โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

จีนพัฒนาคนอย่างไร จึงต่อสู้กับความท้าทาย ของโลกได้ (1)

ฐานเศรษฐกิจ

เผยแพร่ 21 ก.ย 2562 เวลา 06.00 น.

มีผู้อ่านหลายท่านสงสัยว่า จีนสร้างและพัฒนาคนของเขาอย่างไรจึงทำให้จีนเติบใหญ่ในหลายด้านได้อย่างรวดเร็ว แถมยังสามารถเผชิญกับความท้าทายของโลกที่ถาโถมเข้ามาได้เป็นอย่างดี

 

• ระบบการศึกษาพื้นฐานของจีน…ใหญ่สุดใจ

ระบบการศึกษาของจีนมีลักษณะโดยรวมที่คล้ายคลึงกับของไทย กล่าวคือ จีนมีกระทรวงศึกษาธิการและคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติทำหน้าที่ออกแบบและกำกับควบคุมระบบการศึกษาโดยรวม โดยมีหน่วยงานตัวแทนทำหน้าที่ช่วยกำกับและประเมินในแต่ละด้านในแต่ละภูมิภาค ทั้งนี้ นับแต่ปี 2529 รัฐบาลจีนได้กำหนดการศึกษาภาคบังคับไว้ที่ 9 ปี ว่าง่ายๆ เด็กจีนต้องเรียนจนถึงระดับมัธยมฯ ต้นเป็นอย่างน้อย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลจีนประกาศว่าเด็กจีนสามารถเข้าถึงระดับการศึกษาภาคบังคับที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้ในสัดส่วนถึง 99% ของจำนวนเด็กจีนโดยรวม

ปัจจุบัน ระบบการศึกษาของจีนนับว่าใหญ่ที่สุดในโลก ในด้านงบประมาณ จีนจัดสรรเม็ดเงินราว 4% ของจีดีพี หรือประมาณ 10% ของงบประมาณโดยรวมให้แก่ด้านการศึกษา โดยมีสถาบันการศึกษากว่า 500,000 แห่ง จำแนกเป็นระดับประถมศึกษาอยู่ราว 450,000 แห่ง และระดับมัธยมศึกษา 80,000 แห่ง ระดับอุดมศึกษาอีกราว 1,000 แห่ง รวมทั้งด้านอาชีวะที่เพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน เกษตรกร และบุคลากรด้านการบริหารและเทคนิคอีกราว 8,000 แห่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ จีนยังมีการศึกษาผู้ใหญ่ในอีกหลากหลายรูปแบบและระดับ

 

• ปัญหาและรากเหง้า…ถูกแก้ตรงจุด

ในอดีต จีนประสบปัญหาด้านการพัฒนาบุคลากรมากไม่แพ้ไทยเช่นกัน ในด้านหนึ่ง เนื่องจากสถาบันการศึกษาเกือบทั้งหมดเป็นของรัฐ และมีกฎระเบียบคุมเข้มมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา การขอเปิดหรือปรับปรุงหลักสูตรมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและต้องใช้เวลานาน ส่งผลให้สถาบันการศึกษาของจีนส่วนใหญ่ไม่สามารถผลิตบุคลากรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

ความท้าทายสำคัญในอีกด้านหนึ่ง ได้แก่ สภาพปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจของจีนและของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนพยายามเดินหน้าปฏิรูปภาคเศรษฐกิจ

และสังคม และพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ โดยมุ่งเน้นด้านนวัตกรรม การออกแบบ และการสร้างตราสินค้าดังปรากฏผ่านหลายนโยบายและโครงการ อาทิ “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) Made in China 2025 และการพัฒนาชุมชนเมือง

ยิ่งไปกว่านั้น ธุรกิจและตลาดยังต้องเผชิญกับแรงกดดันใหม่ในเวลาเดียวกัน อาทิ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย เทคโนโลยี และอินเตอร์เน็ต ปัจจัยเหล่านี้มีนัยความสำคัญหรือความท้าทายทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะหลัง ด้วยเงื่อนไขและสภาพการณ์เหล่านี้จึงส่งผลให้ตลาดแรงงานจีนต้องการบุคลากรที่มีความสามารถใหม่

 

• การแข่งขันที่เข้มข้น…กดดันจนเก่ง

สังคมจีนโดยรวมแฝงไว้ซึ่งแรงกดดันที่ค่อนข้างสูงอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ด้วยจำนวนนักเรียนที่มากในแต่ละปี ระบบการเรียน การสอน และการสอบจึงมีความเข้มข้นสูง นักเรียนจีนทำการบ้านกันจนคํ่ามืด บ้างยังต้องไปเรียนพิเศษเฉพาะทางเพิ่มเติมอีก หากใครอยากสอบผ่านเพื่อเข้าสถาบันการศึกษาในระดับถัดไป ก็ต้องขยัน ทุ่มเท และจริงจังอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเข้าระดับมัธยมศึกษาและมหาวิทยาลัย

จีนมีนักเรียนที่สนใจสมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยหลายเหตุผล อาทิ เมื่อราว 20 ปีก่อน กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดโอกาสให้นักเรียนที่จบระดับอาชีวะสามารถสมัครสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยได้ ขณะเดียวกัน รัฐบาลจีนยังประสบความสำเร็จในการผลักดันให้นักเรียนศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากขึ้น โดยสามารถเพิ่มสัดส่วนจาก 1.4% ของทั้งหมดในปี 2521 ที่จีนเปิดประเทศสู่โลกภายนอกครั้งใหม่ เป็นถึงกว่า 20% ของทั้งหมดในปี 2561 ทำให้วันนี้จีนมีผู้สมัครสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่จีนเรียกกันว่า “เกาเข่า” (Gaokao) ถึงเกือบ 10 ล้านคนในแต่ละปี

ด้วยการแข่งขันที่สุดเข้มข้นนี้เอง เราจึงอาจสัมผัสได้ถึงความเคร่งเครียดและความวิตกกังวลในช่วงเข้าฤดูสอบแข่งขัน ความรู้สึกดังกล่าวไม่ได้อยู่เฉพาะกับตัวนักเรียน แต่ยังเลยไปถึงพ่อแม่และญาติพี่น้อง เราเห็นพ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากขอลาหยุดงาน หรือปิดร้านเพื่อให้มีเวลามากพอสำหรับการตระเตรียมและดูแลลูกหลานในการเข้าสู่สนามสอบ หลายรายถึงขนาดย้ายไปพักอาศัยใกล้ๆ สถานที่สอบในช่วงก่อนและขณะสอบเอ็นทรานซ์กันเลยก็มี

แรงกดดันยิ่งสูงมากขึ้นหากนักเรียนต้องการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน อาทิ มหาวิทยาลัยชิงหวา (Tsinghua University) มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Peking University) แห่งกรุงปักกิ่ง หรือมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น (Fudan University) มหาวิทยาลัยเจียวทง (Jiao Tong University) และสถาบันเต๋อต้าว (De Tao Institute) ในนครเซี่ยงไฮ้ และมหาวิทยาลัยเจ้อเจียง (Zhejiang University) ในเมืองหังโจว สถาบันการศึกษาเหล่านั้นต้องการคัดเอา “หัวกะทิ” ที่มีความพร้อม โดยกำหนดเงื่อนไขภาคบังคับเกี่ยวกับผลการศึกษาและคุณสมบัติอื่น เช่น ด้านภาษาต่างประเทศ ที่สูงกว่าปกติ

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : 

ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3506 วันที่ 22-25 กันยายน 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0