โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

สุขภาพ

จุฬาฯ แถลงก้าวแรกความสำเร็จรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วย “เซลล์นักฆ่า”

new18

อัพเดต 23 เม.ย. 2562 เวลา 04.31 น. • เผยแพร่ 23 เม.ย. 2562 เวลา 04.30 น. • new18
จุฬาฯ แถลงก้าวแรกความสำเร็จรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วย “เซลล์นักฆ่า”
จุฬาฯ แถลงก้าวแรกสู่ความสำเร็จการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วย “เซลล์นักฆ่า” ระบุกลุ่มโรคมะเร็งก้อนทั้งหมดยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุม และป้องกันโรคกลับเป็นซ้ำในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ โดยเฉพาะการใช้เซลล์นักฆ่าจากพ่อแม่ พี่น้อง หรือลูกที่มีสารพันธุกรรมตรงกันเพียงครึ่งเดียว

*จุฬาฯ แถลงก้าวแรกสู่ความสำเร็จการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วย “เซลล์นักฆ่า” ระบุกลุ่มโรคมะเร็งก้อนทั้งหมดยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุม และป้องกันโรคกลับเป็นซ้ำในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ โดยเฉพาะการใช้เซลล์นักฆ่าจากพ่อแม่ พี่น้อง หรือลูกที่มีสารพันธุกรรมตรงกันเพียงครึ่งเดียว *

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. ที่อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มุ่งมั่นมาอย่างต่อเนื่อง ที่จะพัฒนาวิธีดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบครบวงจร และกำลังจะดำเนินการโครงการก่อสร้างศูนย์บูรณาการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งของ รพ. เพื่อมุ่งเน้นการวิจัยนวัตกรรมที่สามารถเป็นต้นแบบในการดูแลรักษาโรคมะเร็งควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการรักษาผู้ป่วย เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งในประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2542 จนถึงปัจจุบัน ดังนั้นยุทธศาสตร์ด้านโรคมะเร็งจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความก้าวหน้าของประเทศ หนึ่งในโครงการมุ่งเป้าคือการวิจัยพัฒนาการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดหลายรูปแบบเพื่อที่จะนำไปต่อยอดไปสู่การบริการ เพื่อให้ผู้ป่วยชาวไทยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทัดเทียมเช่นเดียวกันกับนานาชาติที่พัฒนาแล้ว และหนึ่งในโครงการวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่คือ การพัฒนาการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยเซลล์บำบัด ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัด

ด้าน นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงการวิจัยและการพัฒนาวิธีการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่า ว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และ รพ.จุฬาฯ ได้ริเริ่มโครงการวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่า มาตั้งแต่ปี 2557 โดยได้รับทุนสนับสนุนในระยะเริ่มต้นและได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Natural Killer cell หรือ เซลล์นักฆ่า เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย ซึ่งเซลล์ชนิดนี้เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาวส่วนน้อยของเม็ดเลือดขาวทั้งหมดโดยจะมีอยู่ประมาณ 5-10% ของเม็ดเลือดขาวที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกาย โดยทั่วไปเซลล์นักฆ่าจะมีหน้าที่หลักคือการลาดตระเวนและตรวจตราหาเซลล์แปลกปลอม เซลล์ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือ เซลล์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงจนอาจก่อให้เกิดอันตราย ภายในร่างกาย เมื่อเซลล์นักฆ่าตรวจสอบพบเซลล์ที่มีความเปลี่ยนแปลงหรือกลายพันธุ์ไปซึ่งมักเกิดจากจากการติดเชื้อหรือกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นเซลล์มะเร็งนั้น เซลล์นักฆ่าจะทำลายเซลล์ผิดปกติดังกล่าวก่อนที่เซลล์เหล่านั้นจะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือพัฒนาไปสู่การเป็นโรคมะเร็ง

นพ.กรมิษฐ์ กล่าวต่อว่า ด้วยความสามารถพิเศษของเซลล์นักฆ่าที่สามารถทำลายเซลล์แปลกปลอมและเซลล์ที่ผิดปกติได้โดยไม่ต้องอาศัยการเรียนรู้แบบเม็ดเลือดขาวชนิดอื่นๆ จึงทำให้นักวิทยาศาสตร์เกิดความสนใจและพยายามศึกษาวิจัยในการนำเซลล์นักฆ่ามาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง ต่อมานักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าเราสามารถกระตุ้นและเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าภายนอกร่างกายได้ และเซลล์นักฆ่าที่ถูกกระตุ้นและเพิ่มจำนวนภายนอกร่างกายนั้นมีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์มะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในมะเร็งหลายๆ ชนิด ทั้งมะเร็งก้อนและมะเร็งทางโลหิตวิทยา ทั้งในการศึกษาระดับหลอดทดลองและในสัตว์ทดลอง การค้นพบดังกล่าวจึงทำให้เริ่มมีการศึกษาวิจัยการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่าในผู้ป่วยมะเร็งที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน

หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง กล่าวอีกว่า ปกติเซลล์นักฆ่ามีจำนวนน้อยมากในเลือด การจะนำเซลล์นักฆ่ามาใช้ในรักษาผู้ป่วยนั้นจำเป็นจะต้องนำเซลล์นักฆ่าออกมากระตุ้นและเพิ่มจำนวนเสียก่อนโดยจะมีขั้นตอนโดยสังเขปดังนี้กล่าวคือ 1.ทำการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดจากผู้ป่วยหรือผู้บริจาค 2.ปั่นแยกเซลล์เม็ดเลือดขาวออกจากเลือด 3.คัดแยกเซลล์นักฆ่าออกจากเม็ดเลือดขาว 4.ทำการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่า ด้วยอาหารเลี้ยงเซลล์ชนิดพิเศษและโปรตีนไซโตคาย เป็นเวลา 2-3 อาทิตย์ 5.ตรวจสอบคุณภาพของเซลล์นักฆ่าที่ได้ในเชิงปริมาณ คุณภาพ ปลอดจากการปนเปื้อนและปลอดจากเชื้อโรค 6.นำเซลล์นักฆ่าประสิทธิภาพสูงที่ได้กลับไปให้แก่ผู้ป่วย โดยกระบวนการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนทั้งหมดนี้จะทำอยู่ภายในห้องปฏิบัติการสะอาดปลอดเชื้อพิเศษ (Clean room) ในแบบที่คล้ายกับการผลิตยา

“จากการศึกษาวิจัยการรักษาโรคมะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่าในระดับการวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานนั้น กลับพบว่าประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่าในกลุ่มโรคมะเร็งก้อนทั้งหมดนั้นยังไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่พบว่าการรักษามะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่านั้นมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคและป้องกันโรคกลับเป็นซ้ำในมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ โดยเฉพาะการใช้เซลล์นักฆ่าจาก พ่อแม่ พี่น้อง หรือลูกที่มีสารพันธุกรรมตรงกันเพียงครึ่งเดียว”หัวหน้ากลุ่มวิจัยเซลล์บำบัดมะเร็ง กล่าว

นพ.กรมิษฐ์ กล่าวด้วยว่า โครงการได้เริ่มวิจัยและพัฒนาการรักษาเซลล์บำบัดมะเร็งด้วยเซลล์นักฆ่า ตั้งแต่การทดสอบประสิทธิภาพในหลอดทดลอง การทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง การปรับปรุงกระบวนการผลิตและควบคุมคุณภาพของเซลล์นักฆ่าที่นำมาใช้ในผู้ป่วย รวมถึงการพัฒนาห้องปฏิบัติการพิเศษเพื่อผลิตเซลล์สำหรับการวิจัยด้านเซลล์บำบัดสำหรับโรคมะเร็ง ซึ่งในปี 2561 ศูนย์ภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง และ สาขาโลหิตวิทยา ฝ่ายอายุรศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เริ่มโครงการนำร่องเพื่อศึกษาการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่า โดยได้รับทุนวิจัยและการสนับสนุนเพิ่มเติมจาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ และ กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯปัจจุบันมีผู้ป่วยร่วมโครงการอยู่ 5 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยผู้ป่วยทั้ง 5 รายในโครงการนี้ ได้รับการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคทั้งหมด ซึ่งนักวิจัยประสบความสำเร็จในการกระตุ้นและเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาค ให้มีปริมาณและคุณภาพที่ได้มาตรฐานสำหรับการใช้เซลล์จริงในผู้ป่วย ได้แก่ 1.สามารถเพิ่มจำนวนเซลล์นักฆ่าขึ้นมาได้ในระดับที่เพียงพอสำหรับการใช้ในผู้ป่วย 2. เซลล์นักฆ่าที่ได้ไม่มีเซลล์อื่นๆ ปนเปื้อนเกินมาตรฐาน 3. ตัวอย่างทั้งหมดสามารถผ่านมาตรฐานการตรวจควบคุมคุณภาพสำหรับเซลล์ที่จะนำไปใช้ในผู้ป่วย ทั้งในด้าน จำนวนเซลล์ สัดส่วนเซลล์มีชีวิต ความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็ง การไม่พบจุลชีพปนเปื้อน และ ไม่พบการปลอมปนของพิษจากเชื้อแบคทีเรียโดยในปี 2562 นี้ทางโครงการมีความตั้งใจจะเริ่มดำเนินโครงการต่อเนื่องเพื่อศึกษาประสิทธิภาพของการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่าในลำดับต่อไป

ขณะที่ ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงตัวอย่างการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยเซลล์นักฆ่าและข้อควรระวังสำหรับประชาชนเกี่ยวกับการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าว่า ในปี 2561 นี้มีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ร่วมโครงการทั้งสิ้น 5 รายโดยเป็นผู้ป่วยที่มีโรคกลับเป็นซ้ำและไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน หรือเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีโรคกลับเป็นซ้ำแต่ไม่สามารถรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกได้

“มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ เป็น 1 ใน 4 ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในประเทศไทยโดยเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นหนึ่งใน 10 อันดับแรกของโรคมะเร็งในผู้ป่วยชาวไทย มะเร็งเม็ดเลือดขาวสามารถแบ่งเป็น 4 ชนิด โดยแบ่งป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลัน และ มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเรื้อรัง และแบ่งย่อยตามชนิดของเซลล์ออกเป็น ชนิดลิมฟอยด์และ ชนิดมัยอิลอยด์ ซึ่งมะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันที่พบบ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ โดยการรักษามาตรฐานจะประกอบไปด้วยการให้ยาเคมีบำบัด และ การปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่โรคกลับเป็นซ้ำ ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยหายขาดได้ อย่างไรก็ตามจะมีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหลังจากการปลูกถ่ายไขกระดูก และ ไม่มีทางเลือกอื่น ๆในการรักษา ซึ่งโอกาสที่จะมีชีวิตรอดเกิน 1 ปีหลังจากที่มีโรคกลับมาเป็นซ้ำนั้นน้อยมากจนแทบจะไม่มีเลย จึงมีการวิจัยและพัฒนาการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด โดยการวิจัยทางคลินิกของการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ในต่างประเทศในหลายการวิจัยพบว่า การรักษาด้วยเซลล์นักฆ่ามีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ อย่างไรก็ดีการใช้เซลล์นักฆ่าจากตัวผู้ป่วยเองนั้นมีประสิทธิภาพในการควบคุมโรคค่อนข้างต่ำ ตรงข้ามกับการใช้เซลล์นักฆ่าจากผู้บริจาคซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรค โดยมีโอกาสควบคุมโรคได้ถึง 40-80% และยังช่วยลดโอกาสการเป็นซ้ำในผู้ป่วยกลุ่มนี้” ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการนำร่อง มีขั้นตอนในการศึกษาความปลอดภัยของการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าโดยสังเขปดังนี้ เริ่มต้นจากการเจาะเลือดผู้บริจาคแล้วนำไปแยกเซลล์นักฆ่าและนำไปกระตุ้นเพิ่มจำนวนในห้องปฏิบัติการเป็นเวลา 2 อาทิตย์ จากนั้นผู้ป่วยจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยในโดยจะได้รับยากดภูมิคุ้มกันก่อนเป็นเวลา 3-6 วัน จากนั้นจึงจะนำเซลล์นักฆ่าที่ถูกกระตุ้นและเพิ่มจำนวนมาฉีดเข้าในหลอดเลือดดำหลังจากหยุดยากดภูมิไป 1-2 วัน โดยในผู้ป่วยบางรายมีความจำเป็นต้องได้รับยากระตุ้นเซลล์นักฆ่าหลังจากได้รับเซลล์ ซึ่งหลังจากได้รับเซลล์แล้วผู้ป่วยจำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลต่อเพื่อเฝ้าดูอาการอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หากไม่พบผลข้างเคียงใด ๆ จึงสามารถกลับบ้านได้และมาตรวจติดตามแบบผู้ป่วยนอก

“ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์รายแรกที่เข้าร่วมโครงการ เป็นผู้ป่วยหญิงไทย อายุ 52 ปี ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวในปี 2560 โดยที่ผู้ป่วยรายนี้ได้รับยาเคมีบำบัดถึง 3 สูตรยาที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ดีเท่าที่ควร กล่าวคือในไขกระดูกของผู้ป่วยนั้นยังมีเซลล์มะเร็งหลงเหลืออยู่หลังจากการให้ยาเคมีบำบัดรอบที่ 3 ทีมแพทย์ผู้รักษาจึงตัดสินใจทำการการปลูกถ่ายไขกระดูกจากพี่สาวเพื่อเพิ่มโอกาสในการควบคุมโรค อย่างไรก็ดี 3 เดือนหลังจากการปลูกถ่ายไขกระดูกนั้น ผู้ป่วยกลับมาด้วยอาการเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดต่ำ และได้รับการวินิจฉัยยืนยันว่ามีโรคมะเร็งกลับเป็นซ้ำหลังจากปลูกถ่ายไขกระดูก ทีมแพทย์ผู้รักษาประเมินจากลักษณะการกลับเป็นซ้ำแล้วผู้ป่วยมีโอกาสการตอบสนองต่อการรักษามาตรฐานต่ำมากจึงเสนอให้ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการนำร่องโดยใช้เซลล์นักฆ่าจากพี่สาว ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวรายดังกล่าว ได้รับเซลล์นักฆ่าและหยุดรักษามาเป็นเวลาประมาณ 1 ปีโดยที่ไม่มีอาการและอาการแสดงของโรคกลับเป็นซ้ำ โดยที่ผู้ป่วยรายแรกนี้มีอาการเซลล์ต่อต้านแบบเรื้อรังในระดับที่ไม่รุนแรงในบริเวณเยื่อบุช่องปากซึ่งสามารถควบคุมอาการได้ด้วยการใช้ยากดภูมิชนิดบ้วนปากเท่านั้น”ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว

ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันโครงการนำร่องของการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเซลล์นักฆ่านั้น ยังมีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิดมัยอิลอยด์ที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ในโครงการอยู่อีก 4 ราย โดยเป้าหมายของการให้เซลล์นักฆ่านั้น มีทั้งเพื่อการรักษาโรคที่กลับซ้ำและเพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค โดยผู้ป่วยทั้งหมดมีระยะปลอดจากโรคหลังจากหยุดรักษาไปแล้วตั้งแต่ 2 เดือน - 1 ปี จากการประเมินความปลอดภัยเบื้องต้นเห็นได้ว่าการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความปลอดภัยแต่ต้องอยู่ในการดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป การดำเนินโครงการนี้จึงถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการศึกษาการรักษาด้วยเซลล์นักฆ่าในผู้ป่วยชาวไทย ทางโครงการมีความมุ่งหวังจะดำเนินโครงการต่อเนื่องเพื่อประเมินประสิทธิภาพของการรักษานี้ในผู้ป่วยชาวไทยต่อไป

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0