โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตื้นตัน! 114 ปี ที่ รัชกาลที่ 5 ปลอมตัวเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์

TheHippoThai.com

เผยแพร่ 23 ต.ค. 2561 เวลา 01.00 น.

ตื้นตัน! 114 ปีที่รัชกาลที่ 5 ปลอมตัวเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์

 “…ที่ใช้คำว่าเสด็จอาศัยในที่นี้เพราะเสด็จรถไฟชั้นที่ ๓ ประทับปะปนไปกับราษฎรไม่ให้ใครรู้ว่าใครเป็นใครเพื่อจะใคร่ทรงทราบว่าราษฎรอาศัยไปมากันอย่างไร…”

ข้อความข้างต้นนี้คือพระนิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงเล่าประทานถึงเหตุการณ์ เสด็จประพาสต้น ซึ่งน้อยคนอาจจะยังไม่ทราบว่า ผู้ที่เสด็จประพาสต้น ปลอมพระองค์ปะปนไปกับราษฎรนี้คือ รัชกาลที่ 5

เรื่องของเรื่องการปลอมพระองค์ออกไป “ประพาสต้น” อย่างประชาชนธรรมดาสามัญที่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบนี้ เกิดขึ้นมาก็ด้วยเหตุที่สมเด็จพระปิยมหาราชไม่ใคร่สบายพระวรกาย เนื่องจากทรงวิตกกังวลในพระราชกิจ จน เสวยไม่ได้และบรรทมไม่หลับทั้งสองอย่าง เหล่าพระราชวงศ์และขุนนางชั้นผู้ใหญ่จึงทูลขอให้ทรงงดพระราชกิจและเสด็จประพาสตามคำแนะนำของแพทย์หลวง

แต่กระนั้น ก็มีพระราชดำริว่า ถ้าเสด็จอย่างกระบวนเรือหลวงนี้ เห็นทีจะไม่ทรงได้พักอีก เพราะราษฎรก็ต้องเข้าใจว่าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จฯ มีการเตรียมรับเสด็จ ไม่ต้องพระราชประสงค์ที่จะทรงทราบทุกข์สุขของประชาชน จึงโปรดฯ ให้เสด็จฯอย่างสามัญบ้าง เสด็จฯโดยปลอมพระองค์ให้ราษฎรเข้าใจว่า เป็นข้าราชการในกระบวนเสด็จบ้าง ประทับรถไฟร่วมไปกับราษฎรบ้าง ประทับเรือบ้าง โดยเสด็จแบบค่ำไหนนอนนั่น ที่ประทับแรมจึงมีทั้งศาลาวัดบ้าง ในเรือบ้าง และที่เป็นเหตุของความสนุกสนานที่สุด ก็คือการได้ประทับ ณ บ้านเรือนราษฎร จนเป็นที่มาของการเกิด เพื่อนต้น คือราษฎรที่พระองค์ทรงพบในระหว่างเสด็จประพาสต้น

เพื่อนต้นที่เด่นๆ ก็มี นายฮวด(เจ๊กฮวด) และยายผึ้ง ผู้ที่ได้ต้อนรับพระองค์ด้วยอาหารง่ายๆ ที่ปรุงไว้สำหรับครอบครัวในตอนเย็น เรียกว่าล้อมวงกินข้าวไปดัวยกันทั้งพระราชาและราษฎร บ้านเจ๊กฮวดไม่ใช้ช้อนส้อมพระองค์ก็มิได้รังเกียจ ตรัสว่าทรงใช้มือเปิบข้าวก็ได้ ซ้ำยังเป็นที่มาของ “ช่องสนุก” ของรัชกาลที่ 5 ดังที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้ตามเสด็จ ได้ทรงบันทึกไว้ว่า 

“…ถ้ามีช่องสนุกในการที่จะได้ทรงสมาคมกับราษฎรเกิดขึ้นอย่างนี้แล้วที่พระเจ้าอยู่หัวของเราจะเว้นเป็นไม่มีพอยายผึ้งเชิญพวกเราก็เข้าล้อมสำรับกับพระเจ้าอยู่หัวด้วยกันว่ากันคนละคำสองคำเจ้าเจ๊กฮวดลูกยายผึ้งอายุราวสัก๒๐ปีมาช่วยยกสำรับบัคค้อนขณะเมื่อพวกเรากินเลี้ยงเจ๊กฮวดมันนั่งดูๆพระเจ้าอยู่หัวประเดี๋ยวเอ่ยขึ้นว่าคล้ายนักคล้ายนักขอรับถามว่าคล้ายอะไรมันบอกว่าคล้ายรูปที่เขาตั้งไว้ตามเครื่องบูชาพอประเดี๋ยวก็ลุกขึ้นนั่งยองๆเอาผ้าปูกราบพระเจ้าอยู่หัวบอกว่าแน่ละขอรับไม่ผิดละเหมือนนักยายผึ้งเลยรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัว…”

แม้ยายผึ้งกับเจ๊กฮวดจะรู้ในคราวเสด็จฯ ครั้งนั้น แต่จะเกิดอะไรขึ้นล่ะ เมื่อรัชกาลที่ 5 ปลอมพระองค์ แต่ราษฎรเจ้าบ้านไม่ทราบ แถมยังโม้กับพระองค์ด้วยว่า เคยเห็นรัชกาลที่ 5 พร้อมขอพระราชทานปืนด้วย !

เรื่องนี้เกิดขึ้น ในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2447 เมื่อกระบวนเรือเสด็จประพาสต้นถึง “บ้านกำนันหลังหนึ่งที่บางอ้ายเอียง อยุธยา”  โดยขบวนเสด็จนั้นกำลังหาที่แวะทำครัวเช้า โดยมีพ่อตาแม่ยายของกำนันนั้น ชื่อ “นายช้างและยายพลับ” ออกมารับเสด็จ โดยเข้าใจว่าเป็นเรือขุนนางตามเสด็จพระเจ้าแผ่นดิน เสด็จฯบางปะอิน สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงรานานุภาพ ได้ทรงเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ว่า 

“…เชิญให้พวกเราเข้าไปนั่งบนแคร่ในโรงยาวหาน้ำร้อนน้ำชามาตั้งแล้วเข้าไปนั่งเคียงไหล่สนทนากับพระเจ้าอยู่หัวมิได้มีความรู้สึกและสงสัย

มีใครสอดถามเข้าไปตรงนี้ว่าแกจำพระเจ้าอยู่หัวได้หรือไม่แกกลับขู่เอาว่าทำไมจะจำไม่ได้เคยเฝ้าแล้วและพระรูปก็ยังมีติดอยู่บนเรือน

การทำครัวที่บ้านนายช้างวันนี้สนุกยิ่งกว่าที่ได้เคยทำมาในที่อื่นๆด้วยเจ้าของบ้านทั้งผัวเมียรับรองแข็งขอบและมิได้มีความสงสัยว่าผู้ใดเป็นใครเลยเมื่อเลี้ยงดูกันเสร็จแล้วนายช้างได้ปรารภว่าอยากจะได้ปืนเมาเซอร์ซักกระบอกหนึ่งเขาว่าจะสั่งเสียซื้อหาต้องขออนุญาตแกไม่รู้ว่าจะไปขออนุญาตที่ไหนขอให้คุณ(คือพระเจ้าอยู่หัว) ช่วยเป็นธุระซื้อหาให้แกสักทีส่วนเงินทองราคาปืนจะสิ้นยังเท่าใดไม่เป็นไรแกจะคิดให้เต็มราคาอย่าวิตกเลยคุณก็ยินดีจะรับเป็นพระธุระที่จะให้นายช้างได้ปืนเมาเซอร์ดังประสงค์…”

ก่อนจะเสด็จฯกลับ ได้พระราชทานเงินให้นายช้างไว้ “สักสามหรือสี่ร้อยบาท” และนายช้างกับยายพลับก็ไม่ทราบเลยว่าเป็นพระปิยมหาราช จนกระทั่งเพื่อนบ้านที่มาแอบดูอยู่แจ้งภายหลัง จึงได้รีบเร่งเข้ามากรุงเทพฯ สืบถามหาเจ้านายและข้าราชการที่ได้ตามเสด็จครั้งนั้น เที่ยวขอขมาลาโทษ จนในที่สุดก็ได้เข้าเฝ้าฯ และ…

“…นายช้างได้รับพระราชทานปืนเมาเซอร์ที่ทูลวานให้ซื้อนางพลับได้พระราชทานหีบหมากเงินสลักลายอักษรพระนามแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯดำรัสสั่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยให้ทำประทวนตั้งนายช้างเป็นที่หมื่นปฏิพัทธภูวนารถแต่นั้นมา…”

อีกเรื่องที่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบก็คือ “เพื่อนต้น” ที่ได้ทรงพบในครั้งนั้น เมื่อทรงสร้าง เรือนต้น พระตำหนักทรงไทยที่ริมอ่างหยก ตรงข้ามพระที่นั่งวิมานเมฆ ในพระราชวังดุสิต ก็ได้ทรงใช้เรือนต้นนี้ เลี้ยงรับรองแก่เพื่อนต้น ดังที่พระองค์ได้เคยรับเลี้ยงที่บ้านของท่านเหล่านั้น ดังคำสัมภาษณ์ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ว่า 

“…งานขึ้นเรือนต้นแหมพิสดารแม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จในโรงครัวทรงปรุงแกงอะไรต่ออะไรพวกเพื่อนต้นก็ได้มากินเหมือนกันกินที่เฉลียงอัฒจันทร์เรือนต้นตาช้างยายพลับอะไรนี่ได้มาเหมือนกัน…”

นอกจากนี้ “เพื่อนต้น” ยังสามารถเข้าเฝ้าฯ พระองค์ได้เสมอ อีกทั้งยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณอื่นๆ เช่น เมื่อล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคต นายฮวดได้รับพระบรมราชานุญาต (ทรงสั่งไว้ก่อนเสด็จสวรรคต) ให้เข้าไปกราบถวายบังคมพระบรมโกศได้เป็นพิเศษอีกด้วย

ทั้งหมดนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เหตุใด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงเป็นที่รักของราษฎรของพระองค์โดยด้วยไป ดังพระราชนิพนธ์จดหมายเหตุในเรื่องประพาสต้นฉบับสุดท้ายของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ความว่า

 “…เหตุใดสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงเป็นที่รักใคร่ของอาณาประชาราษฎรทั่วหน้าสมกับที่ได้ถวายพระนามจารึกไว้ในฐานพระบรมรูปทรงม้าว่าปิยมหาราชาธิราชที่จริงพระองค์ทรงรักใคร่ในไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเหมือนกับบิดารักบุตรพอพระราชหฤทัยที่จะคุ้นเคยคบหาและถึงกับเล่นหัวกับอาณาประชาราษฎรได้โดยมิได้ถือพระองค์  ยกตัวอย่างดังจะได้เห็นในเรื่องประพาสต้นนี้เป็นพยานการที่พระองค์ทรงสมาคมกับราษฎรไม่ใช่สักแต่ว่าเพียงจะรู้จักหรือสนทนาปราศรัยให้คุ้นเคยกันเท่านั้นย่อมทรงเป็นพระราชธุระไต่ถามถึงความทุกข์สุขและความเดือดร้อนที่ได้รับจากผู้ปกครองอย่างใดๆบ้างทุกโอกาส…”

ภาพครอบครัวของหมื่นปฏิพัทธภูวนารถ (ช้าง คชาธาร) ภาพทรงถ่ายในคราวเสด็จประพาสต้นบ้านนายช้างอีกครั้ง ใน พ.ศ. 2449

ภาพการกินเลี้ยงที่บ้านนายช้างอีกครั้ง หลังจากที่ได้นำเงินพระราชทานครั้งก่อนหน้า ไปปรับปรุงเรือนใหม่รับเสด็จ ภาพทรงถ่ายในคราวเสด็จประพาสต้น พ.ศ. 2449

เรือหางแมงป่อง หรือเรือ “สุวรรณวิจิก” เรือต้นที่ทรงใช้ในกระบวนเสด็จประพาสต้น

ภาพทรงถ่ายราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จ 

พระตำหนักเรือนต้น พระราชวังดุสิต

ภาพเจ้านายและข้าราชสำนักสำราญพระอิริยาบทอย่างง่ายๆ เมื่อประทับอยู่ ณ พระตำหนักเรือนต้น

สวนชาวนนทบุรี ทรงถ่ายในคราวเสด็จประพาสต้น

ภาพทรงถ่าย พระพุทธบาท สระบุรี ทรงใช้การเสด็จประพาสต้นตรวจราชการและทำนุบำรุงศาสนสถานไปในคราวเดียวกันด้วย 

 

**************

อ้างอิง 

  • - หนังสือ เสด็จประพาสต้น โดย บริษัท โกลบอลอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด  (2552)
  • - หนังสือจดหมายเหตุเรื่อง เสด็จประพาสต้นในรัชกาลที่ 5 ครั้งแรกและครั้งที่สอง พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ มหาเสวกตรีพระยานิพัทธราชกิจ (อ้น นรพัลลภ) วันที่ 17 มีนาคม 2477
  • - หนังสือสัมภาษณ์ มจ จงจิตรถนอม ดิศกุล ส ศิวรักษ์  ฉบับปรับปรุง พิมพ์ครั้งที่ 2 สำนักพิมพ์ ศยาม (2555)

ที่มาภาพ : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0