โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ทันสถานการณ์โลก 06.30น.ประจำวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2563

JS100

อัพเดต 10 เม.ย. 2563 เวลา 04.20 น. • เผยแพร่ 09 เม.ย. 2563 เวลา 23.29 น. • JS100:จส.100
ทันสถานการณ์โลก 06.30น.ประจำวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2563
ทันสถานการณ์โลก 06.30น.ประจำวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2563

ทันสถานการณ์โลก 06.30น.ประจำวันศุกร์ที่ 10 เมษายน 2563

ผู้นำจีนยอมรับ จีน เสี่ยงติดโควิด-19 ระลอกที่ 2

           หลังจากโรคโควิด-19 แพร่ระบาดในระลอกแรกจากเมืองอู่ฮั่น ทางภาคกลางของประเทศจีนเมื่อปลายปีก่อน จนกระทั่งระบาดไปทั่วโลก ต่อมาสถานการณ์ดีขึ้น ไม่พบผู้ป่วยหรือเสียชีวิตรายใหม่ รัฐบาลเริ่มเปิดเมืองอู่ฮั่นเมื่อวาน หลังปิดเมืองมา 76 วันเพื่อลดการแพร่ระบาด ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของประเทศจีน กล่าวในที่ประชุมคณะกรรมการประจำกรมการเมือง องค์กรสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีอำนาจกำหนดนโยบายการบริหารประเทศ แสดงความกังวลเป็นครั้งแรกว่า ความเสี่ยงที่โรคโควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดระลอกที่ 2 ในประเทศจีน คือกลุ่มคนที่เดินทางจากต่างประเทศ ที่กระทบต่อการเปิดเมือง รวมถึงการกลับมาทำงานตามปกติของแรงงาน จะกระทบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาล เนื่องจาก การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดในอนาคต

          นายสี ยืนยันว่า รัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศได้แล้ว หลังไม่พบผู้ป่วยใหม่ หรือผู้เสียชีวิตในช่วง 2-3 สัปดาห์มานี้ 

         ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขนครเซี่ยงไฮ้ พบผู้ป่วยใหม่ 9 คน ทั้งหมดเป็นชาวจีนที่เดินทางมาต่างประเทศ เช่นอังกฤษ รัสเซียและฝรั่งเศส พร้อมทั้งกักกันกลุ่มเสี่ยงเพื่อเฝ้าระวังรวม 53 คน ทั้งนี้ ประเทศจีน มีผู้ป่วยสะสม 82,867 คน เสียชีวิต 3,339 ราย มีผู้ป่วยที่หายดีแพทย์อนุญาตให้กลับบ้าน 77,639 คน

นักวิจัยของสหรัฐฯ ทดสอบวัคซีนโควิด-19 ครั้งที่สอง

            การทดสอบครั้งนี้ มีการใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทยา ไอโนวิโอ ฟาร์มาซูติคอล ภายใต้ชื่อรหัส INO-4800 โดยฉีดให้กับอาสาสมัคร 40 คนที่แล็บวิจัยในแคนซัสซิตี้และที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย การศึกษาวิจัยนี้ยังถือว่าอยู่ในขั้นต้น เป็นก้าวแรกๆ เพื่อจะดูว่าปลอดภัยเพียงพอที่จะทดสอบกับผู้คนจำนวนมากกว่านี้หรือไม่ และสามารถปกป้องผู้รับวัคซีนจากไวรัสโควิด-19 ได้หรือไม่

            แม้ว่าผลการทดสอบจะเป็นไปด้วยดี นักวิจัยก็คาดว่าอาจจะต้องใช้เวลานานกว่า 1 ปี ถึงจะมีการนำวัคซีนออกมาใช้ได้อย่างแพร่หลาย ซึ่งขณะนี้ในแล็บหลายแห่งทั่วโลกต่างก็พยายามพัฒนาวัคซีนของตนเอง

           จากข้อมูลในวันนี้ ไวรัสโควิด-19ทำให้มีผู้ชีวิตทั่วโลกไปแล้ว  94,850 ราย และมีผู้ติดเชื้อ 1,587,209 คน ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจทั่วโลก

สิงคโปร์ยืนยันพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพิ่มอีก 287 คน

           ผู้ติดเชื้อรายใหม่นั้น มีมากกว่า 200 คน ที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดในหอพักของแรงงานต่างด้าว โดยสิงคโปร์กักกันโรคแรงงานหลายพันคนตามหอพักต่างๆ หลังจากคนเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลายเคส ส่วนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในสิงคโปร์ ขณะนี้ อยู่ที่ 7  ราย โดยรายที่ 7 อยู่ระหว่างการสอบสวนการติดเชื้อที่มีโรคอื่นแทรกซ้อนด้วย

          ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในสิงคโปร์ในวันพฤหัสบดี (9 เม.ย.) เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว สิงคโปร์ยืนยันพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 287 คน นับเป็นตัวเลขรายวันสูงสุดนับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดในประเทศแห่งนี้ ส่งผลให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมเป็น 1,910 คน โดยในวันพุธ (8 เม.ย.) สิงคโปร์รายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 142 คน

           สิงคโปร์เป็นอีกชาติที่ได้รับเสียงชื่นชมในเรื่องของมาตรการสกัดกั้นไวรัสที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการตรวจคัดกรองพลเมืองจำนวนมาก รวมถึงติดตามผู้ที่เคยสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย

           เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่แล้วรัฐบาลสิงคโปร์สั่งปิดโรงเรียนทุกแห่ง และสถานที่ทำงานส่วนใหญ่ พร้อมกำชับให้ประชาชนเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อก็เพิ่มสูงสุดทุบสถิติในวันพฤหัสบดี (9 เม.ย.)

           ก่อนหน้านั้น รัฐบาลสิงคโปร์ออกคำสั่งใหม่ให้ประชาชนอยู่ห่างกันในที่สาธารณะอย่างน้อยๆ 1 เมตร นับตั้งแต่วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งมาตรการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 และใครก็ตามที่ฝ่าฝืนกฎระเบียบเว้นระยะห่างทางสังคมดังกล่าวอาจถึงขั้นถูกจำคุก

           ผู้กระทำผิดจะมีโทษปรับเงินสูงสุด 20,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 2.2 แสนบาท) หรือจำคุก 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยกฎระเบียบนี้จะมีอายุจน 30 เมษายน และบังคับใช้กับทุกคนและทุกภาคธุรกิจ

ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 พุ่งขึ้นทำสถิติครั้งใหม่ ทั้งในอเมริกาและยุโรป

            สถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา ทั่วโลก   ขณะนี้ มียอดผู้เสียชีวิต  94,850 ราย จากจำนวนผู้ติดเชื้อ 1,587,209 คน(ข้อมูล ณ เวลา 05.30น.ของวันนี้) ส่วนในสหรัฐอเมริกา รายงานยอดผู้เสียชีวิตสะสม 16,267 ราย ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 รองจากอิตาลี ส่วนผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มเป็น 456,828 คน

           ด้านยุโรป ยอดผู้ติดเชื้อในอิตาลี และสเปน ยังมีผู้ติดเชื้อสะสมเพิ่มสูงขึ้น สเปนยอดผู้ติดเชื้อสะสม 152,446 คนเพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้กว่า 4,000คน  เสียชีวิต 15,238 ราย

           นายกรัฐมนตรี เปโดร ซานเชซ ของสเปน แถลงต่อรัฐสภาในวันพฤหัสฯ ว่า สเปนอาจใกล้ถึงจุดเริ่มต้นที่การระบาดจะเริ่มสงบลงแล้ว อย่างไรก็ดี เขาขอให้สมาชิกรัฐสภาอนุมัติการต่อเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปจนถึงวันที่ 25 เมษายน เพื่อให้ประชาชนกักกันตัวเองในบ้าน

            ที่อิตาลี ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 149,626 คน เพิ่มขึ้นกว่า 10,000คน เสียชีวิต 18,279  ราย  เสียชีวิตมากที่สุดในโลก             

            ทางการอิตาลีและสเปนซึ่งเป็นสองประเทศในยุโรปที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากการระบาดของโควิด-19 กำลังพยายามหาทางผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา เนื่องจากมาตรการควบคุมที่เข้มงวดกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ
          นายกรัฐมนตรีจูเซปเป้ คอนเต้ แห่งอิตาลี เปิดเผยว่า หากสถานการณ์ผ่อนคลายลงก็จะค่อย ๆ ยกเลิกข้อจำกัด บางอย่างภายในสิ้นเดือนเมษายน โดยอิตาลีใช้มาตรการปิดเมืองทั่วประเทศตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 มีนาคม จากนั้นอีก 2 สัปดาห์ก็ประกาศให้ธุรกิจบางสาขา รวมถึงการผลิตรถยนต์ เสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์ ต้องหยุดทำการเป็นการชั่วคราว โดยธุรกิจในเขตอุตสาหกรรมทางตอนเหนือของประเทศ เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดโรงงานอีกครั้ง เพื่อป้องกันภัยพิบัติทางเศรษฐกิจถึงแม้ว่าภาคเหนือจะเป็นพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
          ส่วนในสเปน นายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชส เรียกร้องให้พรรคการเมือง ร่วมข้อตกลงสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจแห่งชาติหลังจากวิกฤตด้านสาธารณสุขผ่านไป โดยข้อเรียกร้องนี้มีขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่สมาชิกทั้ง 300 คนเข้าร่วมการประชุมทางไกลตามกฎระเบียบเรื่องการปิดเมืองและให้พลเมืองต้องอยู่บ้านเพื่อชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติให้ขยายเวลาการบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีกสองสัปดาห์ซึ่งจะทำให้ผู้คนอยู่ที่บ้านจนถึงวันที่ 26 เมษายน 

            ส่วนในอังกฤษรายงานผู้เสียชีวิตสะสม 7,990 คน ขณะที่ นายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน รักษาตัวในแผนกผู้ป่วยวิกฤตเป็นคืนที่ 3 อาการดีขึ้น ออกจากห้องไอซียูแล้ว ยังไม่พบปอดอักเสบ

ราคาน้ำมันโลก ปรับตัวลดลง –หุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น

           ราคาน้ำมันในตลาดนิวยอร์ค ปรับตัวลดลง 2.33 ดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ 22.76 เหรียญ  ส่วนเบรนท์ ลอนดอน ปรับตัวลดลง 1.36 ดอลลาร์สหรัฐฯอยู่ที่ 31.18 เหรียญ  

          สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียสามารถบรรลุข้อตกลงในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันแล้ว โดยอาจสูงถึง 20 ล้านบาร์เรล/วัน เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาด  กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ประชุมฉุกเฉินผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อหาข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน หลังจากที่ราคาน้ำมันได้ทรุดตัวลงตามอุปสงค์น้ำมันที่ลดลงทั่วโลกจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

เฟดหนุนเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ปล่อยกู้ครั้งแรก

          ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 285.80 จุด อยู่ที่ 23,719.37 จุด หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯประกาศอัดฉีดเม็ดเงินกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ กระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมมาตรการปล่อยกู้ให้กับรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อรับมือกับวิกฤต นับเป็นครั้งแรกของสหรัฐฯ ส่วนราคาทองคำโคเม็กซ์ เพิ่มขึ้น 68.50 เหรียญต่อออนซ์ อยู่ที่1,752.80 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์

ไอเอ็มเอฟ เตือน โควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกทรุดหนัก

           นางคริสติน่า จอร์เจียว่า กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกปรับลดลงอย่างรุนแรงที่สุด และมีแนวโน้มว่าจะเริ่มดีขึ้นได้ในปีหน้า โดยวิกฤตที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนามากที่สุด ซึ่งอาจหมายถึงต้องการเงินช่วยเหลือจากต่างชาติจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์
          คำกล่าวของกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ มีขึ้นในระหว่างการเตรียมการประชุมระหว่างไอเอ็มเอฟกับธนาคารโลกที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า ซึ่งเธอกล่าวด้วยว่า เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว ยังมีการคาดการณ์ว่าบรรดาประเทศสมาชิกมากกว่า 160 ประเทศ จาก 189 ประเทศจะมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ แต่ในวันนี้ตัวเลขต่าง ๆ มีผลในทางตรงข้าม มากกว่า 170 ประเทศทั่วโลก ต่างมีรายได้ติดลบ และเตือนว่าสถานการณ์ต่าง ๆ อาจเลวร้ายลงได้อีก เนื่องจากโรคระบาดโจมตีทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน โดยประเทศในแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกาคือประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมีระบบสุขภาพที่อ่อนแอกว่า และมีข้อจำกัดในพื้นที่ห่างไกล นอกจากนี้นักลงทุนข้ามชาติมีการถอนทุนออกจากประเทศเหล่านั้นไปแล้วกว่า100,000ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าการไหลออกที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการเงินโลกถึงสามเท่า
          ด้วยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงอย่างรวดเร็ว ตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องใช้เงินหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อต่อสู้กับโรคระบาดและพยุงเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน คณะกรรมการบริหารของไอเอ็มเอฟจึงอนุมัติการเพิ่มเงินทุนฉุกเฉินเป็นสองเท่าเพื่อตอบสนองคำขอของกว่า 90 ประเทศ และยังมีการพิจารณามาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้การสนับสนุนสภาพคล่องและการปล่อยสินเชื่อให้แก่ประเทศที่ยังมีหนี้สิน และเพื่อเป็นการช่วยเหลือประเทศที่ยากจนที่สุด ไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกได้เรียกร้องให้ประเทศเจ้าหนี้ เช่นจีน และประเทศอื่น ๆ พักหนี้ให้กับประเทศที่กำลังประสบปัญหา 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0