โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ถอดชนัก คำต่อคำ ศาลรัฐธรรมนูญเอกฉันท์ "บิ๊กตู่" พ้นข้อกังขา "เจ้าหน้าที่รัฐ"

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 18 ก.ย 2562 เวลา 09.51 น. • เผยแพร่ 18 ก.ย 2562 เวลา 09.51 น.
70640306_416289939030043_6955546115345219584_n

ศาลรัฐธรรมนูญมี มติเอกฉันท์ ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ “พล.อ.ประยุทธ์” ไม่สิ้นสุดเป็นการเฉพาะตัว เหตุ คสช.ไม่อยู่ภายใต้หน่วยงานรัฐ ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ชั่วคราวบริหารประเทศ
เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 18 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์ อ่านคำวินิจฉัยกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่าความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(6) และมาตรา 98 (15) หรือไม่ กรณีดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ โดยวันนี้นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนของฝ่ายประธานสภาผู้แทนราษฎร มาร่วมฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่ฝ่ายนายกรัฐมนตรีมี พล.ต.วิรัช โรจนวาช คณะทำงานนายกรัฐมนตรี มาร่วมฟัง

ทั้งนี้ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย ว่า คดีนี้ส.ส.จำนวน 110 คน เข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานสภาฯโดยระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้องมีคุณสมบัติต้องห้าม เพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าทีอื่นของรัฐ ทำให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยให้ความหมายของคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 109(11) ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่มีหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 98(15) ปรากฏตามคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 สรุปได้ว่าการพิจารณาความหมายของคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ในมาตรา 109(11) เป็นการตีความบทบัญญัติจำกัดสิทธิของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล จึงต้องตีความอย่างแคบ การตีความถ้อยคำลักษณะนี้ ควรถือว่าเป็นคำทั่วไปที่ต่อมาจากคำเฉพาะหลายคำที่มีมาก่อนหน้านั้น ย่อมมีความหมายในแนวทางเดียวกับคำเฉพาะที่นำมาข้างหน้า หมายความว่า ในกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายมีคำเฉพาะตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป และมีถ้อยคำที่เป็นคำทั่วไปตามหลังคำเฉพาะ คำทั่วไปนั้นจะต้องมีความหมายแคบกว่าความหมายของคำทั่วไปนั้น โดยจะต้องมีความหมายเฉพาะในเรื่องและประเภทเดียวกันกับคำเฉพาะที่มีมาก่อนหน้าคำทั่วไปนั้น

สำหรับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 109(11) ที่บัญญัติว่าเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรือของราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐนั้น คำว่าพนักงานหรือ ลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรือของราชการส่วนท้องถิ่น เป็นถ้อยคำเฉพาะสามารถบ่งบอกได้ว่าหมายถึงบุคคลใดบ้างอย่างชัดเจน ส่วนคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ เป็นถ้อยคำที่มีลักษณะเป็นคำทั่วไปยังไม่อาจบ่งชี้ได้ว่าหมายถึงบุคคลใดบ้าง

การตีความคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งเป็นคำทั่วไป จึงต้องตีความโดยให้มีความหมายคล้ายคลึงกันหรือในแนวทางเดียวกันกับคำว่า ลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจหรือของราชการส่วนท้องถิ่น โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 5/2543 ได้สรุปความหมายขอคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐไว้ดังนี้ 1. ได้รับแต่งตั้งหรือเลือกตั้งตามกฎหมาย 2.มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการหรือปฏิบัติหน้าที่ ปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฎหมาย และปฏิบัติงานประจำ 3.อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐ 4.มีเงินเดือนค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามกฎหมาย
เห็นว่าคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้บัญญัตินิยามของคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 98(15) ไว้ การตีความคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐจึงต้องตีความให้สอดคล้องกับบริบทและเจตนารมณ์ของกฎหมายที่บัญญัติถึงคำว่าเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ กล่าวคือรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ที่จะไม่ให้ข้าราชการเข้ามาเป็นนักการเมือง ตามที่บัญญัติไว้ก่อนแล้วตามมาตรา 98(12) คือเป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง แต่คำว่าข้าราชการยังไม่ครอบคลุมถึงบุคคลที่มีลักษณะเดียวกับข้าราชการจึงได้บัญญัติมาตรา มาตรา98(15) ไว้อีกว่า เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยรัฐวิสาหกิจหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐอันเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่นอกจากไม่ต้องการให้ข้าราชการเป็นนักการเมืองแล้ว ยังให้รวมถึงพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือ รัฐวิสาหกิจด้วย

ถ้อยคำที่บัญญัติถึงเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐเป็นการบัญญัติเพื่อให้ครอบคลุมถึงบุคคลที่มีคุณสมบัติและสถานะเช่นเดียวกันกับพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอาจมีชื่อเรียกเป็นอย่างอื่น ประกอบกับลักษณะต้องห้ามเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิของบุคคลจึงต้องตีความอย่างแคบ การตีความถ้อยคำที่มีความหมายทั่วไปต่อท้ายคำเฉพาะหลายคำที่นำหน้ามาก่อนนั้นต้องตีความทั่วไปให้มีความหมายสอดคล้องกับคำเฉพาะและแคบกว่าความหมายธรรมดาของคำนั้น โดยจะต้องมีความหมายในเรื่องและประเภทเดียวกันกับคำเฉพาะซึ่งเป็นไปตามหลักสากลทั่วไป

ตำแหน่งหัวหน้า คสช.มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ต่อมามี พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า คสช. เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน เห็นได้ว่าการแต่งตั้งตำแหน่งหัวหน้า คสช.เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจ และเป็นตำแหน่งที่ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดของการปกครองประเทศ โดยเห็นได้จากการออกประกาศและคำสั่งหลายฉบับ หัวหน้าคสช.ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับกับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐใด ทั้งเป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งโดยกฎหมาย ไม่มีกฎหมายกำหนดวิธีการได้มาหรือการเข้าสู่การดำรงตำแหน่งตำแหน่ง โดยมีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศและประชาชน

ดังนั้น ตำแหน่งหัวหน้าคสช.จึงไม่มีสถานะตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกันกับพนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามมาตรา 98 (15) พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160(6) ประกอบมาตรา 98 (15) อาศัยเหตุผลดังกล่าวจึงวินิจฉัยว่า ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะเหตุเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (6) และมาตรา 98(15)

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0