โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

'ทิม พิธา' เขียนไดอารี่พ่อลูกอ่อน : สิ่งที่พ่อ-แม่ต้องเผชิญช่วงโควิด 19 พร้อมฝากข้อเสนอ-ผ่าปัญหาการศึกษา

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 04 เม.ย. 2563 เวลา 12.43 น. • เผยแพร่ 04 เม.ย. 2563 เวลา 12.34 น.
ทิมมม

4 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์แฟนเพจเฟสบุ๊คสิ่งที่พ่อ-แม่ต้องเผชิญในช่วงโควิด 19

[ ไดอารี่พ่อลูกอ่อน : สิ่งที่พ่อ-แม่ต้องเผชิญในช่วงโควิด 19 ]
.
ในวิกฤตโควิด 19 มีเรื่องบังเอิญที่คล้ายเป็นโชคดีเล็กๆ อยู่เรื่องหนึ่งครับ นั่นคือจังหวะที่สถานการณ์เริ่มรุนแรงขึ้นนั้นตรงกับช่วงปิดเทอมใหญ่ของเด็กๆ พอดี คำสั่งหลายอย่างที่ออกมาจึงไม่กระทบต่อเด็กๆ โดยตรง ทั้งยังเป็นช่วงที่ผู้ปกครองก็คงได้เตรียมพร้อมเอาไว้แล้ว เพราะเป็นวงรอบแห่งความสุขระคนความปวดหัวที่วนมาเป็นปกติในแต่ละปี
.
แต่สิ่งที่แตกต่างไปในปิดเทอมนี้คือ เราแทบไม่สามารถพาพวกเขาออกไปเที่ยวเล่นหรือเรียนรู้นอกบ้านได้เลย การเล่นสนุกสนานตามวัยกับเพื่อนๆ แถวบ้านก็ทำไม่ได้ตามปกติ หรือถึงแม้ว่าบางคนอาจจะได้ Work from home ทำให้มีเวลาได้อยู่กับลูกมากขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเรื่องง่ายเลย เพราะพวกเขายังจะต้องทำงานไม่ให้ขาดตกบกพร่องเหมือนอยู่ในที่ทำงานไปพร้อมๆ กับการเป็นพ่อ เป็นแม่ และเป็นเพื่อนในคราวเดียวกัน ในการประชุมออนไลน์ของพรรค เพื่อนๆ ส.ส.คงจะได้ยินเสียงลูกสาวผม น้องพิพิม แทรกเข้ามาเป็นระยะๆ ต้องขออภัยด้วยครับ ปิดไมโครโฟนไม่ค่อยจะทัน
.
ผมก็คงเหมือนกับทุกๆ คนที่คาดหวังให้วิกฤตโควิด 19 คลี่คลายได้เร็ววัน เมื่อเปิดเทอม เด็กๆ จะได้กลับไปโรงเรียน ไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากคุณครูและไปเล่นกับเพื่อนๆ ได้อีกครั้ง ผู้ปกครองก็จะมีเวลามากขึ้นในการบริหารจัดการงานและเรื่องส่วนตัวต่างๆ แต่จากแนวโน้มที่การคาดการณ์กันดูเหมือนว่าจะไม่เป็นอย่างนั้น ทิศทางที่ออกมาค่อนข้างตรงกันก็คือ เราจะต้องอยู่ในสถานการณ์นี้ไปอีกระยะหนึ่งครับ ดังนั้น นอกเหนือจากมาตรการทางสาธารณสุขและมาตรการทางเศรษฐกิจที่มีออกมาแล้ว ผมคิดว่า การวางแผนสำหรับเด็กๆ ซึ่งก็คืออนาคตของพวกเราก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน
.
เวลานี้หลายประเทศเริ่มนำแนวทางการเรียนที่บ้านมาใช้ สำหรับผมมองเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกสองแบบ แบบแรกคือ แม้เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ก็เป็นโอกาสดีที่จะลองเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนแบบเดิมๆ ไปสู่สิ่งที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมและเทคโนโลยีและสอดคล้องกับวิธีคิดและตัวตนของเด็กๆ ในยุคปัจจุบันมากขึ้น ส่วนความรู้สึกแบบที่สองก็คือ ความกังวลถึงความไม่พร้อมอันสืบเนื่องมาจากความเหลื่อมล้ำขั้นรุนแรงที่ยังปรากฏอยู่ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ถาโถมมาท่ามกลางปัญหาเดิมที่ฝังรากลึกและยังไม่ถูกแก้ไขซึ่งอาจกลายเป็นการซ้ำเติมปัญหาลงไปอีกก็ได้
.
ปิดเทอมใหญ่นี้ ผมมีเวลาได้อยู่กับลูกมากขึ้นเพราะผมเองก็ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมทางเมืองมากเหมือนในสถานการณ์ปกติ ช่วงนี้ผมจึงได้ใช้เวลากับลูกสาวเกือบทั้งวัน มีความสุขเมื่อเห็นเขายิ้มและหัวเราะ ได้ปลอบโยนเมื่อเขาร้องไห้งอแง ผมสนุกกับการได้ตอบคำถามของเจ้าเด็กขี้สงสัยตลอดทั้งวัน ที่สำคัญคือผมเชื่อว่าได้รู้จักกับตัวตนของเขามากขึ้น เข้าใจเขามากขึ้น และพร้อมจะสนับสนุนในทุกเส้นทางที่เขาจะเดินต่อไปจากนี้เมื่อเติบโตขึ้น ผมจึงไม่สงสัยเลยว่าการเรียนที่บ้านมีด้านที่ดีมากของมัน และบางครอบครัวอาจปรับมาในแนวทางนี้ได้ หากหลักสูตรมีความพร้อม มีความเข้าใจระหว่างโรงเรียน ครู พ่อ แม่ นักเรียน และมีการสนับสนุนในบางด้านจากรัฐครับ
.
อย่างไรก็ตามการเรียนที่บ้านก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีข้อจำกัด เพราะมีอีกหลายครอบครัวเช่นกันที่พ่อแม่อาจมีภาระมากมายที่แบกไว้ ทำให้ไม่สามารถแบ่งเวลามาสอนหรือทำให้เด็กๆ มีสมาธิกับการเรียนได้เต็มที่เหมือนครูที่โรงเรียน หรือพ่อแม่เองก็อาจไม่เข้าใจในบางเรื่องที่เด็กจะต้องการความรู้ที่จริงจังขึ้นตามวัย และความสนใจของเขา อีกทั้งการเรียนที่บ้าน ยังต้องมีเวลาพอในการวางแผนการสอนซึ่งเป็นงานที่หนักมากเช่นกัน จึงไม่ง่ายเหมือนกันครับที่ทุกครอบครัวจะใช้แนวทางนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ แม้ว่าเทคโนโลยีจะเอื้ออำนวยก็ตาม และอีกสิ่งที่สำคัญก็คือ สุขภาพจิตของลูกที่จะไม่สามารถออกไปเรียนรู้โลกข้างนอกได้อย่างเต็มที่ ไม่ได้ใช้ชีวิตหรือเรียนรู้จากการที่จะต้องอยู่นอกสายตาพ่อแม่และเผชิญปัญหาด้วยตัวเองบ้าง เพื่อให้เขาได้เติบโตต่อไปอย่างแข็งแรง มีทักษะชีวิตที่แกร่งพอจะเผชิญสิ่งต่างๆ ข้างนอกได้ด้วยตนเอง
.
นอกจากนี้ครับ หากมองออกไปไกลกว่ากรุงเทพหรือหัวเมืองใหญ่ๆ จากประสบการณ์ช่วงที่ผมเดินทางไปตามจังหวัดต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินและการเกษตรเพื่อจัดทำเป็นนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ปีก่อน ด้วยสายตาที่เป็นจริง ผมมองเห็นความเหลื่อมล้ำที่ยังปรากฏชัด ไม่ว่าอย่างไร การเรียนที่บ้านจำเป็นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีการสื่อสาร เครื่องมือและอุปกรณ์ หลายชุมชนหมู่บ้านยังมีปัญหาน้ำประปาไหลกะปริบกะปรอยหรือไฟฟ้าติดๆ ดับๆ คงยากที่จะไปต่อถึงการมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่แรงพอหรือมีอุปกรณ์ส่งเสริมการเรียนในทุกๆ บ้าน
.
อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้จำเป็นต้องมีการขบคิดต่อโดยเร็วว่า เด็กๆ จะเข้าถึงการเรียนรู้ได้อย่างอย่างในสถานการณ์เช่นนี้ ในเมืองใหญ่ที่มีเด็กจำนวนมากอาจใช้การสลับวันกันเรียนควบคู่กับการเรียนออนไลน์ได้หรือไม่ ในโรงเรียนและห้องเรียนควรมีการจัดสิ่งแวดล้อมใหม่ เช่น การจัดระยะห่างที่นั่งในห้องเรียนให้มากขึ้น การเพิ่มจุดทำความสะอาดไม่ว่าอ่างล้างมือ เจลล้างมือ ในทำได้ง่ายขึ้น การเพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดจุดที่มีการจับต้องบ่อยๆ สำหรับในต่างจังหวัดระดับชุมชน อาจกระจายจุดออนไลน์การเรียนการสอนไปตามกลุ่มบ้านควบคู่กับการมาโรงเรียน การส่งงาน หรือมีกิจกรรมบ้างเล็กๆ น้อยๆ บ้างตามสมควร
.

ผมคิดว่าเหล่านี้เป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้น ว่าพอจะเป็นไปในทิศทางไหนได้บ้างเท่านั้น ส่วนจะใช้วิธีการใดเรายังมีเวลาอีกประมาณหนึ่งเดือนครึ่งก่อนเปิดเทอมที่จะวางแผนในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งสิ่งสำคัญก็คือรัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรเริ่มต้นคิดกันเสียแต่ตอนนี้ หากต้องลงทุนเพื่อจัดการรองรับในด้านใดบ้างก็ต้องเร่งทำแผนออกมาเพื่อวางแผนงบประมาณ เพราะหากไปทำกันในช่วงใกล้ๆ โดยที่ยังเตรียมการในหลายด้านไม่พร้อม หากยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน พ่อ แม่ หรือผู้ปกครองส่วนใหญ่ซึ่งมีข้อจำกัด ก็คงกังวลไม่น้อยเลยครับ

[ ไดอารี่พ่อลูกอ่อน : สิ่งที่พ่อ-แม่ต้องเผชิญในช่วงโควิด 19 ] . ในวิกฤตโควิด 19 มีเรื่องบังเอิญที่คล้ายเป็นโชคดีเล็กๆ…

โพสต์โดย Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อ วันเสาร์ที่ 4 เมษายน 2020

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0