โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ตัวเลขตกงานเดือน ก.ย. พุ่ง พบ ป.ตรี อื้อ

ช่อง 7

อัพเดต 10 ต.ค. 2562 เวลา 09.08 น. • เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 09.08 น. • Ch7
ตัวเลขตกงานเดือน ก.ย. พุ่ง พบ ป.ตรี อื้อ
ตัวเลขตกงานเดือน ก.ย. พุ่ง พบ ป.ตรี อื้อ

สำนักงานสถิติแห่งชาติเผยผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 พบผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป มี 56.64 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้อยู่ในวัยแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน 37.72 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 37.21 ล้านคน ผู้ว่างงาน 3.85 แสนคน และผู้ที่รอจะทำงาน 1.2 แสนคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน คนชรา เป็นต้น มีจำนวน 18.92 ล้านคน โดยในเดือนเดียวกันนี้ พบผู้ว่างงานกว่า 3.85 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราส่วนการว่างงาน ร้อยละ 1.0 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 พบจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นคน และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 3.0 พันคน ส่วนอัตราการว่างงานตามกลุ่มอายุพบว่ากลุ่มวัยเยาวชนหรือผู้มีอายุ 15-24 ปี มีอัตราการว่างงานร้อยละ 6.5 ซึ่งปกติในกลุ่มนี้อัตราการว่างงานจะสูง ส่วนกลุ่มวัยผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 25 ปีขึ้นไป มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.4 และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 กลุ่มวัยเยาวชนมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.1 เป็นร้อยละ 6.5
นอกจากนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังเผยตัวเลขผู้ว่างงานโดยจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่าผู้ว่างงานที่สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีจำนวนสูงสุดคือ 1.73 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 2.2 รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่า 8.4 หมื่นคน คิดเป็นร้อยละ 1.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 7.7 หมื่นคน คิดเป็นร้อย 1.2 ระดับประถมศึกษา 4.2 หมื่นคน คิดเป็นร้อยละ 0.5 และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 9.0 พันคน คิดเป็นร้อยละ 0.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 พบว่าผู้ว่างงานระดับมัธยมศึกษาตอนต้นลดลง 2.0 หมื่นคน ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษาลดลง 3.0 พันคน ในขณะที่ระดับอุดมศึกษาพบผู้ว่างเพิ่มขึ้น 2.8 หมื่นคน ระดับประถมศึกษาเพิ่มขึ้น 4.0 พันคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าเพิ่มขึ้น 3.0 พันคน
ขณะที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความเป็นห่วงสถานการณ์การเลิกจ้างหรือลาออกจากงานในปัจจุบัน และเปิดเผยว่าได้กำชับให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ให้การช่วยเหลือดูแลลูกจ้าง ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้างหรือออกจากงานอย่างเต็มที่ และขอให้ผู้ประกันตนไม่ต้องกังวลหากส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงาน จะได้รับเงินทดแทนกรณีว่างงานไม่ว่าจะถูกเลิกจ้างหรือลาออกก็ตาม ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่ว่างงานต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานและรายงานตัวทางเว็บไซต์ www.empui.doe.go.th สำหรับแรงงานต่างด้าวให้ขึ้นทะเบียนและรายงานตัวที่สำนักงานจัดหางานของรัฐทั่วประเทศภายใน 30 วัน หลังถูกเลิกจ้าง ลาออกจากงาน หรือสิ้นสุดการจ้างงาน เพื่อรับสิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงาน หากเกิน 30 วัน จะไม่สามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ครบถ้วน และให้เตรียมหลักฐานการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการออกจากงาน หรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน และสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตนไปด้วย
ในส่วนของผู้ประกันตนที่ว่างงานเพราะถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินทดแทนในระหว่างว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบระยะเวลาไม่เกิน 180 วัน ส่วนกรณีที่ผู้ประกันตนลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนในระหว่างการว่างงานอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้างที่นำส่งเงินสมทบระยะเวลาไม่เกิน 90 วัน
แต่หากผู้ประกันตนประสงค์จะใช้สิทธิประกันสังคมต่อไป สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนโดยสมัครใจตามมาตรา 39 โดยยื่นแบบคำขอเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ด้วยตนเองภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ออกจากงาน ซึ่งผู้ประกันตนตามมาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายประกันสังคมต่อไปรวม 6 กรณี ได้แก่ การประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายไม่เนื่องจากการทำงาน คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และชราภาพ โดยผู้ประกันตนจะนำส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท โดยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 แห่ง / จังหวัด / สาขาทั่วประเทศ หรือโทร 1506 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0