โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ช้างป่าตายแล้วไปไหน? ทำอย่างไรจึงจะป้องกันโศกนาฏกรรมซ้ำเดิมได้

The MATTER

เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 02.32 น. • Thinkers

ความตายของสัตว์ใหญ่นั้นเป็นเรื่องน่าเศร้าใจเสมอ และคราวนี้จะถึงกับเป็นช้าง ซึ่งคนไทยนับว่าเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาช้านาน และยังเป็นความตายที่เกิดขึ้นจากการพยายามช่วยเหลือกันและกันในโขลง ทำให้สะเทือนใจขึ้นไปอีกเป็นทวีคูณ

เหตุโขลงช้างตกเหวนรกคราวนี้ สามารถลำดับเรื่องได้คร่าวๆ เริ่มตั้งแต่เวลา 3.00 น. ของวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ (น้ำตกเหวนรก) ได้ยินเสียงช้างร้อง และเมื่อตรวจสอบในเวลาต่อมา ก็พบช้างป่าล้ม 6 ตัว และอีก 2 ตัวที่ยังมีชีวิตแต่อยู่ในสภาพอ่อนแรง จนได้ดำเนินการช่วยเหลือจนปลอดภัยในเวลาเช้าตรู่ของวันที่ 6 ต.ค. พ.ศ. 2562[1] อย่างไรก็ตาม เมื่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ใช้โดรนบินสำรวจพื้นที่ในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2562 พบซากช้างป่าเพิ่มเติมอีก 5 ตัว รวมเป็นทั้งหมด 11 ตัว[2]

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของเหตุการณ์ลักษณะนี้

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2530 มักจะมีช้างป่าตกลงไปจากหน้าผาของน้ำตกเหวนรกเป็นประจำทุกปี ปีละ 1-2 เชือกเสมอ และในปี พ.ศ. 2535 ก็เป็นอีกครั้งที่ร้ายแรงโดยมีช้างล้มถึง 8 ตัวในเหตุการณ์คล้ายกันนี้ หลังจากนั้น ทางกรมอุทยานฯ จึงได้สร้างแนวคันปูนกั้นหน้าผาไว้เพื่อป้องกันเหตุดังกล่าว แต่สันนิษฐานว่า ในครั้งนี้ เมื่อลูกช้างเดินผ่านแท่งปูนอาจเสียการทรงตัว ทำให้ช้างพี่เลี้ยงและช้างตัวอื่นๆ ที่เข้าไปพยายามช่วยประสบเหตุร้ายด้วยกันทั้งหมด

สิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกนึกคิด (sentient beings)?

อันที่จริงแล้ว ลักษณะของการพยายามช่วยเหลือสมาชิกครอบครัวที่ตกอยู่ในอันตราย หรือแม้กระทั่งการแสดงความโศกเศร้าเมื่อมีสมาชิกในกลุ่มจากไป อย่างที่เรียกกันว่า 'mourn the dead' เดิมถูกเข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมที่สงวนไว้สำหรับเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่จากภาพ วิดีโอ และบันทึกธรรมชาติในหลายโอกาสจากทั่วทุกมุมโลกบ่งชี้ให้เห็นว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่หลายชนิด อาทิ ช้าง ชิมแปนซี วาฬ และโลมา ก็สามารถแสดงพฤติกรรมทางสังคมที่ซับซ้อนนี้ได้เช่นกัน[3]

ซึ่งนี่อาจจะเป็นที่มาของตำนานเกี่ยวกับ 'ป่าช้าช้าง' หรือ elephants’ graveyard ที่ไม่ว่าจะฝั่งตะวันตกหรือตะวันออกก็ดูจะมีเรื่องเล่าคล้ายๆ กันว่า เมื่อช้างป่ารู้ตัวว่าจะตาย มันจะเดินไปตายรวมกันในหุบเขาอันเร้นลับปราศจากสายตาสอดรู้สอดเห็นของมนุษย์ และในสุสานช้างนี้ก็เต็มไปด้วยกระดูกช้างและงาช้างงามที่อาจสูงท่วมหัว รอให้ใครสักคนมาค้นพบเพื่อที่จะได้รวยเป็นเศรษฐี (แต่จนกระทั่งปัจจุบัน ก็ยังไม่พบว่าจะมีป่าช้าช้างอยู่ที่ใด นอกจากในนิยายผจญภัยแนวป่าๆ ปืนๆ กับใน The Lion King เท่านั้น)

อีกทั้งมีข้อสันนิษฐานว่า ความผูกพันในสังคมของวาฬและโลมานี่เอง ทำให้เมื่อมีตัวใดตัวหนึ่งเกยตื้น อาจทำให้ตัวอื่นๆ ในฝูงว่ายเข้ามาเกยตื้นตามไปด้วย [4] แต่อย่างไรก็ตาม สาเหตุของการเกยตื้นหมู่ของวาฬและโลมาก็ยังคงเป็นปริศนาทางธรรมชาติ ที่ยังคงรอให้เราศึกษาอยู่กันต่อไป

ตายแล้วไปไหน?

เมื่อปี พ.ศ. 2535 ที่มีช้างล้ม 8 ตัวนั้น มีการถอดงาและชำแหละแยกส่วนเพื่อผูกไว้ให้น้ำซัดย่อยสลายไปตามธรรมชาติ เนื่องจากการเก็บกู้ซากช้างทั้งตัวนั้นทำได้ยากในพื้นที่ของน้ำตกเหวนรก และไม่สามารถใช้เฮลิคอปเตอร์เข้าช่วยได้[5] อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ มีความพยายามที่จะเก็บกู้ซากโดยทางเจ้าหน้าที่จะล่องเรือจากเขื่อนขุนด่านปราการชล ย้อนขึ้นไปทางคลองต้นไทร จากนั้นจึงต้องเดินเท้าต่อถึงจุดที่สามารถขึงตาข่ายเพื่อเก็บกู้ซาก ก่อนจะพิจารณาว่าจะนำซากไปฝังกลบไว้ที่ใดตามความเหมาะสม

แต่เราจะเก็บกู้ซากช้างไปทำไมกัน? หากพิจารณาถึงภูมิประเทศที่อาจเป็นอันตรายต่อทีมงานแล้ว คุ้มค่ากันหรือไม่?

ด้วยแนวทางการปฏิบัติของกรมอุทยานฯ ถ้าหากพบซากสัตว์ป่าที่ไม่สามารถยืนยันสาเหตุการตายได้หรือยืนยันได้ว่ามีการติดเชื้อโรคจำเป็นต้องทำการฝัง ยกเว้นเสียแต่ว่าจะเป็นซากที่เกิดจากการทำร้ายกันหรือการล่าของสัตว์อื่นจึงจะทิ้งไว้ให้เป็นไปตามวิถี[6] [7] และกรณีนี้ ซากช้างป่าที่ล้มด้วยสาเหตุธรรมชาติ แม้จะทำการเก็บกู้ขึ้นมาเพื่อป้องกันการปนเปื้อนของน้ำในเขื่อนขุนด่านฯ และคลายกังวลของชุมชนที่ปลายน้ำ แต่ก็ชวนให้สงสัยว่า เหตุใดจึงต้องทำการฝังให้เป็นการเพิ่มลำบากในการปฏิบัติงาน แทนที่จะปล่อยให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ และใช้เพื่อศึกษาวิจัยการย่อยสลาย (decompostion) ให้เป็นประโยชน์ทางวิชาการต่อไป เช่น นิติเวชกีฏวิทยา (สาขาวิชาเกี่ยวกับแมลงที่กินซาก) หรือศึกษาชนิดสัตว์กินซากอื่นๆ

ภาพโขลงช้างป่าพร้อมด้วยลูกช้างน้อยในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา

27 ปี อันยาวนาน

เหตุร้ายของช้างโขลงนั้นในปี พ.ศ. 2535 ทำให้เกิดการตื่นตัวในกระบวนการกู้ชีพสัตว์ป่าขนานใหญ่ ในขณะที่ 27 ปีที่แล้วนั้น วิทยุสื่อสารยังขาดแคลน และไม่มีเจ้าหน้าที่ที่ช่วยเหลือสัตว์ป่าโดยเฉพาะ[8] ในครั้งนี้แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เรายังมีงานวิจัยที่เกี่ยวกับช้างป่าเขาใหญ่น้อยมาก

ถ้าหากเราเปิดคู่มือ ความรู้เรื่องช้าง และข้อควรปฏิบัติตนเมื่อพบช้างป่า ของกรมอุทยานฯ (ฉบับ พ.ศ. 2557)  จะพบว่า ในอ้างอิงท้ายเล่มนั้น มีงานวิจัยเกี่ยวกับช้างป่าเมืองไทยจริงๆ เพียง 4 ชิ้นจากทั้งหมด 21 ชิ้น นอกจากนั้นเป็นงานวิจัยของช้างป่าในประเทศอื่นๆ อย่าง จีน ศรีลังกา อินเดีย หรือแม้แต่ช้างแอฟริกาในอุทยานแห่งชาติแอมโบเซลีของเคนยา (Amboseli National Park, Kenya) หากจะถามว่า ปัจจุบัน ช้างป่าเขาใหญ่มีกี่โขลง สาแหรกครอบครัวเป็นอย่างไร มีแนวโน้มประชากรที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงแค่ไหน ใครกันที่ตอบได้?

หากเราต้องการจะปกป้องช้างป่าในเขาใหญ่หรือที่อื่นๆ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องเข้าใจพฤติกรรมของประชากรช้างนั้นเสียก่อนว่าเส้นทางหากินของมันเป็นอย่างไร นักท่องเที่ยงที่เข้าไปในเขาใหญ่มีผลทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงไร และอะไรที่ทำให้ช้างจำเป็นต้องข้ามเส้นทางน้ำตกเหวนรกจนประสบเหตุถึงชีวิตซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งหากปราศจากการศึกษาวิจัยและการทำงานที่อิงความรู้เชิงวิชาการแล้ว การวางระบบป้องกันต่างๆ เช่น การสร้างรั้วกั้นเพิ่มเติม ก็อาจเป็นเพียงการคาดคะเนเท่านั้น ซึ่งนอกจากจะมีความเป็นไปได้ว่าจะได้ผลไม่เต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังอาจจะเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตตามธรรมชาติของช้างด้วย

ภาพโขลงช้างป่าพร้อมด้วยลูกช้างน้อยในอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา

ในขณะเดียวกัน ทางอุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีการจัดการช้างป่าให้อยู่ร่วมกับคนได้อย่างน่าสนใจ ภายใต้ 'โครงการเฝ้าระวังช้างป่าด้วยระบบเตือนภัยล่วงหน้า' (Elephant Smart Early Warning System) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มทรู, WWF Thailand, และกรมอุทยานฯ ซึ่งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารร่วมกับกล้องบันทึกภาพเอ็นแคป (NCAPS) 25 ตัว,​ ระบบคลาวด์และแอพพลิเคชั่นที่สามารถให้ผู้พบเห็นช้างรายงานเข้ามาที่ศูนย์ปฏิบัติการได้ตลอด 24 ชั่วโมงแบบเรียลไทม์ (real-time)

ซึ่งระบบจะทำการแจ้งเตือนให้เจ้าหน้าที่ประจำแต่ละจุดดำเนินการผลักดันช้างป่าที่ออกมาหากินพืชผลของชุมชนให้เข้าป่าไป ซึ่งช่วยลดการทำลายพืชผลทางการเกษตรในช่วงระยะเวลาที่ติดตั้งระบบเป็นเวลา 10 เดือน จาก 217 ครั้ง เหลือเพียง 27 ครั้ง โดยการกำหนดจุดติดตั้งกล้องบันทึกภาพเอ็นแคป ก็มาจากการศึกษาเส้นทางเดินของช้างป่านั่นเอง (ผลงานชิ้นนี้ยังได้รับเหรียญทอง จาก Silicon Valley International Invention Festival งานแสดงสิ่งประดิษฐ์และผลงานนวัตกรรมระดับโลก ณ สหรัฐอเมริกา จัดโดย International Federation of Inventors’ Associations (IFIA) และ Geneva’s Exhibition and Congress Center (PALEXPO) ประเทศสหรัฐอเมริกาอีกด้วย [9])

ซึ่งถ้าหากก่อนจะทำการตัดสินใจทำอะไรใดๆ เพิ่มเติมในเรื่องช้างป่าเขาใหญ่นี้ มีการศึกษาวิจัยพฤติกรรมของช้างป่าควบคู่กันไปด้วย ก็น่าจะทำให้ระบบการป้องกันภัยต่อช้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกัน

1 ในกล้อง NCAPS จำนวน 25 ตัวที่ติดตั้งตามเส้นทางของช้าง, ภาพโดย สิริพรรณี สุปรัชญา

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1] news.thaipbs.or.th

[2] news.thaipbs.or.th

[3] www.bbc.com

[4] www.abc.net.au

[5]www.pptvhd36.com

[6] ข้อมูลจากการสัมภาษณ์​ น.สพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว หัวหน้าหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 25 กันยายน พ.ศ.  2562

[7] www.facebook.com

[8] www.facebook.com

[9] mgronline.com

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0