โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

Circular Economy เศรษฐกิจหมุนเวียน ....ช่วยโลกและโอกาสเพื่อธุรกิจยั่งยืน

Wealthy Thai

อัพเดต 22 ส.ค. 2564 เวลา 22.34 น. • เผยแพร่ 22 ส.ค. 2564 เวลา 22.35 น. • ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน 1

 Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน กำลังถูกผลักดันอย่างจริงจังทั้งจากภาครัฐและภาคธุรกิจในการนำมาแทนที่ระบบเศรษฐกิจแบบเดิม (Linear Economy) ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการ “ใช้ (ทรัพยากร) – ผลิต – ทิ้ง” (Take-Make-Dispose)ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจต้องกลับมาทบทวนกระบวนการดำเนินงานของตนเองและเตรียมพร้อม เพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับแนวทางของ Circular Economy
Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งให้ความสำคัญกับการเลือกใช้วัสดุ การออกแบบ ผลิตภัณฑ์ การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในกระบวนการที่เกี่ยวข้องตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เพื่อทำ ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และนำมาสู่การปราศจากของเสียและมลพิษตลอดทั้งกระบวนการของสินค้าและบริการ

ทำไมธุรกิจต้องให้ความสำคัญกับ Circular Economyเพราะโลกเราไม่ได้มีทรัพยากรทางธรรมชาติเหลือเฟืออีกต่อไปแล้ว โลกไม่สามารถสร้างทรัพยากรได้ทันเท่ากับที่เราใช้ไป รวมทั้งเมื่อเราผลิตและบริโภคโดยไม่ให้ความสำคัญการใช้ทรัพยากร ก็ก่อให้เกิดปัญหาขยะซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดมลพิษของน้ำ มลพิษของดิน และมลพิษของอากาศ ส่งผลต่อเสียต่อระบบนิเวศน์ หากเผาทำลายไม่ถูกวิธีก็จะก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกส่งผลต่อภาวะโลกร้อนไปด้วย
SCG Circular way ระบุว่า “เศรษฐกิจหมุนเวียน หมายถึง ระบบอุตสาหกรรมที่วางแผนและออกแบบมาเพื่อคืนสภาพหรือให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่าง ๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ แทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค เศรษฐกิจหมุนเวียนนำวัสดุที่เป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ หมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสีย นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความสมดุลในการดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้งานใหม่ ควบคู่ไปกับการสร้างระบบและการออกแบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบภายนอก (externalities) เชิงลบ เราจึงมักเห็นเศรษฐกิจหมุนเวียนใช้พลังงานทดแทน หรือขจัดการใช้เคมีภัณฑ์ที่เป็นพิษซึ่งเป็นอุปสรรคของการนำวัสดุต่าง ๆ มาใช้อีกครั้งหากจะส่งสสารนั้นกลับสู่ธรรมชาติ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบนี้ คือ การออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ และโมเดลทางธุรกิจใหม่ที่ต้อง ‘คิด’ ไม่เหมือนเดิมเพื่อสร้างนวัตกรรม”
ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวสู่ Circular Economy ได้โดยเริ่มจากการทบทวนห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ของตนเอง การกำหนดวิสัยทัศน์ของธุรกิจในการตอบสนองต่อ Circular Economyและเรียนรู้ในการนำโมเดลธุรกิจและเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปประยุกต์ใช้ได้
ตัวอย่างโมเดลธุรกิจที่ถูกกล่าวถึงและมีการนำมาใช้แล้วเพื่อส่งเสริม Circular Economy เช่น
Circular Design  มุ่งเน้นการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการใช้งานยาวนาน ผู้ใช้สามารถซ่อมแซม อัพเกรด ปรับปรุง หรือตกแต่งใหม่ได้ รวมถึงออกแบบให้เอื้อต่อการนำผลิตภัณฑ์ไปรีไซเคิลได้ง่ายหลังจากที่ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว ซึ่งโมเดลธุรกิจในรูปแบบนี้ต้องอาศัยการวางแผนเชิงกลยุทธ์ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าเพื่อเพิ่มโอกาสในการนำผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนของผลิตภัณฑ์ไปใช้ซ้ำให้ได้มากที่สุด
Circular Supplies เป็นการนำวัสดุจากการรีไซเคิล วัสดุชีวภาพ (Bio-based materials) และวัสดุที่สามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมดมาใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเพื่อลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตและลดการเกิดของเสีย ตลอดจนการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต ปัจจุบัน โมเดลธุรกิจในรูปแบบนี้ได้รับความนิยมอย่างมากและมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว
Product as a service มุ่งเน้นการนำผลิตภัณฑ์หรือสินค้ามาให้บริการในรูปแบบการเช่าหรือ “การจ่ายเมื่อใช้งาน” (pay-for-use) แทนการซื้อขาด ซึ่งเป็นการลดภาระผู้ซื้อในการดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกันเป็นการช่วยลดการซื้อที่ไม่จำเป็นและทำให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
Sharing Platform มุ่งเน้นการใช้และแบ่งปันทรัพยากรร่วมกันเพื่อการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยธุรกิจที่นำ Sharing Platform ไปใช้ เช่น บริการแบ่งปันพื้นที่หรือสถานที่ทำงานร่วมกัน (coworking spaces) การเช่าพื้นที่ระยะสั้น การเช่าเครื่องมือหรืออุปกรณ์ หรือบริการร่วมเดินทาง (rideshring) ที่ให้ผู้โดยสารใช้รถร่วมกันเพื่อลดปัญหาการจราจร การปล่อย มลภาวะ และการใช้พื้นที่ในการจอดรถ เป็นต้น
Resource Recovery การออกแบบให้มี “ระบบนำกลับ” (take-back system) ในกระบวนการเพื่อนำวัตถุดิบเหลือใช้หรือผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่ถูกกำจัดซึ่งยังสามารถใช้งานได้กลับเข้าสู่กระบวนการใหม่เพื่อลดการเหลือทิ้งให้มากที่สุด

 
สำหรับเทคโนโลยีที่พัฒนาก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจและการสร้างระบบนิเวศของ Circular Economy ทั้งในการสนับสนุนโมเดลธุรกิจในข้างต้น การก่อให้เกิดการสื่อสารในช่องทางใหม่ ๆ รวมถึงการพัฒนากระบวนการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่ลดลง เช่น
Digital Technologies เป็นการนำเทคโนโลยีในการบริหารจัดการข้อมูลและการสื่อสาร เช่น Big data, Block chain และ Internet of Things (IoT) เป็นต้น มาใช้เพื่อช่วยในการติดตามข้อมูลการใช้ทรัพยากรในกระบวนการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซึ่งทำ ให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจ Sharing Platform ก็ใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน
Physical Technologies เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของวัสดุและพลังงาน เช่น เทคโนโลยี 3D-printing Nanotechnology สามารถช่วยในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีความแข็งแรงทนทานและสามารถนำ กลับมาใช้ใหม่ จึงลดการเกิดของเสียในกระบวนการ เทคโนโลยี Robotics ทำให้การผลิตมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
Biological Technologies เป็นเทคโนโลยีด้านโครงสร้างทางชีวภาพ เช่น Bio-energy, Bio-based materials Hydroponics สามารถนำมาใช้พัฒนาวัสดุทดแทนที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ช่วยให้ธุรกิจลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น เทคโนโลยีในกลุ่มนี้จึงมีบทบาทในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ
Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยสร้างมูลค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด นำไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนไปพร้อมกับการช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจจึงไม่สามารถมองประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัวได้อีกต่อไป แต่จำเป็นต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวเพื่อก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง พร้อมกับแสวงหาโอกาสจากความท้าทายเพื่อการเติบโต อย่างยั่งยืนของธุรกิจไปพร้อมกัน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0