โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ฉัตรสุมาลย์ : ซากที่ไร้เชื้อ

มติชนสุดสัปดาห์

อัพเดต 19 ก.ค. 2562 เวลา 03.39 น. • เผยแพร่ 19 ก.ค. 2562 เวลา 03.39 น.
ธรรมลีลา 22030

ในช่วง พ.ศ.2470 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยนั้น สภาพบ้านเมืองทั้งสังคมและเศรษฐกิจไม่มีความเสถียร

ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีรายจ่ายสูงกว่ารายรับ ส่งผลกระทบอย่างยิ่งในการปกครองในรัชสมัยต่อมา ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ทรุดลง

เป็นเหตุให้ต้องมีการ “ดุล” ข้าราชการออกจำนวนหนึ่ง

ช่วงนี้เองที่มีตัวละครที่ออกมาวิพากษ์การปกครองของรัฐตลอดจนการปกครองคณะสงฆ์ บุคคลผู้นี้คือนายกลึง ภาษิต

นายกลึงเคยรับราชการประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จนไต่เต้าขึ้นมาอย่างรวดเร็วเป็นพระพนมสารนรินทร์ ด้วยวัยเพียง 35 ปี เป็นที่เล่าขานโดยเฉพาะความสามารถในการปราบโจรที่ลักวัว-ควายในแถบนั้น

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เคยชี้ให้ดูศาลของพระพนมสารนรินทร์ที่ชาวบ้านบูชาขอความคุ้มครอง ศาลที่ว่านี้อยู่ที่พนมสารคามในจังหวัดฉะเชิงเทรา

เมื่อความทราบถึงพระเนตรพระกรรณ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ถึงกับขอดูตัวพระพนมสารนรินทร์

ด้วยความสามารถและความคิดที่ก้าวหน้าล้ำยุค ทำให้พระพนมสารนรินทร์อยู่ในระบบราชการไม่ได้ ต้องออกมาทำธุรกิจส่วนตัว ตั้งแต่ทำเรือเมล์แข่งกับฝรั่งต่างชาติ แต่ถูกบีบให้เลิก

ชาวบ้านเรียกขานนายนรินทร์ว่านรินทร์กลึงจนติดปาก

ต่อมาทำยาดองเหล้าชื่อยาตรานกเขาคู่ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง จนสามารถสร้างตึกสูง 7 ชั้น ที่บ้านริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนนทบุรีได้

แต่ต้องเลิกกิจการด้วยคำสั่งของรัฐที่เห็นว่า เป็นยาที่เข้าเหล้า

 

ในทางพุทธศาสนา มีความโดดเด่นในความคิดต่าง ได้ศึกษาพระธรรมวินัย และเป็นคนแรกที่ออกมาเน้นความสำคัญของพุทธบริษัท 4 ตลอดจนบทบาทหน้าที่ของฆราวาสที่ต้องมีความรับผิดชอบในพระพุทธศาสนาเท่าๆ กับพระสงฆ์

ท่านนรินทร์เป็นคนที่ทันสมัยมาก ใช้สื่อที่ก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้น คือใช้สื่อสิ่งพิมพ์ เพื่อสื่อความคิดเห็นของตนทั้งทางการเมืองและศาสนาสู่สังคม คนที่เกิดร่วมสมัยกับนรินทร์จึงรู้จักชื่อเสียงของนรินทร์เป็นอย่างดี

นรินทร์ตั้งสมาคมชาวพุทธ รวบรวมคนที่มีความคิดเห็นแนวเดียวกันมาร่วมศึกษาพระธรรม เกิดเป็นสังคมเล็กๆ ขึ้น

นรินทร์เปิดประเด็นเรื่องภิกษุณีเป็นคนแรก และเห็นว่าภิกษุณีเป็นการเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปสำหรับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

นรินทร์นำหน้าไปโดยการจัดให้ลูกสาวสองคน คือสาระและจงดีออกบวช โดยใช้สถานที่ที่บ้านริมน้ำจังหวัดนนทบุรีนั้นเองเป็นวัด ใช้ชื่อว่าวัตรนารีวงศ์

นรินทร์เปิดศึกหลายด้าน ทั้งโจมตีระบบการปกครองและการปกครองคณะสงฆ์ โดยถึงกับระบุว่า สมเด็จพระสังฆราชควรเป็นตัวอย่างในการสละเงินทองออกมาช่วยเหลือชาวบ้านที่ยากจนขัดสน

ความที่เป็นคนมีความคิดฉลาดปราดเปรื่องและมีหลักเกณฑ์ทางความคิด ทำให้แม้รัชกาลที่ 7 เองก็เคยทรงเตือนข้าราชการที่มุ่งจะล้มล้างความคิดของนรินทร์ว่า “ระวังจะถูกหัวเราะเยาะเอา”

 

ด้วยการเปิดศึกหลายด้านเช่นนี้ ทางคณะสงฆ์เห็นช่องโหว่ในการที่นรินทร์ให้ลูกสาวบวช โดยเฉพาะสาระที่อุปสมบทเป็นภิกษุณี ไม่มีหลักฐานที่เป็นตัวหนังสือแจ้งว่ามีอุปสมบทภิกษุณีกี่รูป แต่ในหน้าปกเรื่อง “เณรี 8 นาง” ที่เขียนโดยผู้ไม่ประสงค์ดี มีรูปหน้าปกปรากฏ 8 รูป นั่ง 4 รูป และยืน 4 รูป อาจจะเป็นไปได้ว่า มีการอุปสมบทภิกษุณี 4 รูป และสามเณรี 4 รูป

คณะสงฆ์จัดการกับพระภิกษุผู้ให้การอุปสมบทภิกษุณีโดยการจับสึก ด้วยเหตุนี้ นรินทร์รับปากกับพระภิกษุที่ให้การอุปสมบทว่าจะไม่แพร่งพรายให้คนอื่นรู้ว่าใครเป็นผู้บวชให้ และเก็บเป็นความลับจนตายจากกันไป

คุณจงดี เมื่อมีรายการ “ย้อนรอย” ไปสัมภาษณ์หลังจากที่ท่านธัมมนันทาออกบวช (พ.ศ.2544 มีความคึกคักกันอีกในสังคมไทย คุณจงดีก็ยังยืนยันที่จะปิดเป็นความลับ บอกว่า รับปากกับพ่อว่าจะไม่พูดเรื่องนี้

เมื่อการอุปสมบทคลุมเครือ ไม่มีที่มาที่ไป ไม่รู้ว่าใครเป็นอุปัชฌาย์ เป็นที่มาที่สมเด็จพระสังฆราชในสมัยนั้นคือกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ออกประกาศห้ามพระภิกษุไทยไม่ให้ให้การบวชแก่สตรี ลงนามวันที่ 18 มิถุนายน 2471

เมื่อภิกษุณีทราบข่าวว่าจะมีตำรวจมาจับกุมก็พากันลาสึกหนีกลับบ้านก่อนที่ตำรวจจะมาถึง คุณสาระเป็นคนเดียวที่ถูกจับและถูกจองจำที่ จ.นนทบุรี ในข้อหาขัดขืนการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

แม้ว่าออกจากคุกมาแล้ว พี่น้องสองคนก็ยังใส่จีวรสีเทาอยู่อีกระยะหนึ่ง แต่ในที่สุดก็กลับคืนสู่เพศฆราวาส และเงียบหายไปจากการรับรู้ของสังคม

นรินทร์เองต้องคดีและต้องเดินเข้าๆ ออกๆ ในคุกถึง 5 ครั้ง โดยส่วนใหญ่เป็นการประท้วงความไม่ชอบมาพากลของทางการ

คุณสาระ ต่อมาแต่งงาน ใช้นามสกุลรงคสุวรรณ มีบุตรสาวและบุตรชาย

 

ในการอบรมภิกษุณีที่วัตรทรงธรรมกัลยาณีในช่วงก่อนเข้าพรรษานี้ ได้มีโครงการไปทัศนศึกษาเยี่ยมที่ตั้งเดิมของวัตรนารีวงศ์

กว่าจะพบสถานที่ก็ไม่ง่ายเลย จับความว่าอยู่ในจังหวัดนนทบุรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ต้องมีการส่งผู้สังเกตการณ์ไปล่วงหน้า และต้องขอคนนำร่องที่รู้จักกับเจ้าของบ้านคนปัจจุบันคือคุณป้าอุษา รงคสุวรรณ ลูกสาวคนเดียวของคุณสาระ

เราพบสิ่งที่ยังเหลืออยู่คือชื่อซอยนรินทร์กลึง เป็นซอยเล็กๆ หากขับรถลอดใต้สะพานพระราม 5 ออกมา ซอยที่ว่านี้จะอยู่ซ้ายมือ

มีป้ายว่า “กรุณาทิ้งขยะให้ลงถังขยะ” อยู่ใต้ชื่อซอย ส่งกลิ่นคลุ้งทีเดียว คณะภิกษุณีที่ไปกันกว่า 20 รูป รีบเดินเข้าไปในซอย ถ้าไม่รู้ ก็จะไม่รู้ว่าบ้านหลังไหน สายสืบของเรานำไปที่บ้านที่รั้วเป็นสังกะสีโย้เย้ ประตูบ้านเป็นรั้วเหล็ก เปิดเข้าไป เจอสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนสีดำ วิ่งเข้ามาดมพวกเรา

สักครู่คุณอุษาออกมารับ เพราะพระภิกษุหลวงพี่ท่านติดต่อไว้ให้ คุณอุษาวัย 80 ยังกระฉับกระเฉง

ซากที่ยังเหลืออยู่ของนรินทร์กลึงเป็นลักษณะภูเขาจำลองสูงสัก 2 เมตร ข้างๆ มีหม้อ ไหประดับโดยรอบ มาทราบภายหลังว่าครอบครัวของท่านนรินทร์มีอาชีพปั้นหม้อด้วย ก็เลยเอาหม้อ-ไหที่มีอยู่ประดับเข้าไปด้วย

บนเขานั้นเป็นโบสถ์ขนาดเล็ก พอคนนั่งสัก 3 คน เดิมเป็นที่เก็บศพของท่านนรินทร์ที่ท่านสั่งว่าไม่ให้เผา ท่านอยากให้คนรุ่นหลังศึกษาประวัติชีวิตของท่านที่ต่อสู้เพื่อความชอบธรรม

ท่านนรินทร์มีลูก 5 คน เป็นผู้หญิง 2 คน คือคุณสาระและจงดีที่เล่ามาแล้ว นอกจากคุณสาระแล้ว ไม่มีลูกหลานคนไหนที่จะสืบสานความคิดของท่านนรินทร์ในการต่อสู้เพื่อความชอบธรรม โดยเฉพาะในเรื่องของภิกษุณี

เมื่อคุณสาระสิ้นชีวิตลงใน พ.ศ.2541 ลูกหลานจึงเห็นพ้องกันให้เผาศพท่านนรินทร์ไปพร้อมกับการจัดงานศพของคุณสาระในปีรุ่งขึ้น

เป็นการปิดฉากชีวิตของท่านนรินทร์ที่ต่อสู้มาอย่างยาวนาน

ซากที่เราเห็น เมื่อเราไปเยี่ยมวันที่ 26 มิถุนายน 2562 บนภูเขาที่ว่านั้น บริเวณรอบๆ รกมาก โบสถ์ที่ว่า ก็เหลือเพียงผนังด้านเดียวที่มีปูนปั้นเป็นรูปพระพุทธเจ้าปางปาลิไลยก์ที่มีช้างกับลิง

อาคารที่สูง 7 ชั้นนั้น คุณอุษาเล่าว่า ทุบทิ้งช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นช่วงเดียวกับที่ท่านนรินทร์เองติดคุกอยู่ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ลูกหลานก็เลยจัดการกันเอง นัยว่ากลัวจะเป็นหมายให้ญี่ปุ่นมาทิ้งระเบิด

คุณอุษาในวัย 80 แม้จะยังเดินเหินคล่องแคล่ว แต่ก็หลงลืมไปมาก หลายอย่างท่านธัมมนันทาต้องเล่าให้ฟัง

คุณสาระเกิด พ.ศ.2453 ในขณะที่ท่านภิกษุณีวรมัย คุณแม่ของท่านธัมมนันทาเกิด พ.ศ.2451 เรียกว่าเป็นคนร่วมสมัย ลูกสาวของคุณสาระคือคุณอุษา ก็ร่วมสมัยกับท่านธัมมนันทา แม้จะแก่กว่า 5 ปี

คุณอุษาดีใจมากที่มีภิกษุณีถึง 20 กว่ารูปไปเยี่ยมในวันนั้น

เมื่อเรากลับมาก็พากันย่อยประสบการณ์ ผู้เขียนเห็นว่า ที่ไปสัมผัสก็คือซากที่ไร้เชื้อจริงๆ เป็นการยืนยันว่า งานพระศาสนาหากไม่มีการสืบทอดก็จะสูญพันธุ์เช่นที่ปรากฏเป็นรูปธรรมที่สุด

พระศาสนายืนยาวอยู่มาได้ ไม่ได้อยู่ที่บุคคล แต่อยู่ที่สงฆ์ เช่นนี้เอง พระพุทธองค์จึงสอนให้เราทำบุญกับสงฆ์มากกว่าที่จะยึดติดในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ทั้งภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์จึงต้องหันมาทบทวนบทบาทหน้าที่ของแต่ละรูป และในฐานะเป็นสงฆ์ร่วมกัน

สุขาสังฆัสสะ สามัคคี

ด้วยสามัคคีธรรม สงฆ์จึงอยู่ด้วยความผาสุก

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0