โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ชวนเปิดดู “กฎหมายแรงงาน” ที่เฟิร์สจ็อบเบอร์ควรรู้

Mango Zero

เผยแพร่ 20 มิ.ย. 2562 เวลา 10.47 น. • Mango Zero
ชวนเปิดดู “กฎหมายแรงงาน” ที่เฟิร์สจ็อบเบอร์ควรรู้

เหล่าเฟิร์สจ็อบเบอร์ฟังทางนี้! สำหรับน้องๆ ที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ และกำลังจะก้าวสู่อีกหนึ่งช่วงของชีวิตนั่นก็คือการทำงาน วันนี้เราชวนมาส่องกฎหมายแรงงานของไทยฉบับปรับปรุงล่าสุด รวมถึงสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการจ้างงานที่ควรรู้ก่อนเริ่มปักหลักในที่ใดที่หนึ่ง ไปดูกันเลยจ้า

อ้างอิงจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 และสิทธิตามกฎหมายแรงงานที่กระทรวงแรงงานได้ระบุไว้

วันลาต่าง ๆ

  • ลาพักร้อน : ไม่น้อยกว่าปีละ 6 วัน ให้แก่ลูกจ้างที่ทำงานมาเกิน 1 ปี สามารถยกหรือเลื่อนไปสะสมในปีอื่นได้
  • ลาป่วย : ลาป่วยได้ตามจริง โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน และหากลาติดต่อกัน 3 วันขึ้นไปต้องมีใบรับรองแพทย์
  • ลากิจ : ลาโดยมีเหตุธุระจำเป็นได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี โดยมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามปกติไม่เกิน 3 วันต่อปี
  • ลาคลอด : และลาตรวจครรภ์ก่อนคลอดได้รวม 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน
  • ลาทำหมัน : โดยต้องมีใบรับรองให้หยุดงานจากแพทย์แผนปัจจุบัน สามารถหยุดได้ตามแพทย์สั่ง และยังได้รับค่าจ้าง
  • ลารับราชการทหาร : ลาได้เท่ากับจำนวนวันที่ทางการทหารเรียก และได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลาแต่ไม่เกิน 60 วันต่อปี
  • ลาฝึกอบรม : ลาได้โดยไม่ได้รับค่าจ้างในวันนั้น

ทั้งนี้ จำนวนวันหยุดอาจแตกต่างกันไปตามนโยบายของบริษัท แต่ตามกฎหมายแล้วจะต้องไม่ต่ำกว่าที่กำหนด

วันหยุดประจำสัปดาห์

  • กรณีทั่วไป กำหนดให้ต้องมีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 วัน ระยะห่างกันไม่เกิน 6 วัน โดยยังได้รับค่าจ้างอยู่ (ไม่รวมลูกจ้างรายวันและรายชั่วโมง)
  • กรณีลูกจ้างในกิจการที่วันหยุดไม่แน่นอน เช่น งานโรงแรม งานในป่า งานขนส่ง งานในที่ทุรกันดาร เช่น งานประมง งานดับเพลิง สามารถตกลงวันหยุดกับเจ้านายได้ และสามารถสะสมวันหยุดและเลื่อนวันหยุดไปใช้ตอนไหนก็ได้ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ติดต่อกัน

วันหยุดตามประเพณี

ต้องไม่น้อยกว่าปีละ 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย และถ้าวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ให้หยุดชดเชยในวันทำงานถัดไป โดยลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี

งานล่วงเวลา (OT)

  • ล่วงเวลาในวันธรรมดา ต้องมีการจ่ายค่าล่วงเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าครึ่งของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
  • ล่วงเวลาในวันหยุด ต้องมีการจ่ายค่าล่วงเวลา 3 เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง ตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ
  • ทำงานเวลาปกติในวันหยุด ต้องมีการจ่ายค่าล่วงเวลาเพิ่มอีก 1 เท่าของค่าจ้างปกติ

ทั้งนี้การทำงานล่วงเวลาต้องรวมกันไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

การเลิกจ้าง

บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยให้พนักงานในกรณีเลิกจ้าง โดยแบ่งตามอัตรา ดังนี้

  • ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน
  • ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 90 วัน
  • ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีแต่ไม่ครบ 6 ปี มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
  • ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
  • ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 300 วัน
  • ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป มีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน

หากนายจ้างจ่ายค่าชดเชยช้ากว่ากำหนด จะต้องเสียดอกเบี้ยให้ลูกจ้าง 15% ต่อปี

ชาย หญิงเท่าเทียม

สำหรับงานที่มีค่าเท่ากัน ลูกจ้างทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนต่างๆ เช่น ค่าล่วงเวลา ค่าจ้างอย่างเท่าเทียมกันด้วย

การเปลี่ยนนายจ้าง

กรณีที่นายจ้างเกิดต้องการโยกย้ายลูกจ้างให้ไปอยู่ใต้บังคับบัญชาของนายจ้างใหม่ ต้องมีการแจ้งให้ลูกจ้างทราบและยินยอมก่อน

การย้ายสถานประกอบการ

  • นายจ้างต้องแจ้งลูกจ้างก่อนอย่างน้อย 30 วัน โดยหากไม่มีการแจ้งก่อน จะต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นค่าจ้าง 30 วันสุดท้ายของการทำงาน
  • หากลูกจ้างไม่สะดวกไปทำงานในที่ตั้งใหม่ สามารถยื่นหนังสือขอยกเลิกสัญญาจ้างได้ภายใน 30 วัน โดยจะได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย

 

ที่มา : กระทรวงแรงงาน, ราชกิจจานุเบกษา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0