โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง: มนุษย์ต้องปรับตัวอย่างไร ในวันที่ต้องอยู่ร่วมกับ AI

a day BULLETIN

อัพเดต 21 พ.ย. 2562 เวลา 07.01 น. • เผยแพร่ 20 พ.ย. 2562 เวลา 10.16 น. • a day BULLETIN
ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง: มนุษย์ต้องปรับตัวอย่างไร ในวันที่ต้องอยู่ร่วมกับ AI

ปัจจุบันที่ Artificial Intelligence (AI) มีความสามารถใกล้เคียงกับมนุษย์แทบทุกด้าน คำถามสำคัญที่ชาวโลกรวมถึงคนไทยเต็มไปด้วยความวิตกกังวลคือ เราจะรับมือกับความฉลาดกันของปัญญาประดิษฐ์นี้อย่างไร จึงเป็นเหตุให้ดร. ธนารักษ์ ธีระมั่นคง ร่วมมือกับอีกหลายหน่วยงานในการก่อตั้งสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial intelligence Association of Thailand: AIAT) เพื่อส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับ AI ในทุกๆ ด้าน และหวังว่าในอนาคตข้างหน้า คนไทยจะสามารถเรียนรู้และปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างสงบสุข

 

ธนารักษ์ ธีระมั่นคง
ธนารักษ์ ธีระมั่นคง

สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทยจัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อไร

        สมาคมของเราจัดตั้งขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้วครับ จริงๆ ก่อนหน้านี้เรื่อง AI ในประเทศไทยยังไม่เป็นที่พูดถึงเลย แต่พอเริ่มเป็นกระแสมากขึ้น ซึ่งเราเห็นปรากฏการณ์ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะอาจารย์หลายท่านของเราก็จบจากด้าน AI แต่ส่วนใหญ่จะเป็นด้านภาษาที่จะพัฒนาเป็น Search Engine ที่มีมาตั้งแต่สมัยปี ’90 แล้ว ประกอบกับการจัดตั้งขึ้นของการประชุมวิชาการที่ชื่อ SNLP (Symposium on Natural Language Processing) ของคนไทย ที่จะแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเทคโนโลยีมาโดยตลอด กลับไม่ค่อยมีเรื่องปัญญาประดิษฐ์อยู่ในวงประชุมเลย เราก็เลยจัดตั้งสมาคมขึ้นมาเพื่อหวังจะให้ความรู้ในด้านนี้แก่ทุกฝ่าย

เป้าหมายสำคัญของทางสมาคมคืออะไร

        เราอยากส่งเสริมให้ประเทศไทยมีวิชาการทางด้าน AI ที่เข้มแข็งขึ้น เราเห็นประเทศอื่นเขาจัดตั้งมานานแล้ว สหรัฐฯ ตั้งมาถึง 60 ปี แต่ทำไมเมืองไทยเรายังไม่มี เลยคิดว่าเราควรจะจัดตั้งสมาคมขึ้นมาเพื่อเป็นศูนย์กลางของความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้อาจารย์ได้แบ่งปันข้อมูลซึ่งกันและกัน มีทิศทางและจุดยึดเหนี่ยวอันเดียวกัน เพื่อตอบคำถามที่สำคัญที่สุดคือ จะทำอย่างไรให้ AI ประเทศไทยมีความก้าวหน้า

        และในช่วงหลังจะเห็นได้ว่าเทรนด์ของสตาร์ทอัพที่เกิดขึ้นมามากมายก็เกี่ยวข้องกับ AI มากขึ้น เราก็มีหน้าที่ช่วยเหลือเขาตรงนี้ด้วย ซึ่งมีตั้งแต่การจัดงานวิชาการ การอบรม การกำหนดมาตรฐาน และนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับ AI

วงการ AI ในประเทศไทยยังมีปัญหาตรงจุดไหน

        ผมคิดว่าเป็นเรื่องปริมาณคนทำ AI ที่ยังน้อยและมีการสนับสนุนที่ยังขาดแคลนอยู่ ไม่มีระบบนิเวศที่ดีพอ เงินลงทุน กฎหมาย การตลาด โดยเฉพาะอันหลังสำคัญมากเลย เราต้องมองว่าจะพาเขาไประดับโลกได้อย่างไร เพราะถ้าขายในระดับโลกได้ คนไทยก็จะหันมาสนใจ AI ในประเทศเองจะหันมาซื้อของคนไทย เพราะมันดีถึงขนาดไประดับโลก ทำไมเขาจะไม่ซื้อกัน ซึ่งทั้งหมดนี่จะทำให้วงการพัฒนาได้ด้วยตัวของมันเอง โดยที่สมาคมแทบไม่ต้องผลักดันอะไรมากมายเลย 

คิดว่าคนไทยตื่นตัวต่อเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

        คิดว่าคนไทยยังไม่ค่อยรู้ว่า AI จริงๆ คืออะไร มีความสามารถอะไรบ้าง ซึ่งตรงนี้พวกเรากำลังแก้ไขกันอยู่ ทั้งการออกนโยบายต่อภาครัฐ การอบรมตั้งแต่เด็ก ครู อาจารย์ในมหาวิทยาลัย นักวิจัย ที่ทำมาอยู่เรื่อยๆ เราก็จะพยายามอบรมให้ความรู้ทั้งหมด เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันข้อมูลระหว่างกัน 

        ผมรู้สึกว่าคนไทยชอบมองว่าอยากได้ผลลัพธ์ของตัวผลิตภัณฑ์จาก AI เลย ซึ่งจริงๆ ยังมีขั้นตอนอีกหลายส่วนที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จัก เช่น ขั้นตอนการสร้างฐานข้อมูลชั้นต้นที่มีความสำคัญมาก หรือกระบวนการอื่นๆ ก่อนที่จะออกมาเป็นผลลัพธ์ที่เราเห็นตามข่าว ซึ่งผมมองว่าในส่วนนี้นอกจากในฐานะผู้บริโภคแล้ว ผู้ผลิตเองก็ยังขาดแคลนบุคลากรอยู่มาก

ให้อาจารย์อธิบายอย่างเรียบง่ายที่สุด AI คืออะไร

        ถ้าตอบให้ง่ายที่สุดคือตรงตามชื่อเลย มันคือปัญญาที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา เมื่อก่อนเขามักจะเรียกกันว่าปัญญาของปลอม แต่เรามาพูดให้ดีขึ้นมาหน่อย เป็นการปลอมเพื่อสร้างประโยชน์

        เพราะมนุษย์ต้องการผู้ช่วย แต่ในขณะนั้นคอมพิวเตอร์ทำได้แค่งานที่เป็นคำสั่ง เช่น สั่งให้บวก ลบ คูณ หาร หรือคอยจำและเก็บข้อมูล เป็นลำดับขั้นแทนมนุษย์ จึงทำให้ปัญญาประดิษฐ์เป็นการพัฒนาไปสู่สิ่งที่มีประโยชน์มากกว่าคอมพิวเตอร์ จนสามารถช่วยเหลือมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งอย่างที่บอกไปตอนต้นว่าแนวคิดนี้มีมานานถึง 60 ปีแล้ว

        เดิมที AI ยังอยู่แค่ในวงการวิจัยเพียงอย่างเดียว ไม่ค่อยโผล่ออกมาให้ชาวโลกรู้จักเท่าไหร่นัก อาจเพราะตอนนั้น AI ยังไม่ได้เก่งมาก ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น คอมพิวเตอร์ที่เป็นต้นกำเนิดเทคโนโลยีไม่ดีพอหรืองบประมาณการลงทุนด้านนี้ยังน้อยอยู่ แต่ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีเริ่มพัฒนามากขึ้น อุปกรณ์ราคาถูกลง การประมวลผลและความจุก็เพิ่มขึ้น ทำให้ AI เริ่มทำสิ่งที่ยากกว่าเดิมได้มากขึ้น 

        แต่จุดที่ทำให้ AI เป็นที่พูดถึงกันแบบสุดๆ คือ AI ที่แข่งโกะชนะ (อัลฟาโกะ) จริงๆ แล้วกีฬาโกะต้องอาศัยนักกีฬาที่มีทักษะทางปัญญาสูงมาก จะให้มนุษย์ธรรมดาแบบพวกเราไปแข่งกับนักกีฬาแบบนี้ เราไม่มีทางชนะเขาได้เลย แต่ AI ทำได้ พอเห็นแบบนี้คนก็เลยเริ่มรู้สึกว่า AI เริ่มมาอยู่ในจุดที่ไม่ธรรมดาแล้ว มันสามารถเอาชนะมนุษย์ด้วยการวางแผนได้ ฉลาดขึ้น จึงทำให้เกิดคำถามกันต่อว่า แล้วเรื่องอื่นมันจะสามารถเอาชนะได้หรือไม่

เรียกว่านอกจากความสงสัยใคร่รู้ของมนุษย์แล้ว อีกส่วนก็คือความระแวง

        ใช่ครับ เป็นการระแวงความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่ผมเองในฐานะคนที่ทำเรื่อง AI มาตลอด ผมคิดว่ามันเลยจุดระแวงไปนานแล้ว เพราะเป็นที่แน่นอนว่าสุดท้าย AI จะชนะมนุษย์ในที่สุด 

 

ธนารักษ์ ธีระมั่นคง
ธนารักษ์ ธีระมั่นคง

นอกจากชนะการแข่งโกะ ตอนนี้ AI สามารถเอาชนะมนุษย์ได้ถึงไหนแล้ว

        มีอีกอันที่คนฮือฮากันมากคือ AI ที่สามารถวิเคราะห์ภาพได้ เช่น ภาพที่มีสุนัข มีนก มีแมว มันก็สามารถจำแนกได้หมดเลยว่าอะไรเป็นอะไร ซึ่งสมัยก่อนทำไม่ได้แน่นอน แต่ทุกวันนี้ไปได้ไกลถึงขนาดแค่เห็นเสี้ยวตึกก็รู้แล้วว่า นี่คือตึกไหน ตั้งอยู่ประเทศอะไร ซึ่งนี่เป็นความสามารถที่พัฒนาได้เหนือกว่ามนุษย์ด้วยซ้ำ

จุดแข็งเหล่านั้นของ AI คือการพัฒนาจากการเก็บข้อมูล

        ใช่ครับ เมื่อก่อน AI จะทำงานตามคำสั่งที่เราป้อนให้ แต่ภายหลังเราเริ่มให้ตัวอย่างแทน ปล่อยให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ AI เก่งขึ้นเรื่อยๆ เริ่มพัฒนาจาก 1 เป็น 2 และ 3 ได้ เพราะถ้าย้อนกลับไปสมัยก่อน การป้อนคำสั่งเพียงอย่างเดียวไม่นำไปสู่อะไรที่ใหม่ แต่การเก็บข้อมูล เริ่มวิเคราะห์ และหาตัวอย่างเพิ่มด้วยตัวเอง จะทำให้ AI เกิดกระบวนการคิดและนำไปสู่พัฒนาการที่เร็วขึ้นมาก 

        อีกวิธีหนึ่งที่ใช้คือการเรียนรู้ด้วยข้อมูลหลอกและการจับผิด วิธีพัฒนาแบบนี้คือเราจะให้ AI เริ่มป้อนข้อมูลหลอกกันไปกันมากับ AI อีกตัว แล้วถ้าตัวไหนสามารถจำแนกข้อมูลจริงออกจากข้อมูลปลอมได้แม่นยำที่สุด เราก็ใช้ตัวนั้น กลายเป็น AI ที่เก่งและพัฒนาไวที่สุด อย่าง AI ตัวที่ชนะโกะ ทุกวันนี้ก็ยังมีการพยายามหา AI ตัวใหม่มาเอาชนะตัวนั้นอยู่เหมือนกัน เป็นการพัฒนาลึกขึ้นไปเรื่อยๆ 

แล้ว AI มีจุดอ่อนบ้างไหม

        จุดอ่อนสำคัญเลยคือการที่ไม่มีจิตใจครับ ไม่มีความอยาก ไร้ซึ่งกิเลส เลยทำให้ AI ยังไม่เข้าใกล้ความสามารถของมนุษย์ได้ขนาดนั้น ทุกวันนี้ที่ AI ตัดสินใจทำอะไรบางอย่างเป็นเพราะแรงจูงใจเบื้องต้นที่มนุษย์ป้อนข้อมูลให้แต่เริ่ม ก่อนที่จะเอาไปพัฒนาต่อเอง AI ไม่สามารถคิดได้ว่า วันนี้อยากทำสิ่งนี้จังเลยแล้วจึงตัดสินใจลงมือทำ แบบนี้ยังทำไม่ได้ ซึ่งปัจจุบันนักพัฒนาเขาก็กำลังแก้ไขจุดอ่อนตรงนี้กันอยู่เพื่อนำไปสู่ AI ในอนาคตที่มี 'ความต้องการ' และถ้าจนถึงจุดนั้นจริงๆ เราอาจได้เห็น AI ที่สามารถครองโลกแบบในหนังได้เหมือนกัน

        จุดอ่อนอีกอย่างคือความหัวอ่อนและหูเบาอยู่มากของ AI เช่นถ้าเราให้ข้อมูลเชิงลบว่าฆ่าคนแล้วได้บุญ บริจาคของเท่ากับทำบาป อะไรแบบนี้มันยังแยกแยะไม่ได้ เพราะมันยังไม่มีจิตวิญญาณ ไร้ซึ่งประสบการณ์แบบมนุษย์  

ย้อนกลับไปที่ขั้นตอนในการพัฒนา กระบวนการหนึ่งที่ AI พยายามต่อสู้กันเองเพื่อหาซอฟต์แวร์ที่เก่งที่สุด ขั้นตอนนี้สำคัญขนาดไหน

        สำคัญมากครับ เพราะทุกวันนี้ AI เริ่มไม่ต้องการให้คนสอนแล้ว เขาเริ่มใช้อีกตัวเรียนรู้กันเองแทน เราอาจเคยได้ยินเรื่องที่ AI สองตัวพิมพ์คุยกันเองผ่านเฟซบุ๊ก ด้วยภาษาใหม่ที่สร้างขึ้นมา คุยกันเป็นเรื่องเป็นราวเลย กลายเป็นการวิวัฒนาการของภาษาโดยทันที ซึ่งเรื่องนี้เขากลัวกันมาก เพราะมนุษย์อย่างเราๆ แทบไม่รู้เลยว่า พวกมันคุยอะไรกันอยู่

เป็นไปได้ไหมว่า ต่อไป AI จะพัฒนาตัวเองขึ้นเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพามนุษย์เลย

        ยังอีกไกล อย่างที่บอก ณ พ.ศ. นี้ ยังมีจุดอ่อนเรื่องของแรงจูงใจที่ AI สร้างขึ้นมาเองไม่ได้ อีกอย่างเลยคือตอนนี้มันยังคงฉลาดเพียงแค่โดเมนของตัวเอง เช่น AI ที่เก่งถ่ายภาพ ก็จะพัฒนาตัวเองได้แค่เรื่องถ่ายภาพ ถ้าเราให้มาร้องเพลง AI ยังทำไม่ได้ ยังต้องพึ่งพามนุษย์ในการป้อนข้อมูลเบื้องต้นอยู่

แล้ว AI จะมีโอกาสกลายเป็นเหมือนมนุษย์คนหนึ่งที่มีความสามารถหลากหลายในตัวได้ไหม

        ในอนาคตจะมีเรื่องของ Multi-agent เข้ามาครับ ปกติจะเรียกความถนัดของ AI ในแต่ละด้านว่า Agent ซึ่งปัจจุบัน AI ก็ยังมีแค่ Agent เดียวอยู่ แต่ในอนาคตเขาจะเอามารวมกัน เอา Agent 1 มารวมกับ 2 มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน มันก็จะเก่งขึ้นทั้งคู่ รวมไปกันเป็น Multi-agent ที่เก่งทุกอย่างเลย  

        และในบางเรื่องอาจทำได้ดีกว่ามนุษย์ด้วยซ้ำ มนุษย์ยังมี Human Error เวลาคนจะช่วยกันยังต้องดูกันก่อนเลยว่าจะเข้ากันได้หรือเปล่า แต่ AI ไม่ต้องเลย มันไม่ทะเลาะกัน แต่แลกเปลี่ยนความรู้กัน ไร้ซึ่งความอยากและกิเลส ไม่รู้สึกเกลียดหรือรักใคร มันจึงพร้อมรับข้อมูลทุกอย่าง จนสุดท้ายมันจะสามารถทำงานที่ยากขึ้นได้ดีกว่ามนุษย์ในที่สุด

 

ธนารักษ์ ธีระมั่นคง
ธนารักษ์ ธีระมั่นคง

คิดว่าในอนาคต มนุษย์จะถูกแทรกแซงโดย AI มากขนาดไหน

        คนมักจะคิดว่าแรงงานจะถูกผลกระทบใช่ไหมครับ แต่มุมมองผม ย้อนกลับไปสมัยก่อนที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์ คนก็มักจะกลัวเรื่องคอมพิวเตอร์จะเข้ามาแย่งงานเหมือนกัน แต่ดูทุกวันนี้สิ เด็กที่เพิ่งเกิดใหม่มามีความเป็น Native Digital สูงมาก เขาใช้คอมพิวเตอร์คล่องแคล่ว เล่นแท็บเล็ตเป็นตั้งแต่วัยเด็ก ผมเลยคิดว่าต่อไปเด็กที่เกิดในยุค AI ก็จะมีความ Native แบบนี้เหมือนกัน เขาจะมีการปรับตัวตามยุคสมัย ไม่ได้แย่เหมือนหนังไซ-ไฟขนาดนั้นครับ แต่พูดถึงการเปลี่ยนแปลง—แน่นอนว่าต้องมีอยู่แล้ว แต่คงไม่ถึงขั้นถูกแทรกแซง

แม้จะมีอาชีพหนึ่งหายไปแต่ก็มีอีกอาชีพหนึ่งทดแทนขึ้นมา

        ใช่ เราอาจจะเป็นนายจ้าง AI แทน หรือทำงานแขนงอื่น ส่วนตัวผมคิดว่ามันยังแทรกแซงมนุษย์ได้ยาก โดยเฉพาะอาชีพเกี่ยวกับความบันเทิง ผมมักคิดอยู่เสมอว่าเราจะรู้สึกสนุกกับการไปโรงแรมที่มีแต่หุ่นยนต์ได้ไหม สำหรับตัว AI มันอาจผลักดันตัวเองมาทำงานแบบนี้ได้จริง แต่มันจะได้ทำไหม นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

        แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน เพราะเรื่องนี้มันปัจเจกบุคคลมาก ถ้าในอนาคตสังคมยอมรับหุ่นยนต์จริงๆ เรามี AI เป็นเอนเตอร์เทนเนอร์ มี Soft-Robotic ที่เป็นแฟนเรา หรือเลยเถิดไปมีลูก สืบเชื้อสายกับเราได้ ตอนนั้นโลกจะเป็นอย่างไร จุดนี้ก็น่าคิดต่อเหมือนกัน

ทุกวันนี้คนที่สนใจเรื่องแบบนี้ก็จะมีแค่คนที่คลุกคลีกับโลกดิจิตอลหรือออนไลน์ตามโซเชียลมีเดีย แล้วสำหรับคนในโลกออฟไลน์ เรามีวิธีการให้ความรู้พวกเขาอย่างไรบ้าง

        เรื่องนี้ก็ยังเป็นปัญหาที่กำลังหาทางออกกันอยู่ครับ แต่ส่วนตัวผมเองอยากให้สนใจในส่วนหนุ่มสาวที่กำลังจะเติบโตขึ้นก่อน เพราะถึงวันหนึ่งคนที่เขาอาจแก่ตัวไปแล้ว ไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้ หรือแม้กระทั่งตัวผมเองก็ต้องหายไปจากโลกนี้ 

        ดังนั้น สิ่งที่ผมสนใจมากกว่าคือคนที่กำลังขึ้นมาเป็นผู้นำโลกในอนาคต เราต้องปลุกปั้นพวกเขาให้ดี ทำให้เขาเรียนรู้และกลายเป็น Native AI ตั้งแต่เด็กเพื่อที่จะผลักดันให้ไปได้ไกลและดีกว่าเดิม แต่ผมก็ไม่ทอดทิ้งฝั่งออฟไลน์ แต่อาจให้เขารู้จักผ่านทางผลลัพธ์มากกว่าในเชิงบันเทิง แต่ไม่จำเป็นต้องผลักดันเขาขนาดที่ว่ารู้จักโปรแกรมหรือเขียนโค้ดได้

ปัจจุบันมีสิ่งประดิษฐ์ใดบ้างไหมที่ดูเป็นพัฒนาการสำคัญของ AI

        นอกจากตัวสเต็มเซลล์ ก็คือหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (da Vinci Robot) เป็นระบบผ่าตัดที่หมอไม่จำเป็นต้องผ่าตัดเอง หมอสามารถนั่งอยู่อีกโต๊ะหนึ่งแล้วใช้กล้องส่องเข้าไปในแผลและใช้ระบบบังคับมือจากระยะไกลแทน ซึ่งกระบวนการแบบนี้จะช่วยทำให้ขั้นตอนในการผ่ารวดเร็ว แม่นยำ เกิดบาดแผลน้อยลง การพักฟื้นไวขึ้น 

        ซึ่งต่อไป da Vinci Robot ก็จะพัฒนาตัวเองจากการเลียนแบบวิธีการของหมอที่ใช้ผ่าตัด โดยสักวันหนึ่งมันจะสามารถผ่าตัดโดยที่ไม่ต้องพึ่งหมอเลย และจะเก่งกว่าหมอด้วย จากการจดจำทักษะของหมอหลายๆ ท่าน แล้วเก็บข้อดีของแต่ละท่านมาผสมกัน เพื่อให้เกิดการผ่าตัดที่สมบูรณ์ที่สุด

ท้ายที่สุดแล้ว อาจารย์คิดว่าคนไทยจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับ AI ได้อย่างไรบ้าง 

        สุดท้ายคือเราต้องปรับตัวไปตามกระแสโลก แน่นอนว่าจะเกิดปัญหาเกิดการแทรกแซงโดย AI ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งบ้านเราก็จะมีอาการแบบนี้เหมือนกัน แต่ผมว่าไม่ใช่ปัญหา เพราะสุดท้ายคนก็จะก็หาลู่ทางในงานประเภทบริการหรือสร้างสรรค์มากขึ้น ก็เปลี่ยนไปในรูปแบบใหม่เลย ผมกลับมองว่าในอนาคตจะมีงานเยอะขึ้นด้วย เพราะว่างานบางส่วนก็เกิดจากการมีอยู่ของ AI เหมือนกัน แต่ยังต้องใช้คนเข้าช่วยอยู่ เช่นคนที่ทำข้อมูลพื้นฐานให้กับ AI ซึ่งงานพวกนี้จะมีเรื่อยๆ เพียงแค่คุณปรับตัวไปพร้อมกับมัน เพราะฉะนั้นจุดนี้ผมไม่เป็นห่วงเลย 

         อีกอย่างคือเราต้องเรียนรู้เกี่ยวกับมัน ซึ่งเป็นส่งที่ผมมองว่าสำคัญที่สุด คนในยุคนี้ต้องเริ่มสนใจ AI ได้แล้ว โดยเฉพาะคนที่อายุยังน้อย เพราะเขาคือแรงขับเคลื่อนสำคัญในอนาคต เป็นตัวแปรสำคัญที่จำเป็นต้องรู้เรื่อง AI และทำให้เกิดผลประโยชน์ที่มีคุณค่ามากยิ่งขึ้น ส่วนคนที่เลยช่วงอายุนี้ไปแล้ว ผมมองไว้ว่าให้เขามีฐานะเป็นผู้บริโภคมากกว่าผู้ผลิต 

แต่สำหรับทางสมาคมแล้ว การให้ความรู้เกี่ยวกับ AI คงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

        ใช่ แต่เหนือกว่าการให้ความรู้โดยเรา คือเราอยากสร้างวงจรให้พวกเขาให้ความรู้ด้วยกันเอง เพราะทุกวันนี้อาจารย์และบุคลากรที่มีความรู้เรื่อง AI ในประเทศก็เริ่มมีมากขึ้น แต่พวกเขาก็ยังต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่ออยู่ ผมอยากสร้างวงจรที่พวกเขาสามารถสอนกันเองได้ เกิดอาจารย์สอนนักเรียน แล้วนักเรียนสร้างสรรค์งานออกมา เกิดการสอบเพื่อสร้างมาตรฐาน จัดเวทีประกวด ให้รางวัลและเชิดชูกับนักเรียนที่ทำได้ดี ซึ่งสุดท้ายนักเรียนเหล่านี้ก็จะวนมาเป็นอาจารย์ กลายเป็นวงจรของมัน โดยที่เราไม่ต้องเข้าไปยุ่งตรงไหนเลย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0