โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ตั้ง “บริษัทเกษียณสุข” ด้วยตัวเอง

Businesstoday

เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 01.06 น. • Businesstoday
ตั้ง “บริษัทเกษียณสุข” ด้วยตัวเอง

สัปดาห์ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มอบรางวัลประกาศเกียรติคุณ “บริษัทเกษียณสุข” ให้กับนายจ้างที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ Provident Fund (PVD) โดยมีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 77รายแบ่งเป็นรางวัลระดับทอง 28 รายระดับเงิน 37 รายและระดับทองแดง 12 รายซึ่งมีสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรวมกันกว่า 1.6 แสนคนจากนายจ้างที่สมัครเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 181 รายครอบคลุมสมาชิกจำนวนกว่า 3 แสนคน

ลองแยกทำความเข้าใจทีละเรื่องค่ะเรื่องแรกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือProvident Fund คืออะไร

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นการออมภาคสมัครใจของพนักงานบริษัทเอกชน และพนักงานรัฐวิสาหกิจ (หมายถึงคนที่จะเข้าร่วมต้องสมัครใจเข้าร่วมเอง) เมื่อเราสมัครเข้ากองทุนแล้ว เขาก็จะบังคับให้เราออมค่ะ ความพิเศษของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ เมื่อเราสมัครใจเข้าร่วมโครงการ นายจ้างจะทำหน้าที่ “หักเงินเดือน” ของเราทุกๆ เดือน เพื่อนำเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยเงินสะสมจะอยู่ระหว่าง 2-15% ของเงินเดือน จากนั้นนายจ้างก็จะ “สมทบ” ให้กับลูกจ้างในจำนวนที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมที่ลูกจ้างนำส่ง

เช่นถ้าเรามีเงินเดือน10,000 บาทหักเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ10% หรือ1,000 บาทนายจ้างก็ต้องสมทบในอัตราไม่ต่ำกว่า1,000 บาทให้กับเราทุกเดือนในแต่ละเดือนเราก็จะมีเงินนำส่งเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเดือนละ2,000 บาท

“เงิน” ที่ทั้งลูกจ้างสะสม และนายจ้างสมทบ ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะถูกนำไปบริหารจัดการให้งอกเงยโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ ซึ่งลูกจ้างสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ด้วยตัวเองอีกต่างหากว่า เราอยากลงทุนแบบไหน เสี่ยงน้อย เสี่ยงปานกลาง หรือเสี่ยงมาก แต่ลูกจ้างก็ต้องยอมรับเงื่อนไขและความเสี่ยงให้ได้ด้วย

ประโยชน์ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับลูกจ้างในวันเกษียณ เพราะเขาบังคับให้เราออม เงินที่ถูกหักก็ไม่ได้หายไปไหนถูกนำไปลงทุนแสวงหาผลตอบแทนให้งอกเงย หนำซ้ำยังมีส่วนที่นายสมทบให้อีก (อันนี้ต้องชื่นชมสปิริตของนายจ้าง) และเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วยค่ะ

เรื่องที่สองบริษัทเกษียณสุขคืออะไร

โครงการบริษัทเกษียณสุข เป็นกิจกรรมหนึ่งของ ก.ล.ต. ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และสมาคมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่ให้บริการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมีเป้าหมายเพื่อรณรงค์ให้นายจ้างเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อมให้ลูกจ้างมีเงินพอใช้หลังเกษียณผ่านการออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เพราะที่ผ่านมา ถึงแม้จะมีลูกจ้างสนใจเข้าร่วมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากขึ้น แต่ปรากฏว่า สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประมาณ 60% ได้รับเงินก้อนไม่ถึง 1 ล้านบาทในวันเกษียณอายุ ซึ่ง “ไม่เพียงพอ” กับการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่หลังเกษียณ

โครงการบริษัทเกษียณสุขจึงเริ่มต้นขึ้นเพื่อนายจ้างมีส่วนร่วมในการกระตุ้นให้ลูกจ้างตระหนักถึงความจำเป็นของการออมในวัยเกษียณโดยเฉพาะต้องออมให้พอนั่นหมายความว่าลูกจ้างควรจะสะสมเงินเต็มสิทธิ15% ของเงินเดือนซึ่งนายจ้างก็ต้องสมทบในจำนวนที่ไม่ต่ำกว่านั้นด้วย

ถ้าจะพูดอย่างบ้านๆ ก็ต้องบอกว่า งานนี้ต้องซื้อใจหรือวัดใจนายจ้างค่ะ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า เงินสมทบที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นภาระของนายจ้างล้วนๆ  แต่สิ่งที่นายจ้างจะได้รับกลับมาคือ ความสุขของพนักงาน คุณภาพของพนักงานและคุณภาพของงาน ไม่นับรวมเรื่องการได้รับยอมรับในวงกว้าง

รวมถึงรางวัลที่สำนักงาน ก.ล.ต.มอบให้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่บริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะกลายเป็น “หุ้นที่น่าลงทุน” เพราะเป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาล ดูแลใส่ใจชีวิตหลังเกษียณของพนักงานซึ่งเป็นหัวใจสำคัญขององค์กร

การมอบรางวัลครั้งแรกนั้น ปรากฏว่า ในจำนวนผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด มีนายจ้าง 64 ราย ที่เพิ่มแผนการลงทุนที่หลากหลายให้เหมาะกับลูกจ้าง และมีเงินสมทบให้ลูกจ้างตั้งแต่ 5% ขึ้นไป ขณะที่ลูกจ้างมีความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มเงินสะสม และมีนายจ้าง 28 ราย ที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมากกว่าครึ่งส่งเงินสะสมเข้ากองทุนมากกว่า 10% 

สุดท้ายเราจะตั้งบริษัทเกษียณสุขของตัวเองได้อย่างไร

สำหรับคนที่ทำงานในองค์กรที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เราก็สามารถสร้างบริษัทเกษียณสุขด้วยตัวเองได้ค่ะ แค่ต้องมีวินัย ต้องตั้งใจเก็บออมอย่างจริงจัง บังคับตัวเองให้ออมให้ได้ แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ อยากแนะนำให้จำลองโครงการบริษัทเกษียณสุข ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้น้องๆ ด้วยการให้น้องสะสมเงิน แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็สมทบให้น้องในจำนวนที่เท่ากับหรือมากกว่า

ทำไปเรื่อยๆแบบนี้ เราก็จะมี “บริษัทเกษียณสุข” ของตัวเองได้เหมือนกันค่ะ

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง : บริหารสุขภาพทางการเงิน จัดการ “หนี้” ให้อยู่หมัด..มีเงินใช้จนสิ้นเดือน

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0