โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

"ทำไมชุดหมอสีเขียว ทำไมชุดนักโทษเป็นลายทาง" - เพจฉันเรียนแฟชั่นที่มิลาน

TALK TODAY

เผยแพร่ 02 พ.ย. 2562 เวลา 18.06 น. • เพจฉันเรียนแฟชั่นที่มิลาน

ว่าด้วยเรื่องเครื่องแบบ ที่มีเบื้องหลังมากกว่าความสวยงาม

หมอ ทหาร พยาบาล เราแยกคนจากหลายๆอาชีพได้ด้วยเครื่องแบบที่พวกเขาสวมใส่ ว่าแต่ เราเคยคิดกันมั้ยว่าทำไมเครื่องแบบเหล่านี้ถึงมีหน้าตาแบบที่เห็น จริงๆแล้วหลายชุดไม่ได้ออกแบบเพื่อความสวยงามเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังแผงไปด้วยที่มา บ้างก็จากตำนาน บ้างก็จากประโยชน์ในการใช้งาน ว่าแล้วเราไปดูกันเถอะ ว่ามีชุดไหนกันบ้าง

1. หมวก และ ชุดของเชฟ

สีขาวของชุดเชฟทำให้ดูสะอาด ในขณะเดียวกันถ้าเลอะก็นำไปฟอกขาวได้ แถมสีขาวไม่ดูดความร้อนอีกด้วย เสื้อของเชฟจะใช้กระดุมเชือก เผื่อในกรณีที่ชุดติดไฟจะได้ถอดได้ทันที ส่วนหมวกทรงสูงมีที่มาที่หลากหลาย ตำนานนึงเล่าว่า ช่วงศตวรรษที่ 15 เกิดการล้มล้างจักรวรรดิไบแซนไทน์ เชฟโดนกวาดล้าง จนหนีไปซ่อนในโบสถ์ และเพื่อพรางตัวจึงแต่งกายเหมือนพระ แต่งต่างกันตรงที่หมวกเชฟเป็นสีขาวขณะที่พระใช้สีดำ

หลังการล้มล้าง เชฟทั้งหลายยังคงนำดีไซน์ทรงสูงมาใช้ถึงปัจจุบัน แต่ไม่ว่าที่มาจะเป็นอย่างไรหมวกเชฟมีหน้าที่ช่วยเก็บผมของเซฟให้ดูสะอาดแน่นอน

2. คอกะลาสี กางเกงขาบานของทหารเรือ

เหตุผลของกางเกงขาบานเข้าใจได้ง่ายๆ เพราะมันทำให้พับขากางเกงได้ง่ายกว่าเวลาหนีน้ำ แถมถ้าตกน้ำก็ถอดง่าย ส่วนคอกะลาสี ต้องบอกก่อนว่าในสมัยก่อนเค้าไม่ได้สระผมกันบ่อยๆ แถมยังใช้จาระบีในการจัดทรงผม คอกะลาสีเลยออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ผมไปเลอะเสื้อจนสกปรกนั้นเอง

3. ชุดสีเขียวของหมอผ่าตัด

จริงอยู่ที่ในห้องตรวจหมอใส่เสื้อกาวน์สีขาว แต่ในห้องผ่าตัด ชุดสีขาวรบกวนการมองเห็นของหมอไม่น้อย

สาเหตุเพราะเมื่อหมอจ้องเลือดสีแดงอยู่นานๆ เวลาพักตาออกมาเจอเสื้อสีขาว จะเกิดภาพติดตาซึ่งปกติจะเห็นเป็นสีที่ตรงข้ามกับสีนั้น ในกรณีนี้คือสีฟ้า สีเขียว ซึ่งทำให้เสียสมาธิได้ ชุดผ่าตัดเลยออกแบบให้มีสีที่ใกล้เคียงกับสีของภาพติดตาจากสีแดง อย่างสีเขียวเข้ม หรือสีฟ้าแทนนั้นเอง

4. เครื่องแบบสีกากีของข้าราชการไทย

ในยุคล่าอาณานิคมทหารอังกฤษที่ประจำการณ์ที่อินเดียได้ศึกษามาว่า สีกากีเป็นสีที่ดูดความร้อนน้อยที่สุด เหมาะกับเครื่องแบบในประเทศเขตร้อน ซึ่งไทยเราก็ได้รับอิทธิพลมาอีกที แถมเค้าว่ากันว่าสีกากีเหมือนสีดินสีฝุ่น เวลาข้าราชการออกไปช่วยชาวบ้านในที่ต่างๆ จะได้ไม่ต้องกลัวเปรอะเปื้อนอีกด้วย

5. จีวรสีเหลือง ส้ม

สมัยพุทธกาล ผ้าที่พระภิกษุนำมาห่มจะนำมาจากผ้าที่ทิ้งไว้ หรือผ้าห่อศพ ซึ่งผ้าเหล่านี้แม้จะนำมาซัก รอยเปื้อนจากเลือดหรือน้ำเหลืองจะยังคงติดอยู่ เลยนำไปย้อมกับเปลือก แก่น ใบไม้เพื่อกลบรอยเหล่านั้น ซึ่งทำให้ได้สีจากธรรมชาติ ออกมาเป็นเฉดสีตั้งแต่เหลืองหม่นไปถึงสีแดง ปัจจุบันด้วยความคุ้นเคย เราเลยนำจีวรมาย้อมสีให้ออกมาในโทนดั่งกล่าว ซึ่งอาจจะมีสีที่สดขึ้นบ้างตามสังคมที่เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น

6. หมวก bearskin ทรงสูงปรี๊ดของเครื่องแบบทหารพระราชพิธี

จุดกำเนิดของหมวก bearskin เกิดขึ้นในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งทำมาจากหนังหมีตามชื่อเรียกเลย จุดประสงค์ของหมวกนี้คือช่วยเพิ่มความสูงให้ผู้สวม ทำให้ดูสง่า แถมเพิ่มขวัญกำลังใจและความภาคภูมิใจในการรบและการเดินขบวน ต่อมาหมวกนี้มีค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงขึ้นแถมเก็บรักษาลำบาก เลยจำกัดให้ใช้เฉพาะหน่วยทหารองค์รักษ์ ทหารในวงดนตรี และเฉพาะในพระราชพิธี ซึ่งไทยเราก็รับอิทธิพลมา ปัจจุบันหมวกนี้ทำจากวัสดุสังเคราะห์อื่นๆแทนทำให้มีราคาที่ถูกลง

7. ชุดนักโทษลายทางขาวดำ ชุดนักโทษสีส้ม

ชุดนักโทษจริงๆมีหน้าที่หลักเพียงอยากเดียวเลยคือทำให้สังเกตได้ง่ายว่าคนๆนี้คือนักโทษ แต่ก่อนชุดนักโทษจะเป็นลายสลับขาวดำในแนวตั้ง เหมือนเป็นสัญลักษ์ของกรงขัง ซึ่งต่อมาก็ถูกเปลี่ยนเป็นแนวนอนอย่างที่เราคุ้นตาจากการ์ตูน ปัจจุบันชุดนักโทษถูกเปลี่ยนมาให้ดูคล้ายชุดของกรรมกร เพื่อให้ดูซอฟต์ขึ้น ไม่ให้ดูเป็นตราบาป โดยหวังว่าจะทำให้นักโทษกลับใจ ปรับปรุงตัวได้ดีขึ้น ส่วนที่เป็นสีส้มนั้น เพราะเป็นสีที่สะดุดตา เห็นได้เด่นชัดถ้าเกิดมีการหลบหนีหรือปะปนกับกลุ่มคนธรรมดา แต่จริงๆแล้วชุดนักโทษไม่ได้ต้องเป็นสีส้มเสมอไป บางที่ก็แบ่งสีตามระดับความรุนแรงของโทษแทน

ไม่น่าเชื่อว่าเบื้องหลังจากออกแบบเครื่องแบบหลายชิ้น ได้ผ่านกระบวนการการคิดมาหลายขั้นตอน ต้องยอมรับเลยว่าคนต้นคิดงานเหล่านี้เก่งกันจริงๆ ไม่เฉพาะสวยงามในแง่สวมใส่ แต่ยังมีประโยชน์อื่นๆซ่อนไว้อีกมากมาย

ติดตามบทความของเพจฉันเรียนแฟชั่นที่มิลาน บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์ที่ 1 และ 3 ของทุกเดือน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0