โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ชีวิตง่ายยิ่งขึ้น เมื่อ “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน” เปิดครบลูป

BLT BANGKOK

เผยแพร่ 29 มี.ค. 2563 เวลา 11.50 น. • BLT Bangkok
ชีวิตง่ายยิ่งขึ้น เมื่อ “รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน” เปิดครบลูป

รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน - ท่าพระ จะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป โดยคงอัตราค่าโดยสารที่ 16-42 บาท นั่นหมายความว่าเราจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคลแบบครบลูปอย่างเป็นทางการกันแล้ว

MRT สีน้ำเงินวิ่งแบบครบลูป

รถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล หรือ MRT สายสีน้ำเงิน มีลักษณะเป็นเส้นทางวงแหวนรอบเมือง เป็น Circle Line ที่มีลักษณะการวิ่งของรถไฟฟ้าคล้ายๆ ตัว Q กลับด้าน หรือเลข 9 คือเริ่มวิ่งจากสถานีท่าพระ ผ่านไปทางจรัญสนิทวงศ์ เตาปูน บางซื่อ จตุจักร ห้วยขวาง ศูนย์วัฒนธรรมฯ พระราม 9 สุขุมวิท คลองเตย สีลม สามย่าน หัวลำโพง วัดมังกร อิสรภาพ มาบรรจบที่สถานีท่าพระอีกครั้ง แล้วจึงวิ่งตรงไปยังสถานีหลักสอง ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง

ในทางกลับกัน ก็จะวิ่งจากสถานีหลักสอง ผ่านท่าพระ อิสรภาพ วัดมังกร หัวลำโพง สามย่าน สีลม คลองเตย พระราม 9 ศูนย์วัฒนธรรมฯ ห้วยขวาง รัชดาฯ จตุจักร บางซื่อ เตาปูน บางโพ จรัญสนิทวงศ์ และสิ้นสุดที่สถานีท่าพระ           

  

ผู้โดยสารสามารถที่จะเลือกเดินทางได้ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น หากเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น หรือเป็นสายรีบเร่ง สามารถที่จะเลือกเดินทางในระยะทางสั้น คือหากมาจากสถานีหลักสอง สามารถที่จะลงเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีท่าพระ เพื่อไปยังสถานีเตาปูน หรือบางซื่อ โดยนั่งผ่านจรัญฯ 13 และบางโพ ก็จะเดินทางได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น แต่หากเป็นสายชิล ก็สามารถที่จะเลือกเดินทางแบบยาวๆ ไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถ

ส่วนคนที่ต่อมาจากสายสีม่วง ลงที่สถานีเตาปูน สามารถเลือก เดินทางไปหัวลำโพงได้ 2 ทางคือ มาทางบางโพ, สิรินธร แล้วเปลี่ยนขบวนรถที่สถานีท่าพระ โดยเดินลงมาที่ชานชาลา 2 แล้วนั่งจากสถานีท่าพระ ไปสถานีหัวลำโพง หรือจะเลือกเดินทางในเส้นทางเดิม คือ นั่งผ่านสถานีบางซื่อ จตุจักร ห้วยขวาง ศูนย์วัฒนธรรมฯ คลองเตย หัวลำโพง ก็ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวนรถ

สถานีท่าพระ จุดเปลี่ยนสำคัญในการเดินทาง

เมื่อเปิดให้บริการรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินอย่างเป็นทางการครบลูปแล้ว ต่อไปสถานีท่าพระ จะเป็น       Interchange Station คือเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางที่สำคัญในย่านธนบุรี โดยมีทั้งหมด 4 ชั้น ประกอบด้วย ชั้นที่ 1 ระดับพื้นดิน มีทางขึ้น - ลง 10 จุด มีทางออกฉุกเฉิน 2 จุด มีห้องสำหรับระบบภายในสถานี ชั้นที่ 2 ชั้นจำหน่ายตั๋ว มีจุดจำหน่ายตั๋ว และพื้นที่ Free Area 3 จุด ชั้นที่ 3 ชั้นชานชาลาสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง - หลักสอง และ ชั้นที่ 4 ชั้นชานชาลาสายสีน้ำเงิน ช่วงเตาปูน - ท่าพระ

นั่งยาวขึ้นแต่ค่าโดยสารคงเดิม

เส้นทางรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 48 กม. มีสถานีให้บริการรวม 38 สถานี ซึ่งแม้ว่าเส้นทางจะยาวขึ้น จำนวนสถานีให้บริการมากขึ้น แต่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ยืนยันว่า ผู้โดยสารจะยังคงจ่ายค่าโดยสารในอัตราเดิม คือ 16-42 บาท ไม่ได้มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด

ทั้งนี้การคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุด จะคิดที่ 12 สถานี จากจำนวนทั้งสิ้น 38 สถานี และในกรณีเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม(สายสีม่วง) ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 จะคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 48 บาท (จากราคาปกติไม่เกิน 70 บาท) เดินทางได้ถึง 53 สถานี(สายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชธรรม)

สร้างการเปลี่ยนแปลงเมืองที่ดี

การมาถึงของรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน นอกจากจะส่งผลดีต่อผู้ที่อยู่อาศัยในย่านจรัญสนิทวงศ์ บางขุนนนท์ บางพลัด ท่าพระ รวมถึงนักท่องเที่ยว ให้สามารถเดินทางไป-กลับ ระหว่างฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนคร หรือจะไปยังย่านที่มีอาคารสำนักงาน ย่านธุรกิจ ย่านบันเทิง ในใจกลางเมือง สะดวก ง่ายดาย และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างการเชื่อมต่อการเดินทางจากรถไฟฟ้า ไปสู่ท่าเรือ รถโดยสารสาธารณะ มีอาคารและลานจอดแล้วจรไว้รองรับรถยนต์เพื่อให้สะดวกต่อการเข้าถึงรถไฟฟ้า ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบ ล้อ ราง เรือ อย่างสมบูรณ์ และยังเป็นการสร้างโอกาสด้านการค้าขาย การท่องเที่ยวให้เติบโตมากยิ่งขึ้น และการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

มอบพื้นที่สีเขียวให้ประชาชน

นอกจากนั้น รฟม. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง - บางแค และช่วงเตาปูน - ท่าพระ ยังได้ดำเนินการคืนผิวจราจร ตีเส้นจราจร และติดตั้งป้ายจราจรประเภทต่างๆ รวมถึงไฟส่องสว่างตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ตามแนวสายทาง ได้แก่ ถนนเจริญกรุง ถนนสนามไชย ถนนประชาราษฎร์สาย 2 ถนนจรัญ-สนิทวงศ์ และถนนเพชรเกษม เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างโครงการคืนให้ กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรได้โดยสะดวก ปลอดภัย และช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดในระหว่างการเดินทาง

รฟม. ยังได้ปลูกต้นไม้และจัดสวนสาธารณะตลอดแนวเกาะกลางใต้ทางวิ่งรถไฟฟ้า บริเวณแยกบรมราชชนนี เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และช่วยลดฝุ่นละออง PM2.5 ตามนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองด้วย

ได้ทั้งความสะดวก สบาย ปลอดภัย และคุ้มค่าแบบนี้ การผลักดันให้ประชาชนลดละการใช้รถยนต์ส่วนตัว หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้ากันมากขึ้น คงจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ไม่ยาก และในระหว่างนี้ หากใครที่เป็นกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 จนไม่กล้าที่จะเดินทางด้วยรถไฟฟ้า บอกได้เลยว่าหายห่วงได้ เพราะ รฟม. และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในระบบรถไฟฟ้า MRT อาทิ การทำความสะอาดเหรียญโดยสาร (Token) การทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคภายในสถานีและรถไฟฟ้า การตั้งจุดคัดกรองเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า เคร่งครัดและต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นในการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทาง และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0