โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำไมต้องจ่าย ค่าส่วนกลาง และถ้าไม่จ่าย…จะเกิดอะไรขึ้น ?

MThai.com

เผยแพร่ 08 ธ.ค. 2562 เวลา 08.15 น.
ทำไมต้องจ่าย ค่าส่วนกลาง และถ้าไม่จ่าย…จะเกิดอะไรขึ้น ?
ค่าส่วนกลางของแต่ละโครงการคอนโดจะแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดูแลโครงการ

ค่าส่วนกลาง คือ ค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลาง หรือทรัพย์สินส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน เช่น ค่าทำความสะอาด , ค่ายามรักษาความปลอดภัย,ค่าบำรุงดูแลรักษาสระว่ายน้ำ, ค่าเก็บขยะ, ค่าดูแลบำรุงฟิตเนส, ลิฟต์, ลานจอดรถ เป็นต้น ทำให้ต้องจ้างแม่บ้านบ้าง ติดตั้งระบบรักษาความปลอดภัยบ้าง หรือเสียเงินเปลี่ยนวัสดุที่เสื่อมสภาพบ้าง ซึ่งวัตถุประสงค์ของการเก็บค่าส่วนกลาง ก็เพื่อนำมาใช้จ่ายเพื่อดูแลบำรุงสินทรัพย์ส่วนกลางเหล่านี้นั่นเอง โดยแต่ละแห่งจะเรียกเก็บค่าส่วนกลางในอัตรามากน้อยแตกต่างกันไป ผู้ที่มีหน้าที่ เรียกเก็บ และบริหารจัดการ เงินส่วนกลาง คือ นิติบุคคลอาคารชุด

การเรียกเก็บ ส่วนมากจะเรียกเก็บล่วงหน้า 1 ปี แต่ก็มีบางโครงการ สามารถแบ่งจ่ายได้ 6 เดือน หรือ 3 เดือน โดยอัตราค่าส่วนกลางจ่ายตามพื้นที่ ที่เราครอบครอง วัสดุหรือฟังก์ชั่นที่ใช้ในส่วนกลาง ความเล็กใหญ่ของโครงการ และจำนวนยูนิตในแต่ละโครงการ

ตามพระราชบัญญัติอาคารชุดฉบับปรับปรุงปี 2551 มาตรา 11 จึงได้กำหนดอัตราค่าปรับใหม่เพื่อความเป็นธรรมกับเจ้าของห้องมากยิ่งขึ้น แบ่งเป็น 2 กรณี

  1. กรณีที่เจ้าของร่วมไม่ชำระเงินค่าส่วนกลาง หรือค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดจากการให้บริการส่วนรวมภายในระยะเวลาที่กำหนด (ค้างชำระไม่เกินหกเดือน) นิติบุคคลอาคารชุดไม่สามารถเรียกเก็บค่าปรับเกินร้อยละ 12 ต่อปี และไม่สามารถนำค่าปรับนี้มาคิดทบต้นด้วย

  2. ในกรณีที่เจ้าของร่วมค้างชำระเงินค่าส่วนกลางเกินกว่าหกเดือน นิติบุคคลอาคารชุดไม่สามารถเรียกเก็บค่าปรับได้เกินร้อยละ 18 ต่อปี และนิติบุคคลสามารถระงับการให้บริการส่วนรวม หรือการใช้ทรัพย์ส่วนกลางที่ได้กำหนดไว้ตามข้อบังคับของคอนโดมิเนียม นั้นๆ ได้

ค่าส่วนกลางคอนโดคิดเป็นตารางเมตร หากคุณถือครองห้องขนาด 45 ตารางเมตร คุณก็จะต้องจ่ายในราคาของ 45 ตารางเมตรนั้นเอง โดยที่คุณจะต้องจ่ายทุกปี และเป็นการจ่ายแบบล่วงหน้า 1 ปี เป็นอย่างต่ำ

การคิดค่าส่วนกลางคอนโด
หากค่าส่วนกลางของโครงการที่คุณถือครอง คิดค่าส่วนกลาง ตารางเมตรละ 50 บาท /เดือน

คุณเป็นเจ้าของห้องขนาด 45 ตารางเมตร

ค่าส่วนกลางต่อเดือน = 45 x 50 = 2,250 บาท

แต่ค่าส่วนกลางจะเก็บเป็นรายปี ดังนั้นคุณจะต้องจ่าย = 2,250 x 12 = 27,000 ต่อปี

หมายเหตุ 1 : ค่าส่วนกลางของแต่ละโครงการคอนโดจะแตกต่างกันไป ซึ่งขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดูแลโครงการ และจำนวนยูนิตในโครงการนั้น ๆ จึงไม่น่าแปลกใจหากโครงการ high rise ที่มีส่วนกลางให้ใช้มากกว่าจะเก็บค่าส่วนกลางในราคาพอ ๆ กับโครงการ low rise ที่มีส่วนกลางไม่มากนัก ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะโครงการ High rise มียูนิตจำนวนมากในการช่วยหารค่าส่วนกลางเหล่านี้นั่นเอง

หมายเหตุ 2 : บางโครงการอาจจะเก็บคุณล่วงหน้า 2 – 3 ปี ซึ่งในช่วง 2-3 ปีนี้คุณจะไม่ต้องจ่ายค่าส่วนกลางเลย และหลังจากนั้นคุณจะต้องจ่ายตามปกติ และค่าส่วนกลางอาจจะมีการเพิ่มขึ้นได้ตามภาวะเงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทางนิติจะแจ้งล่วงหน้าในแต่ละปี

ถ้าไม่จ่ายค่าส่วนกลางคอนโดจะเกิดอะไรขึ้น
– ภายใน 6 เดือนจาก Deadline หากคุณไม่จ่าย บริษัทนิติฯ สามารถเรียกเก็บค่าปรับจากคุณได้ ไม่เกิน 12 %

– ค้างค่าส่วนกลางคอนโดเกิน 6 เดือน บริษัทนิติฯ สามารถเรียกเก็บค่าปรับจากคุณได้ไม่เกิน 20%

– โครงการสามารถยึดบัตรเข้าออกส่วนกลาง และงดการให้บริการส่วนกลางกับคุณได้ แต่ไม่สามารถตัดน้ำตัดไฟคุณได้

– หากคุณไม่จ่ายค่าส่วนกลางคุณก็ไม่สามารถขายคอนโดนั้นได้ เพราะเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินจะรับจดทะเบียนนิติกรรมห้องชุด ก็ต่อเมื่อห้องชุดนั้น ๆ ไม่มีหนี้ค้างชำระค่าส่วนกลางใด ๆ แล้วเท่านั้น

– บริษัทนิติบุคคลอาคารชุด สามารถยื่นฟ้องบังคับชำระหนี้เงินค่าส่วนกลางต่อศาลได้ และมักจะชนะคดีเกือบจะ 100%

ทั้งนี้ การเก็บค่าส่วนกลางของนิติบุคคลก็เพื่อประโยชน์การดูแลใช้จ่าย ซ่อมแซมปรับปรุงสินทรัพย์ส่วนกลางต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้นานๆ และทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย ปลอดภัย ในคอนโดฯ ถึงราคาสูงหน่อยก็หยวนๆ จ่ายกันเถอะค่ะ เพราะอย่างไร นี่ก็คือ การดูแลพื้นที่สภาพแวดล้อมของที่ที่เราอยู่

ลองคิดว่าถ้าอยู่บ้านของเราเอง เราก็มีค่าใช้จ่ายบำรุงรักษาโน่นนี่จิปาถะเหมือนกัน เราต้องมาจัดการเองให้วุ่นด้วย  ดังนั้นเราทุกคนจึงไม่ควรค้างค่าส่วนกลางเลยเช่นกัน ควรเห็นใจคนที่เค้าชำระตรงกำหนดด้วยน๊า

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0