โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ที่แท้ประวัติศาสตร์มีมาแล้ว อาจารย์อัษฎางค์ ยมนาค เล่า"เมืองอู่ฮั่น"เคยเกิดโรคระบาดสมัย"สามก๊ก" จน"โจโฉ" ต้อง"แตกทัพเรือ"

ไทยโพสต์

อัพเดต 25 ม.ค. 2563 เวลา 13.24 น. • เผยแพร่ 25 ม.ค. 2563 เวลา 12.27 น. • ไทยโพสต์

 

25ม.ค.63-อาจารย์อัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ได้โพสต์เฟสบุ๊ก@Atsadang Yommanak หัวข้อ"ประวัติศาสตร์โรคระบาดในเมือง“อู่ฮั่น'ที่คุณ…อาจไม่เคยรู้ " ดังนี้

ประวัติศาสตร์โรคระบาดในเมือง“อู่ฮั่น' ที่คุณ…อาจไม่เคยรู้

เมื่อราว 17 ศตวรรษที่ผ่านมา โจโฉเคยพ่ายศึกผาแดง ด้วยโรคระบาดในเมืองอู่ฮั่น เมืองเดียวกันกับที่กำลังเกิดโรคระบาด ที่กำลังระบาดไปทั่วโลกอยู่ในขณะนี้

…………………………………………………………………. ไวรัสโคโรน่าคร่าชีวิตชาวจีนในอู่ฮั่นถึง 41 ราย และกำลังระบาดไปทั่วโลก มีรายงานว่าราว 1,300 คนทั่วโลกติดเชื้อแล้ว

เมืองอู่ฮั่น อยู่ในมณฑลหูเป่ย มีพื้นที่ 8,467.11 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,000 ปี และเมืองที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในสมัยสามก๊ก

…………………………………………………………………. เหตุการณ์ตอนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากในประวัติศาสตร์ยุค สามก๊ก คือ”ศึกผาแดง” หรือในสามก๊กภาคภาษาไทยเรียกว่า “โจโฉแตกทัพเรือ”

เล่าว่า หลังจากเล่าปี่ทิ้งเมืองซินเอี๋ยและห้วนเสีย อพยพราษฎร์หนีการตามล่าของทัพโจโฉไปที่เมืองแฮเค้าที่เล่ากี๋ครองอยู่ จากนั้นจึงส่งขงเบ้งไปเจรจากับซุนกวนให้ร่วมกันทำศึกกับโจโฉ

กองทัพของโจโฉเป็นทหารจากภาคเหนือ เมื่อลงใต้ไม่คุ้นเคยอากาศ จึงล้มป่วย รวมทั้งทหารที่เคยรบบนหลังม้า เมื่อต้องอยู่ในเรือเจอคลื่นโคลงเคลงก็เมาคลื่นจนหมดสภาพ

โจโฉจึงคิดแก้ปัญหาเรือโคลงด้วยการใช้โซ่เหล็กยึดกองเรือไว้ด้วยกัน เพื่อแก้ปัญหาทหารเมาคลื่น แต่ผลเสียที่โจโฉคิดไม่ถึงคือ เรือรบทุกลำสูญเสียอิสระภาพในการเคลื่อนไหว

อุยกายมองเกมส์ทะลุ จึงเสนอจิวยี่แม่ทัพใหญ่ว่า น่าจะฉวยโอกาสนี้โจมตีกองเรือโจโฉด้วยการจุดไฟเผา

โดยอุยกายออกอุบายว่า เกิดความเห็นขัดแย้งกับจิวยี่จนแตกหัก แล้วอุยกายจึงติดต่อขอไปสวามิภักดิ์กับโจโฉ

โดยอุยกายล่องเรือที่ขนหญ้าแห้งราดน้ำมัน ที่พร้อมจุดไฟเผา แล่นเข้าไปหากองทัพเรือ

ในขณะที่ขงเบ้งสร้าง “ศาลาเจ็ดดาว” ทำพิธี “เรียกลม เรียกฝน”จนลมพายุมาช่วยโหมเผาทัพเรือโจโฉจนพ่ายแพ้ยับเยิน

ทำให้หน้าผาบริเวณนี้ปรากฏเป็นสีแดงเพลิงไปทั่วทั้ง เป็นที่มาของชื่อ 'ผาแดง'

…………………………………………………………………. ซึ่งในนิยายนั้น สร้างภาพให้ขงเบ้งเป็นจอมขมังเวทย์ที่มีวิชาที่ติดต่อกับเทวดา เพื่อช่วยเรียกฟ้าเรียกฝน

แต่ในยุคปัจจุบันมีคนวิเคราะห์ว่า ในเหตุการณ์จริงนั้น ขงเบ้งคงใช้วิชาโหราศาสตร์ ที่สามารถคำนวณดวงดาว และสามารถพยากรณ์สภาพอากาศ จนรู้ว่าจะเกิดลมเปลี่ยนทิศ จนนำไปสู่ไฟที่ถูกลมโหมพัดกระหน่ำจนกองทัพเรือของโจโฉ จนทำให้ผานั้น แดงไปด้วยเพลิงไฟ จนเป็นที่มาของชื่อ “ศึกผาแดง”

…………………………………………………………………. แต่ในพงศาวดารยุคสามก๊ก บันทึกเอาไว้ว่า

พงศาวดารสามก๊ก ภาคจ๊กก๊ก บทประวัติเล่าปี่เล่าว่า

“ซุนกวนส่งจิวยี่และเทียเภาส่งทัพเรือนับหมื่นร่วมกําลังกับเล่าปี่ รบกับโจโฉที่เซ็กเพ็ก เผาทัพเรือโจโฉจนแตกพ่ายยับเยิน”

ส่วนพงศาวดารสามก๊ก ภาควุยก๊ก บทประวัติโจโฉ ไม่มีเรื่องการโจมตีด้วยไฟ แต่บอกว่า เกิดโรคระบาด

“โจโฉยกทัพถึงเซ็กเพ็ก รบเล่าปี่ ไม่ได้เปรียบเพราะเกิดโรคระบาด ไพร่พลตายมาก จึงยกทัพกลับ”

รวมทั้งตัวโจโฉเองก็ไม่ยอมรับ ว่าแพ้เพราะถูกโจมตีด้วยไฟ

และพงศาวดารสามก๊ก ภาคง่อก๊ก บทประวัติจิวยี่ บันทึกไว้ว่า หลังจากศึกเซ็กเพ็กแล้ว โจโฉเขียนจดหมายถึงซุนกวน โดยมีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า

“คราวศึกเซ็กเพ็ก เกิดโรคระบาด ข้าจึงเผาเรือถอยทัพกลับเอง”

…………………………………………………………………. จากบันทึกในพงศาวดาร จะเห็นได้ว่า เกิดโรคระบาด ที่คร่าชีวิตทหารในกองทัพเรือของโจโฉ

เป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นในเมือง”อู่ฮั่น”

เมืองที่ในอีก 17 ศตวรรษต่อมา กำลังเกิดโรคระบาด ที่กำลังระบาดไปก็ทั่วโลก

…………………………………………………………………. หมายเหตุ เล่าสู่กันฟังด้วยสาระของพงศาวดาร และบันเทิงจากนิยาย พร้อมผูกเรื่องเข้ากับเหตุการณ์ในปัจจุบัน อย่าได้จริงจังคิดมาก ถือว่าอ่านเพลินๆ กับความบังเอิญที่อาจจะไม่บังเอิญ

อัษฎางค์ ยมนาค รวบรวม เรียบเรียง

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0