โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

จําคุก 10 ปี 9 ผู้บริหาร ม.สันติภาพโลกตุ๋นแจกปริญญาเถื่อน

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์

เผยแพร่ 24 เม.ย. 2562 เวลา 22.10 น.
ภาพไฮไลต์
ภาพไฮไลต์

ศาลอาญาตัดสินจำคุก 10 ปี 9 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก WPU ร่วมกันจัดตั้งสถาบันแจกปริญญาเถื่อน มีประชาชนคนดังนักแสดงนับร้อยหลงเชื่อ จ่ายเงินรับปริญญาตั้งแต่ 5,000-12,000 บาท ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตก่อตั้ง ศาลพิจารณาแล้วร่วมกันกระทำความผิดจริง ฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ชอบ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ โดยจำเลย 1-6 ใช้หลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 1 ล้านบาท สู้คดีต่อชั้นอุทธรณ์

คุก 10 ปี 9 ผู้บริหารมหาวิทยาลัยลวงโลก โดยเมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 เม.ย. ที่ศาลอาญา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาคดีก่อตั้งมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก World Peace University (WPU) โดยมิชอบ ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสวัสดิ์ บรรเทิงสุข อธิการบดีผู้ก่อตั้ง WPU ที่เชียงใหม่ (ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.) จำเลยที่ 1 นายศุภณัฐ ดอนจันทร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสาขา 2 (WPU 2) และนายทะเบียนมหาวิทยาลัย (ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ ดร.) จำเลยที่ 2 นายเรวัตร์ ชาตรีวิศิษฏ์ นายกสภามหาวิทยาลัย WPU (ตำแหน่งทางวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร.) จำเลยที่ 3 นางวรางคณา เผ่าวงศา พยาบาลวิชาชีพชำนาญการใน จ.เชียงใหม่ เป็นผู้ช่วยนายสวัสดิ์ ดูแลเรื่องการเงิน จำเลยที่ 4 นายมาณพ ภาษิตวิไลธรรม กรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ตำแหน่งทางวิชาการศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.) จำเลยที่ 5
นายนาวิน พรมใจสา นายทะเบียนมหาวิทยาลัย

คนที่ 2 (ตำแหน่งทางวิชาการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.) จำเลยที่ 6 นายศุภชัย ขจรศิริภักดี อธก.WPU สาขานนทบุรี (ตำแหน่งทางวิชาการ ดร.) จำเลยที่ 7 นายนิยม ป้องคำสิงห์ อธก.WPU สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างและประธานฝ่ายนิติกร WPU จำเลยที่ 8 และนางวัชราพร ป้องคำสิงห์ เป็นผู้ช่วยนายนิยมและดูแลการเงินมหาวิทยาลัยสาขาใน จ.ขอนแก่น จำเลยที่ 9 ในความผิดฐานร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนโดยไม่ชอบตามความผิด พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2526, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 และร่วมกันนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ฯ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14

โจทก์ฟ้องว่าระหว่างวันที่ 3 พ.ย.55-21 ก.ค.56 จำเลยทั้ง 9 คน ร่วมกันจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชนชื่อ “มหาวิทยาลัยสันติภาพโลก” (อาคารที่ตั้งเลขที่ 19 ถนนเทพฤทธิ์ ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และหลอกลวงโดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่ามหาวิทยาลัยสันติภาพโลกเป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกต้อง สามารถจัดการศึกษา การเรียนการสอนโดยบุคลากรที่มีคุณวุฒิ และได้รับการจัดตั้งโดยถูกต้อง สามารถมอบใบปริญญาระดับต่างๆ และปริญญากิตติมศักดิ์ได้ มีสิทธิเท่าเทียมกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ข้อความดังกล่าวยังถูกนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ บนเว็บไซต์ www.wpucm.com  กับบล็อกของมหาวิทยาลัย wpubkk.blogspot.com และ www.wpu15.com  ซึ่งข้อมูลเป็นเท็จนั้นบิดเบือนว่า มหาวิทยาลัยสันติภาพโลกเป็นมหาวิทยาลัยมีการจดทะเบียนที่รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ 506 ปาร์คไซต์เพลส อินเดียฮาเบอร์บีช รัฐฟลอริดา ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้เป็นจริงตามที่อ้าง การอ้างว่ามหาวิทยาลัยสันติภาพโลกเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่ขึ้นกับสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา มีสิทธิเข้ามหาวิทยาลัยอื่น และเผยแพร่กิจกรรมต่างๆทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความเชื่อถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการร่วมกันหลอกลวงประชาชนด้วยการทำให้ปรากฏต่อประชาชนทั่วไป หรือบุคคลตั้งแต่ 10 คนในลักษณะการแสดงข้อความอันเป็นเท็จด้วย ความจริงแล้วมหาวิทยาลัยสันติภาพโลกไม่ได้จัดตั้งขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่สามารถมอบปริญญาโท หรือปริญญากิตติมศักดิ์ได้ เหตุเกิดที่ ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ อ.เมืองเชียงราย จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.ลำพูน จ.ขอนแก่น และ กทม.จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ระหว่างพิจารณาคดี จำเลยทั้ง 9 คนได้รับประกันตัว

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า โจทก์มีทั้งพยานบุคคลเป็นผู้รวบรวมหลักฐานส่งถึง สกอ. ให้ตรวจสอบการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย, พนักงานสอบสวน DSI, นิติกรชำนาญการ สกอ., ผู้ที่ได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง รวมทั้งพยานเอกสารเป็นกำหนดการแจกใบปริญญา และเอกสารทางการเงิน มีน้ำหนักให้รับฟังได้อย่างมั่นคง การดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัยสันติภาพโลก หรือ WPU กระทำโดยมิชอบไม่มีใบอนุญาต และได้นำข้อความที่บิดเบือนอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้มีบุคคลนับ 100 คน มีทั้งคนดังและนักแสดงเข้าร่วมรับใบปริญญาจากมหาวิทยาลัย ทั้งที่ไม่มีการเรียนการสอน หรือการเรียนแบบอิสระตามแนวคิดที่จำเลยที่ 1 เป็นอธิการบดีผู้ก่อตั้งเคยอ้างไว้ การเข้ารับปริญญาทางมหาวิทยาลัยให้ผู้รับชำระเงินอ้างเป็นค่าใช้จ่ายราว 5,000-12,000 บาท มหาวิทยาลัยจะทำกระเบื้องเซรามิกประทับตรา (โลโก้) มหาวิทยาลัย และชื่อ อธก.จำเลยที่ 1

ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้ง 9 เป็นความผิดตามฟ้องพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 เป็น อธก.ผู้ก่อตั้งและจำเลยที่ 4 ผู้ช่วยจำเลยที่ 1 ดูแลเรื่องการเงิน กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน รวม 60 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 1 ปี และยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) โดยจำเลยที่ 1 มีความผิด ตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ มาตรา 10,104, 121 ด้วย รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 61 ปี 12 เดือน ส่วนจำเลยที่ 4 จำคุก 61 ปี

ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นนายทะเบียนมหาวิทยาลัย และจำเลยที่ 3 เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ได้กระทำผิด 27 กระทง, รวมถึงทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และความผิดตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ รวมจำคุกทั้งสิ้น 28 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 5 เป็นนายทะเบียน จำเลยที่ 6 เป็นนายกสภามหาวิทยาลัย (คนที่ 2) กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 33 กระทง และความผิดตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนฯ รวมจำคุก 33 ปี 12 เดือน จำเลยที่ 7 เป็น อธก. WPU สาขานนทบุรี กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 10 กระทง จำคุก รวม 10 ปี สำหรับจำเลยที่ 8 เป็น อธก. WPU สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ส่วนจำเลยที่ 9 เป็นผู้ช่วยจำเลยที่ 8 และดูแลด้านการเงิน ที่ จ.ขอนแก่น กระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน 17 กระทง รวมจำคุก 17 ปี

ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 (1) ที่ว่า เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วต้องจำคุกไม่เกิน 10 ปี กรณีที่โทษความผิดกระทงหนักสุดจำคุกไม่เกิน 3 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดของจำเลยทั้งหมดแล้ว ให้จำคุกจำเลยทั้ง 9 คนละ 10 ปี และให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายกับผู้ได้รับใบปริญญาซึ่งเป็นผู้เสียหายแต่ละรายตามจำนวนของแต่ละคนด้วย ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยที่ 1-6 ตีหลักทรัพย์คนละ 1 ล้านบาท กำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 7-9 ไม่ยื่นประกัน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวไปควบคุมไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0