โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

จี้รื้อเกณฑ์คุม "แบงก์รัฐ-สหกรณ์" "ธนาคารโลก-IMF" แนะปิดช่องโหว่ภาคการเงิน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 10 ต.ค. 2562 เวลา 04.51 น. • เผยแพร่ 10 ต.ค. 2562 เวลา 04.51 น.
fin02101062p1

ช่วงปี 2561-2562 ภาคการเงินของไทย สมัครใจเข้ารับการประเมิน Financial Sector Assessment Program (FSAP) จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลก (World Bank) อีกครั้งในรอบกว่า 10 ปีที่ผ่านมา หลังเคยเข้ารับการประเมินครั้งแรกไปเมื่อปี 2550 โดยล่าสุด“วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้แถลงถึงผลการประเมินดังกล่าว ร่วมกับ “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ“สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)

โดย “วิรไท” ฉายภาพว่า ภาพรวมระบบการเงินของไทยมีเสถียรภาพ มีความมั่นคง สามารถรองรับความผันผวนได้ดี และการกำกับดูแลภาคการเงินของไทยมีประสิทธิภาพสูง เป็นไปตามมาตรฐานสากล เทียบเคียงได้กับประเทศชั้นนำ อย่างไรก็ตาม แม้ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความเสี่ยงบางจุดที่ยังไม่ปรับตัวดีขึ้น เช่น ความเปราะบางในภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งผู้ประเมินได้สนับสนุนการออกมาตรการเชิงป้องกัน (Macroprudential Policy) เพื่อดูแลไม่ให้ความเปราะบางของหนี้ภาคครัวเรือนขยายจนส่งผลกระทบในวงกว้าง

โดยผลประเมินการกำกับดูแลภาคการธนาคารจะใช้มาตรฐาน BCP (Basel Core Principles for Effective Banking Supervision) พบว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคงและพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก การกำกับของ ธปท.มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับประเทศชั้นนำ โดยได้คะแนนดีมาก 24 ข้อ และดี 5 ข้อ รวม 29 ข้อ อย่างไรก็ตาม ผู้ประเมินมีข้อเสนอแนะให้มีการพัฒนากรอบกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFI) ให้เทียบเคียงกับธนาคารพาณิชย์ และพิจารณานำกรอบกฎเกณฑ์และแนวทางตรวจสอบธนาคารพาณิชย์มาปรับใช้กับสหกรณ์การเงินตามความเหมาะสม

“เนื่องจาก SFI ก็มีการรับฝากเงิน แต่กลับมีเกณฑ์ดูแลที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ การดูแล SFI อาจมีช่องโหว่ทางกฎหมาย เนื่องจากมี ธปท.เป็นผู้ดูแล แต่ก็มีกระทรวงการคลังเป็นผู้สั่งการ ซึ่งจะต้องทำให้ฐานอำนาจของทั้ง 2 หน่วยงานมีความชัดเจน” นายวิรไทกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ว่าการ ธปท.บอกด้วยว่า ผู้ประเมินยังชี้ว่า ธปท.ควรพิจารณาขยายการใช้มาตรการ Macroprudential Policy ไปยังสถาบันการเงินอื่น เช่น SFI และสหกรณ์ รวมถึงพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมในการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ซึ่งขณะนี้ 4 หน่วยงาน ได้แก่ ธปท. ก.ล.ต. คปภ. และกระทรวงการคลัง กำลังหารือกันอยู่

ด้านผลการประเมินภาคตลาดทุน “รื่นวดี” กล่าวว่า การประเมินตลาดทุนใช้มาตรฐาน IOSCO (International Organization of Securities Commissions) พบว่า ตลาดทุนไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นและได้มาตรฐานทัดเทียมประเทศชั้นนำ โดยได้คะแนนดีมาก 22 ข้อ ดี 13 ข้อ และพอใช้ 2 ข้อ รวม 37 ข้อ ส่งผลให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก รองจากมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง แคนาดา และออสเตรเลีย ซึ่งผลประเมินที่ออกมา สะท้อนให้เห็นว่า การกำกับดูแลตลาดทุนไทยได้มาตรฐานสากล ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก ส่วนผลประเมินตามมาตรฐาน PFMI (Principles for Financial Market Infrastructure) ก.ล.ต.ได้รับคะแนนเต็มจากการทำหน้าที่กำกับดูแลทุกด้าน ส่วนผลประเมินการทำหน้าที่โอนหลักทรัพย์และเป็นศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ของบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) (TSD) ได้รับคะแนนดีมาก 15 ข้อ ดี 2 ข้อ และพอใช้ 3 ข้อ รวม 20 ข้อ

“ตลาดทุนไทยเป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้รับการประเมินตามมาตรฐานใหม่ ซึ่งได้ถูกพัฒนาเพื่อให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านตลาดทุน สามารถจัดการได้เท่าทันกับความท้าทายและความเสี่ยงใหม่ ๆ โดยประเมินทั้งการทำหน้าที่ของ ก.ล.ต. อาทิ ความโปร่งใส ความเป็นอิสระ กระบวนการออกกฎเกณฑ์ ทรัพยากร และประเมินการกำกับดูแลผู้ร่วมตลาด ตั้งแต่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ รวมไปถึงบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ ผู้สอบบัญชี CRA เป็นต้น” เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าว

ส่วนภาคธุรกิจประกันภัย “สุทธิพล” กล่าวว่า คณะผู้ประเมินจาก IMF และธนาคารโลก ได้ประเมินภาคธุรกิจประกันภัยตามกติกาที่ทางสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (IAIS) กำหนด คือ มาตรฐาน ICP (Insurance Core Principles) รวมทั้งหมด 26 ข้อ โดยผลการประเมินจำนวน 10 ข้ออยู่ในเกณฑ์ดีมาก 12 ข้ออยู่ในเกณฑ์ดี และ 4 ข้ออยู่ในเกณฑ์พอใช้

“4 ข้อที่อยู่ในเกณฑ์พอใช้ ได้แก่ การประสานงานและความร่วมมือข้ามพรมแดนในการจัดการภาวะวิกฤต การให้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงอำนาจการบริหารและการถ่ายโอนธุรกิจ และคุณสมบัติและความเหมาะสมของบุคลากรของบริษัทประกันภัย ที่อาจจะต่ำกว่ามาตรฐาน อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับภาคประกันภัยทั้งโลกในกรอบการกำกับดูแลภาคธุรกิจประกันภัย ภาคประกันภัยของไทยอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากสิงคโปร์” นายสุทธิพลกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ประเมินยังแนะนำว่า ไทยมีบริษัทประกันวินาศภัยค่อนข้างมาก อาจจะต้องควบรวมเพื่อให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น หรือแม้กระทั่งปัญหาการฉ้อฉลที่แนะนำให้ควรจะต้องมีศูนย์การแลกเปลี่ยนทางด้านข้อมูลฉ้อฉลประกันภัย (Fraud Database) และการร่วมมือในต่างประเทศเพื่อป้องกันในกรณีเกิดภาวะวิกฤต ซึ่งขณะนี้หลาย ๆ เรื่องอยู่ระหว่างกระบวนการ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกออกกฎหมายไปแล้ว ส่วนกลุ่มที่ 2 และ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา ขณะเดียวกันยังมีข้อแนะนำว่า กรณีบริษัทประกันจะเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้มีอำนาจ ควรจะต้องได้รับความเห็นชอบจาก คปภ.ก่อน ซึ่งจุดนี้อยู่ในส่วนที่กำลังแก้ไขกฎหมาย

เลขาธิการ คปภ.กล่าวด้วยว่า คปภ.ยังอยู่ในระหว่างเตรียมการทำแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 4 ที่จะมาใช้ต่อจากแผนฉบับที่ 3 เริ่มตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป

หลังจากนี้ คงได้เห็น 3 องค์กรกำกับ เร่งปรับปรุงเกณฑ์กำกับดูแลต่าง ๆ ออกมาอีกเป็นระยะ ๆ เช่นเดียวกับช่วงที่ผ่านมา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0