โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ดัชนีเชื่อมั่น "คนท่องเที่ยว" ทรุด แนะรัฐปลดล็อก "กฎหมาย" รับธุรกิจเปลี่ยน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 19 ม.ค. 2563 เวลา 03.45 น. • เผยแพร่ 19 ม.ค. 2563 เวลา 07.00 น.
ทะเล

แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยจะเผชิญกับปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่ามาอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2 ปีที่ผ่านมา ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการท่องเที่ยวหล่นวูบอย่างหนักในไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 และยังคงต่ำกว่าภาวะปกติต่อเนื่องมาถึงไตรมาสแรกของปี 2563 นี้

โดยจากการทำวิจัยเรื่องดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4/2562 และคาดการณ์แนวโน้มไตรมาสที่ 1/2563 ของสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ที่ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย สงขลา พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4/2562 เท่ากับ 88 ต่ำกว่าระดับปกติค่อนข้างมาก และยังคาดการณ์ถึงไตรมาสที่ 1/2563 ด้วยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวจะอยู่ในระดับ 94

ระดับดัชนีความเชื่อมั่นในไตรมาสที่ 1/2563 นี้ แม้ว่าจะปรับสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 4/2562 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังถือว่าต่ำกว่าระดับปกติ และต่ำกว่าช่วงไตรมาสเดียวกันในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาด้วย

หากโฟกัสลงไปอีกจะพบว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าภาวะปกติในทุกภูมิภาค นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ประกอบการในเกือบทุกสาขาในภาคท่องเที่ยวที่ประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าปกติค่อนข้างมาก และยังพบด้วยว่า ประเด็นหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการรู้สึกกังวลมากที่สุด ในช่วงไตรมาสที่ 4/2562 นั้นเป็นผลจาก ผลประกอบการที่ลดลงจากภาวะปกติเป็นอย่างมาก และผู้ประกอบการมีความรู้สึกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง

อย่างไรก็ตาม หากประเมินตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวฯพบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย และมีการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวไปยังแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ และไปยังท้องถิ่นมากขึ้น บวกกับปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ชะลอตัวที่มีส่วนทำให้ลูกค้าของธุรกิจท่องเที่ยวบางประเภทลดค่าใช้จ่ายลง

ที่สำคัญ ยังพบว่าปัจจุบันนักท่องเที่ยวกลุ่มที่เดินทางด้วยตัวเอง หรือ FIT มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีการกระจายตัวไปพักตามที่พักของท่องเที่ยวชุมชน, โฮสเทล และที่พักประเภท Airbnb ทำให้กลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่พักถูกแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดไป รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งที่มีผู้ให้บริการรถเช่า อาทิ Grab หรือแพลตฟอร์มใหม่ ๆ เข้ามาแชร์ส่วนแบ่งทางการตลาดไปเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ธุรกิจท่องเที่ยวก็ยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทางการท่องเที่ยว ควรร่วมมือกันเพื่อหาแนวทางเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส อาทิ เปลี่ยนกฎเกณฑ์และระเบียบของธุรกิจโรงแรมและที่พักให้ทันสมัยเข้ากับสภาวะปัจจุบัน ลดระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือขั้นตอนการขึ้นทะเบียนโรงแรมและที่พักให้ทำได้ง่ายขึ้น

ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในการแข่งขันด้านต่าง ๆ การส่งเสริมการตลาดทั้งในและต่างประเทศ จัดสรรงบประมาณเพื่อธุรกิจเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และส่งเสริมทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการทำธุรกิจ เช่น การทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งให้ผู้ประกอบการรายย่อยรวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และผู้ประกอบการท่องเที่ยวในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคม, เจาะตลาดนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม,นำกลยุทธ์ด้านราคามาสร้างแรงจูงใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเองก็จำเป็นต้องปรับตัว และวางแผนการบริการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบ FIT ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อให้สอดรับกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของตลาดนักท่องเที่ยว และพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยว…

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0