครอบครัว ก็คิดว่าถ้าอย่างนั้น เราลองทำเรื่องนี้กันดู งั้นเดี๋ยวเราลองศึกษาเรื่องนี้ แล้วผมจะไปคุยกับทางพรรคไทยรักไทยดู นพ.สงวนก็บอกว่าถ้าอยากให้ผมไปเล่าให้ฟังก็ได้นะ น้ำเสียงคือว่า พรรคนี้คงเป็นพรรคเล็กๆ เพราะยังไม่มี ส.ส.เลย เพิ่งตั้งเอง คงจะไม่ได้เป็นพรรคใหญ่โตเหมือนพรรคอื่นๆ

ผมก็เลยกลับมานำเสนอในที่ประชุม ครม.เงา ตอนนั้นพรรคไทยรักไทยตั้ง ครม.เงา ผมเป็น รมช.สาธารณสุขเงา ก็เสนอในที่ประชุมว่า เรื่องนี้ผมคิดว่าเป็นนโยบายที่น่าสนใจ คุณทักษิณซึ่งเป็นนายกฯ เงา และเป็นประธานในที่ประชุม ก็บอกว่าอันนี้แกเห็นด้วยและสนใจ เพราะตอนไปลงพื้นที่และรับฟังความเห็นจากชาวบ้านเพื่อนำมาสร้างเป็นโยบายก็เห็นเลยว่า เวลาไป รพ.ต่างๆ ก็เห็นคนเยอะมาก ยังไงจะทำให้ รพ.ตอบสนองความต้องการของคนได้ดีขึ้น แกเห็นด้วย และบอกให้ทำการบ้านมา ผมก็ทำการบ้านกับ นพ.สงวนช่วงหนึ่ง จนตกผลึก ก็มาเสนอกับคุณทักษิณ จำได้เลยว่าเป็นวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2542 เวลาประมาณสี่โมงเย็น ก็นำเสนอประมาณ 40 นาที นพ.สงวนก็นำเสนอที่มาที่ไปและจะใช้งบเท่าไร ซึ่งงบที่ นพ.สงวนเสนอคือราว 1 แสนล้านบาท ซึ่งมองย้อนกลับไปตอนปี 2544 คนไทยมีจำนวนราว 40 ล้านคน อุดหนุนเงินคนละ 1,200 บาท ก็ไม่ถึง 7 หมื่นล้านบาทด้วยซ้ำไป คุณทักษิณฟังเสร็จปุ๊บ แกเคยเป็นรองนายกฯ ก็เลยรู้เรื่องระบบงบประมาณ ซึ่งงบของกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีอยู่แล้ว ถ้าจะ top up ไปก็น่าจะไม่กี่ตังค์ น่าจะทำได้ แกคิดว่าอยากรับนโยบายนี้เป็นนโยบายของพรรคไทยรักไทย

ตอนก่อนจะจากกัน คุณทักษิณก็บอกกับ นพ.สงวนว่า “หมอหงวน เรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามันฟังยาก ฟังไม่เข้าใจหรอก แรกๆ ผมยังไม่เข้าใจเลย ถ้าจะพูดให้ชาวบ้านเข้าใจ มันต้องอย่างนี้ 15 บาทรักษาทุกโรค” ทุกคนก็หัวเราะครืน แต่มันเวอร์ไหม ก็อีกเรื่อง ไมเป็นไร เดี๋ยวไปหาชื่อกัน พอเดือนมีนาคม พ.ศ.2543 เราก็จัด party convention ที่ยิมเนเซียม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมก็รับหน้าที่เอานโยบายต่างๆ มาสรุปเป็นวาระแห่งชาติ 11 ด้าน ด้านที่ 8 เป็นเรื่องสาธารณสุขนี่แหล่ะ เราใช้คำว่ากำแพงพิงหลังของผู้ยากไร้ ให้ผู้เจ็บป่วยไม่ล้มละลาย มีกำแพงพิงหลัง เพื่อที่เขาจะยืนอยู่ได้

ตอนนั้นคำว่า 30 บาทรักษาทุกโรคก็ยังไม่ตกผลึกซะทีเดียว กระทั่งต้องทำป้ายไปหาเสียง ก็มาหาข้อสรุปว่าจะเอายังไงดี หาหลายชื่อแล้วก็ไม่รู้ว่าชื่อไหนจะดีที่สุด โดนใจที่สุด สุดท้ายก็กลับมาที่ 15 บาทรักษาทุกโรค ก็ดีเบตกันว่าเท่าไรที่เหมาะสม ก็เทียบกับค่าทางด่วน คนที่จำเป็นด่วน ยอมจ่าย 30 บาท คนที่ไม่จำเป็น ก็ไม่ต้องจ่าย ฉะนั้น 30 บาทจึงเป็น cut of point ที่ทำให้รู้สึกว่า เสียดาย ถ้าอันนี้ไม่จำเป็น ก็เลยมาเป็น ‘30 บาทรักษาทุกโรค’ ในที่สุด

เราก็ทำป้ายออกไปติดตามหมู่บ้าน แต่ก็มีนักการเมืองหลายๆ คนเข้ามาบอกว่า อย่าติดเลย เดี๋ยวทำไม่ได้แล้วชาวบ้านจะมาต่อว่าทีหลัง ก็เลยเกิดความอิหลักอิเหลื่อ ในพรรคไทยรักไทยเองก็มีผู้ใหญ่และนักวิชาการหลายๆ คนมาคุยกับผมตอนหลัง ว่าตอนที่ผมเสนอนโยบายทุกคนๆ คิดในใจว่า นพ.สุรพงษ์เนี่ย เพ้อเจ้อ มันจะทำได้ยังไง

แปลว่าตอนนั้นเอง แม้แต่คนในพรรคไทยรักไทยเองก็ไม่ค่อยเชื่อ

ไม่ค่อยเชื่อ และจริงๆ แล้วสุดท้ายคนที่เชื่อมั่นจริงๆ คือคุณทักษิณ ที่ผมสังเกต ตอนนั้นมีการทำโพลกันแล้วว่าปัญหาของชาวบ้าน ปัญหาไหนที่เป็นความทุกข์ลำดับแรกๆ ของเขา ผลปรากฎว่า เศรษฐกิจ/ความยากจน คอร์รัปชั่น ยาเสพติด ต่อมาก็เป็นการศึกษา เรื่องนู้นเรื่องนี้บ้าง เรื่องสาธารณสุขเนี่ยอยู่ในลำดับท้ายๆ เลย ชาวบ้านไม่คิดว่าเป็นปัญหาของเขา คุณทักษิณก็ไม่เข้าใจว่าทำไมผลโพลออกมาเป็นแบบนี้ เพราะชาวบ้านคงไม่มีทางจินตนาการถึงหรอกว่าชีวิตนี้เขาจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ เขารู้สึกด้วยว่า เอ้า เจ็บป่วยก็ไปหาหมอ หมอเรียกเท่าไรก็จ่ายเท่านั้น ถ้าไม่มีเงินจ่ายก็ไปขายวัวขายควาย ถ้าไม่มีเงินจ่ายก็ไม่ไปรักษา เขาคิดได้แค่นั้น จินตนาการต่อไม่ได้ว่าจะมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้

เราทำโพลกันหลายครั้ง พอด้านสาธารณสุขออกมาท้ายๆ ทุกครั้ง สีหน้าของคุณทักษิณออกมาในทางผิดหวัง สงสัยว่าเรื่องนี้ชาวบ้านไม่สนใจหรือเปล่า ตอนนั้นบรรยากาศภายในพรรคไทยรักไทยก็เริ่มคิดแล้วว่า นโยบายนี้อาจไม่ถูกพูดถึงในการเลือกตั้งที่จะมาถึงแน่

ผมก็เลยคิดว่าคงต้องทำบางอย่าง อย่างแรกก็คือไปติดป้ายบิลบอร์ดริมทางด่วน พอดีธุรกิจครอบครัวผมไปซื้อป้ายบิลบอร์ดเอาไว้ แต่โฆษณาธุรกิจ ผมเลยไปขออนุญาตว่าขอเวลา 1-2 เดือน ทำป้ายโฆษณานโยบายพรรคเรื่อง 30 บาทได้ไหม ก็เลยขึ้นป้ายทางด่วน นโยบายพรรคไทยรักไทย 30 บาทรักษาทุกโรค คนในพรรคก็ฮือว่าใครเป็นคนติด ผมก็บอกว่าผมติดเอง (หัวเราะ) สร้างกระแส หลังจากนั้นก็มาจัดอภิปรายในที่ประชุมพรรค ก็เชิญ อ.จอน อึ่งภากรณ์มา เชิญ นพ.สงวนมาพูดเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ก่อนทั้งสองคนจะพูด ผมจะยกตัวอย่างคนที่ป่วน เช่น “ยายกับหลานถูกหมากัด เข้าไปหาหมอ หมอบอกว่าต้องฉีดยากันบาดทะยักและป้องกันพิษสุนัขบ้า ยายถามค่ารักษาพยาบาล พบว่าแพงพอจะรักษาได้คนเดียว สุดท้ายยายก็บอกว่าให้หลานฉีด ยายไม่ฉีด” หรือมีอีกเรื่องผมฟังคนอื่นเล่ามา “มีคนหนึ่ง เป็นต้อกระจก ไปผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์ แต่เงินไม่พอที่จะจ่าย สุดท้ายต้องไปเอาเลนส์ออก” นี่คือตัวอย่างที่ผมเล่าให้ฟังก่อนที่ อ.จอนจะเล่าเรื่องจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนของ อ.ป๋วย อึ๋งภากรณ์ ส่วน นพ.สงวนพูดเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จบงานสัมมนาวันนั้นผมเจอคุณทักษิณ ก็มาบอกว่า ตัวอย่างที่คุณเล่าตอนอภิปราย ผมฟังแล้วน้ำตาซึมเลย มันสะท้อนว่าคุณทักษิณมี passion คนมันทุกข์ ต้องทำเป็นนโยบายให้ได้

พอถึงเวลาจะเลือกตั้ง คุณทักษิณก็จัดเรื่องนี้มาเป็น 3 นโยบายหลักของพรรคไทยรักไทย คือ พักหนี้เกษตรกร 3 ปี กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท และ 30 บาทรักษาทุกโรค แล้วก็ทำป้ายไปติดตามเขตต่างๆ ในการเลือกตั้ง สังเกต 3 นโยบายนี้ในบางเขต 30 บาทรักษาทุกโรคจะถูกผู้สมัคร ส.ส.ลบไป เพราะกลัวว่าจะถูกทวงถามจากชาวบ้านถ้าทำไม่ได้ แต่คุณทักษิณไม่เคยย่อท้อ ทุกๆ เวทีที่ไปหาเสียงจะพูดเรื่องนี้หมด กลายเป็น passion หรือแรงปรารถนาที่จะอยากให้เกิดเรื่องนี้ขึ้น

พอชนะเลือกตั้ง 248 เสียง เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 คุณทักษิณก็ดีใจมากว่า เสียงมามากเกินกว่าที่คาดไว้ คือเราคาดว่าชนะแน่ แต่ไม่คิดว่าจะมาถึง 248 เสียง ดังนั้นวันเลือกตั้งพอผมเจอคุณทักษิณตอนเย็น คุณทักษิณเจอหน้าปุ๊บ ก็ยิ้มเข้ามาบอกเลย “เตรียมทำ 30 บาทได้แล้ว”

ฉะนั้นที่มาที่ไป ในพรรคเองก็ไม่มีใครเชื่อ มาถึงตอนดำเนินการ มีคนถามว่าปัจจัยอะไรที่ทำให้ 30 บาทรักษาทุกโรคประสบความสำเร็จ ผมก็จะบอกว่าเป็นเวลาที่ทุกๆ ปัจจัยมาบรรจบกัน ณ จุดตัดเวลาพอดี ถ้ามันขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่ง เราอาจไปไม่ได้ไกลเหมือนที่มาถึงวันนี้ได้ เช่น 1.โชคดีที่เรามีรัฐธรรมนูญ 2540 ถ้าไม่มี เราก็จะไม่มีระบบปาร์ตี้ลิสต์ ไม่มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง 2.ประชาชนเลือกมา 248 เสียง ถ้าวันนั้นประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทยสัก 120 เสียง ถามว่าได้ทำไหม ทำได้ แต่ยากมาก แต่พอมี 248 เสียง มันมีฉันทามติและสัญญาประชาคมว่าเราต้องทำ 3.ปัจจัยของรัฐบาลเอง มีนายกฯ ที่มีภาวะผู้นำเข้มแข็ง

4.ราชการ ซึ่งต้องยอมรับว่าเราโชคดีที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหากเป็นคนอื่นอาจจะยากที่จะผลักดันได้ เพราะ นพ.มงคลทำให้เกิดจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่ง เพราะตอนแรกที่คุยกับ นพ.สงวนว่า รเจะ implement เรื่อง 30 บาทอย่างไร นพ.สงวนบอกว่า “ต้องค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เราจะไม่รีบ เราต้องเตรียมความพร้อม หลังจากนั้น 2 ปีค่อยประกาศ big bang” ผมก็บอกว่า 2 ปีจะนานไปไหม ในทางการเมือง การรอถึง 2 ปี คนที่เขาเลือกเรามาอาจจะรอยาก ผมจะไม่รอถึง 2 ปี ประมาณ 1 ปีน่าจะพอรับได้ แต่หลังจากเราแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเสร็จ วันรุ่งขึ้นก็ไปมอบงานที่กระทรวงสาธารณสุข มีคุณกรณ์ ทัพพะรังสี อดีต รมว.สาธารณสุขมาด้วย ตอนนั้น รมว.สาธารณสุขคือคุณสุดารัตน์ ผมเป็น รมช.สาธารณสุข พอเราไหว้พระประจำกระทรวงเสร็จ นพ.มงคลก็บอกว่า รัฐมนตรีทั้ง 2 ท่าน ผมมีเรื่องจะปรึกษาหารือด้วย ก็ไปนั่งคุยกันในห้องเล็กๆ นพ.มงคลก็หยิบกระดาษขึ้นมาพร้อมบอกว่า ผมสนับสนุนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคเต็มที่ ผมพร้อมจะผลักดันเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจริง และได้เตรียมไว้ 6 จังหวัดพร้อมทำเรื่อง 30 บาทรักษาทุกโรคในวันที่ 1 เมษายน ผมก็ตาตื่นขึ้นมา เพราะเราแถลงนโยบายวันที่ 26 กุมภาพันธุ์ แต่เราจะทำ 30 บาทรักษาทุกโรค 1 เมษายน 1 เดือนกัย 2 วันเท่านั้น 6 จังหวัดนั้น นพ.มงคลบอกว่าเตรียมไว้หมดแล้ว และพร้อมจะดำเนินการได้เลย ผมก็ถามว่าท่านมั่นใจเหรอ นพ.มงคลบอกว่า มั่นใจ

ฉะนั้น 1 เมษายนจึงเป็นวัน d-day 6 จังหวัด เพราะก่อนจะ d-day ไม่มีใครนึกออกว่า 30 บาทรักษาทุกโรคคืออะไร ชาวบ้านก็นึกไม่ออก รูปธรรมที่อยู่ในหัวนั้นมีอยู่ แต่ก็นึกถึงรูปธรรมที่มีชีวิตชีวาไม่ออก พอถึงวันที่ 1 เมษายน คนไข้ที่ไปรักษาตัวในวันนั้น ทุกโรคจ่ายแค่ 30 บาท คนที่ไปคลอดลูกวันนั้น ตอนออกจาก รพ. จากที่เคยถูกเรียกเก็บเป็นพันก็เหลือ 30 บาท ก็เลยเป็นเรื่องที่ถูกเล่ากันปากต่อปาก และถูกพูดถึงในสื่อสาธารณะว่ามันเป็นอย่างนี้เอง 30 บาทรักษาทุกโรค หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ หัวกะไดกระทรวงสาธารณสุขไม่เคยว่างอีกเลย ส.ส.จากทุกเขต ทุกพรรคการเมือง แม้แต่พรรคที่ถากถางว่า ‘30 บาทตายทุกโรค’ ก็เข้ามาบอกว่า ขอเขตหนู/ผมด้วย จากนั้นวันที่ 15 มิถุนายน ผ่านมา 2 เดือนครึ่ง เราก็ทำต่ออีก 15 จังหวัด กระทั่ง 1 ตุลาคม ก็ทำครบ 75 จังหวัด ฉะนั้นจึงใช้เวลาเพียง 7 เดือนกับ 2 วัน จากที่ตอนแรกผมเคยคิดว่า 1 ปี และวันที่ 1 ตุลาคม นพ.มงคลก็เกษียณอายุราชการพอดี เท่ากับว่า นพ.มงคงใช้ช่วงเวลาก่อนเกษียณอายุมาผลักดันเรื่องนี้เต็มที่

5.การเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ตั้งแต่ อ.จอน และ NGOs ต่างๆ ทุกคนเข้ามาช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ จนกระทั่งหลังเลือกตั้ง เมื่อมีการร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หมายเหตุตรงนี้ไว้นิดนึง ตอนที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอร่างกฎหมายนี้ในวาระที่หนึ่ง หลังอภิปรายสักพักหนึ่ง พอลงมติน่าจะเป็นร่างกฎหมายฉบับแรก ที่เสียงเป็นเอกฉันท์ แม้แต่ประธานสภาฯ ก็ยังมาโหวตให้ ไม่งดออกเสียง ทุกคนโหวตหมด

500 ต่อ 0 เสียง? มหัศจรรย์มากๆ

ไม่รู้ว่า ส.ส.มาครบ 500 คนหรือเปล่านะ แต่ไม่มีใครไม่โหวตค้าน และไม่มีใครงดออกเสียง ..ฉะนั้น ถ้าถามว่าความยุ่งยาก มันยุ่งยากตอน start เหมือนกับหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเอาจริง แต่คนอื่นไม่เชื่อ หรือตอนที่มาเป็นรัฐบาลแล้ว หากคนอื่นเป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุขแทน นพ.มงคล ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะขับเคลื่อนได้เร็วแบบที่เกิดขึ้นหรือไม่

ใน 5 ปัจจัย ขาดอะไรไปนโยบาย 30 บาทจะไม่เกิดขึ้น

(ตอบเร็ว) ไม่ได้เลย เช่นสมมุติขาดรัฐธรรมนูญ 2540 พรรคการเมืองที่เข้มแข็งก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าประชาชนไม่เลือกมาเยอะขนาดนั้น โอกาสที่จะพูดได้เต็มปากว่านี่คือสัญญาประชาคมอาจจะพูดได้ยาก ถ้าพรรคไทยรักไทยไม่มีผู้นำที่เข้มแข็งก็ไม่ใช่จะทำได้ง่ายๆ ถ้าไม่มีระบบราชการ ที่ผมให้เครดิต นพ.มงคล รวมถึงหมอและพยาบาลทุกๆ คน

คือผมเชื่อว่าคนไม่เห็นด้วยมีอยู่ แต่เป็นส่วนน้อยที่เรียกกันว่า ‘หมอแขนดำ’ ที่ใส่ปลอกแขนสีดำเพื่อประท้วง มี แต่เป็นส่วนน้อย คนส่วนใหญ่ ผมเชื่อว่าเขารักคนป่วยมากกว่า คือคิดว่าเป็นโอกาสที่จะได้รักษาผู้ป่วยโดยมีงบประมาณสนับสนุน

จนถึงวันนี้ ผมก็ยังเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขยังทำงานหนักทำงานเต็มที่ และสุดท้ายคือภาคประชาชนที่เป็นพลังใจให้ นพ.สงวนก่อนที่จะมาเจอพรรคไทยรักไทย จริงๆ ขับเคลื่อนมาก่อนหน้านี้นั้นแล้ว ถ้าทำคนเดียว นพ.สงวนอาจจะหมดแรงไปนานแล้ว

มีเรื่องเล่ามาเจอว่าจริงๆ นพ.สงวนไปเสนอกับพรรคประชาธิปัตย์ สมัยที่คุณชวน หลีกภัย สมัยเป็นนายกฯ แต่สุดท้าย นโยบายนี้ก็ไม่เกิด

นพ.สงวนพูดทำนองว่า ผมไปเสนอมาทุกพรรคแล้ว แต่ไม่มีพรรคไหนที่เห็นด้วยหรือสนใจเลย

ที่พรรคอื่นๆ ไม่เอา เพราะจินตนาการไม่ออกว่าจะออกมาหน้าตาอย่างไร หรือเพราะงบที่ใช้มากถึง 1 แสนล้านบาท ซึ่งสมัยนั้นมันเยอะมาก คิดเป็น 10% ของงบประมาณรัฐบาลขณะนั้น

ตอนนั้น งบปี 2544 งบรัฐบาล 9 แสนล้าน ก็มากกว่า 10%

ผมก็ไม่รู้ว่าปัจจัยไหน เรื่องงบก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องจินตนาการไม่ถึงก็อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญ เอางี้ ถ้าทุกคนรู้อนาคตได้นะ ทุกคนอยากจะเป็นเจ้าของนโยบายนี้ (หัวเราะ) เพราะนี่คือตำนาน เป็น legacy ของพรรคการเมือง

การเมืองก่อนหน้านั้น มีการหาเสียงด้วยการชูและขายนโยบายเช่นนี้มาก่อนหรือไม่

เท่าที่ผมสัมผัส จะไม่มี จะเป็นการขายนโยบายแบบพื้นๆ ทั่วไปมากกว่า ไม่มีการนำเสนอแบบเป็นเรื่องเป็นราว อย่างพรรคไทยรักไทยที่ประกาศสงครามกับความยากจน ยาเสพติด และคอร์รัปชั่น แต่มักจะเป็นการพูดแบบ ด่ารัฐบาลปัจจุบัน เราจะทำให้อยู่ดีกินดี น้ำไหล ไฟสว่าง ก็เป็นเรื่องทั่วๆ ไป ไม่ใช่เรื่องที่มีการศึกษาอย่างจริงจัง

18 ปีผ่านมา นโยบายมีคนได้ประโยชน์ ชาวบ้านชอบ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์หลากหลาย ทั้งงบไม่พอ รพ.เจ๊ง ทำให้หมอ-พยาบาลต้องลาออกจำนวนมาก เพราะทำงานไม่ไหว จริงๆ มันมีปัญหามากขนาดนั้นไหม ที่ผ่านมามีการปรับแก้อะไรบ้าง 30 บาทรักษาทุกโรคมีพัฒนาอย่างไรนับแต่วันที่เริ่มต้น

ต้องยอมรับว่า ตอนแรกที่เราทำ 30 บาทรักษาทุกโรค เราก็วางเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่ว่าเราจะรักษาทุกโรคจริงๆ เพราะบางโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น ฟอกไต มะเร็ง เอดส์ แต่ก็ค่อยๆ ทำจนครอบคลุม ที่ต้องเป็น step เพราะจู่ๆ ถ้าเราทำเต็มที่ งบประมาณอาจจะไม่พอ ถามว่าเราประเมินว่างบพอ-ไม่พอจากอะไร เรามองว่าที่ผ่านมาเป็นการใช้งบแบบไม่คุ้มค่า คือเดิมให้งบไปกับ รพ.แต่ละแห่ง ฉะนั้นฐานการให้งบจึงมาจากการขอจาก รพ. แต่พอเปลี่ยนเป็น 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นการให้ตามจำนวนประชากรในพื้นที่นั้นๆ

ช่วงแรกคนก็คิดว่า จะให้งบเพิ่มจากงบเดิม จึงไม่มีปฏิกิริยามาก แต่พอชัดเจนว่านโยบายเราคือให้ตามจำนวนประชากรที่ขึ้นทะเบียน ก็จะเกิดผลกระทบจาก รพ.หลายแห่งที่ก่อนหน้านี้ คนเยอะแต่ดูแลผู้ป่วยน้อย ยกตัวอย่าง รพ.ในภาคอีสาน บางอำเภอมีประชาชน 2 แสนคน มีหมอ 4-5 คน เทียบกับ รพ.ในภาคกลางบางจังหวัด ในอำเภอนั้นมีคน 2 แสนคน มีหมอรวมกัน 100 คน นี่คือความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นมาตลอด พอเราจัดระบบให้ตามรายหัวของประชาชน รพ.ในภาคอีสานที่เคยดูแล 2 แสนคนโดยหมอ 4-5 คน ได้เงินเพิ่มขึ้นเยอะมาก สมมุติหัวละ 1 พันบาท ก็ 200 ล้านบาท เดิมเคยได้ 40-50 ล้านบาท ก็ได้เพิ่มขึ้นหลายสิบล้านทันที เอาไปทำอะไรได้เยอะมาก หาหมอเพิ่มขึ้น สร้างตึกเพิ่มขึ้น ได้เครื่องมือเพิ่มขั้น แต่กับ รพ.ในภาคกลางที่มีคน 2 แสนคนเช่นกัน แต่หมอ 100 คน ก่อนหน้านี้เคยได้งบเยอะมาก 600 ล้านบาท พอลดลงมาเหลือ 200 ล้านบาท เงินหายไปทันที ฉะนั้นถ้าเราสังเกต ‘หมอแขนดำ’ จะมาจาก รพ.ที่มีบุคลากรเยอะแต่ดูแลผู้ป่วยน้อย

พอเราเริ่มระบบนี้ปุ๊บ จึงเริ่มทำให้ปฏิกิริยาว่า รพ.บางแห่งขาดทุน ซึ่งจริง เพราะที่ผ่านมาเราใช้ระบบการจัดการที่มันไม่ lean ไม่มี lean process ไม่มี lean resource คือไขมันเยอะเกินไป เราถึงมาบอกว่า มาเกลี่ยอะไรนิดนึงกันไหม แต่ ณ วันนี้ ผ่านมา 18 ปี ก็ยังไม่มีการกระจายเท่าที่ควร ยังมีความเหลื่อมล้ำกันพอสมควร อันนี้คือ story ที่บอกว่าขาดทุน

มันก็จะมี story อื่นๆ อีก ซึ่งหลังๆ ไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำอย่างเดียวแล้ว มันเรื่องของการบริหารจัดการด้วย จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ ระบบ 30 บาท ก็ยังจ่ายเงินเดือนให้บุคลากรทางสาธารณสุข 100% แต่ระบบประกันสังคมที่จ่ายตามรายหัวเหมือนกัน ระบบสวัสดิการข้าราชการ ที่ปลายเปิดแล้วแต่ รพ.จะชาร์ตทั้ง 2 ระบบหลัง ไม่ได้จ่ายเงินเดือนด้วย ผมเคยถามคนใน สปสช.คร่าวๆ ว่า สมมุติได้รายหัว 3,000 บาท โดนหักเงินเดือนไปเท่าไร ประมาณ 1,000 บาท เท่ากับรายหัวจริงๆ ที่เป็นค่าบริการและค่ายา จะประมาณ 2,000 บาทเท่านั้น ส่วนประกันสังคมกับสวัสดิการข้าราชการ ไม่ได้ร่วมจ่ายเงินเดือนบุคลากรทางสาธารณสุขเลย นี่คือคำตอบว่าทำไม 30 บาทจ่ายเงินน้อย ก็เพราะเป็นระบบที่จ่ายเงินแต่เพียงผู้เดียว

กลับมาเรื่องการบริหารจัดการ ไม่มีการพูดถึงอย่างเอาจริงเอาจังว่าจริงๆ แล้ว การบริหารจัดการใน รพ.แต่ละแห่งมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่ ต้องยอมรับว่าหมอทุกคนไม่ได้เกิดมาเป็นนักบริหาร มีเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งยืนยันได้ว่าการบริหารจัดการมีผลต่อรายรับ-รายจ่ายของ รพ. คือ รพ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ที่ขาดทุนตลอด 30 ล้านบาท เปลี่ยน ผอ.รพ.ไปแล้วหลายคน ก็ยังแก้ขาดทุนไม่ได้ กระทั่ง นพ.ประวัติ (กิจธรรมกูลนิจ) ที่อยู่ รพ.นี้มากว่า 30 ปี แต่ไม่เคยมีโอกาสได้เป็น ผอ.รพ. ก็เดินเข้าไปหาสาธารณสุขจังหวัดขอให้เป็น ผอ.รพ.ได้ไหม สุดท้ายก็ได้รับแต่งตั้ง นพ.ประวัติใช้เวลาทำงานปีเศษๆ เปลี่ยนสถานะ รพ.จากขาดทุน 30 ล้าน มาเป็นเหลือเงิน 10 ล้านบาท ทุกอย่าง รพ.เหมือนเดิม เปลี่ยนอย่างเดียวคือเปลี่ยน ผอ.รพ.เท่านั้น เกิดอะไรขึ้น? ผมถาม นพ.ประวัติว่าทำอะไร คำตอบคือไม่ได้ทำอะไรเลย แค่เรียกเก็บเงินจาก สปสช.ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่านั้น (หัวเราะ) พอเงินเหลือก็เอามาพัฒนา รพ. วันนี้ รพ.ด่านมะขามเตี้ย เป็น รพ.ที่ขาวบ้านชอบมาก และ นพ.ประวัติบอกว่า ยิ่งผู้ป่วย 30 บาทมาใช้บริการมาก ยิ่งมีเงินมาก

มันสะท้อนอะไร เรื่องการจัดการสำคัญมาก ฉะนั้นอย่าบอกว่า ขาดทุนๆๆๆ

ถ้าย้อนไป 2-3 ปีก่อน สถานะ รพ.ทั้งหมดขาดทุน 12,000 ล้านบาท ผมถามว่าผ่านมา 18 ปี ขาดทุน 12,000 ล้านบาทเป็นเงินมากไหมกับสุขภาพของคนที่จะดูแลให้มีหลักประกันสุขภาพ ถ้าจะเปรียบเทียบ มันไม่ได้เยอะเลย ถ้าจะไปซื้อเรือดำน้ำ ซื้อนู่นนี่นั่น แต่ในขาดทุน 12,000 ล้านบาท ยังมีประเภทที่ว่า 30 บาทจ่ายเงินเดือนเอง 100% และระบบบริหารของ รพ.ยังไม่มีประสิทธิภาพ ฉะนั้นมันแก้ไข

ตอนที่คุยกับคุณอนุทิน (ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุขคนปัจจุบัน) ผมก็บอกว่า ผมไม่คิดว่าจะต้องเติมเงินเยอะมากเท่าไร ถ้าต้องเติมก็ต้องเติม แต่ก่อนจะเติม ต้องปรับปรุงภายในกระทรวงสาธารณสุขให้ดีกว่านี้ก่อน ซึ่งผมเชื่อว่าทำได้ เพราะคน 80-90% ของกระทรวงสาธารณสุขเขาตั้งใจอาจจะทำงานให้ผู้ป่วยพ้นความทุกข์อยู่แล้ว คือเขาทำไปบ่นไป แต่เขาก็ทำ

แต่เงินโครงการ 30 บาทมันเพิ่มขึ้นทุกปีๆ เป็นไปได้ไหมที่จะบวมมากจนงบประมาณรัฐบาลรับไม่ไหว

ที่ว่าเพิ่มทุกปี ถ้ามันจำเป็นต้องเพิ่มก็ต้องเพิ่ม คำถามก็คือใช้เงินเป็นหรือเปล่า แล้วค่อยมาดูว่าจะเพิ่มยังไง ก่อนจะไปถึงว่ามันจะบวมแค่ไหน ผมจะเล่าให้ฟังว่าแผนที่จะฟังคืออะไรบ้าง

ผมไปบอกคุณอนุทินว่ามันมีอยู่ 3 เรื่องที่ต้องทำ

1.แก้ปัญหา pain point ของระบบ 30 บาท คือ รพ.แออัด ความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการกับผู้รับบริการ

2.จะทำอย่างไรให้เรารู้ข้อมูลทุกอย่างของการจัดการ ตั้งแต่การเจ็บป่วย เงินทองที่ใช้ ยาที่ใช้ การจัดซื้อที่แตกต่างกันระหว่าง รพ.

3.การปฏิรูป รพ.

เอาเรื่องแรกก่อน ความแออัด วันนี้ที่ รพ.แออัดทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอกมาแต่เช้า รอ 2-3 ชั่วโมง ตรวจ 10 นาที รอยาวอีก 2-3 ชั่วโมงกว่าจะกลับบ้านก็บ่าย ขั้นตอนต่างๆ แก้ได้ไหม ทำไมไม่ใช้ระบบนัด แน่นอนว่าบางคนป่วยกระทันหัน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นโรคเรื้อรัง เบาหวาน ความดัน ซึ่งหมดจะนัดมา จะทำอย่างไรให้ผู้ป่วยที่วางแผนล่วงหน้าว่าจะมา รพ. เราจะมีระบบนัดได้ก่อน เช่น เรากำหนดได้ว่าวันนึงหมอจะตรวจได้กี่คน ก็จัดคิดไปเลย เช่นนัดตรวจ 11 โมง ก็ให้มา 10 โมง เขาก็ไม่จำเป็นต้องมาตั้งแต่ตีห้า ซึ่งอาจจะนัดผ่านแอพฯ ก็ได้ แต่บางคนบอกว่าให้มา รพ.เพื่อกดบัตรคิว อันนั้นก็ไม่ใช่ ถ้าหากสมมุติดูคิวได้ว่า นัดคุยหมอ 10 โมงนะ เขาก็มา 10 โมง จากนั้นก็ไปรับยา ก็หาวิธีตัดขั้นตอนให้น้อยที่สุด

หรืออย่างที่เริ่มทำไปแล้วคือการรับยาร้านขายยา ซึ่งขึ้นอยู่กับความสมัครใจ และต้องเป็นร้านใกล้บ้านเขา ไม่ต้องไปนั่งรอ และถ้าเป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคคงที่ สมัยก่อนอาจจะนัดทุกเดือน ตอนนี้อาจจะนัดทุก 3-6 เดือนไหม ซึ่งอาจจะไปวัดความดันหรือเจาะนิ้วที่ร้านขายยาแทนก็ได้ ถ้าคงที่ก็รับยาต่อไม่ต้องมา รพ. แต่ถ้ามันขึ้นค่อยมา รพ. ก็น่าจะตัดผู้ป่วยไม่ให้ต้องมาเข้าคิวสัก 40% เลย ซึ่งจะทำให้ OPD ไม่ต้องแออัด ร้านยาก็มีส่วนร่วมในเครือข่าย ตอนนี้เราพูดถึง sharing economy แล้วทำไมเราจะไม่ให้ร้านขายยาเข้ามามีส่วนร่วม และสภาเภสัชกรก็อยากมีส่วนร่วมมากเพราะเขาทำวิจัยกับบาง รพ.มาแล้วและได้ผล ฉะนั้นพอพูดถึงเรื่องปุ๊บ สภาเภสัชกรโทรหาผมเลยว่าเขาอยากเข้าร่วม ผมก็บอกว่า ไม่ได้มีตำแหน่งนะ แต่ร่วมประชุมได้แล้วจะนำเสนอท่านรัฐมนตรี ซึ่งก็บอกว่าดีเลย อยากให้ทำ ถ้าทำเรื่องนี้ได้ ที่คนเคยบอกว่า “มันแย่มาก ไม่ต่างจากโรงฆ่าสัตว์” มันก็จะดีขึ้นแล้ว

เรื่องห้องฉุกเฉินก็เหมือนกัน ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า อุบัติเหตุ โรคหัวใจ อะไรต่างๆ มันก็จะมี ทำให้การฉุกเฉินมีมากขึ้น แต่นิยามคำว่าฉุกเฉินทางการแพทย์กับของประชาชนอาจจะไม่เหมือนกัน ประชาชนอาจจะท้องเสียหนักๆ ตอนดึกแล้วคิดว่าฉุกเฉินมา รพ. ขอเข้าห้องฉุกเฉิน และถ้าไม่ได้รับการรักษาก็จะรู้สึกว่าทำไมหมอไม่ดูแล แต่นิยามทางการแพทย์  นิยามของฉุกเฉินอาจจะเป็นเรื่องของการเสียเลือดมาก อาจจะเสียชีวิต หรือโคม่าแล้ว เป็นโรคหัวใจกำลังแย่ ถ้าไม่แก้ตอนนี้อาจจะขาดเลือดได้ แต่อย่างท้องเสีย เรียกว่าด่วน (urgent) แต่ไม่ใช่ฉุกเฉิน (emergency) ฉะนั้นมันต้องมีการปฏิรูประบบห้องฉุกเฉินทั้งระบบ เช่นต่อไปนี้ห้องฉุกเฉินต้องเป็นระบบปิด คือต้องมาโดยการส่งต่อเท่านั้น อาจจะเป็นรถพยาบาลมาส่ง หรือส่งจากห้องด่วนมาก็ได้ ไม่ใช่อยู่ๆ เดินเข้ามาเองได้ แต่ต้องมีห้องด่วนที่ตรวจนอกเวลาราชการ ฉะนั้นมันก็จะแยกมาเป็น 2 ประเภท ก็จะไม่เกิดความขัดแย้งในใจของผู้ป่วย ถามว่าทำได้ไหม ไม่ยาก แต่ทำไมไม่ทำ เพราะนโยบายไม่ชัดเจน ซึ่งตอนนี้เราก็ไปคุยว่า 1 ธันวาคม จะนำร่องสัก 10 รพ.ที่มีห้องฉุกเฉินอยู่แล้ว แต่แยกโซนให้ชัด มีแพทย์ทำด้านฉุกเฉินโดยเฉพาะ ซึ่งก็ต้องจ่ายค่าตอบแทนให้เหมาะสมด้วยตามอัตราที่จำเป็น เพราะบางครั้งแพทย์ในห้องฉุกเฉิน อาจจะเป็นแพทย์จบใหม่ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองงานหนัก และรู้สึกว่าถูกมอบภาระโดยไม่จำเป็น จึงต้องมีค่าตอบแทนที่เหมาะสมถึงจะดึงเขาอยู่ในระบบราชการได้ เพราะวันนี้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านฉุกเฉินกลายเป็นสาขาที่มีคนสมัครเรียนมากเป็นอันดับสองรองจากแพทย์ผิวหนัง เพราะฉะนั้นเราต้องรักษาบุคลากรเหล่านี้ไว้ให้ด้วย ดังนั้นต้องปฏิรูปทั้งห้อง กำลังคน อุปกรณ์

พอมาถึงเรื่องข้อมูล คือการปฏิรูประบบ IT ทั้งระบบ ทำไมวันนี้เวลาส่งต่อผู้ป่วยทำไมต้องเขียนใบส่งต่อแล้วหิ้วแฟ้มไป ทุกอย่างมันควรจะอยู่บน cloud ได้แล้ว จริงๆ ตอนนี้ทุก รพ.มีระบบ IT หมดแล้ว แต่มาตรฐานของแต่ละแห่งไม่เหมือนกันทำให้การเชื่อมต่อทำไม่ได้ นี่คือหลักฐานว่าการพัฒนาที่ผ่านมามันสะเปะสะปะ ผมเลยเสนอรัฐมนตรีให้มีคณะทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ ซึ่งก็มีการตั้งคณะทำงานเทคโนโลยีสารสนเทศของ รพ.ระดับชาติขึ้นมาแล้ว มีคณะอนุกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ขึ้นมา สิ่งที่เราอยากเห็นจากระบบ IT นี้คืออะไร รมว.สาธารณสุขควรจะกดปุ่มเพียง 1 ปุ่มแล้วบอกได้ว่ามี่ผู้ป่วยมา OPD ใน รพ.ใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุขกี่คน แต่ละที่มีเท่าไร เกินกำลังมากไปไหม มีระบบ alert ถ้าที่ไหนคนเยอะ เป็นโรคอะไรกันบ้าง ถ้ามีระบบ GIS ที่บอกได้ว่า รพ.ที่โหลดมากๆ รพ.ที่อยู่ข้างๆ จะรับไปได้ไหม หรือแม้แต่ผู้ป่วยใน หาก รพ.ไหนผู้ป่วยเกินเตียงแล้วมี รพ.อื่นที่พอจะผ่องไปได้ไหม มันจะทำให้เราเห็นภาพได้ หรือแม้กระทั่งระบบการเงินการบัญชี เราจะสามารถบอกได้เลยว่าการซื้อยามันสมควรสมผลไหม อย่างมีสภาเภสัชกรเขาทำวิจัยแล้วบอกกับผมว่า ยาตัวหนึ่งมีราคาตั้งแต่ 20 บาทถึง 100 บาท ทั้งที่เป็นตัวเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน ฉะนั้นถ้ามีระบบ IT ที่เช็คได้ว่าใครซื้อแพง หรือถ้าคุณอยู่ฝ่ายจัดซื้อ ก็จะสามารถบอกได้ว่า บริษัทนี้ขายแพง จะซื้อทำไม ไปซื้อกับบริษัทอื่นดีกว่า

ค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขมันเป็นค่าใช้จ่ายที่เวอร์ มองไม่เห็นมากมาย แม้แต่ในสหรัฐฯ ก็ยังต้องตั้งบริษัทย่อยเพื่อลดค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขได้

อย่างที่บอกว่า ระบบส่งต่อมันควรจะอยู่บน cloud แล้วให้ผู้ป่วยอนุญาตไม่ว่าจะด้วยวิธี แพทย์ รพ.ใหม่ก็สามารถรู้ข้อมูลหมด ถามว่าทั้งหมดนี้ทำได้ไหม ทำได้ ถ้าพบว่าค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขปีนึง 1.6-1.7 แสนล้านบาท พอๆ กับธนาคารใหญ่ๆ แห่งหนึ่งเลย ทำระบบอย่างนี้ มันต้องทำแล้ว ไม่ใช่ปล่อยแบบนี้

สุดท้าย การปฏิรูป รพ. ก็ต้องกลับมาทำอย่างไรให้ รพ.มีความตล่องตัวในการบริหารจัดการ ผมยกตัวอย่าง รพ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาครอยู่เสมอ จนอายตัวเอง 18 ปีผ่านไปแล้ว ทำไมมีแค่ 1 แห่งเท่านั้น หรือถ้ายังไม่พร้อมก็ต้องปฏิรูประบบบริหารอย่างจริงจังอย่างเช่น รพ.ด่านมะขามเตี้ย หรือทำอย่างไรให้ประชาชนมามีส่วนร่วมในการรักและสร้าง รพ.ของเขาได้ ให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของ ต้องกระจายอำนาจมากที่สุดเท่าที่ทำได้ กระทรวงสาธารณสุขไม่ควรจะสั่งการจากยอดปิรามิด คุณไม่มีทางจะรู้เรื่องของทุก รพ.หรอก กระจายอำนาจเข้าไปเท่าที่ควรจะเป็น

ถ้าแก้ปัญหาทั้ง 3 เรื่องนี้ได้ ที่สุดแล้วพี่ตูน (อาทิวราห์ คงมาลัย นักร้องชื่อดัง) จะไม่ต้องออกมาวิ่งอีกหรือเปล่า เพราะเงินงบประมาณต่างๆ ก็จะมีเพียงพอ

ผมเชื่อว่างบประมาณที่มีอยู่ ถ้าใช้อย่างเหมาะสมมันจะเพิ่มไม่มาก แต่แน่นอนว่าต้องคู่กับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างเหมาะสมด้วย ทำอย่างไรจะป้องกันมะเร็งได้ อย่างตอนนี้มันมีหลักฐานพิสูจน์ว่าน้ำตาลมันอันตรายต่อสุขภาพ แล้วทำอย่างไรจะรณรงค์ให้ไม่กินหรือกินให้น้อยที่สุด หรือแม้แต่การรณรงค์ให้เราเตรียมตัวตายอย่างมีสติอย่างไร เพราะมีตัวอย่างจากต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของคนๆ หนึ่ง ครึ่งหนึ่งของทั้งหมดจะใช้ในช่วง 6 เดือนสุดท้ายของชีวิต เพราะช่วงสุดท้ายของชีวิต ใช้จ่ายเยอะมาก การพูดเรื่องเตรียมตัวตายอย่างมีสติเริ่มมีมากขึ้นว่าคุณไม่ควรจะตายใน ICU ท่ามกลางคนแปลกหน้า โดยมีสายระโยงระยาง ถ้าหากคุณรู้ว่านี่คือวาระสุดท้ายของชีวิต เช่นสมมุติคุณเป็นมะเร็ง คุณก็ไม่ต้องอยู่ รพ.หรอก เพราะรู้ว่าสักวันหนึ่งก็ตาย อยู่ภายใต้ภาวะที่เราคุ้นเคย ใกล้ชิดคนที่เรารักไม่ดีกว่าหรือ เพราะฉะนั้นค่าใช้จ่ายเหล่านี้ มันก็จะหายไปจำนวนหนึ่ง แน่นอนผมเอง วันที่ผมตาย ก็ไม่ควรจะอยู่ รพ. สิ่งที่ผมฝันอยากเห็นคือวันที่ผมตายคือหลับไปเฉยๆ ทุกคนควรจะเป็นอย่างนั้น ถ้าเราดูแลสุขภาพได้ดี แต่แน่นอนมันต้องควบคู่ไปกับเรื่องอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ 30 บาทเท่านั้น

ถามว่าพี่ตูนจะต้องมาวิ่งอีกไหม งบ 30 บาทเป็นงบสำหรับการรักษาพยาบาล แต่ไม่ใช่งบของการลงทุน เหมือนเราซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทเอกชน เขาก็จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้เรา รพ.ก็รับเงินไป โอเค บริษัทประกันก็กันงบไว้ลงทุนต่อ แต่ 30 บาท ไม่ได้กันงบไว้ลงทุนต่อ เอาไปใช้จ่ายทั้งหมด ฉะนั้นงบของ สปสช.มีไว้สำหรับการรักษาพยาบาล แต่ไม่ได้ครอบคลุมสำหรับการลงทุน

ถ้าถามว่ารัฐบาลควรจะต้องลงทุนใน รพ.ไหม ก็ต้องลงทุน ทำไมเราลงทุนซ่อมทางได้ทุกๆ ปี หลายหมื่นล้าน เราลงทุนสร้างรถไฟฟ้าสายหนึ่ง 8 หมื่นล้านบาท แต่ทำไมเราลงทุนกับ รพ.บ้างไม่ได้เหรอ ทำไมต้องปล่อยให้พี่ตูนมาวิ่ง และอย่าเอางบลงทุนมาผูกกับงบหลักประกันสุขภาพ

ซึ่งปัจจุบันงบลงทุนใน รพ.ถือว่าเพียงพอหรือไม่

ปัจจุบัน รพ.ต่างๆ ไม่ได้ลงทุนมาสักระยะหนึ่งแล้ว ผมเห็นด้วยว่าควรจะต้องลงทุน ซึ่งอาจจะทำแบบค่อยเป็นค่อยไปได้ เราลงทุนรถไฟความเร็วสูง 2 ล้านล้าน 3 ล้านล้าน ถ้าเอางบมาลงทุนกับ รพ.แค่ 1 แสนล้านได้ไหม หรือถ้าเรากระจายอำนาจไป ผมเชื่อว่ายังมีเงินในมือประชาชนอีกเยอะ เขารู้สึกเป็นเจ้าของ และต้องพึ่งพา เขาก็จะบริจาคเงินให้กับ รพ.

ที่ผ่านมา นโยบาย 30 บาท ถูกวิจารณ์เยอะ และมีความพยายามของผู้มีอำนาจบางกลุ่มในการยกเลิก แต่เหตุที่ยังยกเลิกไม่ได้ คุณหมอมองว่าเป็นเพราะอะไร

เหตุผลที่อยากยกเลิกคืออะไร ไม่ใช่เรื่องปรัชญา ไม่ใช่เรื่องงบประมาณ มันเรื่องการเมือง ผลประโยชน์ และจุดยืน

อย่างที่ผมบอกว่า ทุกพรรคการเมืองอยากจะมีนโยบายอย่างนี้ เพื่อจะสร้างเป็นตำนานของพรรคการเมืองของตัวเอง เพราะถ้ามีตำนานอย่างนี้เมื่อไร คุณหาเสียงกี่ครั้งก็มี handicap ไม่ต้องพูดอะไรมาก คนก็เชื่อถือคุณ ถ้าปล่อยให้ handicap นี้ยังอยู่กับพรรคไทยรักไทยหรือพรรคที่สืบสานต่อ การหาเสียงแข่งมันยาก ยกเว้นแต่คุณมีนโยบายอะไรที่ดีกว่า ซึ่งการจะทำให้แข่งได้ คือล้มนโยบายที่เป็นตำนาน หรือสร้างนโยบายแข็งแรงกว่า ซึ่งล้มนโยบายมันง่ายกว่า (หัวเราะ)

คุณหมอฟันธงชัดว่าการเมือง

การเมือง งบประมาณไม่มีปัญหาเลย นอกนั้นก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ เพราะการที่มี 30 บาท มันไปกระทบกับผลประโยชน์ของบริษัทยาบางแห่ง ไม่ใช่ทุกแห่ง บริษํทที่ขายยาเกินราคา ย่อมไม่ชอบ 30 บาท เพราะการมีระบบที่มาประมูลหรือมีข้อมูลมากมาย มันทำให้เสียประโยชน์

หรือเรื่องจุดยืน ก็จะมีคำถามว่า ทำไมต้องให้ คนพวกนี้ไม่ได้เสียภาษีเท่าฉัน ทำไมต้องได้สิทธิประโยชน์เท่ากับฉัน ซึ่งคุณไม่ได้คิดว่าตกลงภาษีมันมาจากไหน ถ้าไม่มีคน 40 กว่าล้านคนเป็นผู้บริโภค แล้วพวกคุณจะทำธุรกิจต่างๆ ได้หรือ หรือภาษีจาก VAT ฉะนั้นอย่ามาพูดเลยว่าคุณเสียภาษีมากกว่า เพราะไม่จริง คุณเพียงแต่มีโอกาสมากกว่าเท่านั้นแหล่ะ หรือคนที่ออกมาพูดมักจะเป็นคนที่ระบบประกันสุขภาพแบบอื่น เช่น สวัสดิการข้าราชการหรือประกันสังคม มาใช้อย่างนี้จะล่มจม ถ้าเช่นนั้นให้ร่วมจ่ายทุกระบบไหม เอาไหม ไม่มีใครเอา และถ้าดูจริงๆ อย่างประกันสังคม รัฐก็ร่วมจ่ายให้คุณด้วย 2.5% หรือระบบสวัสดิการข้าราชการ ที่อ้างว่าข้าราชการได้เงินเดือนน้อย ถามว่าวันนี้ได้น้อยจริงไหม ความมั่นคงก็มากกว่าเอกชนที่ไม่รู้วันไหนจะตกงาน

จากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนำนโยบาย 30 บาท ไปขายบนเวทีโลก ทำให้เห็นว่าท่าทีของเจ้าตัวเปลี่ยนไปไหม หรือเป็นเพียงแค่ตกกระไดพลอยโจรเฉยๆ นโยบายนี้ยังจะถูกตั้งคำถามอยูไหมภายใต้นายกฯ คนปัจจุบัน

การที่ 30 บาทได้รับการยกย่องจากนานาชาติ จากนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ส่วนหนึ่งเกิดจากสิ่งที่เราทำ มันเป็นสิ่งที่ทะเยอทะยานสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เราน่าจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่ทำเรื่องนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่เคยคิดมาก่อน นับแต่ปี 2544 ก็มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ มาเก็บข้อมูล มีคนมาสัมภาษณ์ผมและหลายๆ คนเขียนเป็นตำราเรื่องระบบสวัสดิการถ้วนหน้าในไทยและเกาหลีใต้ ฉะนั้นโดยระบบ มันถูกต้องและดี แต่การจะให้คนยกย่องยอมรับก็ต้องมีการตีฆ้องร้องป่าว ซึ่งก็มีคนสำคัญหลายๆ คนในระบบสาธารณสุขไทยไปช่วยกันตีฆ้องร้องป่าว เช่น นพ.สุวิทย์ วิบูลย์ผลประเสริฐ ที่ทำงานกับ WHO และประชุมเยอะ ก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนข้อมูลให้ WHO ซึ่งผมว่าเขาก็ได้แรงบันดาลใจจากไทยถึงกับประเทศให้วันที่ 12 ธันวาคม เป็น ‘วันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ ของโลก ฉะนั้นบทบาทนี้ผมชื่นชมและเท่ากับเป็นการปักธงเรื่องหลักประกันสุขภาพของไทยว่า มาวันนี้คนทั้งโลกยอมรับ เราจะต้องเดินหน้าต่อไป เราจะถอยหลังไม่ได้

การไปพูดในที่ประชมยูเอ็นของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นผลพวงจากการได้ไปตีฆ้องร้องป่าวก่อนหน้านี้ ในฐานะนายกฯ ไม่ว่าจะ พล.อ.ประยุทธ์หรือคนอื่นๆ ก็ต้องไปพูดแสดงความมั่นใจว่าสิ่งที่เราทำ เราจะเดินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน

ถามว่ากลับมายังจะมีเสียงบ่นอีกไหม ผมคิดว่าเสียงบ่นแบบเดิมอาจจะไม่มี และการสนับสนุนอะไรต่างๆ เนื่องจากตอนนี้เป็นรัฐบาลผสม และเท่าที่สัมผัส รมว.สาธารณสุขก็ตั้งใจจริงให้ระบบต่างๆ เดินหน้าต่อไปได้ แต่มันก็อาจะมี fake news ออกมาพูดว่า สมัยก่อนมีปัญหามากมาย 4-5 ปีนี้มาแก้ปัญหา ซึ่งผมบอกว่าไม่ใช่ 4-5 ปีที่ผ่านมา มันหยุดชะงัก และถอยหลังนิดหนึ่งด้วยซ้ำไป ฉะนั้นอย่างสร้าง fake news เลย ใครทำอะไรไว้แล้วดี ก็ต้องยกให้เป็นเกียรติประวัติของเขา อย่าไปลบเลือนประวัติศาสตร์เลย แต่สิ่งที่ควรทำมากกว่าคือทำให้มันดีกว่า ให้มันดีขึ้น และคนก็จะจดจำว่าในยุคของคุณ คุณทำให้มันขยับก้าวหน้ามากกว่าเดิม แต่ไม่ใช่การไปบอกว่าของเก่ามีปัญหา ทั้งที่มันไม่ใช่ความจริง

ถ้าพูดถึง 30 บาท ถือเป็นนวัตกรรมเมื่อ 18 ปี จนถึงทุกวันนี้มันยังใช้ได้อยู่หรือไม่ และมีนโยบายอื่นด้านสาธารณสุขจะมาแทนได้ไหม

โดยปรัชญาของ 30 บาทถูกต้องและท้าทายกาลเวลา จะเป็น 10 ปี หรือ 100 ปี ปรัชญานี้ก็ยังถูกต้อง คือทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ ไม่ใช่อีก 100 ปี ทุกคนไม่ควรมี ไม่ใช่ แต่ถามว่าวิธีการปฏิบัติมันแปรเปลี่ยนไปตามสังคมที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป พฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป

สิ่งที่ทำเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ก็เหมาะสมเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ถ้ายกสิ่งที่ทำเมื่อ 18 ปีที่แล้วมาทำ มันก็ล้าสมัย มันถึงต้องมีการพัฒนาตามลำดับ เพียงแต่มันยังไม่ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ผมยกตัวอย่างถ้าเราจะเดินทางจาก กทม.ไปเชียงใหม่ ก่อนหน้านี้เราเดินทางโดยรถไฟ แต่ ณ ปีนี้เรายังต้องไปด้วยรถไฟอยู่ไหม ไม่ใช่ เราควรจะใช้รถไฟความเร็วหรือเครื่องบินไหม หรือจะใช้ starship ของอีลอน มัสก์ ขึ้นจาก กทม.มาถึงเชียงใหม่ใน 15 นาที

มันจึงไม่ใช่บอกว่าสิ่งที่ทำเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ทิศทางมันผิด เพราะทิศทางมันถูกต้อง แต่ถามว่ามันต้องปรับปรุงอีกมากไหม ต้อง ยิ่งเทคโนโลยียิ่งเอื้ออำนวยเท่าไร ยิ่งจะทำให้เราทำได้ดีขึ้น อาจจะด้วยเงินน้อยลงด้วยซ้ำไป ผมว่าบุคลากรในวงการสาธารณสุขหลายๆ อย่างอาจทดแทนด้วยเทคโนโลยีได้ ไม่ว่าจะเรื่อง IT หรือการจัดคิว

ถามว่านโยบายอะไรใหม่นอกจากสาธารณสุขที่ควรจะทำอีก ถ้าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นความฝันใหญ่ที่ยังเป็นตำนาน และยังจะเป็นตำนานตลอดไป เรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อป้องกันโรค ที่ผ่านมามันยังไม่ breakthrough ที่ชัดเจน การเกิดขึ้นของ สสส.ก็ดี การมี สช.ก็ดี มันไม่ได้สร้างอะไรที่ breakthrough พลิกหน้ามือเป็นหลังมือได้ ฉะนั้นมันควรจะมีอะไรที่ทำให้คนมีสุขภาพดีแบบจริงๆ จังๆ ได้ ป้องกันโรคได้ สุดท้ายอย่างที่บอกคือ มีสุขภาพดีจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตได้ แต่การทำเช่นนั้นได้มันยากมาก เพราะมันต้องไปเชื่อมโยงกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม เศรษฐสถานะของแต่ละคน รวมถึงระบบการศึกษา ซึ่งเรื่องนี้ใหญ่และยากกว่า 30 บาทด้วยซ้ำไป

ฉะนั้น ถ้าใครจะสร้างตำนานบทใหม่นอกจาก 30 บาท ควรจะสร้างสังคมใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ระบบการศึกษา

ถ้าหากใครอยากจะสร้างนโยบายขึ้นมาแข่งกับ 30 บาท ที่ผมเห็นเร็วๆ คือ disrupt ระบบการศึกษาใหม่ทั้งหมด ที่ถ้าทำได้จริง คนอาจจะพูดถึงมากกว่า 30 บาทด้วยซ้ำไป เพราะคุณใช้เงินกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี แล้วการศึกษาไทยเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ผมมีคำตอบอยู๋ในใจแล้วแต่ไม่พูด (หัวเราะ)

อย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะเป็นนโยบายใหม่พลิกโครงสร้างได้ไหม

(ตอบเร็ว) ไม่! ยิ่งบอกว่าจะมาแทน 30 บาท เป็นไปไม่ได้เลย เพราะเขาแจกเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ผู้ที่ไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เขาไม่มีสิทธิหรือ บัตรนี้จะย้อนยุคไปสู่หลายสิบปีก่อนที่เรียกว่าบัตรผู้มีรายได้น้อย หรือบัตรอนาถา

Photo by Asadawut Boonlitsak

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0