โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตามรอย รถถ่านไทยประดิษฐ์ ใช้พลังจากถ่าน แก้ขาดน้ำมันยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 25 ก.ค. 2565 เวลา 03.09 น. • เผยแพร่ 23 ก.ค. 2565 เวลา 16.59 น.
ระเบิด สงคราม
ภาพประกอบเนื้อหา - ความเสียหายหลังจากการทิ้งระเบิด

เมื่อเข้าสู่ช่วงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลกระทบต่อรถยนต์ เรือยนต์ที่ต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน ในดินแดนไทยจึงมีผู้คนพยายามประดิษฐ์คิดค้นพลังงานขับเคลื่อนที่ใช้แทนน้ำมันขึ้น ผลที่ออกมาคือรถใช้พลังจาก “ถ่าน” เผาไหม้ผลิตแก๊สในการขับเคลื่อนเครื่องยนต์แทน

ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมปีที่ 9 ฉบับที่ 4 เดือนกุมภาพันธ์ 2531 หน้า 115 มีเนื้อหาล้อมกรอบ ใช้ชื่อเรื่อง “รถไทยประดิษฐ์ ของดีเคยมีอยู่ แต่อยู่ที่ไหน?” ซึ่งระบุตอนท้ายว่ามาจากหนังสือ “ชีวิตชาวกรุงเมื่อค่อนศตวรรษมาแล้ว” หน้า 213 – 214 โดย ลาวัณย์ โชตามระ บทความนี้กล่าวว่า ผู้ที่เป็นต้นคิดใช้ถ่านทำความร้อนเป็นพลังงานขับเคลื่อนให้แก่รถยนต์ เรือยนต์ คือคุณสุชาติ กรรณสูต ชื่อเดิมคือเทียนไล้ สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อราวปี 2475 แล้วกลับมาทำงานอยู่ที่บริษัทสุพรรณพานิชซึ่งเป็นกิจการของครอบครัว และเป็นเจ้าของกิจการบริษัทรถเมล์เขียวและเรือเมล์เขียว

ในบทความดังกล่าวยังอธิบายอีกว่า คุณสุชาติเคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เกี่ยวกับการใช้ถ่านแทนน้ำมันเบนซินว่าเป็นการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าเผื่อวันหนึ่งเมืองไทยขาดแคลนน้ำมันอันเป็นของที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ สิบปีต่อมาคำพูดของคุณสุชาติก็เป็นจริงเมื่อประเทศไทยตกอยู่ในภาวะ “มหามิตร” กับญี่ปุ่น รถถ่านจึงถูกนำมาใช้จริงเพื่อทดแทนพลังงานจากนำมันเชื้อเพลิง

อีกหนึ่งเดือนต่อมา นิตยสารศิลปวัฒนธรรมปีที่ 9 ฉบับที่ 5 เดือนมีนาคม 2531 หน้า 98 – 99 มีบทความชื่อ “เรื่องเก่าๆ ของรถเมล์ เรือเมล์ และเครื่องบิน อันเนื่องมาแต่ “รถถ่านไทยประดิษฐ์” โดย สรศัลย์ แพ่งสภา ได้อธิบายแย้งข้อมูลที่ว่า บริษัทสุพรรณพานิชเป็นเจ้าของกิจการรถเมล์เขียวและเรือเมล์เขียวที่ ลาวัณย์ โชตามระ กล่าวไว้นั้นไม่ถูกต้อง

“เรือบริษัทสุพรรณ”

สรศัลย์ อธิบายว่า ที่ถูกต้องคือ บริษัทสุพรรณพานิชเป็นเจ้าของกิจการเดินเรือ กรุงเทพฯ – สุพรรณบุรี ออกจากท่าเตียน เป็นเรือลักษณะทาสีแดง ตั้งชื่อเรือโดยใช้ชื่อตัวละครจากเรื่องขุนช้างขุนแผนทั้งขบวนบริษัทนี้เรียกกันว่า “เรือบริษัทสุพรรณ”

อู่เรืออยู่ที่สามเสนหลังตึกอำนวยการการไฟฟ้านครหลวง สมัยนั้นเรียกกันติดปากว่า “อู่สุพรรณ” จำหน่ายเครื่องยนต์และอุปกรณ์เรือ และต่อเรือทั้งเรือแข่ง เรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่ นอกจากนี้ พื้นที่บนบกบางส่วนยังเป็นอู่รถยนต์

บริษัทสุพรรณพานิชยังมีร้านจำหน่ายอะไหล่อุปกรณ์รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก เครื่องยนต์สำหรับเกษตรกรรม และเป็นห้องแสดงรถยนต์ ตั้งอยู่บริเวณถนนอุณากรรณใกล้สี่แยกเจริญกรุง ทั้งนี้บริษัทสุพรรณยังเป็นตัวแทนจำหน่ายรถเกรแฮม ด้อดจ์ เฟียต

สรศัลย์ แพ่งสภา กล่าวต่อว่า สำหรับการขนส่งอีกประเภทในสมัยนั้นอย่าง “เรือเขียว” กิจการนี้เป็นของคุณหลวงมิลินทวณิช เดินระหว่างกรุงเทพฯ – ปากน้ำโพ ต้นทางออกจากท่าเตียนเหมือนกัน เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เรือหลวงมิลินท์” เป็นเรือขนาดใหญ่กว่าเรือของบริษัทสุพรรณ เรือเขียวจะใช้ชื่อตัวละครเรื่องไกรทอง และเป็นคู่แข่งขันกับเรือแดง จนทำให้ลูกเรือทั้งสองมักตีกันบ่อยครั้งเพื่อช่วงชิงความเป็นใหญ่

“…ก็แค่กบาลแตกฟกช้ำดำเขียวขัดยอกหอมปากหอมคอ คือเอาแค่ตีรัน-ตีแล้วต่างฝ่ายต่างวิ่ง ไม่ถึงฟันแทง ตามวิสัยนักเลงยุคนั้น ไม่เหมือนยุคนี้ (2531)…”

ส่วนการขนส่งอีกประเภทอย่าง “รถเมล์เขียว” สรศัลย์ แพ่งสภา บรรยายว่า เป็น “บริษัทสยามรถยนต์” ได้รับสัมปทานเดินรถ สำนักงานและอู่อยู่ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรม เป็นของคุณวรกิจบรรหาร (พงษ์ รังควร) และคุณชะลอ รังควร (อ่าน รังคะวอน) ตัวรถทาสีเขียวจึงเรียกกันว่ารถเมล์เขียว เดินรถจากสถานีบางซื่อ – สะพานแดง – เกียกกาย – บางกระบือ – เทเวศน์ – บางลำพู – สนามหลวง อีกสายหนึ่งเดินรถจากเทเวศน์ – ยศเส – หัวลำโพง – สามย่าน – ศาลาแดง – สะพานดำ – ช่องนนทรี

นอกจากนี้ คุณวรกิจ ยังมีอู่ต่อเรือและจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องยนต์เรือที่ปากคลองบางกอกน้อย ชื่อ “แพอุปกรณ์นาวิก” แต่เมื่อช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดนระเบิดจนพังเสียหายไปหมด

เรือแข่งของอู่สุพรรณกับเรือแข่งของแพอุปกรณ์นาวิกแข่งขันกันทุกฤดูน้ำ ทั้งเรือยนต์ เครื่องกลางลำและเครื่องติดท้าย

สำหรับ “รถถ่านไทยประดิษฐ์” สรศัลย์ ระบุไว้ว่า ความหมายที่ว่าไทยประดิษฐ์เชื่อว่า คงมาจากผลงานของคุณสุชาติ หรือคุญเทียนไล้ กรรณสูต จากอู่สุพรรณที่สร้างเตาผลิตแก๊สเชื้อเพลิงจากถ่านสำหรับเครื่องยนต์รถยนต์และเครื่องยนต์เรือมากมาย รถเมล์เขียวก็ใช้ของอู่สุพรรณกว่าร้อยละ 80

ทั้งนี้ สรศัลย์ กล่าวถึงสาเหตุของการใช้ถ่านแทนน้ำมันว่า ระหว่างสงครามประเทศไทยขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงจนถึงที่สุด หลายคนพยายามคิดค้นหาเชื้อเพลิงอื่นมาแทนน้ำมัน ก็ได้แก๊สจากการถ่านเผาไหม้ที่สามารถจุดระเบิดในกระบอกสูบ หลายอู่จึงออกแบบสร้างและผลิตเตาเผาถ่านรวมทั้งรับดัดแปลงระบบส่งเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ บางอู่นอกจากผลิตและติดตั้งจนสมบูรณ์แล้วยังคำนึงถึงความสวยงามและมีการโฆษณาอีกด้วย

สำหรับ“บริษัทไทยประดิษฐ์” มีเครื่องหมายการค้ารูปสิงโตสีเหลืองบนพื้นสีนำเงินเข้ม วิธีโฆษณาคือใช้รถนั่งแบบตอนเดียวประทุนผ้าใบพับลงเก็บได้ เป็นรถเครื่องยนต์ 8 สูบ ออกแบบเตาถ่านมีขนาดเล็กและเพรียว พ่นสีน้ำเงินเข้มมีรูปสิงโตสีเหลืองและมีคำว่าไทยประดิษฐ์ ขับตระเวนทั่วกรุงเทพฯ ทั้งวันและทุกวัน

พอสงครามสงบบริษัทไทยประดิษฐ์ก็เปิดรถโดยสารประจำทางที่เรียกกันว่ารถไทยประดิษฐ์ ใช้สีและเครื่องหมายอย่างเดิม ต่อมาได้เปิดเป็นโรงงานต่อตัวถังรถโดยสาร มีขีดความสามารถสูงมาก

สรศัลย์ กล่าวไว้ตอนท้ายว่า เมื่อปี 2472 เป็นระยะแรกที่ยานยนต์เข้ามามีบทบาทในกองทัพบก ในเวลานั้นมีผู้วิตกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงจะขาดแคลนเหมือนกันจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ ประทานรถยนต์ยี่ห้อซีแซร์แก่ พ.อ.พระยาศรีพิชัยสงคราม (เจริญ จันทร์ฉาย) เพื่อใช้เป็นรถทดลองเชื้อเพลิงแอลกอฮอล์ เพราะไทยเป็นชาติเกษตรกรรมสามารถผลิตแอลกอฮอล์จากพืชได้

การทดลองนี้เป็นผลสำเร็จจึงมีการนำรายงานขึ้นทูลเกล้าถวาย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พ.อ.พระยาศรีพิชัยฯ ได้ใช้รถเชื้อเพลิงจากแอลกอฮอล์อยู่จนถึงเดือนมิถุนายน 2475 โครงการนี้ก็เป็นอันยุติไป

อีกท่านหนึ่งที่ศึกษาเรื่องพลังงานเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันคือ ร.ท.ฮัก อุตมวุฒิ ผบ.มว.3 พัน 1 ร้อย 1. ในปี 2473 ศึกษาค้นคว้าเรื่องการใช้เชื้อเพลิงแก๊สจากถ่าน เขียนเป็นหลักฐานเชิงวิชาการไว้ในหนังสือพิมพ์ทหารปืนใหญ่ เล่ม 3 ฉบับที่ 2 เดือนตุลาคม 2473 ใช้ชื่อเรื่องว่า “รถยนต์ใช้ฟืน”

ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อถกเถียงในยุคก่อน ท่านผู้อ่านมีข้อมูลอื่นเพิ่มเติม หรือโต้แย้ง ว่าอย่างไร โปรดแจ้งให้ทราบผ่านช่องทางต่างๆ ได้เลยครับ

อ้างอิง :

ลาวัณย์ โชตามระ. “รถไทยประดิษฐ์ ของดีเคยมีอยู่ แต่อยู่ที่ไหน?”. ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 9 ฉบับที่ 4 เดือนกุมภาพันธ์ 2531 หน้า 115.

สรศัลย์ แพ่งสภา. เรื่องเก่าๆ ของรถเมล์ เรือเมล์ และเครื่องบิน อันเนื่องมาแต่ “รถถ่านไทยประดิษฐ์”.ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 9 ฉบับที่ 5 เดือนมีนาคม 2531 หน้า 98 – 99.

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0