โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

จาก “ฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญ" ถึง “ฆ่า LGBT แก้ปัญหาสังคม” เมื่อความเป็นคนถูกทำให้เป็นอื่น

The MATTER

อัพเดต 18 มิ.ย. 2562 เวลา 04.19 น. • เผยแพร่ 18 มิ.ย. 2562 เวลา 04.11 น. • seX-ray

ดูเหมือนว่าสมโภชเทศกาลเดือนไพรด์ และปีไพรด์ที่ครบรอบ 50 ปี Stonewall Riots เกือบทั่วทุกมุมโลกจะเริ่มต้นด้วยความเดือดดาล เมื่อนายกเทศมนตรีเมืองเล็กๆ อย่าง Carbon Hill ในแอละแบมา นามว่า Mark Chambers ได้เขียนลงในเฟซบุ๊ก ของเขาเมื่อวันที่ 31 พฤษภา 1 วันก่อนเริ่มเดือนไพรด์ ถึงสังคมป่วยไข้ที่เขาเห็นว่า

“เราอยู่ในสังคมที่พวกรักร่วมเพศอบรมศีลธรรมเรา กะเทยบรรยายชีววิทยา คนฆ่าเด็ก (แกหมายถึงคนทำแท้ง) พูดประเด็นสิทธิมนุษยชน พวกสังคมนิยมสอนวิชาเศรษฐศาสตร์” (We live in a society where homosexuals lecture us on morals, transvestites lecture us on human biology, baby killers lecture us on human rights and socialists lecture us on economics,)

ในคอมเมนต์ก็มีผู้เข้ามาถามเชิงบ่นว่า “เดี๋ยวนี้พวกชนกลุ่มน้อยได้สิทธิมากกว่าชนกลุ่มใหญ่แล้ว ไม่อยากจะคิดเลยว่าลูกหลานเราจะอยู่กันยังไงในประเทศแบบนี้ ถ้าเราไม่ทำอะไรกันสักอย่าง เราต้องปฏิวัติกันแล้วล่ะ” (By giving the minority more rights than the majority. I hate to think of the country my grandkids will live in unless somehow we change and I think that will take a revolution.)

ไม่นาน Mark Chambers ก็ตอบกลับว่า “ต้องฆ่าพวกปัญหาเสียเป็นทางออกเดียว ผมรู้นะว่ามันแย่ที่จะต้องพูดแบบนั้น แต่ถ้าไม่ฆ่าพวกนั้น เราก็แก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้”

(The only way to change it would be to kill the problem out. I know it’s bad to say but without killing them out there’s no way to fix it.)

แน่นอนมันกลายเป็นประเด็นร้อนตั้งแต่เริ่มเดือนไพรด์ของปี สภาเทศบาลถูกร้องเรียนมากมายให้ Chambers ลาออกจากตำแหน่งรวมไปถึงโครงการด้านสิทธิมนุษยชนของรัฐแอละแบมาด้วย และแน่นอนยิ่งกว่า Chambers แก้ตัวพัลวันแต่ฟังไม่ขึ้นเขาปฏิเสธว่าไม่ได้โพสต์อะไรแบบนั้น ราวกับว่าเป็นแมวพิมพ์ ก่อนจะลบข้อความไป และอ้างว่าบทสนทนานั้นถูกทำให้หลุดออกไปจากบริบท การฆ่าแกงที่เขาพูดมันเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติ และเขาก็กำลังพูดถึงสงครามปฏิวัติ ไม่ได้เสนอทางออกให้ฆ่า แม้ว่าเขายอมรับว่าหนแรกที่เขียนไปแบบนั้นเพราะคิดว่าเป็นการสนทนาส่วนตัวกับเพื่อนในเฟซบุ๊ก ไม่ใช่คอมเมนต์เปิดสาธารณะ แต่ไม่วาย ขณะให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว WBRC ในประเด็นฆ่า LGBT เขาดันไปเรียกผู้ย้ายถิ่นว่า ‘ungrateful’ อีก[1]

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันที่จะไม่ลาออก และสภาเทศบาลเองก็คิดว่าในมุมอื่น Chambers ก็ยังพอมีคุณูปการต่อเมืองเล็กๆ นี้ จากนั้นทุกอย่างก็สงบลงใต้ร่มธงรุ้ง ตั้งแต่สัปดาห์แรกของเดือนไพรด์ เหมือนกับทุกครั้งของกระแสโต้กลับที่ไม่ค่อยสร้างความเข้าใจ หากแต่เป็นการโต้กลับเพื่อโต้กลับ สงครามสั่งสอน ระหว่างคนที่คิดว่าตนเองเป็นชนกลุ่มใหญ่นึกอยากจะพูดอะไรก็พูด กดทับได้อะไรก็ได้ตามอำเภอใจเพราะโครงสร้างสังคมเอื้ออำนวยให้เสียงดังมากกว่าได้ กับกลุ่มคนที่ตระหนักถึง ‘คุณค่าความเป็นมนุษย์’ ที่ปากจัดกว่าก็เท่านั้น

ผลก็คือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่เปิดฉากเหยียด เมื่อถูกกระแสโต้กลับก็เล่นบทเหยื่อฟูมฟายว่าถูกบูลลี่ ไม่ก็กลับไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบเก่าที่คุ้นเคย เลียแผลสักพักในอคติเงียบๆ รอวันกลับมาเหยียดหรือยุแยงให้ฆ่า ‘ความเป็นอื่น’ จากตัวเองอีกครั้ง

ย้อนกลับไปเหตุการณ์สังหารหมู่คืนวันที่ 12 มิถุนายน 2015 ที่เกย์ไนท์คลับ Pulse เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดาที่มีเหยื่อถึง 49 คน ฆาตรกรโหดได้เลือกคืนนั้นที่เป็นปาร์ตี้ลาตินไนท์จึงทำให้ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ 90% เป็นชาวลาติน ซึ่งกลายเป็นการสังหารหมู่ด้วยคนยิงเพียงคนเดียวที่รุนแรงที่สุด และอำมหิตที่สุดต่อ LGBTQ ในประวัติศาสตร์อเมริกา และนับตั้งแต่วินาศกรรม 9/11 ในปี 2001 มา นี่คือการโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุด ที่ฆาตรกรสมอ้างว่าเป็นสมาชิก ISIS ระหว่างกราดยิง ประกาศคำสัตย์ปฏิญาณว่าเป็นผู้จงรักภักดีต่อ ISIS และการกระทำครั้งนี้เป็นการแก้แค้นในนามรัฐอิสลาม และขณะในช่วงจับตัวประกัน เขายังได้โทรไปยัง 911 บอกให้อเมริกาหยุดระบิด ISIS ที่ซีเรีย[2]  แต่เหนืออื่นใด เหตุการณ์ในครั้งนี้ถือว่าเป็นอาชญากรรมจากความเกลียดชัง (hate crime) ทั้งเรื่องชาติพันธุ์และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพศสภาพ

แม้ในไทยจะยังไม่ถึงขั้นกำจัดคนรักเพศเดียวกันในฐานะ ‘ความเป็นอื่น’ ด้วยการฆ่าแกง จะมีเพียงปล่อยให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ลงโทษถึงตายเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น เป็นสำนวน “เดี๋ยวฟ้าผ่า” เพราะไปนิยมฆ่าแกงกับ ‘ความเป็นอื่น’ ด้วยการสร้างพวกเขา-พวกเรา ประเภทอื่นมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘คนดี-คนชั่ว’ ‘รักเจ้า-ล้มเจ้า’ ‘รักชาติ-‘ชังชาติ’ ‘คนเบาแผ่นดิน-คนหนักแผ่นดิน’ โดยเฉพาะคนกลุ่มขั้วแรกมักจะพยายามทำให้กลุ่มคนขั้วหลัง สูญหายไปจากประเทศไทย ไม่ด้วยการขับไล่ออกนอกประเทศ ก็ฆ่าทิ้งในตายเสียในแผ่นดินนี้

ย้อนกลับไปในเดือนมิถุนายน ปี 2519 นิตยสารรายสัปดาห์ จัตุรัส[3] ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์พระภิกษุชื่อ “กิตติวุฑโฒ” ว่าฆ่าคอมมิวนิสต์และฝ่ายซ้ายได้บุญมากกว่าบาป เพราะคนพวกนี้ทำลายชาติ ศาสนา กษัตริย์ ไม่ใช่คนสมบูรณ์ แต่เป็นมารที่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่จะต้องฆ่า แม้จะบาปก็บาปเล็กน้อย แต่บุญกุศลได้มากกว่าเหมือนเราฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ

อันเนื่องมาจากขบวนการนักศึกษา ชาวนา กรรมกร และประชาชนที่ตื่นตัวทางการเมืองและเข้มแข็งมากขึ้นพยายามเคลื่อนไหวสังคมเชิงรุก จนเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนทั้งเรื่อง ประชาธิปไตย คามยุติธรรม ความเท่าเทียม การให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นหลัก อันเป็นผลพวงจากขบวนการเคลื่อนไหว 14 ตุลาฯ 2516 ที่ได้สร้างความวิตกกังวลแก่หมู่ผู้มีอำนาจและกลุ่มอนุรักษนิยม กลัวว่าจะสูญเสียผลประโยชน์ เพราะขบวนการเคลื่อนไหวกลุ่มนี้สร้างความไม่มั่นคงให้กับรัฐบาลได้ ในช่วงเวลาเดียวกันคอมมิวนิสต์ก็ขยายตัวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิวัติลาวที่ยกเลิกสถาบันกษัตริย์ในปี 2518 สร้างความหวาดผวาคลุ้มคลั่งให้กับรัฐและพวกอนุรักษ์นิยมไทย

‘คอมมิวนิสต์’ ถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการกำจัดผู้ที่ท้าทายอำนาจรัฐและผู้ต้องสงสัยในเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของรัฐที่ใช้วิธีการรุนแรงนอกกระบวนการกฎหมายแบบเหวี่ยงแห ไม่เพียงนำไปสู่การลอบสังหารนักเคลื่อนไหวหลายครั้ง ยังสังหารชาวบ้าน 3,008 ศพ หลายอำเภอในพัทลุง ด้วยกระบวนการ “ถีบลงเขา เผาลงขันแดง”

มากไปกว่านั้นทั้งหนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุยานเกราะก็ใส่ร้ายว่าชาวนา กรรมกร นักศึกษาหัวก้าวหน้าเป็นพวกหัวคอมมิวนิสต์ที่ต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เป็นภัยของประเทศ ไม่รักชาติบ้านเมือง พวกหนักแผ่นดิน มารศาสนา ยั่วยุให้ฆ่าทิ้งเสีย

แม้พระนักเทศน์ฝีปากดีกิตติวุฑโฒจะออกมาแก้ลำทีหลังว่า ไม่ได้หมายถึงบุคคลแต่หมายถึงอุดมการณ์ แต่ปาฐกถาที่ไปแสดงกับเหล่าทหารครั้งต่างๆ ก็ไม่ต่างไปจากที่ให้สัมภาษณ์กับจัตุรัส ว่าหน้าที่ของพระสงฆ์คือฆ่าลัทธิคอมมิวนิสต์ หน้าที่ของทหารคือฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ แกเองก็อยากจะสึกไปฆ่าศัตรูเหล่านั้นอย่างไรก็ตาม การฆ่าคน 5,000 คน กับการรับประกันความสุขของชาวไทย 40 ล้านคน ถือว่าเป็นสิ่งที่ชอบธรรม เป็นการทำบุญไม่ทำให้ตกนรก รวมทั้งเชื้อเชิญให้ทหารเสียสละศีลเพื่อความอยู่รอดของสถาบันชาติ ศาสนา และกษัตริย์ จับอาวุธฆ่าพวกคอมมิวนิสต์ชำระล้างเหลือบในประเทศไทย ฆ่าแล้วจะได้รับบุญใหญ่ และถ้าไม่ฆ่าคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์ก็จะฆ่าพวกเราแทน กลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับการฆ่าในนามศาสนา อันเป็นสถาบันที่ถูกทำให้เชื่อว่าเป็นที่ยึดมั่นทางใจ ทำหน้าที่ชี้นำพฤติกรรมสร้างหลักปฏิบัติปลอดจากการตั้งคำถามหรือโต้แย้ง[4]

สิ่งเหล่านี้แหละที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ (dehumanization) และทำให้ ‘คนอื่น’ ดูเป็นปีศาจ (demonization) เพื่อให้ง่ายต่อการฆ่า กำจัดทิ้ง ผ่านคำอธิบายทางศีลธรรม จริยธรรม และ ‘ความรักชาติ’ สร้างความชอบธรรมให้กลุ่มนวพล ลูกเสือชาวบ้าน กระทิงแดง ไล่ฆ่านักศึกษาประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และสำนึกนี้ก็เป็นมรดกส่งผ่านมายัง กปปส. ในปี 2556-2557 ที่นิยามมวลมหาประชาชนของตนเองว่าเป็นกลุ่ม ‘คนดี’ มีความรู้ ศีลธรรม ทำเพื่อชาติ ทำในสิ่งถูก เป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและผู้สนับสนุนที่นิยามให้เป็นพวกคนชั่วช้าสามานย์ เป็นสัตว์นรก ขยะแผ่นดิน วิปริต สถุล ขายชาติทรยศชาติ โง่เขลา ‘หนักแผ่นดิน’ และเป็น ‘เสี้ยนหนามแผ่นดิน’ ขณะเดียวกันก็ยกย่องมือปืนป็อปปคอร์นซึ่งเป็นกลุ่มติดอาวุธของตนเองให้เป็นฮีโร่ ปกป้องคนดี ปราบคนชั่วได้[5]

แม้ว่าการรับรู้ของวิวัฒนาการทางความคิดมนุษย์จะมาถึงจุดที่เข้าใจแล้วว่าโลกกลมและเป็นดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ไม่ใช่โลกแบนและที่มีปลาอานนท์มาแบกรับน้ำหนักผืนพสุธาไว้ แต่ก็ยังมีสำนึกคิดเรื่อง ‘หนักแผ่นดิน’ ขณะที่ ‘ไม่รักพ่อก็ออกไปจากบ้านของพ่อ’ ก็เป็นการสร้างความหมายของรัฐสมัยใหม่ให้เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ ที่ยังคงอ้างอิงกับระบอบปิตาธิปไตย แม้ว่าโลกจะมีเฟมินิสต์แล้วก็ตาม แต่สำนึกนี้ก็ยังอยู่ยั้งยืนยงเรื่อยมาคู่กับความชอบธรรมให้กับความรุนแรง

ความปรารถนาเห็น พวกเขา’ หรือ ‘พวกมัน’ ฉิบหายวายป่วง ตายอย่างอเนจอนาถ ยังคงดำรงและออกจากปากฝ่ายขวาและพวกอนุรักษ์นิยมเรื่อยมา เช่น ชัย ราชวัตร การ์ตูนนิสต์กล่าวว่าตนเองจะลุ้นตื่นเต้นและมีความสุขมากหากขายทรัพย์สินที่ตนเองมีส่ง “พวกซาตานรกแผ่นดินบ้านเกิดทั้งแก๊ง” ไปเที่ยวเนปาลในคราวแผ่นดินไหวในปี 2558 ด้วยความคิด-วิเคราะห์-แยกแยะ ว่าในดฟซบุ๊กเปรียบเหมือนการพูดคุยกับเพื่อนๆ ในห้องอาหาร เป็นโต๊ะจองส่วนตัว ใครเผลอไปได้ยินหรือแอบฟังก็ไม่ควรเผือก กลายเป็นอีกตัวอย่างของความนิยมความรุนแรงในหมู่พวกอนุรักษ์นิยมอันเกิดจากความว่านอนสอนง่าย ไร้เดียงสาแต่กระหายเลือด กระโดดโลดเต้นออกจากทุ่งลาเวนเดอร์มาชมมหรสพบนทุ่งสังหาร หัวเราะงอหายเคล้าไปกับเสียงเก้าอี้ฟาดศพที่ถูกแขวนคอห้อยต่องแต่งไปมา

มันจึงยังคงมีการโจมตีคนคิดต่างทางการเมืองและคนหัวก้าวหน้าในรูปแบบเดิม การโจมตี พรรณิการ์ วานิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคอนาคตใหม่ว่า ‘ล้มเจ้า’ ขณะเดียวกันหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ที่สมาทานแนวคิดของพรรคอนาคตใหม่และอดรนทนไม่ไหวกับโครงสร้างแบบเดิม ก็ถูกจับคู่กับยุวชนเรดการ์ด ของ Maoism ที่ยังคงเป็นการนิยามกลุ่มประชาชนที่เห็นต่างจากตัวเองเป็นพวกคอมมิวนิสต์ ไม่ได้ต่างอะไรไปจากช่วง 2518-2519

ไม่ว่าเราจะผ่าน 6 ตุลาฯ มากี่ทศวรรษ แต่อาวุธของฝ่ายอนุรักษ์นิยมยังคงไม่เปลี่ยนไปไหน ยังคงเที่ยวไปป้ายสีตีตรา ‘ล้มเจ้า’ คนนั้นคนนี้ เพราะมันง่ายที่เหยื่อจะถูกรุมทึ้ง ขจัดออกไปจาก ‘แผ่นดิน’ ด้วยวิธีใดก็ได้โดยใครก็ได้อย่างไม่ต้องรับผิดใดๆ จะต่างกันตรงที่ประเด็น LGBT เป็นที่อดทนได้มากขึ้น

ทั้งฆ่าคอมมิวนิสต์ได้บุญมากกว่าบาป ไม่รักพ่อก็ออกไป ต้องกำจัดเสี้ยนหนามพวกหนักแผ่นดิน ก็ไม่ต่างอะไรกับคำพูดที่ว่า ฆ่า LGBT เป็นทางเดียวที่จะการไขปัญหาสังคม เพราะเป็นชุดสำนึกเดียวกันตรรกะเดียวกัน จะต่างกันแค่เปลี่ยนผู้กระทำและผู้ถูกกระทำเท่านั้น ด้วยสำนึกคิดเช่นนี้ สักวันหนึ่งหากความหมาย ‘พวกหนักแผ่นดิน’ ‘ฆ่าแล้วได้บุญมากกว่าบาป’ จะเปลี่ยนเป้าหมายมาเป็น LGBTQ ก็คงไม่ใช่เรื่องยาก

อ้างอิงข้อมูลจาก

[1] www.wbrc.com

[2] Zachary Shane Kalish Blair. (2016). The Pulse Nightclub Shooting: Connecting Militarism, Neoliberalism, and Multiculturalism to Understand Violence. North American Dialogue 9(2), pp. 102–116.

[3] จัตุรัส ปีที่ 2 ฉบับที่ 51 (วันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2519), น.28-32.

[4] Somboon Suksamran, Buddhism and Politics in Thailand. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies. 1982. ; Buddhism and political legitimacy. Bangkok : Research Dissemination Project, Research Affairs, Chulalongkorn University, 1993.

[5] ประจักษ์ ก้องกีรติ.การลดทอนความเป็นมนุษย์ พื้นที่ทางศีลธรรม และความรุนแรง: จาก “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ถึง “กำจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน”. ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 (พฤษภาคม - ธันวาคม 2559) น. 39-75.

Illustration by Sutanya Phattanasitubon

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0