โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

กีฬา

ชูการ์ เรย์ โรบินสัน : นักมวยคนแรกที่ได้ใช้คำว่า "ดีที่สุดหากวัดกันปอนด์ต่อปอนด์"

Main Stand

อัพเดต 31 มี.ค. 2563 เวลา 06.29 น. • เผยแพร่ 26 มี.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • ชยันธร ใจมูล

"นักชกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์" คำนี้มีนักมวยหลายคนได้รับการยกย่องและใช้มัน ไม่ว่าจะเป็น ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์, ไมค์ ไทสัน หรือ มูฮัมหมัด อาลี เพราะมันหมายถึงการได้รับการขนานนามว่า "ดีที่สุดตลอดกาล"

 

ทว่าแท้จริงแล้ว "นักชกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์" เคยถูกใช้เรียกแทนนักชกคนหนึ่งที่ชื่อว่า ชูการ์ เรย์ โรบินสัน เขาคือคนเดียวที่ได้ใช้มันอย่างถูกลิขสิทธิ์ จนกระทั่งถึงยุคการเปลี่ยนผ่านที่เจ้าแห่งวงการมวยโลกมากหน้าหลายตาอย่าง อาลี,ไทสัน และ ฟลอยด์ รับช่วงต่อ

อะไรทำให้เขาได้ฉายานั้น ติดตามเรื่องราวของ "นักชกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์" คนแรกของโลกได้ที่นี่ 

 

ปอนด์ต่อปอนด์คืออะไร? 

(Pound for Pound / P4P) หรือ "ปอนด์ต่อปอนด์" คำๆ นี้เป็นคำเชิงเปรียบเทียบที่เชื่อว่าคอมวยทุกคนบนโลกนี้ย่อมเคยได้ยินอย่างแน่นอน 

Photo : www.latimes.com

มันคือคำที่แฟนๆ เอาไว้ใช้หานักมวยที่เก่งที่สุดในโลกในทางสัญลักษณ์ เพราะในความจริงไม่มีทางเลยที่นักมวยรุ่นเฟเธอร์เวต จะชกกับนักมวยรุ่นเฮฟวี่เวตและสามารถเอาชนะได้ … แต่ถ้าทั้งสองคนมีน้ำหนักเท่ากันล่ะ ใครจะชนะ 

นั่นแหละคือที่มาของคำว่า ปอนด์ต่อปอนด์ หมายถึงนักชกที่ดีที่สุดในโลกหากนักมวยทุกคนบนโลกนี้น้ำหนักเท่ากันหมดนั่นเอง … ดังนั้นหากนักมวยคนใดที่ถูกสื่อยกย่องว่า "ดีที่สุดหากวัดกันปอนด์ต่อปอนด์" ก็ต้องหมายความว่าเขาคนนั้นเป็นคนที่เก่งจริงๆ จนทั่วโลกยินดีจะมอบสโลแกนนี้ให้ 

คำๆ นี้เกิดขึ้นเมื่อในยุค 40's โดยจุดเริ่มต้นมาจากนักมวยผิวดำที่แม้แต่ มูฮัมหมัด อาลี ผู้ที่คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ยังออกโรงกล่าวด้วยตนเองว่านักชกคนนี้คือ "ราชาตัวจริง"

"ชูการ์ เรย์ โรบินสัน คือ ราชา ลูกพี่ และ ไอดอลของผม" นี่คือสิ่งที่ มูฮัมหมัด อาลี กล่าวถึงยอดนักชกแห่งยุคอย่าง ชูการ์ เรย์ โรบินสัน นักชกผู้ให้กำเนิดวลี "ดีที่สุดในโลกหากเทียบปอนด์ต่อปอนด์" 

 

หวาน…เหมือนน้ำตาล 

ชูการ์ เรย์ โรบินสัน เดิมทีชื่อ วอล์คเกอร์ สมิธ จูเนียร์ เขาเกิดในยุคที่นักมวยผิวดำยังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก แรกเริ่ม วอลเตอร์ ไม่ได้อยากจะเป็นนักมวยเหมือนที่โชคชะตาพัดพามา แต่เขาหวังที่จะเรียนหมอ ทว่าความขรุขระของชีวิตวัยเด็กที่พ่อแม่แยกทางกัน ทำให้เขาต้องแยกไปอยู่กับแม่พร้อมพี่น้องอีก 2 คน และแน่นอนว่าพวกเขายากจน ซึ่งมวยก็เป็นทางออกที่ไม่เลวนัก

Photo : kentakepage.com

"ผมจำได้ว่าพ่อตื่นมาทำงาน 6 โมงเช้าและกลับมาบ้านอีกทีตอนเที่ยงคืน เขาทำแบบนี้สัปดาห์ละ 6 วัน ผมจะได้เจอพ่อก็แค่วันอาทิตย์เท่านั้น ด้วยความสัตย์จริง ผมอยากจะมีเวลากับพ่อมากกว่านี้" วอล์คเกอร์ จูเนียร์ กล่าว

เมื่ออายุได้ 15 ปี วอล์คเกอร์ ได้พบเส้นทางทำกินขึ้นมา นั่นคือการเป็นนักมวย และสิ่งแรกที่เขาต้องทำคือการขึ้นทะเบียนเป็นนักมวยเพื่อที่จะทำให้เขาได้รับอนุญาตขึ้นชกบนเวทีมาตรฐานได้ แต่ติดอยู่อย่างเดียว คือเขายังอายุแค่ 15 ปี และสมาคมปฎิเสธที่จะทำบัตรสมาชิกให้กับเขา เนื่องจากอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ 18 ปี

อย่างไรก็ตามเรื่องปากท้องนั้นรอกันไม่ได้ วอล์คเกอร์  สมิธ จูเนียร์ ปฎิเสธการเข้าตามตรอกออกตามประตู เขาไปหาเพื่อนแถวบ้านที่อายุ 18 ปี เพื่อขอยืมสูติบัตรมายืนยันกับสมาคมว่าเขาอายุถึงเกณฑ์แล้ว 

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของชื่อเรียกที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพื่อนของเขาชื่อ เรย์ โรบินสัน ตามสูติบัตร นั่นทำให้ วอล์คเกอร์ จูเนียร์ ต้องได้บัตรประจำตัวในชื่อนั้น และถูกเรียกว่า เรย์ โรบินสัน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

"เรย์ โรบินสัน ปลอม" เขย่าวงการมวยสมัครเล่นเสียกระจาย เขาไล่ชก ไล่น็อคคู่แข่งเป็นว่าเล่น จากนั้นชื่อเสียงของเขาก็โด่งดังขึ้นเรื่อยๆ เขาจึงคิดเติมบางคำเข้าไปในชื่อ ให้ตัวเองมีตัวตนขึ้นมา ไม่ต้องใช้ชื่อปลอมอีกต่อไป และเขาเลือกคำว่า "ชูการ์" (Sugar) ใส่ไว้หน้าชื่อ ด้วยเหตุผลที่เจ้าตัวบอกว่าสาวๆ มักจะชื่นชมว่าฝีปากเขาหวานเหมือนกับน้ำตาลนั่นเอง … 

เมื่อนั้น ชูการ์ เรย์ โรบินสัน ก็ถือกำเนิดและดังเป็นพลุแตกเมื่อเขาได้รับรางวัลนวมทอง ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับนักมวยสมัครเล่นที่ดีที่สุดในสหรัฐอเมริกานั่นเอง 

 

ปากหวาน หมัดหนัก 

กระดูกมวยของ ชูการ์ เรย์ จะแข็งแค่ไหนคงไม่ต้องอธิบายกันมาก เพราะเขาชกมวยจริงจังตั้งแต่อายุ 15 ปี ซึ่งหลังจากได้รางวัลนวมทอง เจ้าตัวก็หันหน้าเข้าสู่การเป็นนักชกอาชีพทันทีในวัย 19 ปี 

Photo : tss.ib.tv

การชกอาชีพไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคสมัยนั้น เพราะในปี 1930-1940 ผู้ควบคุมวงการมวยของอเมริกาส่วนใหญ่ที่เป็นพวกแก๊งสเตอร์ซึ่งเต็มไปด้วยกลุ่มคนผิวขาว ชักรู้สึกถึงความไม่พอใจที่นักชกผิวดำอย่าง ชูการ์ เรย์ โรบินสัน จะก้าวขึ้นมาครองความยิ่งใหญ่ของวงการหมัดมวย นั่นจึงทำให้เส้นของเขาสะดุดตลอด กล่าวคือต่อให้เก่งแค่ไหนก็ไม่ได้โอกาสให้ขึ้นชกชิงแชมป์โลกเสียที 

"คนที่ควบคุมวงการมวย พวกนักเลงในวงการตอนนั้นไม่อยากจะให้เขาขึ้นชิงแชมป์โลกในปี 1940 เนื่องจากพวกเขาคิดว่ามีคนผิวดำมากเกินไปในตำแหน่งนักชกแถวหน้าของโลก" วิล เฮย์กู้ด ผู้เขียนหนังสือ Sweet Thunder: Life and Times of Sugar Ray Robinson" กล่าว

ว่ากันว่าลีลาการชกของ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน เป็นเหมือนกับนักมวยล้ำสมัย ความเร็ว ความหนักหน่วง แท็คติก เทคนิค และการใช้วิทยาศาสตร์ในการดูแลและพัฒนาตัวเอง เพราะมวยในยุคนั้นชกถี่ ชกบ่อยมากกว่าปัจจุบันเยอะ ยกตัวอย่างเช่น ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์ ที่ปีนึงจะขึ้นชกสักครั้ง แต่สำหรับ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน นั้นเขาชกเดือนละ 3-4 ไฟต์ นั่นหมายความว่าการดูแลร่างกายของเขาต้องไม่ธรรมดา และตัวของเขาน่าจะรู้วิธีผ่อนหนัก ผ่อนเบา ดึงเกมเพื่อให้ร่างกายพร้อมสำหรับไฟต์ต่อไปที่อยู่ห่างไปไม่ถึง 1 สัปดาห์ 

Photo : www.thefightcity.com

"ผมเคยโดน ชูการ์ เรย์ โรบินสัน ต่อยฮุกด้วยหมัดซ้าย ผมสาบานเลยว่าไม่เคยโดนใครชกที่ทำให้รู้สึกและได้ยินเสียงของความเจ็บปวด … ตอนนั้นผมน็อคแบบไม่รู้ตัว ลืมตามาอีกทีผมถามพี่เลี้ยงว่าทำไม โรบินสัน จึงออกกำลังกายกระโดดขึ้นลงระหว่างไฟต์ล่ะ? พี่เลี้ยงผมบอกว่า … ก็เขาน็อคเอ็งแบบนับ 10 ไปแล้วโว้ย" คนที่กล่าวประโยคนี้คือ จีน ฟูลเมอร์ อดีตแชมป์โลกรุ่นมิดเดิลเวต ที่เคยสัมผัสหมัดน็อคของ เรย์ โรบินสัน ด้วยตัวเอง 

ขณะที่นักเขียนของเว็บไซต์ Bleacher Report อย่าง สตีฟ สมิธ ยังบอกว่าตัวของเขาเกิดไม่ทันดูการชกของ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน หรอก แต่เมื่อเขาได้สอบถามนักมวยในยุคนั้น หรือแม้แต่เซียนมวยอีกหลายคน เขาถึงกับคิดว่าหากนักชกอย่าง โรบินสัน เกิดในยุคนี้ เขาจะสามารถคว่ำฟลอยด์ และ ออสการ์ เดอ ลาโฮยา ได้ในคืนเดียว

Photo : fightgamemedia.com

"ผมสงสัยในเรื่องที่มีคนบอกว่า เขาเป็นนักมวยที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ ผมจึงลองไปไล่หาข้อมูลและดูไฟต์ของเขาในยูทูบ ผมมั่นใจเลยว่าสมมติฐานนี้เป็นจริงได้แน่นอน ชูการ์ เรย์ โรบินสัน จะสามารถคว่ำทั้ง ฟลอยด์ และ เดอ ลา โฮย่า ได้ภายในคืนเดียว โดยที่เราให้เวลาเขาพักระหว่างไฟต์สัก 15 นาที" นักเขียนจากเว็บดังอธิบายไว้เช่นนี้

แน่นอนว่าเรื่องมันผ่านไปแล้ว และไม่มีวันเอามาเปรียบเทียบหรือทดลองให้เห็นจริงๆ ได้ การกล่าวว่าเขาจะคว่ำแชมป์โลกอย่าง ฟลอยด์ และ เดอ ลา โฮย่า ในคืนเดียวอาจจะมากไปหน่อย แต่อย่างน้อยๆ มันคือการ "กล้าฟันธง" แบบเรียกแขกของนักเขียนคนหนึ่งที่พาดพิงถึง 2 นักชกที่มีแฟนคลับหนาแน่นแบบไม่กลัวกระแสตีกลับ ก็น่าจะพอบอกได้ว่า ชูการ์ เรย์ โรบินสัน คือของจริงขนาดไหนในยุคนั้น … และเมื่อรวมกับสิ่งที่ อาลี หรือใครก็ตามที่เอ่ยถึง ยิ่งทำให้เรื่องความเก่งของ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน น่าสนใจขึ้น

 

นักชกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ 

แน่นอนการจะกล่าวอ้างด้วยคำพูดอย่างเดียวมันเป็นเรื่องที่ยากจะเชื่อ แต่สถิติอันเหลือเชื่อของ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน คือ การขึ้นชกมากกว่า 200 ไฟต์ และถูกแบ่งออกเป็นสองช่วง ซึ่งเราจะมาพูดถึง"พาร์ทที่ 1" ซึ่งเป็นช่วงที่เขาเปลี่ยนจากมวยสมัครเล่นมาเป็นนักชกอาชีพก่อนจะสร้างตำนานต่างๆมากมาย 

Photo : boxrec.com

"นักชกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์" เกิดขึ้นจากสถิติชนะ 128 ไฟต์ แพ้ 1 เสมอ 2 โดยมีถึง 84 ไฟต์ที่เขาเอาชนะได้ด้วยการน็อคคู่แข่ง ขณะที่ตัวเขาเองไม่เคยแพ้ด้วยการโดนน็อคเลยตลอดอาชีพนักชก 25 ปี 

ในช่วงที่ดีที่สุดในอาชีพของเขาซึ่งถือเป็นช่วง "พาร์ทแรก" นอกจากสถิติสุดยอดที่กล่าวไปแล้ว เขายังมีเรื่องราวระดับ "เลกาซี่" มากมาย อย่างได้เกริ่นไว้อย่างแรก เขาคือคนที่เติบโตมาในยุคที่วงการมวยมีมาเฟียชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ได้ 

เรื่องมันเริ่มต้นจากการที่ โรบินสัน เริ่มสร้างชื่อในมวยรุ่นเล็กอย่างไลท์เวต แต่กลับไม่เคยได้ขึ้นชิงแชมป์โลกรุ่นดังกล่าวเลยสักครั้ง แต่ถึงกระนั้นสิ่งที่ โรบินสัน ทำคือการไล่ถล่มคู่แข่งในรุ่นเดียวกันจนหมด จนคนเรียกเขาว่าแชมป์ของรุ่น แม้ว่าตัวของเขาจะไม่มีเข็มขัดสักเส้นก็ตาม 

ยิ่งไปกว่านั้นคือเขาต้องการพิสูจน์ให้กลุ่มมาเฟียที่ควบคุมวงการมวยอยู่เบื้องหลังรู้ว่า ถ้าจะขวางเขาก็มีสิทธิ์ที่จะเสียหน้าได้ง่ายๆ เพราะ โรบินสัน ขยับรุ่นของตัวเองขึ้นเรื่อยๆ และไล่กวาดนักมวยในรุ่นถัดๆ มาได้จนหมด เรียกได้ว่าหากตอนนั้นกลุ่มมาเฟียที่ โรบินสัน กล่าวถึงไม่เปิดโอกาสให้เขาชิงแชมป์โลกหลังจากเอาชนะนักชกแถวหน้ามาติดๆ กัน ก็จะทำให้องค์กรเสียภาพลักษณ์และหมดความน่าเชื่อถือไปเอง 

นั่นจึงทำให้สมาคมมวยในยุคนั้น ไม่มีทางเลือก พวกเขาปล่อยให้ โรบินสัน ขึ้นชกชิงแชมป์โลกครั้งแรกในรุ่น เวลเตอร์เวต ในปี 1946 รวมเป็นระยะเวลานานถึง 6 ปี กว่าที่ โรบินสัน จะเอาชนะความโกง ด้วยความเก่งในท้ายที่สุด … ได้ชิงครั้งแรกเขาก็เป็นแชมป์ทันทีและหลังจากนั้นก็ป้องกันแชมป์ได้ถึง 5 ปีติดต่อกัน

"ชูการ์ เรย์ โรบินสัน คือคนที่ต้องต่อสู้กับพลังที่มองไม่เห็น นอกจากไล่กวาดนักชกที่ยิ่งใหญ่ในรุ่นจนหมดเกลี้ยง เขายังต้องสู้กับเรื่องเชื้อชาติ แต่ที่สุดยอดคือเขาสามารถเอาชนะอุปสรรคทั้งหมดได้" เฮย์กู้ด กล่าวเสริม   

"ต้องเข้าใจว่ายุค 50's มวยคือกีฬาอันดับ 1 ของโลก และมันยากสำหรับ โรบินสัน เพราะในตอนนั้น รุ่นเฮฟวี่เวตมีนักชกผิวดำอย่าง โจ หลุยส์ เป็นแชมป์โลกอยู่ ดังนั้นกลุ่มคนมีอำนาจจึงอยากจะเกลี่ยแชมป์ให้กับคนขาว เพื่อเรียกคนดูได้มากขึ้นและหลากหลายมากกว่าเดิม"

สิ่งที่แสบกว่านั้นคือ เขารู้ตัวเองว่าเป็นคนที่เก่งมีฝีมือและมีพรสวรรค์ เขาจึงสละเข็มขัดแชมป์รุ่น เวลเตอร์เวต ก้าวขึ้นไปเล่นรุ่นที่ใหญ่กว่าและมีนักชกที่เก่งกว่าคู่แข่งที่เคยเจอ อาทิ เจค ลาม็อตต้า นักชกคนขาวซึ่งถือเข็มขัดแชมป์รุ่น มิดเดิลเวต ในเวลานั้น และถือเป็นหนึ่งในนักชกคู่ปรับที่เจอกันบ่อยครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าต่อให้ขยับรุ่นเป็นครั้งที่ 2 ก็ไม่ใช่ปัญหาในการคว้าแชมป์โลกของเขาอยู่ดี 

Photo : www.independent.co.uk

"ชูการ์ เรย์ เร็วมาก เขาทิ้งหมัดซ้ายได้หนักหน่วงและรวดเร็วจนคุณมองไม่เห็นจนกว่ามันจะมากระแทกหน้าคุณ เราอาจจะพอบอกได้ว่าเขาเร็วที่สุดเท่าที่เคยมี นอกจากนี้เขายังเป็นนักชกที่มีความยืดหยุ่นสูงมากสามารถปรับวิธีการชกใหม่ในการเจอกับคู่ชกที่แตกต่างกันออกไปได้อีกด้วย เขาเอาชนะยันเรื่องเชื้อชาติ ดังนั้นผมคิดว่าเขาคือนักชกที่ดีที่สุดตลอดกาลอย่างแน่นอนเลยทีเดียว" เฮย์กู้ด ยังอธิบายถึงความยิ่งใหญ่ของ ชูการ์ อย่างไม่หยุด 

เรียกได้ว่าการถูกกดไม่ให้เป็นแชมป์รุ่นเล็ก ได้นำมาสู่การเป็นยอดนักชกของ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน โดยแท้จริง และการเดินหน้าชนะในทุกรุ่นที่ขึ้นชกก็ทำให้เกิดวลีที่ว่า "นักชกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์" ขึ้นมาเป็นครั้งแรกนั่นเอง  

 

เขาอาจจะยิ่งใหญ่ได้มากกว่านี้! 

หากทั้งหมดนี้บรรยายถึงความยิ่งใหญ่ของ ชูการ์ เรย์ โรบินสัน … มันยังมีเรื่องน่าเสียดายเล็กน้อยที่เขาควรจะไปได้ไกล และขยับรุ่นไปได้มากกว่านี้จนกลายเป็นตำนานที่หลายคนไร้ข้อสงสัย 

Photo : www.thefightcity.com

หลังจากคว้าแชมป์โลกรุ่นมิดเดิลเวตแล้ว โรบินสันเกิดดังกระหึ่มโลกขึ้นมาจนมีงานโชว์ตัว และงานแสดงมากมาย เขาถูกจ้างให้ไปเวิลด์ทัวร์ที่ยุโรป นั่งรถคาดิลแลคคันโก้ท่ามกลางการยืนปรบมือของผู้คนในกรุงปารีส นอกจากนี้สังคมรอบตัวของเขาก็สูงขึ้นเรื่อยๆ เขากลายเป็นที่อยากรู้จักของเหล่าเซเลบคนดัง และนักการเมืองทั้งหลาย ซึ่งนั่นนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางความคิดของ โรบินสัน ไปโดนปริยาย 

โรบินสัน เลือกที่จะยุติการเป็นนักมวยและหันมาเอาดีทางด้านการเป็นนักร้องและนักแสดงเต็มตัว เขาปรากฎตัวในรายการดังของสถานีโทรทัศน์แทบทุกช่อง นั่นคือช่วงเวลาที่เขาเป็นส่วนหนึ่งของ"ป๊อป คัลเจอร์" ของชาวอเมริกันไปโดยปริยาย ด้วยภาพลักษณ์ฉูดฉาดมีสีสัน เขารูปหล่อ พูดเก่ง ว่าง่ายๆ ก็คือเขาเป็น มูฮัมหมัด อาลี ก่อนที่จะมี มูฮัมหมัด อาลี นั่นเอง"แชมป์มหาชน" คือคำที่เหมาะสมกับเขาอย่างที่สุด 

ซึ่งทั้งหมดแลกมากับการห่างหายจากเวทีไปนานพอดู จนทำให้วันหนึ่งเมื่อธุรกิจบันเทิงทั้งหลายของเขาเริ่มขาดทุน เขาจึงกลับมาขึ้นชกอีกครั้งในปี 1955 แม้ว่าการกลับมาในคราวนั้น โรบินสัน จะยังรักษาร่างกายได้ฟิตปั๋ง และสามารถทวงเข็มขัดแชมป์โลกรุ่นมิดเดิลเวตได้สำเร็จ แต่ความจริงคือความเร็วและความเฉียบคมของเขาลดลงไป หลังจากนั้น 2 ปี เขาก็เสียแชมป์โลกให้กับ ฟูลเมอร์  

Photo : wikipedia.org

หลังจากแพ้ครั้งนั้น โรบินสัน มีสถิติการชกที่ขึ้นๆ ลงๆ แพ้สลับชนะ ต่างจากช่วงพาร์ทแรกของชีวิตนักชกโดยสิ้นเชิง เขาเสียแชมป์ไปทั้งหมด 6 ครั้ง หลังจากลาเวทีไปเน้นเรื่องบันเทิง และมันเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าหากสุดท้ายแล้ว ชูการ์ เรย์ โรบินสัน เอาจริงเอาจังกับเรื่องมวยแบบเต็มพิกัด พัฒนาตัวเองไม่หยุดเหมือนช่วงพาร์ทแรก เขาจะไต่รุ่นขึ้นไปได้แชมป์ถึงไหน? อาจจะถึงรุ่นเฮฟวี่เวตไปเลยก็ได้ใครจะไปรู้   

น่าเสียดายที่มันไม่เป็นเช่นนั้น ไม่อย่างนั้นฉายา "นักชกที่ดีที่สุดเมื่อเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์" คงไม่ใช่แค่คำเปรียบเทียบยกย่อง แต่คือ "ความจริง" ที่พิสูจน์ได้ว่านักชกคนนี้สามารถชนะได้ทุกคน ทุกรุ่น … ซึ่งจะทำให้คำถามโลกแตกของวงการมวยที่ว่า "ใครคือนักชกที่ดีที่สุดตลอดกาล" ได้คำตอบที่ชัดเจน และหมดข้อสงสัยอย่างแน่นอน 

 

แหล่งอ้างอิง

https://bleacherreport.com/articles/262970-greatness-revisited-sugar-ray-robinson-dominates-the-sweet-science
http://www.espn.com/classic/biography/s/Robinson_Sugar_Ray.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Sugar_Ray_Robinson
https://www.offtheball.com/golf/was-sugar-ray-robinson-the-greatest-boxer-ever-257942
https://www.espn.com/sportscentury/features/00016439.html

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0