โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

กลุ่มรับเหมาคึกคักอีกครั้ง ในวันที่ภาครัฐเปิดประมูลงาน

Wealthy Thai

อัพเดต 09 ส.ค. 2566 เวลา 14.07 น. • เผยแพร่ 20 พ.ค. 2564 เวลา 14.02 น. • Maratronman

กลุ่มรับเหมาก่อสร้างเริ่มกลับมาคึกคักอักครั้ง หลังจากที่ภาครัฐเริ่มกระตุ้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ด้วยการเริ่มกลับมาเปิดประมูลโครงการขนาดใหญ่ หลังจากที่โครงการใหญ่ของภาครัฐจะต้องหยุดชะงักด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ไปเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา นั่นจึงเป็นปัจจัยให้ผลประกอบการของหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างต้องซบเซามีผลกำไรที่ลดลง และถึงขั้นต้องพลิกเป็นขาดทุน
แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้ถือเป็นปีทองของกลุ่มรับเหมาก่อสร้างอีกครั้งเลยก็ว่าได้ เพราะจะมีโครงการขนาดใหญ่ออกมาให้ประมูลกันอย่างต่อเนื่องอีกกว่า 3 แสนล้านบาท จึงเป็นเหตุผลที่สะท้อนให้ราคาหุ้นของกลุ่มรับเหมาก่อสร้างกลับมาคึกคักกันอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามจะต้องจับตาดูตัวเลขของผลประกอบการว่าจะเป็นอย่างไรจะสะท้อนงานในมือที่มีอยู่ได้มากน้อยขนาดไหน เพราะงานใหม่เพิ่งจะประมูลได้อาจจะยังไม่สามารถรับรู้รายได้ทัน
ทั้งนี้หากย้อนกลับไปดูสถิติตัวเลขราคาหุ้นของกลุ่มรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่พบว่าในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันบางบริษัทอาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตอบรับกระแสข่าวงานประมูลใหม่ที่จะเกิดขึ้นแล้ว เช่น บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่ราคาหุ้นบวกมาแล้วกว่า 105% เช่นเดียวกับราคาหุ้นของ บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR ถือเป็นบริษัทรับเหมาช่วงต่อจาก ITD เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ปรับเพิ่มขึ้นมากว่า 67%
ขณะที่ผู้รับเหมาอีก 2 รายใหญ่อย่าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ราคาหุ้นปรับเพิ่มแค่เพียง 12% ส่วน บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC ปรับเพิ่มขึ้นแค่เพียง 16% ด้าน บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ในฐานะที่เป็นบริษัทที่มีพอร์ตงานจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นไปแล้วกว่า 56%
โดยล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้มีข่าวส่งผลบวกที่กระตุ้นให้หุ้นในกลุ่มรับเหมาเข้ามาอยู่ในจอเรดาร์คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.แจ้งว่า เมื่อวันที่ 18-19 พ.ค.ที่ผ่านมา รฟท. ได้เปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และเสนอราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งยื่นข้อเสนอด้านเทคนิค โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กิโลเมตร (กม.) วงเงินก่อสร้างประมาณ 7.29 หมื่นล้านบาท รวม 3 สัญญา
ปรากฏว่า สัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว ระยะทาง 104 กม. มีผู้ยื่นประมูล 2 ราย จากผู้ซื้อซอง17 ราย โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้า ITD-NWR ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด(มหาชน) หรือ ITD และบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด(มหาชน) หรือ NWR เสนอราคาต่ำสุด 26,568 ล้านบาท จากราคากลาง 26,599 ล้านบาท
ส่วนสัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย ระยะทาง 135 กม. มีผู้ยื่นประมูล 2 ราย จากผู้ซื้อซอง 18 ราย โดยกิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ช.การช่าง จำกัด(มหาชน) หรือ CK และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC เสนอราคาต่ำสุดที่ 26,900 ล้านบาท จากราคากลาง 26,913 ล้านบาท ส่วนสัญญาที่ 3 ช่วง ช่วงเชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 84 กม. มีผู้ยื่นประมูล 2 ราย จากผู้ซื้อซอง16 ราย โดยกิจการร่วมค้า CKST JOINT VENTURE เสนอราคาต่ำสุดที่ 19,390 ล้านบาท จากราคากลาง 19,406 ล้านบาท
โดยไทม์ไลน์ต่อจากนี้คือคณะกรรมการคัดเลือกจะพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติ ประเมินคุณสมบัติด้านเทคนิค และข้อเสนอด้านราคา โดยจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน คาดว่าจะประกาศผลผู้ชนะการเสนอราคาได้ในวันที่ 9 ก.ค.64 และหากไม่มีการยื่นอุทธรณ์ใดๆ จะสามารถลงนามในสัญญาการดำเนินโครงการได้ประมาณวันที่ 2 ส.ค.64
นอกจากนี้ รายงานข่าวจาก รฟท.แจ้งว่า ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ รฟท. จะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอ และเสนอราคาโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. วงเงินก่อสร้าง 5.46 หมื่นล้านบาท ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding)
โดยโครงการดังกล่าวแบ่งงานเป็น 2 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านไผ่-หนองพอก ระยะทาง 180 กม. วงเงิน 2.71 หมื่นล้านบาท และสัญญาที่ 2 ช่วงหนองพอก-สะพานมิตรภาพ 3 ระยะทาง 175 กม. วงเงิน 2.83 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นจะประกาศผลผู้ชนะในวันที่ 15 ก.ค.64 และลงนามในสัญญาวันที่ 6 ส.ค.64
สำหรับมุมมองนักวิเคราะห์ต่อหุ้นรายตัวนั้น ทางบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อ CK ว่า จะมีรายได้จากธุรกิจก่อสร้างจะเหลือ 15,000 ล้านบาท ลดลง 10% จากปีก่อน อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนใน BEM และ CKP จะดีขึ้น ทำให้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนจะเพิ่มเป็น 1,380 ล้านบาท เติบโต 61%
ดังนั้น รวมแล้วปี 64 คาด CK จะมีกำไรเท่ากับ 888 ล้านบาท เติบโต 45% จากปีก่อน สำหรับงานประมูลโครงการขนาดใหญ่ CK มีแนวโน้มจะได้งานใหม่หลายโครงการจะหนุน Backlog เพิ่มขึ้นมากกว่าสองแสนล้านบาท คงคำแนะนำ “ซื้อเก็งกำไร ที่ราคาเป้าหมาย 22 บาท
ขณะที่ บริษัท หลักทรัพย์ทิสโก้ จำกัด ระบุว่า คาดว่าผลประกอบการของ STEC จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/64 และช่วง ครึ่งหลังของปี 64 เนื่องจากอัตราการก่อสร้างโครงการใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้อัตรากำไรจะเพิ่มขึ้นจากงานโครงการรัฐสภาอัตรากำไรต่ำได้เสร็จไปแล้วในเดือน เม.ย. ประกอบกับการชนะโครงการใหม่ๆ และงานในมือปัจจุบันที่ 1.05 แสนล้านบาท งานรถไฟรางคู่ที่จะประมูลผ่าน e-bidding ในวันที่ 18 และ 25 พ.ค. ที่คาดว่าจะรู้ผลเป็นทางการในเร็วๆนี้
เราแนะนำให้ “ซื้อ” โดยมีมูลค่าที่เหมาะสม 18.00 บาท อิง PER ที่ 25 เท่าสำหรับปี 64 โดยมีความเสี่ยงคือ ความล่าช้าในการก่อสร้าง, ไม่มีโครงการใหม่ๆ, ค่าแรงและวัสดุที่เพิ่มขึ้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0