โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ทำความเข้าใจกระบวนการตายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ by คุณโตมร ศุขปรีชา

HealthyLiving

อัพเดต 16 ก.ย 2562 เวลา 10.44 น. • เผยแพร่ 05 ก.ย 2562 เวลา 00.00 น. • Healthy Living
dont worry SEP-FB 2.jpg

ความตายเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากพูดถึง นั่นทำให้แทบไม่มีใครอยากศึกษาเรื่องราวของความตายอย่างจริงจังมากนัก เรามีรายละเอียดมากมายเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ป่วย มีรายละเอียดมากมายเรื่องการจัดการงานศพ แต่การ ‘รู้’ ถึงกระบวนการตาย หรือการที่ร่างกายของเราค่อยๆ ‘ชัตดาวน์’ หรือปิดตัวเองลงนั้น กลับเป็นเรื่องที่ผู้คนทั่วไปสนใจน้อยนัก ในปัจจุบันนี้ เราเห็นตัวเลขอายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์เพิ่มสูงขึ้น เราคิดว่ามนุษย์โดยทั่วไปอายุยืนยาวขึ้น เราจึงมักคิดว่ามนุษย์จะมีความสุขกับ ‘กระบวนการตาย’ ของชีวิตได้มากขึ้น แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ? เมื่อราวร้อยปีที่แล้ว กระบวนการตายเกิดขึ้นเร็วมาก คนอาจเป็นหวัดตาย อาจเพิ่งรับรู้ว่ามีมะเร็งอยู่ในร่างกายแล้วก็ตายลงในเวลาไม่นานนัก หรือหัวใจวายแล้วล้มลงเพียงไม่นานก็จากไป แต่วิทยาการทางการแพทย์ยุคใหม่ได้เปลี่ยน ‘วิธีตาย’ ของคนเราไปมากมาย โดยเฉพาะวิธีตายที่เกิดขึ้นในช่วงบั้นปลายของชีวิต กระบวนการตายหรือ Dying Process ในปัจจุบัน อาจถูกยื้อเอาไว้ให้ยาวนานได้เป็นปีๆ หรือในบางรายก็นับสิบปี เรียกว่าเป็นการตายแบบ ‘ค่อยเป็นค่อยไป’ รับรู้เรื่องต่างๆ น้อยลง ควบคุมร่างกายได้น้อยลง แต่มีการพยุงชีวิตเอาไว้ จนกระทั่งถึงกระบวนการตายอย่างรวดเร็วที่เรียกว่า Active Dying ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่วันท้ายๆ ของชีวิต ในหนังสือ Palliative Care Perspectives ของแพทย์อย่างเจมส์ ฮัลเลนเบ็ค (James Hallenbeck) เขาเล่าไว้ว่า เมื่อเกิดกระบวนการ Active Dying นั้น เราจะค่อยๆ ‘ปิดสวิตช์’ ตัวเองลงไปทีละอย่าง อย่างแรกสุด เราจะดับเรื่องอาหารลงไปก่อน นั่นคือเราจะไม่รู้สึกหิว ไม่อยากกินอะไร ตามด้วยการไม่กระหาย ไม่ดื่มน้ำใดๆ ทั้งสิ้น การหมดความรู้สึกในเรื่องการกินเป็นเรื่องของรสและกลิ่น อันเป็นประสาทสัมผัสพื้นฐานอย่างหนึ่ง ถัดมาจึงเป็นการพูดจาโต้ตอบ ตามด้วยการมองเห็นหรือเรื่องของรูป และอันดับท้ายๆ ก็คือการได้ยินหรือเสียงและการสัมผัส คุณหมอแคเธอริน แมนนิกซ์ (Kathryn Mannix) แห่งอังกฤษ ซึ่งทำงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในอังกฤษนานกว่าสามสิบปี ก็เคยเขียนเอาไว้ใน sciencefocus ถึงเรื่องกระบวนการตายเช่นเดียวกัน โดยบอกว่า รูปแบบการตายหรือ Death Pattern นั้น หากไม่ใช่การตายเพราะอุบัติเหตุหรือถูกฆาตกรรม มักจะเป็นไปตามแบบแผนเดียวกัน นั่นคือ ในตอนแรกสุด ความเจ็บป่วยจะทำให้ระดับพลังงานของเราลดต่ำลง กลไกที่เกิดนั้นซับซ้อน แต่ผลลัพธ์คลับคล้ายกัน นั่นคือผู้ป่วยที่เข้าสู่กระบวนการตายจะนอนหลับมากขึ้นเรื่อยๆ การนอนหลับช่วยเพิ่มพลังงานให้ แต่เมื่อตื่นขึ้น ก็จะมีการใช้พลังงานมากอยู่ดี จนในที่สุด การนอนก็ไม่อาจสร้างพลังงานทดแทนขึ้นมาได้เพียงพอ เมื่อเวลาผ่านไป การนอนจะเกิดยาวขึ้น เมื่อตื่นขึ้นมา บุคลิกภาพผู้ป่วยมักจะเปลี่ยนไปแต่ไม่รู้ตัว ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาวะภวังค์ ไม่สามารถรับรู้อะไรได้ง่ายๆ การดูแลผู้ป่วยในขั้นตอนนี้จะเปลี่ยนจากรักษาอาการต่างๆ มาเป็นพยุงชีวิตเอาไว้ หากการเจ็บป่วยนั้นไม่ส่งผลกระทบกับความคิด ผู้ป่วยระยะสุดท้ายยังสามารถสื่อสารกับครอบครัวหรือเพื่อนได้ในเวลาที่ตื่น แต่อาจมีภาวะงุนงงอยู่บ้าง การให้น้ำหรืออาหารเหลวเล็กน้อยอาจช่วยได้ แม้ผู้ป่วยอาจไม่รับรู้ถึงรสชาติแล้วก็ตาม 

 

ช่วงเวลานี้สำคัญมากต่อการดูแลผู้ป่วย เพราะสำหรับโลกสมัยใหม่ เป็นช่วงที่เกิดขึ้นยาวนาน บางรายอาจนานเป็นปีๆ ผู้ดูแลที่ไม่ใส่ใจจริงจังหรือไม่ได้รับการฝึกฝนมามากพอจึงอาจละเลยความใส่ใจบ้าง บางคนอาจเปิดโทรทัศน์ฟังวิทยุไปด้วยเพื่อผ่อนคลายตัวเองโดยคิดว่าผู้ป่วยไม่ได้ยิน หรือในบางรายก็มีการพูดจาทะเลาะเบาะแว้งกันข้างเตียงผู้ป่วย แต่อย่างที่บอกไปว่าประสาทเรื่องการได้ยินจะดับลงเป็นสิ่งท้ายๆ ดังนั้น เสียงทะเลาะกันในละครหลังข่าว หรือเรื่องที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่ดีต่างๆ นั้น หากเกิดขึ้นใกล้มากพอ ผู้ป่วยจะสามารถรับรู้ได้และอาจเกิดความไม่สบายใจขึ้นมาภายใน

 

ดังนั้น ที่แนะนำกันว่า เวลาอยู่กับผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้เปิดเสียงพระเทศน์ หรือเสียงดนตรีคลาสสิกที่สงบๆ นั้น จึงเป็นคำแนะนำที่ดีมาก เพราะจะทำให้ผู้ป่วยได้รับรู้ถึงความนิ่ง และหากมีการสัมผัสเนื้อตัวร่างกายอย่างอ่อนโยนบ้างก็จะยิ่งช่วยได้

 

คุณหมอแคเธอรินยังบอกด้วยว่า ในที่สุดแล้ว ช่วงเวลาแห่งการไม่รับรู้อะไรเลย หรือภาวะที่เกิด Unconsciousness จะค่อยๆ ยาวขึ้น ผู้ป่วยจะตื่นน้อยลง และสุดท้ายแล้วก็จะหมดสติไม่รับรู้อะไรไปตลอดเวลา ทว่ายังหายใจอยู่

 

คนเราหายใจเพราะสมองส่วนหนึ่งยังคงทำงาน เป็นสมองส่วนที่ทำให้ร่างกายทำงานโดยอัตโนมัติ รูปแบบการหายใจจึงยังเกิดขึ้น แต่ก็อาจมีการหายใจทั้งแบบลึกและตื้นสลับกัน บางคราวก็อาจหายใจช้าเร็วได้ด้วย

 

ในสมัยโบราณ ผู้ป่วยระยะนี้มักจะเสียชีวิตเพราะมีอาการสำลักหรือขาดอากาศหายใจ เนื่องจากน้ำลายจะไปรวมตัวกันอยู่ที่ลำคอ อากาศจึงเข้าไปไม่ได้ แต่ในปัจจุบันมีการดูดน้ำลายออก ผู้ป่วยจึงรู้สึกสบายขึ้น และยืดเวลาแห่งความตายนั้นออกไป หรือในบางกรณี ถ้าหัวใจหยุดเต้นก็อาจมีการปั๊มหัวใจ ทำให้ผู้ป่วยยังฟื้นตัวกลับมาใหม่

 

แต่จะอย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาสุดท้าย ความแตกดับจะค่อยๆ เกิดขึ้นทีละเล็กละน้อย บางคนก็เห็นได้ชัดเลยว่า ความตายเริ่มจากปลายเท้าก่อน สีผิวจะเปลี่ยนแปลงไป แม้ลมหายใจยังคงอยู่ แต่ก็เริ่มแผ่วเบาลง ตื้นลง แล้วสีผิวที่เปลี่ยนแปลงก็จะค่อยๆ ลามขึ้น จนในที่สุดผู้ป่วยก็จะหยุดหายใจ ไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวด ไม่รับรู้ถึงการสูญเสียการควบคุมร่างกายใดๆ แล้วผู้ป่วยก็จากไปเงียบๆ

 

คุณหมอแคเธอรินบอกว่า นี่คือประสบการณ์การตายของผู้ป่วยส่วนใหญ่ นั่นคือความตายจะค่อยๆ เกิดขึ้น ร่างกายค่อยๆ ดับไป โดยอาจแตกต่างกันไปในแต่ละคน

 

ความตายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การศึกษาวิธีดูแลผู้ป่วยในระยะตั้งแต่ก่อนหน้า Active Dying จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนี่คือ ‘ของขวัญ’ ชิ้นสุดท้าย ที่เราสามารถมอบให้กับผู้ที่กำลังจะจากเราไป

 

ด้วยการตระเตรียม ‘วิธีตาย’ ที่งดงามและลึกซึ้งให้กับพวกเขา

 

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0