โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ดันไฮสปีด-มาบตาพุดจบรัฐบาลนี้

กรุงเทพธุรกิจ

เผยแพร่ 24 พ.ค. 2562 เวลา 00.00 น.

ยกเป็นแหล่งสร้างเทคโนโลยีพัฒนาประเทศในระยะยาว เผย 5 โครงการหลักรัฐลงทุน 2 แสนล้านบาท ได้ผลตอบแทนคืน 4.5 แสนล้านบาท เผย ส่งแผนจีโนมิกส์รักษาลึกระดับยีนให้กับประชาชนทุกคน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวในงานสัมมนา GAME CHANGER เกมใหม่ เปลี่ยนอนาคต Part 2 ในหัวข้อ EEC GAME CHANGER เศรษฐกิจการค้าการลงทุนไทย จัดโดย หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ถือเป็นรัฐบาลแรกที่นำเรื่องของเทคโนโลยีมาเป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศ เป็นประวัติศาสตร์เศรษฐกิจหน้าใหม่ของไทย โดยมีโครงการที่สำคัญ คือ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเกิด 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามมา ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนจากเดิมที่ติดลบมายาวนานกลายเป็นบวกและล่าสุดในไตรมาส 1 ปี 2562 ได้ขยายตัวถึง 4.4%

อีอีซีดันลงทุนโต10%ต่อปี

ในพื้นที่ อีอีซี 3 จังหวัด (ชลบุรี, ระยอง, ฉะเชิงเทรา) จะเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนที่สำคัญของประเทศ มีเป้าหมายภายใน 5 ปี จะทำให้การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวให้ได้ถึง 10% ต่อปี ซึ่งจะเน้นการลงทุนด้านเทคโนโลยี และดึงธุรกิจใหม่ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงเข้ามาในพื้นที่ ตั้งเป้าให้ภายใน 10 ปี นักลงทุนไทยจะมีเทคโนโลยี และเงินลงทุน เพียงพอที่จะสร้างประเทศชาติในอนาคต ยกระดับให้ประเทศไทยเป็นผู้นำเทคโนโลยีใหม่ๆ ส่วนใดที่ขาดก็ดึงต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วม และจะนำเงินในประเทศไทยมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

"อีอีซี ถือเป็น GAME CHANGER ที่ต้องทำอย่างถูกต้อง โดยการสะสมเทคโนโลยี ทำให้คนในพื้นที่ อีอีซี ได้รับประโยชน์ และเป็นโมเดลต้นแบบเพื่อขยายไปพื้นที่อื่น เช่น ที่ขอนแก่นบวก 5 จังหวัดรอบๆ ที่เชียงใหม่บวกลำพูน ที่ภูเก็ตบวกพังงา ตรัง เพื่อผลักดันการท่องเที่ยว เป็นต้น"

ดัน2โปรเจคเข้าครม.สัปดาห์หน้า

ส่วนความคืบหน้าของ 5 โครงการโครงสร้างพื้นฐานใน อีอีซี ที่มีเงินลงทุน 6.5 แสนล้านบาท รัฐลงทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท โดยรัฐจะได้ผลตอบแทนในครั้งนี้ถึง 4.5 แสนล้านบาท ในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 จะเข้าสู่การพิจารณาของ กพอ. ในวันที่ 27 พ.ค. นี้ และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 พ.ค. นี้

ทั้งนี้ สาเหตุที่ครม. ตีกลับให้ไปเจรจากับภาคเอกชนเพิ่มเติม เนื่องจากในช่วงที่ทำแผนท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 ได้กำหนดให้เอกชนลงทุนถมทะเล 1 พันไร่ไปก่อน จากนั้นหลังจากแล้วเสร็จ 3 ปี กนอ. จะทยอยจ่ายเงินคืนให้เอกชนปีละ 600 ล้านบาท เป็นเวลา 30 ปี โดยมีอัตราดอกเบี้ย 2.5% ซึ่งเอกชนมองว่าต้นทุนการเงินในอัตราดอกเบี้ย 2.5% ไม่สามารถทำได้ เพราะระดับดังกล่าวเป็นอัตราดอกเบี้ยที่รัฐกู้ ไม่ใช้อัตราที่ภาคเอกชนกู้ ซึ่งจะมีดอกเบี้ยอยู่ที่ 5-6% จนสุดท้ายเจรจามาอยู่ที่ 4.8% ทำให้กนอ. ต้องจ่ายเงินคืนเอกชนขึ้นเป็นปีละ 720 ล้านบาท ซึ่ง ครม. เห็นว่าควรจะไปเจรจากับเอกชนให้ลดลงมากที่สุด

"กนอ. จะต้องไปเจรจากับเอกชนให้ลดการจ่ายคืนให้ได้มากที่สุด หากตัวเลขสิ้นสุดที่ใดก็จะต้อนนำตัวเลขนั้นนำเข้าสู่ที่ประชุม กพอ. ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ และนำเข้า ครม. ในวันที่ 28 พ.ค.นี้"

เร่งเจรจาปมผลประโยชน์รัฐลดลง

อย่างไรก็ตาม มองว่าแม้ท้ายสุด กนอ. จะต้องจ่ายคืนให้เอกชนเพิ่ม แต่ก็มั่นใจว่า กนอ. ยังคงได้กำไร เพราะในพื้นที่ถมทะเล 1 พันไร่ จะเป็นพื้นที่สร้างคลังก๊าซ 200 ไร่ อีก 800 ไร่ กนอ. จะนำต้นทุนที่เพิ่มมาบวกในราคาที่ดิน ซึ่งในปัจจุบันที่ดินบริเวณรี้มีราคาสูงถึงไร่ละ 10 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตอีก 3 ปีเมื่อถมทะเลเสร็จ ราคาที่ดินก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก ยังไงก็มองว่าคุ้มไม่ขาดทุน

ส่วนโครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) ระหว่างการบินไทยและแอร์บัส ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 คาดว่าจะแล้วเสร็จลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับเอกชนได้ภายในเดือน มิ.ย.2562 ทั้งหมด

ดึงจีโมมิกส์ยกระดับสุขภาพปชช.

นายคณิศ กล่าวว่า ในโครงการ อีอีซี ยังได้เน้นในเรื่องของการยกระดับด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ โดยได้มีแผนบูรณาการ จีโนมิกส์ ประเทศไทย เพื่อรักษาพยาบาลในระดับยีน และยาระดับยีนให้กับคนไทย ใช้เงินประมาณ 1.5 พันล้านบาท ภายใน 5 ปี ร่วมมือกับภาคเอกชนในการถอดรหัสและตรวจสอบทางพันธุกรรมของคนไทย ซึ่งจะนำความรู้ด้านการวิจัยยีนมารักษาพยาบาลผู้ป่วยในทุกระดับจนไปถึงโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

โดยจะมีการจัดทำข้อมูลด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ซึ่งจะมี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ บริการวิเคราะห์และวิจัยขั้นสูง บริการจัดการด้านข้อมูล อบรมและผลิตบุคลากร บริการการแพทย์แบบจีโนมิกส์เป็นการเฉพาะ รวมไปถึงการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ การรักษาพยาบาลระดับยีน

นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงระบบสาธารณสุขในพื้นที่ อีอีซี โดยจะลดความแออัดของโรงพยาบาล เพิ่มหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีคุณภาพกระจายตัวเข้าถึงอย่างสะดวก รวมทั้งจะพัฒนาระบบข้อมูลและระบบประกันสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ตลอดจนการลงทุนหรือร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในการตั้งโรงพยาบาลใหม่ๆ ในพื้นที่ที่มีความพร้อม ให้สามารถหารายได้พึ่งพาตัวเองได้ และการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความคล่องตัว

แจงเหตุลดพื้นที่เกษตรกรรม

ในส่วนของการร่างแผนผังการพัฒนาอีอีซี ได้มีการปรับปรุงสัดส่วนการใช้พื้นที่ใหม่ โดยเขตชุมชนเมืองผังเมืองเดิมมีพื้นที่ 916,183 ไร่ ปรับเพิ่มเป็น 1,354,451 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 438,268 ไร่ เขตอุตสาหกรรม เดิม 283,561 ไร่ เพิ่มเป็น 406,492 ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 122,931 ไร่ เขตเกษตรกรรม เดิม 5,619,633 ไร่ ลดลงเหลือ 5,211,154 ไร่ หรือลดลง 408,479 ไร่ ส่วนพื้นที่อนุรักษ์ คงเดิมที่ 838,245 ไร่ ซึ่งสัดส่วนเหล่านี้เพียงพอที่จะรองรับการขยายตัวของอีอีซีในอนาคต

"รัฐบาลจะใช้ อีอีซีสร้างฐานการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อเปิดประตูเศรษฐกิจและระดมการลงทุนอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงเพื่อสร้างกำลังผลักดันประเทศ ขณะนี้ทิศทางไทยแลนด์ 4.0 มีความมั่นคงพร้อมที่จะนำคนไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางมีรายได้ที่ยั่งยืน มีความอยู่ดี กินดี รายได้ที่สูงขึ้นและที่สำคัญคือ ทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นศูนย์กลางสำคัญของเอเชียอีกครั้งหนึ่ง"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0