โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

#ชุมนุมก็อยากไปแต่จะเลี่ยงโควิด-19ยังไงดี

The Momentum

อัพเดต 28 ก.พ. 2563 เวลา 12.30 น. • เผยแพร่ 28 ก.พ. 2563 เวลา 12.17 น. • ชนาธิป ไชยเหล็ก

In focus

  • ทุกการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเทศกาล งานคอนเสิร์ต หรือการแข่งขันกีฬาเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ  (ไม่เฉพาะเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่) เพราะคนมากหน้าหลายตาจะเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกันในระยะ 1-2 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ไอจามรดกันได้ และอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นเวลาหลายชั่วโมง
  • ระดับความเสี่ยงนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะกิจกรรม ระยะห่าง ระยะเวลา รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันตัว
  • เท่าที่สังเกต ลักษณะของสถานที่ชุมนุม นักศึกษาได้รวมตัวกันที่สนามหรือลานกิจกรรมภายนอกตัวอาคาร ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวก ทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่าการรวมตัวกันในห้องประชุม ประกอบกับพื้นที่นั้นยังรองรับคนจำนวนมากได้ ซึ่งลดความแออัดลง ทำให้ความเสี่ยงลดลงอีก แต่ไม่ถึงกับเป็นศูนย์
  • การจัดการความเสี่ยงของการระบาดโรคโควิด-19 ในที่ชุมนุมจะต้องอาศัยความร่วมมือ 2 ฝ่าย ทั้ง ‘ผู้จัดการชุมนุม’ และ 'ผู้เข้าร่วมชุมนุม'  หรือในอีกแง่หนึ่งคือการออกแบบ 'โครงสร้าง' ให้มีสุขาภิบาลที่เหมาะสม และการดูแลสุขอนามัยส่วน 'บุคคล' ที่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการความเสี่ยงได้ไม่เต็มที่ก็จะมีอีกฝ่ายรองรับได้

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ได้มีการรวมตัวกันของนักศึกษาเพื่อความเห็นทางการเมืองในหลายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ท่ามกลางข่าวการระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งในประเทศและทั่วโลก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจึงได้ออกมาตรการและการเฝ้าระวังการระบาดของโรคโควิด-19ฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 25 ก.พ.  ที่ครอบคลุมถึงการชุมนุมของนักศึกษาด้วยว่า “ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีการชุมนุมนักศึกษาหรือบุคลากรในสังกัดกระทรวงฯ เป็นจำนวนมาก” ซึ่งอาจถูกมองได้ทั้งแง่บวกและแง่ลบ

ทำให้ผมนึกถึงการตอบคำถามสื่อมวลชนของ นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เมื่อเช้าวันเสาร์ที่ 22 ก.พ. ว่า “ทั้ง 2 เรื่อง (การจัดงาน MotoGP และการชุมนุมทางการเมืองหลังคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ) จริงๆ เป็นลักษณะเดียวกัน ก็คือจะมีการรวมตัวกันของคนเป็นจำนวนมาก ถามว่าเพิ่มความเสี่ยงไหม เพิ่มความเสี่ยงอย่างชัดเจน คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถจัดการกับความเสี่ยงได้ไหม ความเสี่ยงที่สูงไม่ใช่ประเด็นที่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับความเสี่ยงได้หรือเปล่า” 

ยกตัวอย่าง ‘แพทย์หรือพยาบาล’ ที่จะต้องสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยในห้องแยกโรคทุกวัน ถือว่ามีความเสี่ยงสูง แต่เขาสวมหน้ากากอนามัย และสวมชุดป้องกันคล้ายกับ ‘ชุดอวกาศ’ มิดชิด เดินเข้าไปในห้องแยกโรคซึ่งเป็นห้องความดันลบ (negative pressure) ความเสี่ยงที่จะติดเชื้อจึงลดลง 

ความเสี่ยงของการติดเชื้อในที่ชุมนุม

ทุกการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นเทศกาล งานคอนเสิร์ต หรือการแข่งขันกีฬาเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ  (ไม่เฉพาะเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่) เพราะคนมากหน้าหลายตาจะเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกันในระยะ 1-2 เมตรซึ่งเป็นระยะที่ไอจามรดกันได้ และอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นเวลาหลายชั่วโมงยิ่งถ้าเป็นพื้นที่ปิดละอองน้ำมูกน้ำลายก็จะค้างอยู่ในบริเวณนั้นนานก็จะทำให้ติดต่อกันได้อีกหลายคน โดยจะเห็นว่าระดับความเสี่ยงนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะกิจกรรม ระยะห่าง ระยะเวลา รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันตัว

ซึ่งเท่าที่สังเกตการณ์ลักษณะของสถานที่ชุมนุมจากสำนักข่าวออนไลน์ นักศึกษาได้รวมตัวกันที่สนามหรือลานกิจกรรมภายนอกตัวอาคาร ซึ่งมีอากาศถ่ายเทสะดวก ทำให้มีความเสี่ยงน้อยกว่าการรวมตัวกันในห้องประชุม ประกอบกับพื้นที่นั้นยังรองรับคนจำนวนมากได้ ซึ่งลดความแออัดลง ทำให้ความเสี่ยงลดลงอีก แต่ไม่ถึงกับเป็นศูนย์

การจัดการความเสี่ยงของการชุมนุม 

ผมขอสรุปจาก “คำแนะนำการป้องกันควบคุมโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 สำหรับสถานที่มีการรวมกันของคนหมู่มาก”ของกรมควบคุมโรค ฉบับวันที่ 28 ม.ค. 2563 และเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลอื่นว่า การจัดการความเสี่ยงของการระบาดโรคโควิด-19 ในที่ชุมนุมจะต้องอาศัยความร่วมมือ 2 ฝ่าย ทั้ง ‘ผู้จัดการชุมนุม’ และ ‘ผู้เข้าร่วมชุมนุม’  หรือในอีกแง่หนึ่งคือการออกแบบ ‘โครงสร้าง’ ให้มีสุขาภิบาลที่เหมาะสม และการดูแลสุขอนามัยส่วน ‘บุคคล’ ที่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจัดการความเสี่ยงได้ไม่เต็มที่ก็จะมีอีกฝ่ายรองรับได้ กล่าวคือ 

ผู้จัดการชุมนุม

1. พิจารณาถึงความ ‘จำเป็น’ ของการจัดงานก่อนว่าสามารถเลื่อน หรือปรับเปลี่ยนแผนได้อย่างไรหรือไม่

2. หากเลื่อนไม่ได้จะต้องจำกัดช่องทางการเข้า-ออกงาน เพื่อให้สามารถคัดกรอง ‘ผู้ป่วย’ ไม่ให้เข้าปะปนกับผู้ที่ยังไม่ป่วย ซึ่งในกรณีนี้คือการคัดกรองควรใช้เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิคล้ายกับการคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบิน และขอความร่วมมือให้ผู้ป่วยแยกตัวกลับบ้าน/หอพัก

3. จัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันการแพร่เชื้อ ได้แก่ หน้ากากอนามัยให้เพียงพอ (ถ้าไม่พอ อาจเลือกแจกเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ) และเจลแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือก่อนเข้าร่วมงานและตามจุดที่จะมีการสัมผัสร่วมกัน เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ลงชื่อหรือเขียนแสดงความเห็น ไมโครโฟน 

ส่วนผู้เข้าร่วมชุมนุม

1. ถ้ามีอาการป่วย ได้แก่ ไข้ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ ต้องงดเข้าร่วมกิจกรรม แม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อย จะไม่ได้ไม่ไปแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นและจะได้พักผ่อน เมื่อหายดีแล้วจึงค่อยไปร่วมงาน

2. ล้างมือหลังจากสัมผัสกับอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน ก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ หากไม่สามารถล้างมือได้ให้ระวังไม่เอามือมาสัมผัสกับตา จมูก ปาก

3. สวมหน้ากากอนามัย เพื่อความประหยัดอาจเลือกเป็นหน้ากากผ้าก็ได้

4. สังเกตอาการของผู้เข้าร่วมชุมนุม หากพบอาการผิดปกติให้ติดต่อจุดปฐมพยาบาล หรือเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรจากผู้มีอาการ 

และ 5. อย่าลืมโรคติดต่ออื่นที่อาจเกิดขึ้น เช่น โรคอาหารเป็นพิษ หรือโรคไวรัสตับอักเสบ ด้วยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก และไม่ดื่มน้ำร่วมแก้วกัน รวมถึงผู้จัดหาอาหารจะต้องมีสุขาภิบาลอาหารด้วย เป็นต้น

เพราะฉะนั้นการจัดการชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 จึงควรคำนึงถึง ‘ความจำเป็น’ ของการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก และ ‘ความเสี่ยง’ ของการแพร่เชื้อไวรัสทางเดินหายใจ ซึ่งถ้าหากจะต้องจัด ก็ต้องมีมาตรการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ เพราะสุขภาพของนักศึกษาก็สำคัญไม่แพ้กัน อย่างไรก็ตามถ้าหากประเทศไทยมีการระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้างหรือระยะที่ 3 แล้ว ผู้จัดการชุมนุมควรประเมินรูปแบบการชุมนุมที่เหมาะสมอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0