โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อรัชกาลที่ 3 กริ้วจนไล่บาทหลวงฝรั่งดื้อและขัดรับสั่ง ช่วงโรคระบาดรุมบางกอก

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 28 ม.ค. 2566 เวลา 13.41 น. • เผยแพร่ 26 ม.ค. 2566 เวลา 11.46 น.
รัชกาลที่ 3
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3

บันทึกหลักฐานเรื่อง “โรคระบาด” ในสมัยรัตนโกสินทร์มีปรากฏให้เห็นกันหลายครั้งหลายครา แต่ที่นักวิชาการสายประวัติศาสตร์มองว่า ช่วงที่ดูจะเคราะห์ร้ายมากกว่าห้วงอื่นก็มีในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งมีโรคร้ายแรงระบาด 2 ครั้ง ทั้งอหิวาตกโรค และไข้ทรพิษ ซึ่งทำให้วิถีชีวิตของชาวบางกอกยุคนั้นยากลำบาก

สำหรับอหิวาตกโรคนั้นมีบันทึกกันว่าครั้งที่ระบาดใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นช่วงรัชกาลที่ 2 ระหว่างช่วง พ.ศ. 2362-2363 ระหว่างการระบาดทั่วโลกครั้งแรก (พ.ศ. 2360-66) ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 3 เกิดโรคระบาดอีกครั้ง และระบาดกันมากราว พ.ศ. 2392 อันเป็นช่วงการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2389-2405)

เหตุการณ์ครั้งสมัยรัชกาลที่ 3 ส.พลายน้อย ยกจดหมายเหตุที่บันทึกสภาพการระบาดว่า เมื่อ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2492 ปีระกา เกิดไข้ป่วงทางประเทศแถบทะเลทางเมืองฝ่ายตะวันตก ระบาดเข้ามาทางประเทศสยาม พลเมืองเกิดเป็นไข้ป่วงกันมาก (คำที่ ส. พลายน้อย อ้างอิงคือคำว่า “เป็นไข้ป่วงกันทั้งแผ่นดิน”) ปรากฏพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าหญิงเกศนี พระองค์เจ้าหญิงพวงแก้ว พระองค์เจ้าชายเฉลิมวงศ และพระองค์เจ้าชายจินดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคนี้ นอกจากนี้ ยังมีเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) แม่ทัพคนสำคัญในรัชกาลที่ 3 และว่ากันว่าดุที่สุดในยุคนั้นก็ถึงอสัญกรรมด้วย

ทั้งนี้ อหิวาตกโรคข้างต้นถูกเรียกว่า ห่าลงปีระกา หมอสมิทเล่าในหนังสือว่า ผู้คนล้มตายจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังทรงผนวชอยู่แนะนำให้เก็บศพไปเผาที่วัดสระเกศ วัดบางลำพู วัดเชิงเลน (วัดบพิตรพิมุข)

ส. พลายน้อย เล่าว่า จำนวนคนที่ถูกนำเอาไปเผาและฝังในครั้งนั้นตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน ถึง 15 กรกฎาคม จำนวน 29 วัน รวมกัน 5,457 ศพ โดยเฉพาะวันที่ 23 มิถุนายน วันเดียวเสียชีวิต 696 คน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบตัวเลขกับการระบาดครั้งใหญ่สุดในสมัยรัชกาลที่ 2 ยังคงน้อยกว่า เหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ 2 รวมแล้วตายไปนับหมื่นราย เอกสารราชการบางแห่งระบุว่า รวมคนตายในบางกอกและหัวเมืองตายถึง 3 หมื่นคน

เนื่องด้วยความรุนแรงในสมัยรัชกาลที่ 2 ยังปรากฏรับสั่งให้ตั้งพระราชพิธีอาพาธพินาศ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ไม่ปรากฏพระราชพิธีนี้ มีแต่ให้พนักงานปล่อยสัตว์ที่จะถึงที่ตาย และโปรดเกล้าฯ ให้ราษฎรทำบุญให้ทานและปล่อยสัตว์ที่ขังไว้ คนทั้งหลายทั้งปวงต่างทำตาม ตามการบอกเล่าของ ส. พลายน้อย มีเพียงบาทหลวงฝรั่งเศส 8 รายไม่ยอม และยังห้ามลูกบ้านเข้ารีต จนเป็นที่ขัดเคืองว่าขัดรับสั่ง

ส.พลายน้อย เล่าไว้ว่า

“ให้เจ้าพนักงานไล่บาทหลวงทั้ง 8 นั้นไปให้พ้นพระราชอาณาเขต และวัดฝรั่งทั้งหมดในราชอาณาจักร ก็รับสั่งให้รื้อทั้งหมด กล่าวกันว่า พวกบาทหลวงทั้ง 8 ต้องออกจากบางกอกไปพักอยู่ที่สิงคโปร์ในวันนั้น แต่ต่อมาบาทหลวงปัลเลอกัวซ์ ได้เข้าแก้ไข ยอมปล่อยสัตว์ตามรับสั่ง จึงเป็นอันว่าพ้นโทษหายกริ้วไปได้”

ดังที่กล่าวแล้วว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 ยังมีโรครุนแรงอีกชนิดระบาดนั่นคือไข้ทรพิษ ซึ่งระบาดก่อนหน้าอหิวาตกโรค คือเมื่อพ.ศ. 2382 ยังดีที่ระยะนั้น นายแพทย์บรัดเลย์ แพทย์มิชชันนารี ที่เข้ามาไทย (ปี พ.ศ. 2378) ได้ร่วมมือกับหมอหลวงเอาหนองจากผู้ป่วยปลูกเป็นผลสําเร็จแล้ว แต่ในช่วงเริ่มแรก ไม่ค่อยมีใครเชื่อถือ พวกมิชชันนารีปลูกฝีกับลูกของตนเองก่อนจึงจะเริ่มเชื่อ เมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงทราบวิธีปลูกฝีว่าป้องกันไข้ทรพิษได้ ก็รับสั่งให้หมอหลวงหัดปลูกฝีจากมิชชันนารีใน พ.ศ. 2380

เมื่อมาในช่วงโรคไข้ทรพิษระบาด พ.ศ. 2382 รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานบำเหน็จแก่หมอหลวงและหมอบรัดเลย์ จากที่ปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษคนละ 200 บาท ถึง 400 บาท

ส. พลายน้อย ยังเล่าถึงสภาพชีวิตคนบางกอกในช่วงที่อหิวาตกโรคระบาดว่า เป็นชีวิตที่ทุกข์ยาก ช่วงแรกชาวจีนที่ต่อโลงขายก็ขายดีหน่อย แต่เมื่อเริ่มตายกันมากขึ้น คนไม่มีทรัพย์สินก็ไม่มีเงินซื้อโลงจึงใช้เสื่อห่อ บางศพหาอะไรห่อไม่ได้ก็นอนกลางถนน บางทีก็ถูกเขี่ยลงน้ำ และในสมัยนี้เองที่วัดสระเกศมีชื่อเสียงเรื่องแร้งชุม

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

อ้างอิง :

ส. พลายน้อย. เล่าเรื่องบางกอก ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : พิมพ์คำ. พิมพ์ครั้งที่ 7, 2555.

แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 26 มีนาคม 2563

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0