โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ตัวการ์ตูนในจักรวาล - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 26 ม.ค. 2563 เวลา 17.05 น. • วินทร์ เลียววาริณ

สหรัฐอเมริกาเป็นประทศที่ก้าวหน้าทางวิทยาการขั้นสูง สามารถส่งจรวดไปดวงจันทร์ ทว่างานวิจัยในปี ค.ศ. 2014 บอกว่าชาวอเมริกัน 45 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าโหราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์

คนจำนวนมากในโลกเข้าใจว่าโหราศาสตร์ก็คือวิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง เพราะเกี่ยวข้องกับการศึกษาดวงดาวเหมือนกัน

ความจริงคือไม่ใช่

ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับดวงดาวมีอย่างน้อยสามศาสตร์ คือ โหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ และจักรวาลวิทยา

โหราศาสตร์ (Astrology) ใช้ดวงดาวเป็นเครื่องมือเพื่อดูว่ามันส่งผลต่อคนและเหตุการณ์ต่าง ๆ บนโลกอย่างไร เป้าหมายของโหราศาสตร์คือการศึกษาเรื่องอำนาจพิเศษและหรือดวงดาวที่มีต่อมนุษย์

โหราศาสตร์เชื่อว่าแรงระหว่างดวงอาทิตย์ ดวงดาว และดาวเคราะห์ในระบบสุริยะมีพลังกำหนดชีวิตเรา มันไม่ได้อธิบายว่าระบบแรงนี้ทำงานอย่างไร บ้างก็พยายามอธิบายหลวม ๆ เช่น บางตำราว่าส่วนประกอบหลักของมนุษย์เป็นน้ำ จึงถูกแรงจากดาวอื่นดึงดูดในลักษณะเดียวกับเรื่องน้ำขึ้นน้ำลง เป็นต้น

โหราศาสตร์บางสายบอกว่าไม่ใช่ดวงดาวส่งแรงมาโดยตรงต่อคน แต่เป็นตำแหน่งดาวต่าง ๆ ในขณะเกิดที่บ่งบอกว่า ชะตาคน ๆ นั้นจะเป็นอย่างไร

ดาราศาสตร์ (Astronomy) ศึกษาเรื่องดวงดาว ดาวเคราะห์ ดาวหาง อุกกาบาต เนบิวลา ดาราจักร และปรากฏการณ์ต่าง ๆ การเคลื่อนที่ของดวงดาว แรงโน้มถ่วง ชนิด ขนาด ตำแหน่งของวัตถุต่าง ๆ ในอวกาศ ฯลฯดาราศาสตร์อิงการศึกษาจากการค้นคว้า การสังเกต และหลักฐาน ผ่านการทดลอง ทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่าจนได้ผลตรงกัน จึงบันทึกไว้เป็นความรู้

ส่วนจักรวาลวิทยา (Cosmology) จัดเป็นสาขาหนึ่งของดาราศาสตร์ แต่ศึกษาในสเกลที่กว้างกว่านั้น คือโครงสร้างและวิวัฒนาการของจักรวาล อย่างน้อยตั้งแต่เกิด บิ๊ก แบง จุดเริ่มต้นของจักรวาล จากจุดเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ‘Singularity’ จนขยายตัวมาเป็นจักรวาลในเวลานี้ 

จักรวาลวิทยาตั้งคำถามว่า มีอะไรมาก่อนจักรวาลของเรา ? อะไรทำให้จักรวาลขยายตัว ? จักรวาลมีจุดจบหรือไม่ ? เมื่อไร ? มันเกี่ยวอะไรกับชีิวิตในจักรวาล หรืออย่างน้อยชีวิตบนโลกของเรา ?

เปรียบง่าย ๆ คือ จักรวาลวิทยาก็เหมือนวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค ส่วนดาราศาสตร์เหมือนเศรษฐศาสตร์จุลภาค

นอกจากศึกษาจักรวาลของเราแล้ว วิชานี้ยังพยายามหาทางศึกษาเรื่องจักรวาลอื่น ภายใต้ทฤษฎีที่ว่า บางทีมันยังมีจักรวาลอื่น ๆ นอกเหนือจากจักรวาลของเรา ที่เรียกว่า Multiverse

เรื่องส่วนใหญ่ในโลกจักรวาลวิทยายังเป็นเทฤษฎีและเครื่องหมายคำถาม จนบางครั้งคนอาจคิดว่ามันเป็นเพียงความเพ้อฝันของนักวิทยาศาสตร์ เรายังเป็นทารกในการศึกษาวิชานี้ แต่ด้วยการทำงานร่วมกันและส่งไม้ต่อของนักวิทยาศาสตร์ระดับอัจฉริยะจำนวนหนึ่ง 'อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์' 'เอ็ดวิน ฮับเบิล' 'สตีเฟน ฮอว์กิง' ฯลฯ ทำให้จักรวาลวิทยาพอเป็นรูปเป็นร่าง ดังที่เราเห็นในวันนี้ ยังมีหนทางอีกยาวไกล แต่มันวางบนรากฐานทางวิทยาศาสตร์

แม้จักรวาลวิทยาจะดูไกลตัวเกินโลกของเรา แต่ท้ายที่สุดมันอาจเกี่ยวกับเราอย่างที่สุด ยกตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าดวงดาวทั้งหลายเกิดและดับมาหลายรอบ และองค์ประกอบธาตุของดวงดาวก็คือองค์ประกอบของร่างกายของเราทุกคน

คนค่อนโลกเห็นว่าจักรวาลวิทยาเป็นวิชาการทางวิทยาศาสตร์ทื่อ ๆ แต่ความจริงคือมันเป็นวิทยาศาสตร์เดียวที่สามารถโยงเข้ากับปรัชญาเข้ากับอภิปรัชญาได้อย่างกลมกลืน มันเปิดโลกกว้างขึ้นกว่าเดิม ทำให้เห็นภาพมนุษยชาติชัดเจนขึ้น

……………….………………………………

โลกใน พ.ศ. นี้ ยังมีกลุ่มคนที่เชื่อว่าโลกแบน พวกเขาพยายามหาเหตุผลต่าง ๆ มารองรับ ทั้งที่มีวิธีพิสูจน์ได้ง่ายกว่าและตรงจุดกว่านั้นมาก เช่น ติดกล้องบนยานที่ออกไปโคจรรอบโลก ก็จะเห็นชัดเจนว่าโลกแบนหรือไม่แบน หรือใช้กล้องโทรทรรศน์แรงสูงส่องดูตึกสูง ๆ หรือภูเขาหิมาลัยจากอีกซีกโลกหนึ่ง ถ้าโลกแบนจริง ก็ต้องเห็น

อำนาจพิเศษที่โหราศาสตร์และไสยศาสตร์พูดถึงก็เช่นกัน คนที่เชื่อให้เหตุผลต่าง ๆ มากมาย ส่วนมากมักอ้างตำราที่สืบทอดมานานหลายร้อยหลายพันปี แต่ความจริงสามารถพิสูจน์ได้ตรงจุดกว่านั้น นั่นคือศึกษาโครงสร้างของจักรวาล ก็อาจเห็นว่า โหราศาสตร์และไสยศาสตร์เป็นไปได้หรือไม่ในภาพรวมของจักรวาล

ทำไมต้องศึกษาจักรวาลวิทยา ? เพราะจักรวาลอยู่ในตัวเรา เราก็คือการประกอบด้วยกันของธุลีดาว

ใครก็ตามที่ศึกษาจักรวาลวิทยา จะเห็นภาพชัดขึ้นมากว่า โลกมาจากไหน เรามาจากไหน และเมื่อเรามองเห็นภาพชัดขึ้น มันจะล้มล้างหลายความเชื่อไปโดยปริยาย เหมือนกับที่เราเห็นเส้นขอบฟ้าเป็นเส้นตรง เราจะไม่มีวันเห็นมันเป็นเส้นโค้งจนกระทั่งเราออกพ้นผิวโลก

เราไม่มีทางรู้ หากมองที่มุมของศาสตร์ที่ถ่ายทอดมาเพียงมุมเดียว เราต้องออกไปสู่พื้นที่อื่นด้วย จึงอาจเห็นภาพทั้งหมด

หากจะเข้าใจโลกและชีวิตจริง ๆ เรามิอาจไม่ศึกษาจักรวาลวิทยา

ในโลกฟิสิกส์มีความพยายามมานานแล้วที่ค้นหา ‘ความจริงสูงสุด’ ซึ่งเป็นทฤษฎีอธิบายฟิสิกส์ทั้งหมด ทั้งฟิสิกส์ในสเกลใหญ่ระดับจักรวาล (เช่น แรงโน้มถ่วง) และฟิสิกส์ระดับอนุภาค (ควอนตัม ฟิสิกส์) เรียกว่า Theory of Everything (T.O.E.) สามารถอธิบายเรื่องในสเกลใหญ่ เช่น แรงทั้งสี่ชนิดทางฟิสิกส์ พลังงานมืด สสารมืด ไปจนถึงเรื่องอะตอม อนุภาคที่เล็กกว่าอะตอมพร้อม ๆ กัน

ไอน์สไตน์ใช้เวลาช่วงสามสิบปีสุดท้ายในชีวิตค้นหาทฤษฎี T.O.E. แต่ไม่สำเร็จ

หากค้นพบ T.O.E. น่าจะอธิบายทุกปรากฏการณ์ในจักรวาล และมันอาจจะสามารถให้คำตอบแก่เราว่าจักรวาลเกิดมาอย่างไร มีผู้สร้างหรือไม่ มีอำนาจเหนือธรรมชาติหรือไม่ ฯลฯ

หากวันหนึ่งเราเข้าใจทฤษฎี T.O.E. เราอาจรู้ว่าทำไมจึงมีมนุษย์บนโลก เป็นความบังเอิญหรือความตั้งใจ เมื่อนั้นจักรวาลวิทยาก็อาจเปิดโลกของความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

……………………………………………….

กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มีสองส่วนคือทฤษฎีกับกฎ ส่วนที่เป็นทฤษฎีคือส่วนที่คิดฝันขึ้นมา ส่วนที่เป็นกฎคือทฤษฎีที่ผ่านการพิสูจน์ แต่เราไม่นำส่วนที่คิดฝันขึ้นมาไปทำมาหากิน ความเพ้อฝันนั้นต้องผ่านการทดลองทดสอบจนกลายเป็นกฎ เช่นเดียวกับตำราอาหารและขนมมีสูตรที่แน่นอน ทำกี่ครั้งก็ได้ผลอย่างเดิม เมื่อนั้นจึงเผยแพร่อย่างเป็นทางการ ซึ่งตรงกันข้ามกับความเชื่องมงาย สามารถเผยแพร่ได้เลย 

ทุกหลักการทุกการค้นพบทางดาราศาสตร์ล้วนผ่านการพิสูจน์ เช่น การเดินทางของดาวหาง เราสามารถคำนวณได้แม่นยำว่าเมื่อไรดาวหางฮัลลีย์จะมาเยือนโลกอีก เรารู้แน่นอนว่าตำแหน่งดวงดาวในอดีตและอนาคตอยู่ที่ไหน เรารู้ว่าดาวเคราะห์ดวงไหนประกอบด้วยธาตุอะไร ทั้งหมดมาจากองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการพิสูจน์

ส่วนโหราศาสตร์และไสยศาสตร์ตรงกันข้าม เราสามารถโยงให้มันมีบทบาทต่อชีวิตเราได้ทั้งสิ้น โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไร ยกตัวอย่างเช่น ความเชื่อว่าใบชา ดวงดาว อัญมณี กลุ่มเลือด เบอร์โทรศัพท์ ทะเบียนรถยนต์ สีรถยนต์ ฯลฯ กำหนดชะตาชีวิตเรา

โหราศาสตร์แต่ละตำราทำนายได้ไม่เหมือนกัน แปลว่ามันมีรากฐานต่างกัน มีกฎต่างกัน นี่ทำให้โหราศาสตร์ไม่เป็นวิทยาศาสตร์

นอกจากนี้โหราศาสตร์ไม่สนใจบอกเหตุผลและหลักฐานว่าหลักการของการทำนายเป็นวิทยาศาสตร์อย่างไร เพียงบอกว่า ตำราว่าอย่างนี้

มันทำงานอย่างไร ? ไม่มีนักโหราศาสตร์คนใดบอกได้ บอกได้เพียงว่ามันอยู่เหนือความสามารถของมนุษย์ที่จะรู้

คำถามคือ ถ้ามันอยู่เหนือความสามารถของมนุษย์ที่จะรู้ เรารู้ได้อย่างไรว่ามันอยู่เหนือความสามารถของมนุษย์ที่จะรู้ ? ทำไมยังมีโหรที่รู้ความลับของวิชานี้ หรือว่าอำนาจพิเศษให้สัมปทานความรู้แก่คนบางจำพวก ?

ถ้าโหราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ต้องตีความ ทายกี่ทีก็ต้องได้ผลเหมือนกัน แต่ในความจริงโหราศาสตร์แต่ละตำราไม่เหมือนกัน เหมือนเอาไฮโดรเจนสองส่วนผสมออกซิเจนหนึ่งส่วนในเมืองไทยได้เป็นน้ำ ผสมสูตรเดียวกันในยุโรปได้เป็นหิน ผสมสูตรเดียวกันในไซบีเรียได้เป็นดิน

การพัฒนาโหราศาสตร์กินเวลาหลายพันปี แต่ผลที่ได้ในวันนี้ก็ยังไม่ตรงกันหรือสามารถตั้งเป็นกฎวิทยาศาสตร์ได้ ยังต้องตีความและไม่มีกฎ หากระยะเวลาไม่กี่ร้อยปีสามารถพัฒนาศาสตร์ต่าง ๆ จนได้ผลเดียวกัน ทำไมโหราศาสตร์ทำไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นหัวข้อเรื่องที่ชาวโลกสนใจอย่างต่อเนื่อง บางทีคำตอบก็คือ เพราะมันไม่มีรากฐานที่แน่นอน

ข้อแตกต่างระหว่างโหราศาสตร์กับดาราศาสตร์และจักรวาลวิทยาคือ โหราศาสตร์ใช้เพื่อรู้ความเป็นไปของชีวิตปัจเจก ส่วนดาราศาสตร์และจักรวาลวิทยาทำเพื่อองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์

แน่ละ วิทยาศาสตร์อาจไม่ใช่เครื่องมือที่ดีที่สุด แต่ ณ วันนี้ ใช่! มันยังเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด

เราสามารถสร้างทฤษฎีอะไรก็ได้ทั้งสิ้น แต่มันจะเป็น ‘กฎ’ หรือเป็นที่ยอมรับก็ต่อเมื่อเรารองรับมันด้วยหลักฐานที่แน่นอน ไม่เช่นนั้นเราก็สามารถทะเลาะกันได้อีกนานแสนนานโดยไม่มีคำตอบ

สมมุติว่าเราเสนอทฤษฎีว่า กลุ่มเลือดกำหนดชีวิตเรา หลักฐานก็คือแสดงให้เห็นโดยปราศจากข้อสงสัยว่า คนเลือดกลุ่มเอ จะต้องเจอเรื่องอะไร คนเลือดกลุ่มโอจะต้องเจอเรื่องอะไร และเพราะอะไร ถ้าพูดลอย ๆ มันก็เป็นได้เพียงทฤษฎี 

ถ้าสีรถยนต์สีใดสีหนึ่งสามารถทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ก็ต้องพิสูจน์ด้วยหลักฐานโดยปราศจากข้อสงสัยว่ามันเป็นเช่นนั้นจริงทุกครั้ง เช่นเดียวกับเมื่อเราเอาไฮโดรเจนสองส่วนผสมออกซิเจนหนึ่งส่วน จะผสมกี่ครั้ง ก็ได้น้ำทุกครั้ง

ถ้ามันเป็นความจริง จะกลัวอะไรกับการพิสูจน์

ถ้าสีรถที่เป็นมงคลกับเจ้าของโชคดี ถูกลอตเตอรี หรือทำให้เราแคล้วคลาดภัยทุกครั้ง มันก็จะเลื่อนฐานะเป็นวิทยาศาสตร์ เมื่อนั้นการซื้อรถยนต์ก็จะง่ายขึ้นมาก เพราะเราซื้อรถสีตรงกับวันเกิด 

แต่หากพิสูจน์ไม่ได้ มันก็เป็นได้แค่ความเชื่อทางไสยศาสตร์และวัตถุมงคล เรื่องดี ๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นผลของสิ่งอื่น แต่เราโมเมเอาเองว่ามันเกิดขึ้นเพราะอำนาจพิเศษ

แต่มองไปในความเชื่อต่าง ๆ ในท้องตลาด ไม่มีสักเรื่องที่ผ่านการพิสูจน์แบบวิทยาศาสตร์

เราไปที่ร้านเพื่อซื้อเครื่องอบไมโครเวฟ คนขายบอกเราว่า ทุกครั้งที่เราใส่อาหารในเครื่อง มันจะร้อน เราเชื่อเพราะทุกครั้งที่เราใส่อาหารในเครื่อง อาหารร้อนจริง 

นี่คือวิทยาศาสตร์ พิสูจน์ได้

แต่เมื่อคนขายอัญมณีบอกเราว่า อัญมณีนี้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น เราก็เชื่อโดยไม่ต้องพิสูจน์หรือ ? เราจะศึกษาว่ามันทำงานอย่างไร ถ้าทำให้สุขภาพดีขึ้น ดีขึ้นอย่างไร ?

แล้วมีการทดลองศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับอิทธิพลของดวงดาวต่อคนไหม? คำตอบคือมี เคยมีการวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ของดวงดาวกับชะตาชีวิตมนุษย์โดยหลักการวิทยาศาสตร์ ทำโดยนักโหราศาสตร์แนวใหม่ ยกตัวอย่าง เช่น Michel Gauquelin นักวิจัยและนักเขียนเรื่องวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ผู้ศึกษาพลังจักรวาลต่อมนุษย์ เคยเก็บสถิติความสัมพันธ์ระหว่างความโดดเด่นทางกีฬากับตำแหน่งดาวอังคารที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่เกิด เรียกว่า The Mars Effect พบว่ามันมีความสัมพันธ์กันอย่างน่าสนใจ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลภายหลังบ่งว่าการเก็บข้อมูลยังไม่เป็นวิทยาศาสตร์พอและมีอคติ แนวคิดนี้จึงล้มไป

……………………………………………….

มีคำกล่าวเสมอว่า ถ้าหลักการโหราศาสตร์ไม่จริง ทำไมมันอยู่มานานหลายพันปี

‘ความแม่นยำ’ ทางโหราศาสตร์เกิดขึ้นจากฐานข้อมูลมหาศาล เป็นการศึกษาทางสถิติศาสตร์ และความต้องการโยงความแม่นของผู้ไปหาหมอดูเอง มันคือ Placebo Effect และ The Barnum effect (หรือ The Forer Effect) ซึ่งเป็นคำอธิบายทางจิตวิทยาว่า เรานั่นเองเป็นคนให้คะแนนความแม่นยำของคำทำนายให้เข้ากับบุคลิกและชีวิตของเราเอง บ่อยครั้งคำทำนายเปิดกว้าง ไม่เจาะจงพอ ทำให้เราตีความเข้าข้างตัวเองว่า คำทำนายเหล่านั้นเป็นคำทำนายเฉพาะของเรา หลักการนี้ทำให้คนจำนวนมากเชื่อถือความเชื่อในเรื่องโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และเรื่องเหนือธรรมชาติ

The Barnum effect ก็มีหลักการคล้าย The Texas sharpshooter fallacy

Fallacy คือการใช้ตรรกะผิดเพี้ยนหรือวิบัติมาเป็นเหตุผล บางครั้งฟังดูดี แต่ผิดเพี้ยน

วลีนี้มาจากขำขันเรื่องหนึ่ง ชายชาวเท็กซัสคนหนึ่งยิงปืนหลายนัดบนกำแพงโรงนา แล้วทาสีรูปเป้าล้อมรูกระสุน เพื่อบอกคนอื่นว่าตนเองยิงปืนแม่น เข้าเป้าทุกนัด

The Texas sharpshooter fallacy เป็นการใช้ตรรกะผิดเพี้ยน ใช้เฉพาะข้อมูลที่ต้องการใช้ ละเลยข้อมูลที่ต่างออกไป เพื่อจะได้บทสรุปตามที่ต้องการ

เรามักใช้วลีนี้ในบริบทที่คนคนหนึ่งได้รับข้อมูลมากมาย แต่เน้นเฉพาะข้อมูลเพียงบางส่วนซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของข้อมูลทั้งหมด และใช้ข้อมูลผิด ๆ นั้น ทั้งนี้เพราะมนุษย์เรามีสัญชาตญาณตีความเข้าข้างตัวเอง หรือโยงกับเรื่องที่ตนเองสนใจ

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการตีความคำทำนายของนอสตราดามุส เลือกเฉพาะส่วนที่จะนำมาใช้ และตีความเป็นเรื่องเป็นราว และอาจจะแตกต่างจากงานต้นฉบับ หรือเจตนาของนอสตราดามุส

นานมาแล้ว นักวิทยาศาสตร์-นักเขียน อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก เขียนในเรื่องสั้นเรื่องหนึ่ง สิ่งทรงภูมิปัญญาต่างดาวเดินทางมาเยือนโลกเรา นานหลังจากมนุษย์หายไปจากผืนพิภพแล้ว ไม่เหลือหลักฐานใด ๆ ที่บอกว่าเคยมีมนุษย์บนโลก

สิ่งทรงภูมิปัญญาเข้าไปในห้องเก็บของแห่งหนึ่งแถวฮอลลีวูด พบม้วนภาพยนตร์เก่า เมื่อนำมาฉายก็พบตัวการ์ตูนทั้งหลายของ วอลท์ ดิสนีย์ แสดงบทบาทโลดแล่นบนจอ การ์ตูนทั้งหลายกิน เล่น ขับรถ ฯลฯ สิ่งทรงภูมิปัญญาจึงสรุปว่านี่คือมนุษย์บนโลก เพราะ “ประวัติศาสตร์โลกบันทึกไว้”

การที่จะรู้ว่าบันทึกนั้นจริงหรือไม่ จึงไม่อาจดูจากหลักฐานบันทึกอย่างเดียว มันอาจจะจริง หรืออาจะไม่จริง ในกรณีนี้ตัวการ์ตูนเป็นสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ล้วน ๆ 

สิ่งที่ดำรงอยู่ในโลกมาหลายพันปี มีหลักฐานบันทึกไว้ มิใช่หลักฐานเพียงพอที่บอกว่ามันเป็นความจริง

……………………………………………

วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0