โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"ทักษิณ" อ่วมเจอพิพากษาอีกคดี

คมชัดลึกออนไลน์

เผยแพร่ 23 เม.ย. 2562 เวลา 10.17 น.

ที่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนามหลวง วันที่ 23 เม.ย. 62 เมื่อช่วงบ่าย ที่ผ่านมา องค์คณะคดีการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ (EXIM BANK) ได้อ่านคำพิพากษา ในคดีนี้ ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทักษิณ ชินวัตร อายุ 70 ปี อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้ามีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตัวเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการนั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 152 และฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ที่เห็นชอบให้เอ็กซิมแบงก์อนุมัติปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำอัตรา 3% ต่อปี ให้กับรัฐบาลเมียนมา วงเงิน 4,000 ล้านบาท ในโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของเมียนมา ซึ่งดอกเบี้ยนั้นต่ำกว่าราคาต้นทุนของเอ็กซิมแบงก์ และเพื่อหวังประโยชน์ในธุรกิจดาวเทียมที่มีการสั่งซื้ออุปกรณ์จาก บริษัท ชินแซทเทลไลท์ ที่เป็นบริษัทในเครือชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตร

โดยคดีนี้ เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 51 องค์คณะฯ มีคำสั่งประทับรับฟ้องเป็นคดีหมายเลขดำ อม.3/2551 แล้วนัดพิจารณาครั้งแรกเพื่อจะสอบคำให้การนายทักษิณ ในวันที่ 16 ก.ย. 51 แต่ปรากฏว่าขณะนั้น นายทักษิณไม่มาศาล เนื่องจากหลบหนีไปต่างประเทศในคดีอื่นแล้ว องค์คณะฯ จึงออกหมายจับให้ตามตัวมาดำเนินคดีนับตั้งแต่นั้น

กระทั่งปี 2561 ป.ป.ช. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ให้นำคดีดังกล่าวที่ศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราวเนื่องจากนายทักษิณ จำเลย หลบหนีไปพำนักต่างประเทศ ให้นำขึ้นมาพิจารณาใหม่โดยไม่มีตัวจำเลย หลังจาก พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (วิ อม.) พ.ศ. 2560 ออกมาบังคับใช้ ซึ่งในมาตรา 28 บัญญัติสาระสำคัญว่า ในกรณีที่ศาลประทับรับฟ้องไว้ตามมาตรา 27 และศาลได้ส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องให้จำเลยทราบโดยชอบแล้ว แต่จำเลยไม่มาศาล และมีการออกหมายจับจำเลย แล้วยังไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือน นับแต่ออกหมายจับ ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย แต่ไม่ตัดสิทธิ์จำเลยที่จะตั้งทนายความมาดำเนินการแทนตนได้ และไม่ตัดสิทธิ์จำเลยที่จะมาต่อสู้คดีเมื่อใดก็ได้ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

ทั้งนี้ วันที่ 4 ก.ค. 61 องค์คณะฯ ได้พิจารณาคดีครั้งแรกนี้ใหม่ โดยนายทักษิณ จำเลย ไม่แต่งตั้งผู้ใดรับมอบอำนาจมาศาลแทน เมื่อนัดพิจารณาครั้งแรก นายทักษิณ จำเลย ไม่มาศาล ศาลถือว่าจำเลยให้การปฏิเสธ ตาม วิ อม. มาตรา 33 (บัญญัติว่าในวันพิจารณาครั้งแรก ในกรณีที่จําเลยมิได้มาศาลในวันพิจารณาครั้งแรกไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ถือว่าจําเลยให้การปฏิเสธ) โดยองค์คณะฯ ได้ดำเนินการไต่สวนพยานของ ป.ป.ช. โจทก์ โดยไม่มีตัวจำเลยมาตลอดกระทั่งนัดฟังคำพิพากษาวันนี้

ซึ่งองค์คณะฯ พิพากษาว่า นายทักษิณ จำเลย มีความผิดตามฟ้อง มาตรา 152 ให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ออกหมายจับจำเลยมาบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอดีตนายกฯ ทักษิณ นั้น ปัจจุบันคงเหลือคดีที่กำลังคดีพิจารณาไต่สวนโดยไม่มีตัวจำเลยตามกฎหมายใหม่ ประกอบด้วย 1. คดีหมายเลขดำ อม.9/2551 กล่าวหา เห็นชอบออกกฎหมายแปลงค่าสัมปทานโทรคมนาคมและมือถือเป็นภาษีสรรสามิตเอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท

  1. คดีหมายเลขดำ อม.3/2555 กล่าวหา ร่วมผู้บริหารธนาคาร - เอกชนทุจริตการปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยฯ ให้กับกลุ่มบริษัทกฤษดามหานคร กว่า 9.9 พันล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 คดี อัยการสูงสุดยื่นฟ้องเมื่อปี 2551 และ 2555

  2. คดีหมายเลขดำ อม.1/2551 ที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องตั้งแต่ 2551 กล่าวหา ร่วมกลุ่มรัฐมนตรีในรัฐบาลออกนโยบายออกสลากเลขท้าย 3 และ 2 ตัว (หวยบนดิน) โดยมิชอบ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0