โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ถูกจับโป๊ะแล้วทำไงดี? 7 ศาสตร์แห่งการเบี่ยงเบนที่สัตว์โลกใช้เมื่อจนตรอก

The MATTER

อัพเดต 26 มี.ค. 2562 เวลา 13.11 น. • เผยแพร่ 26 มี.ค. 2562 เวลา 12.59 น. • Byte

เคยมีประสบการณ์โดนต้อนซะจนตรอกไหม? เวลาใครถูก 'จับโป๊ะ' ได้ ธรรมชาติจะมอบทักษะแห่งการเบี่ยงเบนให้กับสิ่งมีชีวิตเพื่อเลี่ยงสถานการณ์อันไม่พึงประสงค์ เอาเข้าจริงสิ่งมีชีวิตล้วนมีวิวัฒนาการเบี่ยงเบนความสนใจด้วยกันทั้งสิ้น อันเป็นเทคนิคที่แยบคายแบบใครแบบมัน ไล่ตั้งแต่พฤติกรรมง่ายๆ ไม่ซับซ้อน จนถึงเบี่ยงเบนหลอกอีกฝ่ายให้ตายใจ ที่เรียกว่า 'Tactical deception'

ถ้า กกต. เบี่ยงเบนประเด็นความล้มเหลวในการพิสูจน์ความโปร่งใสจากการเลือกตั้งด้วยเทคนิคต่างๆ นานาได้  ทำไมสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะทำบ้างไม่ได้เล่า ดังนั้นเรามาดูกันว่า ใครเบี่ยงเบนได้แนบเนียนกว่ากันเวลาอยู่ในสถานการณ์จนตรอก

แกล้งตาย (Thanatosis)

สิ่งมีชีวิต : สัตว์หลายสายพันธุ์

'แกล้งตายแป๊บ' เทคนิคนี้ถูกใช้แพร่หลายที่สุดในอาณาจักรสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่แมลง สัตว์ปีก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ จนกระทั่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม การแกล้งตายเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกได้รวดเร็ว ไม่ซับซ้อน ส่วนใหญ่ใช้เบี่ยงเบนจากสัตว์นักล่าอื่นๆ เรียกได้ว่า 'Thanatosis' หรือการแกล้งตายนั้น สัตว์จะมีพฤติกรรมไม่ขยับเอาเสียดื้อๆ หดเกร็งกล้ามเนื้อและประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่เป็นที่สนใจของนักล่า (เพราะโดยทั่วไปนักล่ามักฆ่าสิ่งมีชีวิตเป็นๆ มากกว่ากินซาก) สัตว์บางชนิดยังสามารถปล่อยกลิ่นเหม็นได้เพื่อทำให้แผนการนี้แนบเนียนยิ่งขึ้น  เช่น  แมงมุม กบ งู นก ฉลาม และโอพอสซัม

แกล้งเจ็บ (Paratrepsis)

สิ่งมีชีวิต : วงศ์นกหัวโต

น่าสนใจว่าสัตว์เองก็สามารถแสดงพฤติกรรมแกล้งเจ็บได้ ทั้งๆ ที่ถ้ามันดูเจ็บก็อาจจะตกเป็นเหยื่อจากนักล่าได้ง่ายกว่ามิใช่หรือ?

แต่นกหัวโตมีพฤติกรรมน่าทึ่ง โดยแสดงอาการเจ็บปวด เช่น แกล้งว่าปีกหัก ขาหัก เดินลากปีกแทนที่จะบิน เพื่อดึงดูดนักล่าเบี่ยงเบนความสนใจจากรังที่มีลูกอ่อนๆ ให้มาสนใจตัวมันมากกว่า เมื่อเบี่ยงเบนความสนใจสำเร็จ มันก็บินหนีอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมนี้เรียกว่า 'Paratrepsis' เป็นเทคนิคเพื่อปกป้องพวกพ้องโดยเอาตัวเองเข้าแลก  ถึงเวลาพวกพ้องจนตรอก ก็จำเป็นที่ต้องมีใครยอมเสียสละเป็น 'หนังหน้าไฟ' บ้างใช่ไหมล่ะ

ให้สินบน (Phagomimicry)

สิ่งมีชีวิต : ทากทะเล

สัตว์เองก็สามารถให้สินบนได้เพื่อเอาตัวรอด สินบนในที่นี้ไม่ใช่เงิน 300 – 500 บาท แต่เป็นวัตถุหรือสารเคมีที่น่ายั่วยวนใจเพียงพอที่ตัวเองจะไม่ถูกเป็นเป้าจู่โจม ซึ่งพฤติกรรมนี้พบได้ใน 'ทากทะเล' (Sea Hare) พวกมันมีพฤติกรรมที่แยบยลทีเดียวคือ เมื่อมีผู้ล่าเข้าใกล้ทากทะเล พวกมันสามารถพ่นสารเคมีที่มีลักษณะคล้ายกับ 'อาหาร' ให้กับนักล่า เรียกเทคนิคนี้ว่า 'Phagomimicry' โดยเป็นสารที่มีกลิ่นและสีน่าดึงดูดจากการปล่อยต่อม Opaline ซึ่งสารเหล่านี้มีกลุ่มกรดอะมิโนสำคัญที่พบได้ในแหล่งอาหาร ช่วยดึงดูดประสาทรับรู้รสและกลิ่นของนักล่า และเมื่อนักล่าง่วนอยู่กับอาหารปลอมๆ เจ้าทากทะเลก็หาโอกาสนี้ว่ายหนีไปแบบเนียนๆ  ร้ายจริงๆ เจ้าทาก!

ออกลายให้กลัว (Deimatic)

สิ่งมีชีวิต :  แมลง มอธ

"รู้ป่าว ผมเป็นใคร" บางครั้งสิ่งมีชีวิตก็จำเป็นต้องอวดอ้างตัวเองให้ยิ่งใหญ่เกินตัวสักหน่อย แม้ตัวมันจะไม่ได้น่ากลัวหรือมีพลังอำนาจแบบนั้นเลยก็ตาม 'Deimatic display' เป็นอีกเทคนิคในการเบี่ยงเบนความสนใจโดยทำให้ผู้ล่าต้องผงะก่อนจะเล่นงานมัน แมลงจำพวก 'มอธ' (Moth) ถือว่าเชี่ยวชาญในการออกลวดลายบนปีกให้มีรูปทรงน่ากลัว (ไม่แปลกที่คนจำนวนหนึ่งก็ยังกลัวมอธ) โดยลายปีกมีลักษณะคล้ายดวงตาสัตว์ดุร้าย บ้างก็มีรูปทรงรวมทั้งสีแสบสันเหมือนงูพิษ หรือมีการขยับร่างกายร่วมด้วยเพื่อให้ดูดุดันยิ่งขึ้น เช่น สั่นปีกช้าๆ ให้มีท่าทางเอาเรื่อง ทั้งๆ ที่ในธรรมชาติมอธแทบไม่มีพิษสงใดๆในการต่อกรกับนักล่า

เอาไปแอบ (Hiding)

สิ่งมีชีวิต : สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม

“สละส่วนน้อย เพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนมาก” เป็นหลักการเบี่ยงเบนและเอาตัวรอดในโลกที่แข่งขันสูง ความแนบเนียนนี้ต้องอาศัยการตระหนักรู้ของสัตว์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมดูจะเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ

'ลิงชิมแปนซี' มักสัมผัสได้ว่า หากลิงตัวอื่นรู้ว่าอาหารถูกเก็บไว้ที่ไหน มันจะแอบเอาไปซ่อนเนียนๆในที่ที่ตัวอื่นน่าจะไม่รู้ (ดังนั้นอาจบอกได้ว่า ลิงสามารถตระหนักรู้ว่า ลิงตัวอื่นๆ รับรู้ข้อมูลอะไรไปแล้วบ้าง และไม่รู้ข้อมูลอะไรที่เอื้อประโยชน์ต่อตัวมันเอง) 'สิงโตภูเขา' ก็มีพฤติกรรมเอาใบไม้ใบหญ้ามาปกคลุมซากสัตว์ที่กินไม่หมด  หรือมีรายงานว่า 'สุนัข' ที่เลี้ยงในบ้านก็ยังแอบซ่อนอาหาร เมื่อมันรู้สึกว่าอาหารที่มีอยู่ไม่เพียงพอเยียวยาความหิวโหย  'ไคโยตี' (Coyote) สัตว์กินซากที่มีรายงานว่า พวกมันจะทิ้งซากจำนวนน้อยๆ ไว้ หย่อมหนึ่งเพื่อเบี่ยงเบนไม่ให้สัตว์กินซากน่ารำคาญอื่นๆ (เช่น แร้ง) มายุ่มย่ามกับอาหารจานหลัก

การเอาไปแอบซ่อนไม่ให้คนส่วนใหญ่เห็นว่าแท้จริงแล้วมีผลประโยชน์ชิ้นใหญ่แอบซ่อนอยู่ ก็ดูเหมือนจะเป็นเทคนิคที่พวกเราใช้อย่างแพร่หลาย

โทษไปที่สิ่งอื่น (Blaming)

สิ่งมีชีวิต : ชิมแปนซี กอริลล่า บาบูน

ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า สัตว์สามารถโบ้ยความผิดไปที่สิ่งอื่นได้หรือไม่ แม้จะยังไม่มีบทสรุปร่วมกันที่แน่ชัด แต่มีรายงานหลายครั้งว่า ลิงที่ถูกสอนให้ใช้ภาษามือในการสื่อสาร อย่าง ชิมแปนซี และกอริลล่า สามารถใช้ภาษามือในการเบี่ยงเบนความสนใจของมนุษย์ได้

'โคโค่' ลิงกอริลล่าชื่อดังเพศเมีย(ซึ่งตายไปเมื่อปีที่แล้ว) ถูกสอนให้ใช้ภาษามือแบบ American Sign Language ในการสื่อสารมาตั้งแต่เล็กๆ ครั้งหนึ่งโคโค่ดึงท่อน้ำโลหะออกจากอ้างล้างหน้า เมื่อคนเลี้ยงมาพบ โคโค่ก็ใช้ภาษามือและชี้ไปยังแมวเพื่อนซี้ที่เลี้ยงร่วมกันในศูนย์ว่า “แมวทำ” (cat did it.)

ยังมีรายงานอีกด้วยว่า ชิมแปนซี บาบูน สามารถปั่นหัวเพื่อนร่วมฝูงได้ เช่น เวลามีการแย่งอาหารกัน มันจะโทษไปที่ตัวอื่นๆ โดยการขู่แยกเขี้ยวไปที่อีกตัวราวกับเป็นเดือดเป็นร้อนร่วมด้วย แต่เมื่อสบโอกาสมันก็จะหนีเผ่นแน่บ ปล่อยให้อีกตัวรับเคราะห์ไปแทน

ทำหน้าเลี่ยนๆ แล้วเดินหนี (F**k, I’m out of here!!)

สิ่งมีชีวิต : กกต.

“ทำไมมีชื่อคนตายในผู้มีสิทธิ” “ทำไมบัตรจากนิวซีแลนด์ถึงส่งมานับไม่ทัน” “ทำไมคะแนนถึงไม่เท่ากัน” มีคำถามมากมายที่รอคำตอบ แต่สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า กกต. ติติงคำถามเหล่านี้ว่า “เป็นคำถามที่ไม่สร้างสรรค์” และทำหน้าเลี่ยนๆ ลุกหนีไปอย่างรวดเร็ว

ยังเป็นที่ถกเถียงอีกเช่นกันว่า พฤติกรรมที่ปรากฏในธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตนี้ เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะเป็นถึงหน่วยงานที่ใช้งบประมาณ 5,800 ล้านบาท และยังได้ไปศึกษาระบบเลือกตั้งจากต่างประเทศเพิ่มเติม การเบี่ยงเบนประเด็นความรับผิดชอบไปที่เหตุผลอื่นๆ ยิ่งทำให้คำตอบดูห่างไกลขึ้นทุกที กลายเป็นว่ายิ่งดิ้นก็ยิ่งเจ็บ ถ้าให้คุณลองประเมินดูก็อาจจะพบว่า เทคนิคนี้ดูแนบเนียนน้อยที่สุดเท่าที่ปรากฏในธรรมชาติ ดูสิ! อาณาจักรสัตว์โลกยังเนียนกว่าอีก

อ้างอิงข้อมูลจาก

The ecology of distraction display

Avoiding attack: the evolutionary ecology of crypsis, warning signals and mimicry.

Oxford University Press p. 198

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0