โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ดวงลงทุน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Stock2morrow

อัพเดต 13 ต.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • เผยแพร่ 13 ต.ค. 2562 เวลา 17.00 น. • Stock2morrow
ดวงลงทุน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ดวงลงทุน : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

จากประสบการณ์กว่า 20 ปีในตลาดหุ้น ผมเองคิดว่าตนเองนั้น “โชคดีมาก” ที่เข้าตลาดเริ่มลงทุนอย่างจริงจังและ “เพื่อชีวิต” นั่นคือทุ่มเทเงินทุกบาทลงทุนในหุ้น ในเวลาที่ถูกต้องและด้วยกลยุทธ์ที่ถูกต้องนั่นคือ ลงทุนแบบ “VI” ในยามที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติ ราคาหุ้นตกลงมาอย่างหนักและแทบไม่มีใครสนใจจะลงทุนหรือพูดถึงตลาดหุ้นเลย ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันเพียงไม่เกิน 3-4 พันล้านบาท ผลที่ได้รับหลังจากเวลาผ่านไปกว่า 2 ทศวรรษก็คือ ชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงจนแทบไม่น่าเชื่อทำให้กลายเป็นคนที่มีความมั่งคั่งสูงจากคนชั้นกลางกินเงินเดือนที่กำลังตกงานและไม่รู้ว่าอนาคตจะต้องย้ายลูกจากโรงเรียนอินเตอร์ออกมาเรียนโรงเรียนไทยหรือไม่ ทั้งหมดนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิด ไม่ได้เกิดจากการวางแผนรวยจากตลาดหุ้น ว่าที่จริงในยุคนั้น มีแต่ตัวอย่างของคน “จนจากตลาดหุ้น” จนคิดฆ่าตัวตาย คนอาจจะคิดหลังจากที่ผมประสบความสำเร็จแล้วว่าผมน่าจะเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล มองขาดว่าตลาดหุ้นจะฟื้นตัวและเติบโตขึ้นมากจนทำให้กล้าลงทุนและรวยไปเลย

 

ความเป็นจริงก็คือ ผมไม่ได้คิดว่าจะรวย ผมแค่คิดไปตามสถานการณ์ว่าหุ้นในขณะนั้นมีราคาถูกมาก หุ้นระดับที่น่าจะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ในความหมายปัจจุบันที่มีราคาแพงลิ่วค่า PE 30-40 เท่าขึ้นไปนั้น ในตอนนั้นมีค่า PE แค่ 10 เท่า บางตัวจ่ายปันผลเกือบ 10% ต่อปี แต่ก็ไม่มีคนสนใจที่จะซื้อ เหตุผลก็เพราะว่าคนส่วนใหญ่ที่ “กล้าเสี่ยง” มากกว่าการฝากเงินในธนาคารหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาลซึ่งจำนวนมากก็คือนักธุรกิจ ต่างก็ไม่มีเงินสดและจำนวนมากติดหนี้สินรุงรัง ส่วนคนกินเงินเดือนนั้น ส่วนมากก็ยังต้องผ่อนบ้านและรถ และคนที่มีเงินเก็บเป็นเงินสดนั้น น้อยคนที่จะกล้า “เล่นหุ้น” ที่เป็นกิจกรรมที่เสี่ยงที่สุดอย่างหนึ่งรองจากการเล่นม้าหรือเล่นการพนันในบ่อน และผมเองก็เป็นคนหนึ่งในนั้น ผมโชคดีที่ไม่ได้ซื้อทรัพย์สินใหญ่โตที่ต้องทำให้ผ่อนจนไม่มีเงินเหลือเก็บ ผมไม่เคยมีบ้านแต่อาศัยบ้านทางฝ่ายภรรยาอยู่ ผมไม่มีรถส่วนตัวแต่มีรถประจำตำแหน่งใช้ ผมทำงานในธุรกิจที่ให้เงินเดือนดีคือธุรกิจหลักทรัพย์ ผมเป็นคนประหยัดอดออมตั้งแต่เด็ก ดังนั้น แม้ว่าเงินเก็บจะไม่ได้มากเมื่อคำนึงถึงอายุที่สี่สิบกว่าปีแล้ว ผมก็มีเงินเก็บในระดับที่ใช้ได้ และนี่ก็คือความโชคดีข้อที่สอง

 

เหตุผลที่ผมกล้าที่จะเข้าลงทุนในยามที่ตลาดเลวร้ายที่สุดนั้นเป็นเพราะว่ามัน “จำเป็น” และผมดูแล้วว่าความเสี่ยงยอมรับได้ถ้าทำแบบ “VI” นั่นคือ “ลงทุนในหุ้นให้คิดและทำเหมือนลงทุนในธุรกิจ” เลือกธุรกิจที่ดี นั่นคือมีความสามารถในการแข่งขันหรือมียี่ห้อที่แข็งแกร่ง มีกำไรที่ดีและมั่นคง มีการจ่ายปันผล มีผู้บริหารที่ดีและไว้ใจได้ในความซื่อสัตย์ และสุดท้ายก่อนที่จะซื้อก็คือ มีราคาหุ้นที่ถูกหรือไม่แพง ซื้อแล้วถือยาวรอให้มันเติบโต ในระหว่างนั้นก็เก็บปันผลมากินมาใช้ อย่าไปสนใจราคาหุ้นที่ขึ้น ๆ ลง ๆ ทุกวันมากนัก ผมจำเป็นต้องลงทุนเพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพ ไม่ได้คิดว่าจะรวยเร็ว แต่ลึก ๆ แล้วก็คิดว่ามันเป็น “โอกาสทอง” ที่จะได้เป็นเจ้าของธุรกิจที่ดีเยี่ยมด้วยเงินเพียงน้อยนิด และด้วย “มหัศจรรย์ของการทบต้น” ถ้าเราลงทุนไปเรื่อย ๆ อีก 30-40 ปีก่อนตายก็น่าจะมีเงินเป็น “พันล้านบาท” เป็นความโชคดีที่ผม “จำเป็น” ต้องลงทุนในหุ้น ไม่อย่างนั้นเงินไม่พอใช้

 

ดัชนีตลาดหุ้นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 นั้น ต่ำมาก สิ้นปีดัชนีอยู่ที่ 373 จุด ค่า PE เฉลี่ยของตลาดเท่ากับ 6.6 เท่า และนับจากวันนั้นต่อมาอีกประมาณ 10 ปีจนถึงปี 2551 ซึ่งเกิดวิกฤติซับไพร์ม ค่า PE ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน 10 เท่า ผลตอบแทนจากการลงทุนโดยเฉลี่ยของตลาดในช่วง 10 ปีนี้ดัชนีก็เติบโตขึ้นเป็น 858 จุดเมื่อสิ้นปี 2550 หรือให้ผลตอบแทนประมาณ 8.7% ซึ่งเมื่อรวมกับปันผลน่าจะได้ถึง 12% ต่อปีแบบทบต้น ดังนั้น จังหวะการเข้าลงทุนของผมจึงต้องถือว่า “โชคดี” แต่ที่ดียิ่งกว่านั้นก็คือการที่ผมเลือกลงทุนในหุ้นที่ถูกกว่าปกติของตลาดซึ่งก็มักเป็นหุ้นตัวเล็กที่นักลงทุนสถาบันหรือต่างประเทศไม่สนใจ นั่นทำให้ผลตอบแทนสูงกว่าปกติมากโดยที่แทบไม่ได้อาศัยทักษะพิเศษอะไรมากนัก

“นาทีทอง” ของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจริง ๆ นั้นเกิดขึ้นหลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ที่ดัชนีตลาดตกลงมาจาก 800 กว่าจุดเหลือเพียง 450 จุดเมื่อสิ้นปี 2551 เพราะหลังจากนั้นต่อมาอีก 4 ปี จนถึงสิ้นปี 2555 ดัชนีหุ้นก็ปรับตัวขึ้นมาถึง 1,392 จุด หรือโตขึ้นเป็นประมาณ 3 เท่าคิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นปีละ 32.6% หากรวมปันผลก็คงเกิน 35% ต่อปี การปรับตัวขึ้นของดัชนีนั้น น่าจะเป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของภาวะเศรษฐกิจเห็นได้จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ปรับตัวขึ้นแรงมากจากปีละ 310,000 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 722,000 ล้านบาทในปี 2555 หรือโตปีละ 23.5% แบบทบต้น ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับระดับประมาณ 3-4% ต่อปีในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมานี้

 

ช่วงเวลานาทีทองหลังวิกฤติปี 2551 นี้ ต้องถือว่าเป็น “โชคดี” ของ “VI รุ่นใหม่” ที่มักจะเป็นคนหนุ่มสาวที่กินเงินเดือนและพอมีเงินเก็บเข้ามาลงทุนในหุ้นอย่างจริงจัง คนกลุ่มนี้แตกต่างจากนักเล่นหุ้นยุคก่อนอย่างเห็นได้ชัด พวกเขามักมีการศึกษาสูง อ่านงบการเงินเป็นและสามารถวิเคราะห์หุ้นได้ดี ที่สำคัญ พวกเขาไม่ได้มองดูหุ้นเป็นเรื่องของการพนันอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่สามารถทำให้มีชีวิตที่ดีและรวยได้ เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป นักลงทุนหนุ่มสาวหลายคนก็มีพ่อแม่ที่ร่ำรวยและทำธุรกิจที่สามารถนำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นได้โดยที่ไม่ต้องเก็บออมเงินเอง ว่าที่จริงนักธุรกิจหลายคนเองนั้น ก็เริ่มเข้ามาสนใจลงทุนในตลาดหุ้นเนื่องจากเห็นว่าหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีไม่แพ้หรือดีกว่าธุรกิจของตนเอง พวกเขาเชื่อว่า “ลงทุนในหุ้นก็เหมือนกับทำธุรกิจ” และนี่ก็เป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งว่าแนวความคิด VI นั้นได้หยั่งรากลงมาในสังคมของนักธุรกิจไทยแล้ว และนี่ก็คือกลุ่ม VI ผู้ “โชคดี” ที่สามารถทำเงินจนร่ำรวยหรือเป็นเศรษฐีได้ทั้ง ๆ ที่หลายคนยังมีอายุน้อย

 

ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ตลาดหลักทรัพย์โดยภาพรวมดูเหมือนว่าจะเริ่มเปลี่ยนแปลง เกือบ 7 ปีที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นจากประมาณ 1392 จุดปรับตัวขึ้นมาเพียง 200 กว่าจุดเป็น 1626 ในวันที่ 11 ตุลาคม 2562 หรือให้ผลตอบแทนแบบทบต้นแค่ปีละ 2.3% ถ้ารวมปันผลก็แค่ประมาณ 5.3% ต่อปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ประมาณ 10% ค่อนข้างมาก และเหตุผลที่ทำให้ตลาดให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนั้นก็น่าจะมาจากหลาย ๆ ประเด็น เช่น ภาวะเศรษฐกิจที่ลดต่ำลง-อย่างถาวร เนื่องจากคนไทยแก่ตัวขึ้น การเติบโตของ GDP ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมานั้นเหลือแค่เฉลี่ยเพียง 3% ต่อปีเทียบกับที่เคยเป็น 4-5% และ 7-8% ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น กำไรของบริษัทจดทะเบียนก็โตน้อยมากเฉลี่ยประมาณ 3-4% ต่อปีแบบทบต้น ที่สำคัญที่สุดก็คือ หุ้นมีราคาแพงวัดจากค่า PE เฉลี่ยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาที่ 18 เท่า มีสิ่งเดียวที่เอื้ออำนวยนั่นก็คือ อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ลดต่ำลงมาเป็นประวัติการณ์ที่ 1.7% ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งนี่อาจจะทำให้ค่า PE ของตลาดที่ 18 เท่ายังพอมีเหตุผลอยู่บ้าง

 

คนที่เข้ามาในตลาดหุ้นในช่วงน้อยกว่า 7 ปีนั้น น่าจะเป็นคนที่ “โชคไม่ค่อยดี” ไม่มี “ดวง” ในการลงทุน ดังนั้น เซียนหรือคนที่รวยจากการเข้าตลาดในช่วงเวลานี้ก็คงจะมีน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วก็จะขาดทุน คนที่ยังร่ำรวยจากตลาดหุ้นและยังเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวยในการลงทุนในหุ้นและช่วยประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนใหม่ ๆ ยังเข้ามาลงทุนอยู่ ก็เพราะเขาสามารถ “เอาตัวรอด” และประคองตัวจากภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยมายาวนาน และนี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ “วัดฝีมือ” จริง ๆ ของ VI ไม่ใช่เรื่องของ “ดวง” ของการลงทุนที่เข้ามาถูกที่ ถูกเวลา มีเงินเริ่มต้น และกล้าเสี่ยงมากกว่าปกติ

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า Value Investor (VI) 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0