โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตำนาน "โรงหนังวังเจ้าปรีดา" ของนายชัย บำรุงตระกูล โรงหนังยุคเฟื่องฟูสมัยร.5

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 03 ก.ค. 2566 เวลา 02.40 น. • เผยแพร่ 30 มิ.ย. 2566 เวลา 10.07 น.
ภาพปก - โรงหนังวังเจ้าปรีดา
โรงหนังญี่ปุ่น โรงหนังในอดีต, ที่มา : หลักหนังไทย (ภาพจาก เว็บไซต์พิพิธบางลำพู)

ในสมัยปลายรัชกาลที่ 5 ภาพยนตร์หรือหนังได้แพร่เข้าสู่สยาม กลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ของคนไทยที่ให้ความสนใจมาก จนเป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว คนไทยคนแรก ๆ ที่ดำเนินกิจการด้านนี้คือ นายชัย บำรุงตระกูล เจ้าของ “โรงหนังวังเจ้าปรีดา” ซึ่งเคยได้นำหนังไปฉายถวายให้รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 ทอดพระเนตรมาแล้ว

นายชัย บำรุงตระกูล เดิมชื่อ ซุ่นใช้ เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 ที่บ้านปากคลองวัดทองธรรมชาติ คลองสาน ธนบุรี เป็นบุตรคนสุดท้องของนายริ้วและนางเอม ซึ่งมีอาชีพค้าขาย ใช้ยี่ห้อในการค้าว่า “เลียงฮะ”

นายชัยทำกิจการค้าขายช่วยเหลือบิดามารดา จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็สามารถเปิดร้านค้าของตนเองแห่งแรกขึ้นที่ตึกมุมถนนพาหุรัดกับถนนตรีทอง มีชื่อว่า “สยามตรีเพ็ชร์” การค้าขายเติบโตขึ้น ก็ขยายกิจการ เปิดร้านค้าแห่งใหม่ มีชื่อว่า “รัตนมาลา”

นอกจากนี้ นายชัยยังได้ตั้งโรงภาพยนตร์ขึ้นอีกด้วย คือโรงหนังวังเจ้าปรีดา (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงภาพยนตร์พัฒนารมย์),โรงหนังสิงคโปร์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงหนังเฉลิมบุรี), โรงหนังฮ่องกง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงหนังเฉลิมเวียง), โรงหนังปีนัง (ต่อมาเปลี่ยนเป็นโรงหนังศรีบางลำภู) และโรงหนังชวา

โรงหนังวังเจ้าปรีดา อยู่ริมคลองถม ถนนเจริญกรุง ตั้งขึ้นราว พ.ศ. 2450 มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า โรงกรุงเทพซินีมาโตกราฟ มีนายชัยเป็นผู้จัดการบริษัทรูปยนต์กรุงเทพ ทำการบริหารดูแลกิจการ ชื่อโรงหนังวังเจ้าปรีดานี้ มีที่มาจากพระนามของพระเจ้าราชวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปรีดา พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในหนังสืองานศพของนายชัยระบุว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำภาพยนตร์ไปฉายถวายทอดพระเนตรหลายครั้ง และพระองค์ก็ได้พระราชทานสิ่งของเป็นที่ระลึกแก่นายชัยหลายอย่าง รวมถึงตราแผ่นดินประจำห้างรัตนมาลาเพื่อเป็นเกียรติยศด้วย

ครั้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำภาพยนตร์ไปฉายถวายทอดพระเนตรหลายครั้งเช่นกัน โดยพระราชนิยมว่าเป็นข้าหลวงเดิมและสหชาติ จึงทรงพระเมตตานายชัยเป็นพิเศษ และได้รับพระราชทานตราครุฑประดับห้างรัตนมาลา

บริษัทของนายชัยเคยนำภาพยนตร์ไปฉายประชันกับโรงหนังเจ้าอื่น ๆ ในคราวการสมโภชพระบรมรูปทรงม้า เมื่อ พ.ศ. 2451 โดยบริษัทรูปยนต์ตั้งโรงหนังอยู่ทางด้านเหนือของลานพระบรมรูป ตอนใต้เป็นโรงหนังบริษัทญี่ปุ่น ตอนกลางเป็นโรงหนังของกรมขุนสรรพสาสตรศุภกิจ

หนังสือพิมพ์ “ไทย” ลงข่าวไว้ว่า เมื่อเวลา 4 ทุ่ม รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ประทับพลับพลาหน้าโรงหนัง แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี พอสุดเสียงแตรแล้วโรงหนังของนายชัยก็เริ่มฉาย แล้วโรงหนังทางใต้กับโรงกลางก็ฉายตามลำดับไป ประชาชนต่างก็มาชมภาพยนตร์กันเป็นจำนวนมาก

กิจการโรงหนังของนายชัยได้ขายหรือถูกรวมเข้ากับบริษัทพัฒนากร เอนก นาวิกมูล สันนิษฐานว่า อาจขายราว พ.ศ. 2464-2465 เนื่องจากพบข้อความในหนังสือพิมพ์ “วายาโม” ฉบับ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ว่า บริษัทพัฒนากรมีทุนรอนมาก“ภาพยนตร์ของนายซุ่นใช้รัตนมาลาต้องยกเข้ารวมกันเปนบริษัทเดียว” ซึ่งบริษัทพัฒนากรเป็นของนายโลวเปงทอง เจ้าของห้างซินซิ้นฮะ ถนนพาหุรัด

เดิมบริษัทรูปยนต์ของนายชัยกับบริษัทพัฒนากรแข่งขันกันอย่างดุเดือดถึงพริกถึงขิง โรงหนังวังเจ้าปรีดาเคยลงโฆษณาไว้เมื่อราว พ.ศ. 2452 เชิญชวนประชาชนให้มาชมภาพยนตร์ไว้ว่า“…ได้รับหนังเข้ามาใหม่หลายสิบชุด มีชุดรบโดยทางบกแลเรือเปนหลายอย่าง ดูน่าพิศวงมาก แลมีเรื่องแปลกต่าง ๆ สวยงามน่าชมจริง ๆ หนังใหม่ ๆ เหล่านี้จะได้ออกฉายให้ท่านชมตั้งแต่วันนี้แลต่อไป แลจะมีชุดรบต่าง ๆ กำกับด้วยทุกวัน ทั้งไฟที่ฉายก็เห็นกระจ่างชัดดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมา ส่วนโรง ความสอาดเรียบร้อยหรือเย็นสบายอย่างไรนั้น ท่านคงทราบได้ตลอดแล้วเพราะมีพัดไฟฟ้าถึงเจ็ดพัด อาจเปลี่ยนอากาศมิให้อบร้อนอยู่ได้เลย…”

หลังจากบริษัทพัฒนากรไปเชิญนายเซียวซองอ๊วนมาเป็นผู้จัดการราว 6-7 เดือน กิจการโรงหนังของบริษัทพัฒนากรก็เติบโตสูงมาก จนที่สุดก็รวมกิจการของบริษัทรูปยนต์เข้ามาสำเร็จ และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สยามภาพยนตร์บริษัท”

ส่วนกิจการอื่นของนายชัยนั้น ปรากฏว่ากิจการที่ห้างสยามตรีเพ็ชร์ พอถึงประมาณ พ.ศ. 2474 ราชการได้ขยายถนนตรีเพ็ชร จึงได้รื้อและยุบห้างลง และย้ายไปรวมอยู่กับห้างรัตนมาลา จนถึง พ.ศ. 2532 ห้างรัตนมาลาก็ถูกรื้อเป็นห้างดิโอลด์สยาม

บั้นปลายของนายชัยนั้น ด้วยความเป็นคนใจกว้าง ใจบุญ ชอบช่วยเหลือผู้อื่น บริจาคทรัพย์บำรุงสาธารณะกุศลบ่อยครั้ง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ทำหน้าที่ 1 สมัย ต่อมา พ.ศ. 2485 ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงจนเป็นอัมพาต แต่ก็รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี อาการจึงไม่รุนแรง และใช้ชีวิตเป็นปกติสุขเรื่อยมา กระทั่งนายชัยถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 รวมอายุ 74 ปี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

เอนก นาวิกมูล. (2550). พ่อค้าชาวสยาม. กรุงเทพฯ : แสงดาว.

จอยุ่ยเหม็ง. (2498). พิมพ์เนื่องในการฌาปนกิจศพ นายชัย บำรุงตระกูล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2498. กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 4 มิถุนายน 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0