โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ชอบออกคำสั่ง ทำเหมือนลูกน้องไม่มีตัวตน ทำไมคนพลังลบถึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ

The MATTER

เผยแพร่ 23 ต.ค. 2561 เวลา 12.05 น. • Byte

หากผู้นำเป็นดั่งประภาคารกลางทะเล ที่ส่องแสงสว่างนำผู้คนเข้าสู่ฝั่ง

แต่ทำไมผู้นำที่คุณรู้จักกลับดึงเรือลำน้อยพุ่งเข้าชนแนวหินโสโครก?

แสงสว่างที่คุณปรารถนา เมื่อมองจากระยะไกลเขาก็ดูสว่างโชติช่วงดี แต่ทำไมเวลาอยู่ใกล้ถึงร้อนเป็นเพลิงไฟแผดเผาคนใกล้ๆ ให้เป็นจุณ?

ผู้นำที่คุณรู้จักเป็นแบบไหน? ทำไมคน 'พลังลบ' ถึงก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้อย่างพิศวง หรือเรามีธรรมชาติที่โอนอ่อนต่อคนเหล่านี้

พวกเราล้วนนิยามความเป็นผู้นำ (leadership) แตกต่างกันบ้างในรายละเอียด คนส่วนใหญ่ปรารถนาผู้นำที่มีพลังมั่นคงเปรียบเสมือนแม่เหล็กที่คอยดึงดูดและผลักดันให้คนอื่นๆ เดินไปข้างหน้า แย่หน่อยที่ผู้นำหลายคนในสังคมก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งโดยปราศจากการยอมรับและฉุดกระชากลากถูผู้คนด้วยพลังลบ

ในมุมมองของจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial and Organizational Psychology) แบ่งประเภทของผู้นำเป็น 2 จำพวกใหญ่ๆ ซึ่งผู้นำมักใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาสถานภาพหรือไต่เต้าสู่การเป็นผู้ปกครอง แยกเป็น กลุ่ม Prestige และ Dominance ที่มีชั้นเชิงแตกต่างกัน

กลุ่มแรก Prestige เป็นผู้นำที่แผ่รัศมีด้วยความสามารถและทักษะที่จับใจผู้อื่นจนได้รับความเคารพ โดยผู้นำลักษณะนี้จะมีพลังสนับสนุนผู้อื่นให้แสวงหาความรู้และพัฒนาไปพร้อมๆ กัน นับเป็นขวัญกำลังใจอย่างล้นเหลือในการทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จลุล่วง ส่วนผู้นำกลุ่ม Dominance คือขั้วตรงข้าม เป็นนักบงการตัวยง นิยมใช้อำนาจบาตรใหญ่คุกคาม ข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยพลังลบ

พฤติกรรมของผู้นำทั้ง 2 กลุ่มสามารถสะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศของที่ทำงานและสุขภาวะคนใต้บังคับบัญชาตั้งแต่ก้าวแรกที่คุณได้สัมผัส ผู้คนทำงานด้วยท่าทีปราศรัยอย่างไร น้ำเสียงคำพูดคำจา มารยาทในที่ทำงาน และวัฒนธรรมร่วมที่คนในสังคมมีย่อมสะท้อนไปเห็นว่าสถานที่แห่งมีปกครองด้วยผู้นำแบบไหน

งานวิจัยใหม่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Directions in Psychological Science โดย Jon Maner นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Florida State University ศึกษาอิทธิพลของผู้นำทั้ง 2 ประเภทที่นำไปสู่ความสำเร็จในการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งพวกเขาพบว่า ทั้งผู้นำที่มีรสนิยม Prestige และ Dominance ล้วนสามารถสร้างอิทธิพลต่อการเป็นผู้นำได้เช่นกัน

แต่ผู้นำแบบ Dominance จะมองอำนาจเป็นเครื่องมือ (tools) มิใช่ความเคารพเกรงอกเกรงใจ แต่เป็นความยำเกรงต่ออำนาจ ซึ่งคนที่ทำงานภายใต้ระบบนี้จะมีธรรมชาติของความก้าวร้าวสูง ชื่นชอบการออกคำสั่ง แต่มีความปรารถนาจะก้าวไปข้างหน้าให้เร็วเพื่อวันหนึ่งจะสามารถช่วงชิงอำนาจนั้นมาใช้หากถึงโอกาสเหมาะสม

ในขณะที่ผู้นำแบบ Prestige จะสร้างธรรมชาติของทีมด้วยฝีไม้ลายมือ มีความพึงพอใจในความสามารถตนเอง ชื่นชอบการสนับสนุนเชิงบวก ชอบการถูกให้รางวัล แต่กลัวที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบ

น่าสนใจที่ผู้นำประเภท Dominance มักมองความท้าทายต่างๆ ที่เข้ามาในลักษณะพันธมิตร (allies) และอริศัตรู (foes) ค่อนข้างชัดเจน พวกเขาจะตั้งตัวเป็นปรปักษ์ต่อสู้กับผู้ที่ทำให้เสียประโยชน์ แต่จะรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มไว้อย่างเหนียวแน่นในลักษณะผู้ร่วมอุดมการณ์ ผู้นำที่บริหารด้วย Dominance จะพยายามรักษาตำแหน่งเพื่อถือครองอำนาจไว้ แม้จะต้องทำให้ความเป็นทีมสูญเสียไปก็ตาม แต่เขาจะสนับสนุนบ้างเป็นครั้งคราวผ่านเครื่องมือการให้รางวัลและการลงโทษ (reward and punishment)

Jon Maner กล่าวว่า“ผู้นำประเภทนี้ กลัวที่จะถูกลดทอนอำนาจ เขากลัวคลื่นใต้น้ำที่จะมาสั่นคลอนพื้นที่ในการแสดงอำนาจ ดังนั้นสิ่งที่เราเห็นได้บ่อยมากจากพฤติกรรมคนเหล่านี้ คือพวกเขาจะ แยก (isolate) ผู้คนออกจากกัน เขาอาจจะซอยทีมเป็นกลุ่มเล็กๆ ย่อยๆ ไม่ให้มีการสื่อสารภายในเพื่อลดความสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่พลังเงียบที่ทำให้เขาไม่สามารถแสดงแสนยานุภาพได้เช่นเดิม เพราะเขามองว่า พันธมิตรเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มเป็นภัยสำคัญต่ออำนาจ”

แต่ทำไมคนแบบนี้ถึงยังเป็นผู้นำได้อยู่ ใครกันที่อยากได้ผู้นำยอดแย่ในการชี้นำ?

เป็นความลักลั่นนี้เองที่ต้องตรวจสอบ เพราะจากการวิจัยหลายชิ้นๆ พบว่า ผู้นำ Dominance ดึงดูดผู้คนได้มากกว่าผู้นำที่นุ่มนวล ความเด็ดขาดของอำนาจในการบงการผู้คนด้วยท่าทีใหญ่โตเป็นพฤติกรรมร่วมที่พบได้ในธรรมชาติ

น่าเศร้าที่คนส่วนใหญ่มักอยู่ภายใต้ผู้นำที่มีพลังลบ จนลืมที่จะตั้งข้อสังเกต

หากคุณหยิบหนังสือประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติแล้วเปิดย้อนกลับไปพันๆ ปี พวกเราก็เคยสนับสนุนผู้นำ ‘พลังลบ’ แบบนี้ในอีกหลายหมื่นกรณี จนคุณอาจสงสัยว่า “มนุษย์อ่อนแอมากถึงขนาดต้องมีผู้นำที่ดุดันเช่นนี้เชียวหรือ?”

 

งานวิจัยภาวะผู้นำของ Barbara Kellerman วิเคราะห์ลักษณะโดยรวมของผู้นำยอดแย่ไว้คร่าวๆ ในหนังสือชุด Bad Leadership: What It Is, How It Happens, Why It Matters ว่า

มักเป็นพวกไร้ความสามารถที่แท้จริง พยายามสร้างภาพความแข็งแกร่ง ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมได้ แข็งกระด้างต่อผู้อื่น มีแนวโน้มสนับสนุนการคอร์รัปชั่น เป็นพวกสันโดษ คุกคามพื้นที่ของผู้อื่น แตะต้องผู้อื่นโดยไม่รับอนุญาต ชอบขมขู่และล้อเลียนด้วยมุกตลกเสียดสี ขัดจังหวะผู้อื่นแบบไม่รู้ตัว ทำเหมือนคนอื่นไม่มีตัวตน นักจิตวิทยา Robert Riggio ให้เหตุผลว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ตกลงปลงใจยอมอยู่ภายใต้ลำดับชั้นการปกครอง และเราก็มักมีแนวโน้มโอนเอียงพฤติกรรมไปตามบุคลิกของผู้นำ ซึ่งแทบไม่ต่างจากรูปแบบสังคมของกลุ่มวานรอันซับซ้อนมากนัก

กลายเป็นว่าเราสนับสนุนผู้นำที่เหมือนกับเรา เพราะเมื่อเรารู้สึกได้ว่าชีวิตปราศจากความปลอดภัย เราจึงโหยหาผู้นำที่สามารถมอบความปลอดภัยและคลายความกังวลที่คอยบั่นทอนรูปแบบชีวิตอันปกติสุขด้วยอำนาจที่ไม่ปกติ แม้แต่คนที่ฉลาดก็ยังสนับสนุนการกระทำของผู้นำที่ก้าวร้าว เพราะเขาเชื่อว่าความกล้าหาญทางปัญญาจะปกป้องพวกเขาจากการถูกครอบงำทางอารมณ์ และคนฉลาดมักเชื่อว่าคนโง่เท่านั้นที่เป็นทาสทางอารมณ์

เมื่อผู้คนเดินตามผู้นำไปแล้ว ถือเป็นเรื่องยากที่พวกเขาจะหยุดตั้งคำถามกับความเป็นผู้นำ เพราะมนุษย์ไม่อยากหลุดขบวนจากกลุ่มหรือสังคมที่สังกัดอยู่

 

หากผู้นำสร้างอำนาจการปกครองแนวดิ่งจากบนลงล่าง ผู้คนในสังคมต้องสร้างฐานที่มั่นด้วยความสัมพันธ์แนวราบ พวกเราสามารถสร้างความแน่นแฟ้นจากกลุ่มที่เราพึ่งพาผลประโยชน์กัน  สร้างห่วงโซ่อุปทานที่คล้องพวกเราไว้ หรือสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่งระหว่างคุณและเพื่อน จนไม่เห็นความจำเป็นของอำนาจที่ผู้นำมี  การต่อต้านแทบจะเป็นเรื่องปกติ แต่จะทำได้อย่างที่คิดต้องใช้ความกล้า

การหยุดยั้งความรุนแรงไม่ได้หมายว่าคุณจะยอมถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว แต่เป็นการที่ทำอย่างไรจึงจะหากระบวนการปกป้องตัวเองได้ต่างหาก ซึ่งสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือ การเคารพในศักดิ์ศรีตัวเองและผู้อื่น

ถ้ามันไม่ปลอดภัยสำหรับคุณและสังคมไม่โอเค การออกแรงต้านก็เป็นเรื่องสามัญของสังคมมนุษย์เช่นกัน

ผู้นำที่ร้ายกาจจะมีพลังอยู่ต่อไป ถ้าคนในสังคมปล่อยให้เขามีอยู่

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Journal of Personality and Social Psychology, doi.org/gd8575 Maner, J. K. (2017). Dominance and prestige: A tale of two hierarchies. Current Directions in Psychological Science, 26(6), 526-531. doi:10.1177/0963721417714323 Why We Prefer Dominant Leaders in Uncertain Times hbr.org/2017/08/why-we-prefer-dominant-leaders-in-uncertain-times

Illustration by Kodchakorn Thammachart

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0